กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HonestDocs
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HonestDocs

กินน้ำมันมะพร้าว ลดน้ำหนักได้จริงไหม กินอย่างไรให้สุขภาพดี?

น้ำมันมะพร้าว ทานอย่างไรให้สุขภาพดี
เผยแพร่ครั้งแรก 29 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 29 ม.ค. 2021 ตรวจสอบความถูกต้อง 14 ก.พ. 2019 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
กินน้ำมันมะพร้าว ลดน้ำหนักได้จริงไหม กินอย่างไรให้สุขภาพดี?

หลายคนคงเคยได้ยินประเภทของน้ำมันที่เรียกว่า "น้ำมันมะพร้าว" มาก่อน เพราะนอกจากจะเป็นส่วนผสมของอาหารหลายประเภท และเป็นที่นิยมในกลุ่มคนรักสุขภาพเช่น 

การรับประทานน้ำมันมะพร้าว หรือ ผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า "น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น" และน้ำมันมะพร้าวยังเป็นน้ำมันที่ได้รับความนิยมในการดูแลสุขภาพผิวอีกด้วย ทั้งยังมีสรรพคุณช่วยลดความเสี่ยงของโรคบางชนิดได้ได้อีก

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

น้ำมันมะพร้าวกับกระแสทางสุขภาพ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีกระแสเกี่ยวกับการรับประทานน้ำมันมะพร้าวในกลุ่มคนรักสุขภาพและผู้ที่สนใจลดน้ำหนัก น้ำมันมะพร้าวกลายเป็นอาหารเสริมที่ได้รับกระแสนิยมอย่างล้นหลาม แต่ก็มีทั้งคนที่เห็นด้วย และยังไม่แน่ใจเกี่ยวกับสรรพคุณที่กล่าวอ้าง

อย่างไรก็ตาม น้ำมันมะพร้าวก็ยังอินเทรนด์อยู่เสมอ ในแง่ของอาหารเสริม และวัตถุดิบในการทำอาหาร หลายคนยังสงสัยอยู่ว่า น้ำมันมะพร้าวนั้นดีต่อสุขภาพหรือไม่ ช่วยลดน้ำหนักได้จริงหรือเปล่า แล้วควรเลือกซื้ออย่างไรให้ได้คุณภาพดีที่สุด บทความนี้จะให้คำตอบกับคุณ

ที่มาของน้ำมันมะพร้าว

จากบันทึกโบราณ กล่าวกันว่ามนุษย์ได้นำน้ำมันมะพร้าวมาใช้เป็นอาหาร ยา และเครื่องสำอางเป็นเวลานานนับพันปีแล้ว ประเทศอินเดียมีการใช้น้ำมันมะพร้าวมานานกว่า 4,000 ปี 

ประเทศไทยเริ่มมีการปลูกมะพร้าวมาตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเมื่อ 700 กว่าปีก่อน อีกทั้งประเทศต่างๆ ในแถบเอเชียและแปซิฟิกยังมีการสกัดน้ำมันจากมะพร้าวเพื่อใช้ประกอบอาหารคาวหวาน และใช้ในเครื่องสำอางมาเป็นเวลานานเช่นกัน

น้ำมันมะพร้าวประกอบด้วยอะไรบ้าง?

น้ำมันมะพร้าว (Coconut oil) ประกอบไปด้วยไขมัน 100% ที่ประกอบไปด้วยกรดไขมันอิ่มตัว 80 – 90% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรดลอริก (Lauric acid) พบมากถึง 47% ที่เหลือคือ กรดปาล์มมิติก (Palmitic acid)  และกรดไมริสติก (Myristic acid) 

น้ำมันมะพร้าวไม่มีโคเรสเตอรอล ไม่มีกากใย และมีวิตามิน เกลือแร่ และ สารสเตอรอล (Sterol) เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งสารสเตอรอลจากพืชนั้นมีโครงสร้างทางเคมีคล้ายกับโคเลสเตอรอล (cholesterol) และอาจช่วยยับยั้งการดูดซึมโคเลสเตอรอลในร่างกายได้ 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

แต่การรับประทานน้ำมันมะพร้าวเพียง 1-2 ช้อนโต๊ะนั้นน้อยเกินกว่าที่จะได้ประโยชน์ในเรื่องนี้

น้ำมันมะพร้าว กับ สุขภาพ

1. นำไปใช้เป็นพลังงานได้ดี

มีบทความสุขภาพเกี่ยวกับการทดลองของน้ำมันมะพร้าวมากมาย แต่น้ำมันมะพร้าวที่ใช้ในการทดลองส่วนใหญ่เป็นน้ำมันมะพร้าวที่ผ่านวิธีสกัดเย็น (Virgin coconut oil) เรียกสั้นๆได้ว่า "น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น" คือไม่ผ่านความร้อน หรือแปรรูปทางเคมี ทำให้น้ำมันยังมีคุณค่าทางอาหารสูง มีกลิ่นและรสชาติของมะพร้าวครบถ้วน

กรดลอริกซึ่งเป็นกรดไขมันอิ่มตัวส่วนใหญ่ในน้ำมันมะพร้าว เป็นกรดไขมันขนาดโมเลกุลปานกลาง (Medium-chain fatty acid) ทำให้เมื่อรับประทานและถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะถูกนำไปใช้เป็นพลังงานได้ดี สะสมในเนื้อเยื่อไขมัน (adipose tissue) น้อยกว่ากรดไขมันที่มีขนาดโมเลกุลยาว จากคุณสมบัตินี้เองที่ทำให้น้ำมันมะพร้าวถูกพูดถึงในแง่ของการรับประทานน้ำมันมะพร้าวเพื่อช่วยลดน้ำหนัก

2. อาจมีส่วนช่วยเพิ่มไขมันตัวดี

จากบทความของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในงานวิจัยทางคลินิกของประเทศบราซิล ทำการทดสอบเปรียบเทียบผลระหว่างกลุ่มที่รับประทานน้ำมันมะพร้าวและกลุ่มที่รับประทานน้ำมันถั่วเหลืองในผู้หญิงที่มีภาวะอ้วนลงพุง อายุ 20 - 40 ปี โดยรับประทานน้ำมัน 30 มล.ต่อวัน พร้อมกับรับประทานอาหารพลังงานต่ำ (hypocaloric diet) และออกกำลังกาย 4 วัน ต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 12 สัปดาห์ 

พบว่าน้ำมันมะพร้าวไม่ทำให้น้ำหนักตัว และ body mass index (BMI) เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับก่อนเริ่มการทดลอง ระดับโคเลสเตอรอลรวม ไขมันไม่ดี (LDL cholesterol) และไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ไม่เปลี่ยนแปลงเช่นกัน แต่ระดับไขมันดี (HDL cholesterol) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

แม้การทดลองนี้จะพบว่าการรับประทานน้ำมันมะพร้าวไม่มีผลช่วยลดน้ำหนัก แต่เพิ่มช่วยเพิ่มไขมันตัวดี (HDL Cholesterol) ที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่การทดลองนี้ทำในคนจำนวนน้อย ใช้เวลาไม่นานมาก และทำร่วมกับการให้รับประทานอาหารพลังงานต่ำและออกกำลังกาย จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ขนมปัง "ไร้แป้ง ไร้น้ำตาล อิ่มนาน ไปรตีนสูง" อยากคุมน้ำหนัก แบบไม่อด ต้องลอง พร้อมโปร 5 ฟรี 1

ซื้อผ่าน HD ประหยัดกว่า / ราคาพิเศษสำหรับ นศ. / ผ่อน 0% / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ถึงแม้จะมีงานวิจัยอื่นๆ เกี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวเปรียบเทียบกับน้ำมันอื่นๆ ผลลัพธ์ที่ได้คล้ายกับงานวิจัยที่กล่าวมาข้างต้น และระยะเวลาที่ใช้สั้นเช่นกัน ดังนั้นจากข้อมูลที่มีในขณะนี้ไม่เพียงพอที่จะสรุปได้ว่าน้ำมันมะพร้าวมีผลต่อการลดน้ำหนัก หรือส่งผลดีต่อระดับไขมันที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

แต่ท้ายที่สุดแล้ว การลดน้ำหนักที่มีประสิทธิภาพที่สุด ปลอดภัยที่สุดในขณะนี้ คือ การออกกำลังกาย ควบคู่ไปการควบคุมอาหารอย่างสม่ำเสมอ

ประเภทของน้ำมันมะพร้าวที่จัดจำหน่ายตามท้องตลาด

ในท้องตลาดจะแบ่งน้ำมันมะพร้าวออกเป็น 2 ชนิดด้วยกัน คือ

1. Cooking Coconut Oil หรือน้ำมันมะพร้าวสำหรับทำอาหาร

เป็นน้ำมันที่สกัดด้วยกรรมวิธีใช้ความร้อนจากเนื้อมะพร้าว มักใช้เนื้อมะพร้าวสกัดเย็น หรือใช้เนื้อมะพร้าวแห้งที่เรียกกันว่า Copra มาสกัด บางครั้งอาจมีการผสมตัวทำละลาย เช่น เฮกเซน เพื่อให้ได้ปริมาณน้ำมันที่มากขึ้น มีทั้งแบบที่ทำให้บริสุทธิ์ (Refined) และไม่ได้ทำให้บริสุทธิ์ (Unrefined) ซึ่งน้ำมันที่ได้จะมีสีเหลืองเหมือนน้ำมันพืชทั่วไป

2.   Virgin Coconut Oil หรือ Extra Virgin Coconut Oil

เป็นน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ มีราคาแพง เนื่องจากขั้นตอนการผลิตที่มีความละเอียดพิถีพิถัน ผ่านขั้นตอนที่เรียกว่า Cold Process คือ ไม่ผ่านความร้อน ไม่ผ่านการทำให้บริสุทธิ์ น้ำมันจะมีสีขาวใสเหมือนน้ำ น้ำมันมะพร้าวชนิดนี้จึงเป็นน้ำมันที่มีสารอาหารครบถ้วนและมีคุณภาพสูง มีกลิ่นหอมตามธรรมชาติ เต็มไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระและมีประโยชน์ต่อร่างกายมากที่สุด

วิธีการเลือกใช้น้ำมันมะพร้าว 

  • ถ้าใช้ประกอบอาหาร สามารถใช้ได้ทั้งแบบ Virgin Coconut Oil และ Cooking Coconut oil หากเป็น Cooking Coconut Oil ควรเลือกใช้แบบ Unrefined ซึ่งมักจะระบุอยู่บนฉลาก (แต่บางยี่ห้อก็ไม่ระบุ)
  • ถ้ารับประทานเปล่าๆ แนะนำให้ใช้น้ำมันมะพร้าวประเภท Virgin Coconut Oil ซึ่งมีจำหน่ายทั้งแบบบรรจุขวดและแบบแคปซูล 

คุณสมบัติของน้ำมันมะพร้าวที่มีคุณภาพ

  1. มีรสชาติจืด ไม่เปรี้ยว มีความมัน และหนืดน้อย
  2. กลิ่นของน้ำมันมะพร้าวจะต้องไม่เหม็นหืน มีกลิ่นหอมเหมือนน้ำมันมะพร้าวตามธรรมชาติ
  3. เป็นไขเมื่ออุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส

ควรบริโภคน้ำมันมะพร้าวอย่างไรจึงจะดี?

แนะนำเพียง 2-3 ช้อนโต๊ะเท่านั้น เนื่องจากน้ำมันมะพร้าวให้ไขมัน 14 กรัมต่อ 1 ช้อนโต๊ะ โดยปกติปริมาณไขมันที่ได้รับจากน้ำมันและอาหาร ไม่ควรเกิน 60 กรัมต่อวัน ควรระวังไม่ให้ไขมันที่ได้รับต่อวันมากเกินความจำเป็น เพราะอาจทำให้เกิดข้อเสียมากกว่าข้อดี

สรุป จากผลการศึกษาพบว่าน้ำมันมะพร้าวไม่ช่วยลดน้ำหนัก และแม้จะประกอบด้วยกรดไขมันขนาดโมเลกุลปานกลางเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีผลเพิ่มระดับไขมันตัวร้ายในเลือดซึ่งก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ แต่บางส่วนของน้ำมันมะพร้าวเป็นกรดไขมันอิ่มตัวสายยาวซึ่งอาจเผาผลาญไม่ดีและมีการสะสม น้ำมันมะพร้าวจึงไม่ได้ปลอดภัย 100% ควรบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม ควบคู่กับการควบคุมอาหาร และออกกำลังกาย

คำถามจากผู้อ่านเกี่ยวกับน้ำมันมะพร้าว

กินน้ำมันมะพร้าวจะทำให้โคเลสเตอรอลสูงหรือไม่คะ

คำตอบ: องค์ประกอบหลักของน้ำมันมะพร้าวเป็นกรดไขมันอิ่มตัว (มากกว่า 90%จากปริมาณกรดไขมันทั้งหมด) แต่กรดไขมันอิ่มตัวส่วนใหญ่ที่พบในน้ำมันมะพร้าวนั้นเป็นกรดไขมันที่มีขนาดโมเลกุลปานกลาง เช่น กรดลอริก (lauric acid) ซึ่งเมื่อรับประทานและถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะถูกเผาผลาญได้ดี จึงถูกสะสมในเนื้อเยื่อไขมัน (adipose tissue)ได้น้อยกว่ากรดไขมันที่มีขนาดโมเลกุลยาว เช่น กรดไลโนเลอิก (linoleic acid) ซึ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่พบมากในน้ำมันถั่วเหลือง เป็นต้น เพราะฉะนั้นน้ำมันมะพร้าวไม่ได้ทำให้โคเลสเตอรอลสูงขึ้นค่ะ - ตอบโดย Witchuda Onmee (พญ.)


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป