สังคมไทยเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับการเรียนหนังสือมาก ในกลุ่มพ่อแม่ก็อยากจะให้ผลการเรียนของลูกออกมาดี แต่เด็กบางคนที่ดูน่าจะเข้าใจอะไรได้ง่าย บางครั้งกลับมีผลการเรียนตกต่ำอย่างน่าข้องใจ นั่นอาจเป็นผลมาจากภาวะที่เรียกว่า Dyslexia หรือภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านการอ่าน
ภาวะ Dyslexia ทำให้สะกดคำไม่เป็นหรืออ่านหนังสือไม่ได้ ตามทักษะในระดับชั้นเรียนที่ควรจะเป็น ปัญหาดังกล่าวย่อมสร้างความกังวล ยิ่งถ้ามีคุณครูแนะนำให้ลองไปพบแพทย์ ในบางครอบครัวก็อาจยิ่งไม่สบายใจขึ้นอีก
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
Dyslexia คืออะไร?
Dyslexia เป็นภาษาในวงการแพทย์ (dys หมายถึง ความยากลำบาก ส่วน lexia หมายถึง การอ่าน) หมายถึงภาวะบกพร่องในการเรียนรู้ด้านการอ่าน Dyslexia เป็นหนึ่งในภาวะบกพร่องในการเรียนรู้(Learning disorder (LD))
ซึ่ง LD ทั้งหมดประกอบด้วย 3 ด้านหลักๆ ได้แก่
- การอ่าน (Dyslexia)
- การเขียน (Dysgraphia)
- การคำนวนทางคณิตศาสตร์ (Dyscalcuria)
สำหรับในประเทศไทย จากการรายงานของสำนักงานกองทุนสนันสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักนโยบายยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ภาวะดังกล่าวสามารถพบได้ถึง 7 % ของเด็กวัยเรียน โดยภาวะ Dyslexia เป็นปัญหาที่พบบ่อยที่สุดในภาวะบกพร่องในการเรียนรู้ทั้งหมด
Dyslexia มีหลายลักษณะตามทักษะที่เสียไป เช่น การอ่านคำอย่างถูกต้อง (accuracy) ความคล่องในการอ่าน (fluency) หรือความเข้าใจในสิ่งที่อ่าน (comprehension) เป็นต้น
ในเด็กคนหนึ่งๆ ที่มีภาวะ Dyslexia อาจเสียเพียง 1 ทักษะหรือหลายๆ ทักษะพร้อมกันก็ได้ นอกจากนี้แล้วยังอาจพบร่วมกับภาวะบกพร่องในการเรียนรู้ด้านอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นอีกด้วย
เด็กที่เป็น Dyslexia อาจมีความผิดปกติทางด้านพฤติกรรมหรือสติปัญญาอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
- ภาวะซนสมาธิสั้น (ADHD หรือ Attention Deficit Hyperactivity Disorder)
- ภาวะออทิสติก (ASD หรือ Autistic Spectrum Disorder)
- ภาวะการมีปัญหาทางการสื่อสารและภาษา (Communication Disorder)
- ภาวะซึมเศร้า (Depressive Disorder)
- ภาวะวิตกกังวล (Anxiety Disorder) เป็นต้น
สาเหตุของการเกิดภาวะ Dyslexia
Dyslexia เกิดได้จาก 2 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยทางพันธุกรรม และปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมที่เด็กเจริญเติบโตมา โดยทั้ง 2 ปัจจัยมักเกิดร่วมกัน
Dyslexia จากปัจจัยทางพันธุกรรมเป็นสิ่งที่ติดตัวเด็กมาตั้งแต่เกิด ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เช่น ความผิดปกติของการเจริญเติบโตของเซลล์ประสาทหรือสมองส่วนที่ใช้ในการประเมินผลตัวอักษรเพื่อจดจำและแปลงเป็นความเข้าใจ
รวมถึงความบกพร่องต่อการแยกเสียง ส่วน Dyslexia จากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การบาดเจ็บหรือป่วยเป็นโรคที่มีผลต่อสมองหรือพัฒนาการ การเลี้ยงดูในบ้าน การอ่านหนังสือในบ้าน รวมถึงระดับการศึกษาของคนเลี้ยงดู มีส่วนในการส่งผลต่อการเกิดภาวะ Dyslexia ทั้งสิ้น
การสังเกตสัญญาณและอาการของ Dyslexia
อาการของภาวะ Dyslexia จะสังเกตได้ชัดขึ้นหลังจากที่เด็กเข้าเรียนแล้ว อาการส่วนใหญ่ที่ผู้ปกครองจะพาเด็กมาพบแพทย์ ได้แก่ เรียนไม่ทันเพื่อน ผลการเรียนไม่ดี ไม่สามารถเลื่อนชั้นตามเพื่อนได้ รวมถึงมีปัญหาทางด้านพฤติกรรม
อาการในช่วงต้นของภาวะ Dyslexia อาจพบได้โดยอ้อม เช่น การไม่อยากไปโรงเรียน มีความพยายามหยุดเรียนบ่อยด้วยสาเหตุใดๆ ก็ตาม การบ่นไม่ชอบเรียนหนังสือ การใช้เวลาทำงานหรือการบ้านที่ครูให้มากกว่าเด็กในวัยเดียวกัน
อาการเหล่านี้จะเด่นชัดมากในวิชาที่ต้องใช้ทักษะการอ่านเป็นองค์ประกอบหลักของการเรียนรู้ เช่น วิชาภาษาไทย หรือวิชาสังคมศึกษา เด็กอาจสามารถเรียนวิชาคณิตศาสตร์ได้ดี แต่มีปัญหาเมื่อต้องทำการบ้านเกี่ยวกับโจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ที่ต้องใช้การอ่านเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่โจทย์ต้องการ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
อาการที่กล่าวมาเหล่านี้มักพบในช่วงปลายของการศึกษาในระดับประถมต้น โดยอาจทำให้วินิจฉัยได้ล่าช้า ทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร
โดยทั่วไปแล้วสัญญาณอันตรายของภาวะ Dyslexia สามารถประเมินได้ง่ายๆ จากสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก (สมุดเล่มสีชมพูหรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “สมุดวัคซีน”) ที่จัดทำโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกระทรวงสาธารณสุข
ภายในสมุด มีส่วนของการแนะนำด้านพัฒนาการ ซึ่งในส่วนนี้เองที่สามารถใช้คัดกรองภาวะ Dyslexia รวมทั้งด้านอื่นๆด้วย โดยหากเด็กไม่สามารถทำตามพัฒนาการตามช่วงอายุที่ระบุไว้ในสมุดได้ผู้ปกครองควรตระหนักและปรึกษาแพทย์ทันที
นอกจากนี้ในบางโรงพยาบาลยังมีการแจกคู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย (Developmental Surveillance and Promotion Manual หรือ DSPM) จัดทำโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกระทรวงสาธารณสุข ให้แก่ผู้ปกครอง
ข้อแตกต่างจากสมุดเล่มสีชมพูคือคู่มือเล่มนี้จะเน้นการประเมินและกระตุ้นพัฒนาการของเด็ก มีการแนะนำวิธีการกระตุ้นพัฒนาการที่ผู้ปกครองสามารถนำไปทำได้จริง เป็นขั้นตอนอ่านเข้าใจง่ายประกอบระดับพัฒนาการในแต่ละช่วงอายุ
ซึ่งหากเด็กทำไม่ได้ตามที่คู่มือระบุ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาโรคทางพัฒนาการต่อไป
ภาวะ Dyslexia เป็นอันตรายหรือไม่?
ภาวะ Dyslexia มีหลายระดับ เป็นความผิดปกติที่ไม่สามารถทำให้หายขาดได้ การที่เด็กประสบความสำเร็จด้านการเรียนน้อยกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน อาจทำให้เด็กกลุ่มนี้มีปัญหาด้านการขาดความมั่นใจในตนเองตามมา และอาจนำไปสู่ปัญหาด้านจิตใจและพฤติกรรมในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ภาวะ Dyslexia สามารถทำให้ดีขึ้นและใช้ชีวิตอยู่กับภาวะดังกล่าวได้ หากได้รับการรักษาและฝึกฝนอย่างถูกต้อง
ผู้ปกครองควรดูแลเด็กที่มีภาวะ Dyslexia อย่างไร?
การดูแลเด็กที่มีภาวะ Dyslexia หรือบกพร่องในการเรียนรู้ด้านการอ่าน ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องหลายส่วน โดยอาจแบ่งเป็น 3 ระดับคือ ที่โรงพยาบาล ที่บ้าน และโรงเรียน ดังนี้
- ที่โรงพยาบาล
เป็นหน้าที่ของแพทย์ในการให้คำแนะนำคุณพ่อคุณแม่ถึง Dyslexia หรือภาวะอื่นๆที่ลูกเป็น แนะนำการรักษาร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ด้านอื่นๆ เช่น นักกิจกรรมบำบัด รวมถึงรักษาภาวะที่อาจพบร่วมได้ เช่น ภาวะซนสมาธิสั้น และนัดติดตามประเมินอาการของเด็กเป็นระยะ
- ที่บ้าน
เป็นหน้าที่หลักของคุณพ่อคุณแม่ในการดูและและให้การสนับสนุนเด็ก เช่น ใช้เวลามากขึ้นในการสอนทักษะที่เด็กบกพร่อง Dyslexia ด้วยความใจเย็น ได้แก่ การฝึกแยกเสียง การฝึกให้เด็กหาคำที่ขึ้นต้นด้วยฐานเสียงเดียวกัน (เสียง /ก/ ตัวอย่างเช่น กา กิน กำ เป็นต้น) การฝึกประสมคำ การฝึกความคล่องในการอ่าน การสอนคำศัพท์ การฝึกความเข้าใจ เช่น ให้เล่าเรื่องตามความเข้าใจหลังการอ่าน โดยต้องให้เวลาเด็กมากขึ้นกับงานที่ต้องใช้ทักษะที่บกพร่อง
การฝึกทักษะเหล่านี้ควรเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ เนื่องจากเป็นคนที่เข้าใจเด็กดีที่สุด การเรียนพิเศษเพิ่มเติมในทักษะที่บกพร่องสามารถช่วยเพิ่มความสามารถการเรียนรู้ได้เช่นกัน โดยควรเป็นกลุ่มเล็กๆหรือตัวต่อตัว อาจเรียนต่ำกว่าระดับชั้นในทักษะนั้นๆ สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือการให้กำลังใจ การช่วยเหลือหรือแนะนำการใช้สิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ใช้การฟังแทนการอ่าน หรือการใช้เครื่องอัดเสียง ทั้งหมดนี้ต้องไม่อยู่ในความคาดหวังว่าเด็กจะต้องทำได้อย่างที่เราต้องการ แต่ประเมินจากพัฒนาการในการทำทักษะเหล่านั้นได้ดีมากขึ้น
นอกจากเพิ่มเติมทักษะของเด็กที่เป็น Dyslexia แล้วควรส่งเสริมทักษะอื่นที่เด็กถนัด เช่น กีฬา หรือดนตรี เพื่อให้เด็กมีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น
- ที่โรงเรียน
คุณครูต้องเข้าใจภาวะที่เด็กเป็น เด็กไม่ได้ขี้เกียจหรือไม่มีความสนใจในการเรียนหนังสือ แต่เด็กมีทักษะการเรียนรู้ที่บกพร่อง เป็นหน้าที่ของคุณครูที่ต้องช่วยสอนและเติมเต็มทักษะดังกล่าว เด็กที่เป็น Dyslexia ควรได้เรียนกับเพื่อนๆ ในระดับชั้นเดียวกัน แต่อาจได้รับการประเมินผลการเรียนโดยใช้เกณฑ์ที่ต่ำกว่าเพื่อนในห้อง รวมถึงเครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบเด็กที่เป็น Dyslexia อาจมีความแตกต่างจากการใช้กับชั้นเรียนรวม เช่น ในเด็กที่มีปัญหาด้านการสะกดคำ ข้อสอบไม่ควรเป็นโจทย์ในกระดาษให้เด็กอ่านแล้วเขียนคำตอบ แต่ควรเปลี่ยนเป็นให้ครูอ่านคำถามให้ฟัง แล้วให้เด็กตอบคำถามเป็นคำพูด เป็นต้น
โดยสรุป ภาวะบกพร่องในการเรียนรู้ด้านการอ่าน หรือ Dyslexia เป็นโรคที่ติดตัว มีอาการนำคือ มีพัฒนาการล่าช้าหรือไม่เป็นไปตามเกณฑ์ เบื่อการเรียน หรือผลการเรียนตกต่ำ
แม้ภาวะ Dyslexia จะไม่หายขาด แต่สามารถพัฒนาทักษะให้ดีขึ้นและใช้ชีวิตร่วมกับภาวะนี้ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับการดูแลที่เหมาะสมจากคนหลายๆ ฝ่าย ทั้งที่โรงพยาบาล ที่บ้าน และที่โรงเรียน ที่สำคัญต้องทำให้เด็กมั่นใจในตนเอง มีความนับถือตนเอง และส่งเสริมทักษะที่เด็กถนัดในด้านอื่นๆ
อ่านคำแนะนำเรื่อง การอ่านและการเรียนสำหรับเด็กนักเรียนที่มีความบกพร่องด้านการเรียนรู้
ดูแพ็กเกจปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android