"คุณหมอลูกเป็ด"
เขียนโดย
"คุณหมอลูกเป็ด"
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

ภาวะ LD เป็นแบบไหน? วิธีสังเกตพฤติกรรมภาวะ LD ของเด็ก

ทำความเข้าใจภาวะ LD ภาวะที่ส่งผลต่อการเรียนของลูก และมารู้จัก LD ทั้ง 3 ด้าน รวมถึงวิธีสังเกตอาการและสัญญาณ เพื่อจะได้ให้การช่วยเหลือเด็กๆ ได้อย่างทันท่วงที
เผยแพร่ครั้งแรก 23 เม.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 8 พ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
ภาวะ LD เป็นแบบไหน? วิธีสังเกตพฤติกรรมภาวะ LD ของเด็ก

ภาวะบกพร่องในการเรียนรู้ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของภาวะ LD (Learning Disorder) เป็นปัญหาการเรียนที่พบได้บ่อย แบ่งออกเป็น 3 ด้านหลักๆ ได้แก่ การอ่าน การเขียน และการคำนวนทางคณิตศาสตร์ คุณพ่อคุณแม่มักพบว่าลูกมีภาวะ LD จากการที่คุณครูแนะนำให้พาเด็กไปปรึกษาแพทย์เนื่องจากมีผลการเรียนตกต่ำ ซึ่งนอกจากเรื่องการเรียนรู้แล้ว ยังอาจพบความผิดปกติทางด้านพฤติกรรมหรือสติปัญญาอื่นๆ ร่วมกับภาวะ LD ด้วย เช่น ภาวะซนสมาธิสั้น (ADHD หรือ Attention Deficit Hyperactivity Disorder) ภาวะออทิสติก (ASD หรือ Autistic Spectrum Disorder) ภาวะการมีปัญหาทางการสื่อสารและภาษา (Communication Disorder) ภาวะซึมเศร้า (Depressive Disorder) หรือภาวะวิตกกังวล (Anxiety Disorder) เป็นต้น

ภาวะ LD ด้านต่างๆ แตกต่างกันอย่างไร?

ตามที่ได้กล่าวไปในข้างต้น ภาวะ LD แบ่งได้ 3 ลักษณะ คือ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

  1. ภาวะ LD บกพร่องในการเรียนรู้ด้านการอ่าน หรือที่เรียกว่า Dyslexia คือการมีความสามารถทางด้านการอ่านด้อยกว่าเด็กในวัยเดียวกันที่มีสภาวะแวดล้อมการเรียนรู้ที่ใกล้เคียงกัน โดยอาจเป็นการอ่านคำได้ไม่ถูกต้อง ไม่สามารถอ่านได้คล่อง หรือแม้แต่การไม่เข้าใจเรื่องที่อ่าน
  2. ภาวะ LD บกพร่องในการเรียนรู้ด้านการเขียน หรือที่เรียกว่า Dysgraphia คือการมีความสามารถทางด้านการเขียนด้อยกว่าเด็กในวัยเดียวกันที่มีสภาวะแวดล้อมการเรียนรู้ที่ใกล้เคียงกัน โดยอาจเกิดจากการด้อยทักษะในการสะกดคำ การใช้ไวยากรณ์บกพร่อง ทำให้เขียนคำได้ไม่ถูกต้อง หรืออาจเกิดจากกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเขียนมีปัญหา
  3. ภาวะ LD บกพร่องในการเรียนรู้ด้านการคำนวนทางคณิตศาสตร์ หรือที่เรียกว่า Dyscalcuria คือการมีความสามารถทางด้านการการคำนวนทางคณิตศาสตร์ด้อยกว่าเด็กในวัยเดียวกันที่มีสภาวะแวดล้อมการเรียนรู้ที่ใกล้เคียงกัน โดยอาจเกิดจากการไม่เข้าใจกระบวนการทางคณิตศาสตร์  ไม่เข้าใจความหมายของจำนวน ไม่สามารถแก้ไขหรือเข้าใจเหตุผลทางคณิตศาสตร์ เป็นต้น

สาเหตุของภาวะ LD หรือภาวะบกพร่องในการเรียนรู้

ภาวะ LD เกิดจากสาเหตุหลัก 2 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยทางพันธุกรรม กับปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมที่เด็กเจริญเติบโตมา โดยทั้งสองปัจจัยมักเกิดร่วมกัน ปัจจัยทางพันธุกรรมเป็นสิ่งที่ติดตัวเด็กมาตั้งแต่เกิด ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เช่น ความผิดปกติของสมองบางส่วน (สมองแต่ละส่วนมีผลต่อความบกพร่องต่อทักษะการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับหน้าที่ของสมองในส่วนนั้นๆ) ความบกพร่องของทักษะการเรียนรู้ หรือความบกพร่องของพฤติกรรมที่เป็นผลเกี่ยวเนื่องจากพันธุกรรม ส่วนปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การเลี้ยงดูในบ้าน การบาดเจ็บหรือป่วยเป็นโรคที่มีผลต่อสมองหรือพัฒนาการ รวมถึงระดับการศึกษาของคนเลี้ยงดู ก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะ LD ได้

สัญญาณและอาการของภาวะ LD มีอะไรบ้าง สามารถสังเกตเห็นได้หรือไม่?

โดยทั่วไปอาการส่วนใหญ่จะสังเกตได้ชัดขึ้นเมื่อเด็กเข้าเรียนแล้ว สัญญาณเตือนของภาวะ LD ได้แก่

  • เรียนไม่ทันเพื่อน ผลการเรียนไม่ดี ไม่สามารถเลื่อนชั้นตามเพื่อนได้
    ภาวะดังกล่าวไม่ได้เกิดจากความขี้เกียจ แต่เกิดจากการเสียทักษะทางด้านการเรียนรู้ ทำให้เด็กไม่สามารถเรียนได้เท่ากับความสามารถของเด็กวัยเดียวกัน ผลการเรียนจึงตกต่ำลงและสอบตก จนไม่ได้เลื่อนชั้นในที่สุด
  • มีปัญหาทางด้านพฤติกรรม
    มักเกิดจากเมื่อเด็กเสียทักษะการเรียนรู้แล้ว ทำให้ไม่อยากเรียนรู้ หรือเสียสมาธิ จึงถูกเบี่ยงเบนความสนใจได้ง่าย บางครั้งเด็กๆ ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นภาวะสมาธิสั้น ชอบส่งเสียงดังในห้อง หรืออยากเล่นอยากคุยกับเพื่อนขณะเรียนจนกลายเป็นตัวป่วนของห้อง ทำให้คุณครูคิดว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของภาวะ LD ก็เป็นได้
  • ไม่อยากไปโรงเรียน
    เด็กจะมีความพยายามในการหาเหตุผลเพื่อให้ได้หยุดเรียน แม้แต่อาจโกหกว่าไม่สบายหรือบ่นว่าไม่ชอบเรียน เนื่องจากอาจขาดความเชื่อมั่นในความสามารถด้านการเรียนของตัวเองจากการที่เรียนไม่ทันเพื่อน โดนเพื่อนว่า โดนครูตำหนิหรือทำโทษ ไม่ว่าจะเป็นจากสาเหตุที่เกิดจากการเสียทักษะจนไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่เรียนได้ หรือการเสียสมาธิและชวนเพื่อนคนอื่นคุยหรือเล่น จนกลายเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมก็ตาม
  • ใช้เวลาทำงานหรือการบ้านที่ครูให้มากกว่าเด็กในวัยเดียวกัน
    การสูญเสียทักษะด้านการเรียนรู้ให้เด็กทำงานหรือการบ้านได้ช้าลง จนบางครั้งถูกมองว่าไม่ขยัน ไม่ใส่ใจ จนเกิดเป็นความเครียดขึ้น ยิ่งถ้าอยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่คาดหวังกับลูกมากเกินไป โดยเฉพาะพ่อแม่ที่เปรียบเทียบความสามารถของลูกกับเด็กคนอื่น อาจนำมาซึ่งปัญหาทางพฤติกรรมอื่นๆ อีก

อาการเหล่านี้มักพบในช่วงปลายของการศึกษาในระดับประถมต้น ซึ่งการพาเด็กไปพบแพทย์ในช่วงดังกล่าวอาจทำให้วินิจฉัยได้ล่าช้า ทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร ทางที่ดีควรสังเกตภาวะ LD แต่เนิ่นๆ ด้วยการประเมินเบื้องต้นจากสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก (สมุดเล่มสีชมพู หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “สมุดวัคซีน”) โดยดูว่าหากเด็กไม่สามารถทำตามพัฒนาการตามช่วงอายุที่ระบุไว้ในสมุดได้ ผู้ปกครองควรตระหนักและปรึกษาแพทย์ทันที นอกจากนี้ในบางโรงพยาบาลยังมีการแจกคู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย (Developmental Surveillance and Promotion Manual หรือ DSPM) คู่มือเล่มที่ว่าจะเน้นการประเมินและกระตุ้นพัฒนาการของเด็ก มีการแนะนำวิธีการกระตุ้นพัฒนาการที่ผู้ปกครองสามารถนำไปทำได้จริง เป็นขั้นตอนอ่านเข้าใจง่ายประกอบระดับพัฒนาการในแต่ละช่วงอายุ ซึ่งหากเด็กทำไม่ได้ตามที่คู่มือระบุ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาโรคทางพัฒนาการต่อไป

ภาวะ LD เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่?

ภาวะบกพร่องในการเรียนรู้ หรือภาวะ LD มีตั้งแต่ระดับน้อยถึงระดับมาก เป็นความผิดปกติที่ไม่สามารถทำให้หายขาดได้ การที่เด็กประสบความสำเร็จด้านการเรียนน้อยกว่าเพื่อนในวัยเดียวกันอาจทำให้เด็กกลุ่มนี้มีปัญหาด้านการขาดความมั่นใจในตนเองตามมา และอาจนำไปสู่ปัญหาด้านจิตใจและพฤติกรรมในที่สุด อย่างไรก็ตาม เด็กที่มีภาวะ LD ยังสามารถพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นได้ และใช้ชีวิตอยู่กับภาวะดังกล่าวได้ หากได้รับการรักษาและฝึกฝนอย่างถูกต้อง

ผู้ปกครองควรดูแลเด็กที่มีภาวะ LD หรือภาวะบกพร่องในการเรียนรู้อย่างไร?

การดูแลเด็กที่มีภาวะบกพร่องในการเรียนรู้หรือภาวะ LD ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องหลายส่วน โดยอาจแบ่งเป็น 3 ระดับคือ ที่โรงพยาบาล ที่บ้าน และโรงเรียน ดังนี้

  • ที่โรงพยาบาล
    เป็นหน้าที่ของแพทย์ในการให้คำแนะนำคุณพ่อคุณแม่ถึงภาวะ LD แนะนำการรักษาร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ด้านอื่นๆ เช่น นักกิจกรรมบำบัด รวมถึงรักษาภาวะที่อาจพบร่วมได้ เช่น ภาวะซนสมาธิสั้น และนัดติดตามประเมินอาการของเด็กเป็นระยะ
  • ที่บ้าน
    เป็นหน้าที่หลักของคุณพ่อคุณแม่ในการดูแล และให้การสนับสนุนเด็ก เช่น ใช้เวลามากขึ้นในการสอนทักษะที่เด็กบกพร่องด้วยความใจเย็น ให้กำลังใจ ให้เวลาเด็กมากขึ้นกับงานที่ต้องใช้ทักษะที่บกพร่อง (เช่น หากเด็กมีภาวะ LD ด้านการอ่าน ควรให้เวลากับการอ่านของเด็กมากขึ้น) มีการเรียนพิเศษเพิ่มเติมในทักษะที่บกพร่อง โดยควรเป็นกลุ่มเล็กๆหรือตัวต่อตัว อาจเรียนต่ำกว่าระดับชั้นในทักษะนั้นๆ การช่วยเหลือหรือแนะนำการใช้สิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ใช้การฟังแทนการอ่าน หรือสอนการใช้เครื่องคิดเลข เป็นต้น ทั้งหมดนี้ต้องไม่อยู่ในความคาดหวังว่าเด็กจะต้องทำได้อย่างที่เราต้องการ แต่ประเมินจากพัฒนาในการทำทักษะเหล่านั้นได้ดีมากขึ้น นอกจากนี้ควรส่งเสริมทักษะอื่นที่เด็กถนัด เช่น กีฬา หรือดนตรี เพื่อให้เด็กมีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น
  • ที่โรงเรียน
    คุณครูต้องเข้าใจภาวะ LD ที่เด็กเป็น เด็กไม่ได้ขี้เกียจหรือไม่มีความสนใจในการเรียนหนังสือ แต่เด็กมีทักษะการเรียนรู้ที่บกพร่อง เป็นหน้าที่ของคุณครูที่ต้องช่วยสอนและเติมเต็มทักษะดังกล่าว เด็กควรได้เรียนกับเพื่อนๆในระดับชั้นเดียวกัน แต่อาจได้รับการประเมินผลการเรียนโดยใช้เกณฑ์ที่ต่ำกว่าเพื่อนในห้อง รวมถึงเครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบเด็กอาจมีความแตกต่างจากการใช้กับชั้นเรียนรวม เช่น ในเด็กที่มีปัญหาด้านการสะกดคำ ข้อสอบไม่ควรเป็นโจทย์ในกระดาษให้เด็กอ่านแล้วเขียนคำถามลงในกระดาษคำตอบ แต่ควรเปลี่ยนเป็นให้ครูอ่านคำถามให้ฟังและให้เด็กตอบคำถามเป็นคำพูดให้ครูฟัง เป็นต้น

โดยสรุป ภาวะบกพร่องในการเรียนรู้ หรือภาวะ LD เป็นโรคที่ติดตัว อาการนำคือ มีพัฒนาการล่าช้าหรือไม่เป็นไปตามเกณฑ์ เบื่อการเรียน หรือผลการเรียนตกต่ำ แม้ภาวะดังกล่าวจะไม่หายขาด แต่ผู้เป็นภาวะ LD สามารถพัฒนาทักษะให้ดีขึ้นและใช้ชีวิตร่วมกับภาวะ LD ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับการดูแลที่เหมาะสมจากคนหลายฝ่ายดังกล่าวไปแล้ว ที่สำคัญคือ ต้องทำให้เด็กมั่นใจในตนเอง มีความนับถือตนเอง และส่งเสริมทักษะที่เด็กถนัดในด้านอื่นๆ


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ภาสุรี แสงศุภวานิช และคณะ. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). รายงานวิจับการคัดกรองโรคสมาธิสั้นและความบกพร่องด้านเรียนในโรงเรียน. นนทบุรี: เดอะกราฟิโกซิสเต็มส์; 2554
เทอดพงศ์ ทองศรีราช. ความบกพร่องในการเรียนรู้ (Learning disorder). ใน ประยงค์ เวชวนิชสนอง และคณะ, บรรณาธิการ. กุมารเวชศาสตร์ เล่ม 1. กรุงเทพฯ: สหมิตรพัฒนาการพิมพ์; 2559. หน้า 205-14.
กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย (Developmental Surveillance and Promotion Manual หรือ DSPM). 2558

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
ยาสมาธิสั้น คือยาอะไร? รักษาโรคจิตเวชได้จริงหรือ?
ยาสมาธิสั้น คือยาอะไร? รักษาโรคจิตเวชได้จริงหรือ?

ทำความรู้จัก เข้าใจเด็กสมาธิสั้น และตัวยาหลัก เพื่อการรักษาที่ได้ประสิทธิภาพ

อ่านเพิ่ม
ลูกอ่านไม่ค่อยออก เขียนไม่ค่อยได้ หรือจะเป็น...Dyslexia!?
ลูกอ่านไม่ค่อยออก เขียนไม่ค่อยได้ หรือจะเป็น...Dyslexia!?

รู้จักภาวะบกพร่องทางการอ่าน หรือ Dyslexia ภาวะหนึ่งซึ่งมีผลต่อการเรียนของเด็ก ไม่สามารถรักษาให้หายขาด อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ยังมีวิธีช่วยลูกๆ ให้อยู่กับภาวะนี้ได้

อ่านเพิ่ม
เด็กสมาธิสั้น
เด็กสมาธิสั้น

รู้จักสาเหตุ อาการ ของเด็กสมาธิสั้น ความผิดปกติที่เกิดจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม สมาธิสั้นไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่มีแนวทางปฏิบัติซึ่งทำให้เด็กอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ได้

อ่านเพิ่ม