การใช้ยาสมุนไพรคู่กับยาแผนปัจจุบัน

คลายข้อสงสัย ใช้ยาสมุนไพรร่วมกับยาแผนปัจจุบันได้หรือไม่ ปลอดภัยหรือเปล่า?
เผยแพร่ครั้งแรก 23 ส.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
การใช้ยาสมุนไพรคู่กับยาแผนปัจจุบัน

แปัจจุบัน ยาสมุนไพรถือว่าได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบันของกระทรวงสาธาณสุข ที่ส่งเสริมให้จ่ายยาสมุนไพรในโรงพยาบาลเป็นลำดับแรก (First Line Drug) ทำให้มีการใช้สมุนไพรบรรเทาอาการเบื้องต้นกันมากขึ้นตามครัวเรือน

ความหมายของยาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพร

ความแตกต่างระหว่างยาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพรคือ ยาแผนปัจจุบันจะใช้สารอินทรีย์เคมีหรืออนินทรีย์เคมี ซึ่งอาจจะเป็นสารเดี่ยวหรือสารผสมที่อยู่ในลักษณะพร้อมที่จะนำมาปรุงแต่ง เตรียมหรือผสมเป็นยาสำเร็จรูป แต่ยาสมุนไพรเป็นยาที่ได้จากพฤกษชาติ สัตว์ หรือแร่ ซึ่งมิได้ปรุงหรือแปรสภาพ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ทั้งยาแผนปัจจุบันและสมุนไพรที่ให้คำนิยามว่าเป็นยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณแบบ “ยาบรรจุเสร็จ” คือ ยาที่ผลิตขึ้นรูปตามกระบวนการทางเภสัชกรรม บรรจุในภาชนะหรือหีบห่อที่มีฉลากครบถ้วน ทั้งนี้อาจจะเป็นยาสามัญประจำบ้านหรือไม่ก็ได้ ตามประกาศของรัฐมนตรี

เมื่อรับประทานยาเข้าไปแล้ว เกิดอะไรกับร่างกายเราบ้าง?

หลังจากรับประทานยา จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในการทำหน้าที่ทางสรีรวิทยาของอวัยวะส่วนต่างๆ เกี่ยวข้องตั้งแต่การเคลื่อนที่ของยาจากจุดที่เข้าสู่ร่างกายไปยังอวัยวะภายใน ตำแหน่งที่ยาออกฤทธิ์ จนกระทั่งการขับออกจากร่างกาย

เริ่มตั้งแต่การดูดซึมจากบริเวณที่ให้ยา จนกระทั่งเข้าสู่เส้นเลือด มีได้หลายวิธี เช่น การฉีกเข้าเส้นเลือดดำ การทายาภายนอก การให้ยาทางทวารหนัก หรือการให้ยาทางปากซึ่งเป็นวิธีการใช้ยามากที่สุด

โดยส่วนใหญ่แล้ว ยาจะดูดซึมมากที่ลำไส้เล็ก จากนั้นจะเกิดการกระจายตัวของยาไปยังตำแหน่งที่ยาออกฤทธิ์ ทั้งนี้ปัจจัยที่ส่งผลคือ การไหลเวียนของเลือด หากมีการไหลเวียนที่ระบบทางเดินอาหารดี ยาก็จะดูดซึมได้ดีไปด้วย กระบวนการถัดมาคือการเปลี่ยนแปลงยา นั่นคือกระบวนการออกฤทธิ์ เปลี่ยนแปลงลักษณะทางเคมีของโมเลกุลยา และเตรียมที่จะขับออกทางปัสสาวะ อุจจาระ และทางการหายใจนั่นเอง

รับประทานยาสมุนไพรอย่างไรให้ปลอดภัย

  1. ถ้ามียาประจำตัวเป็นยาแผนปัจจุบันอยู่แล้ว และต้องการรับประทานยาสมุนไพรเพิ่ม ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
  2. ก่อนและหลังการผ่าตัด ควรปรึกษาการใช้ยาสมุนไพรจากแพทย์ เนื่องจากสมุนไพรบางชนิดมีฤทธิ์ต่อการแข็งตัวของเลือด หรือทำให้เลือดไหลเวียนได้ดี อาจส่งผลกระทบต่อร่างกาย
  3. หากไม่เคยรับประทานสมุนไพรมาก่อน ควรรับประทานครั้งละน้อยๆ ป้องกันอาการแพ้สมุนไพร และหากรับประทานยาสมุนไพรไปแล้วเกิดอาการแพ้เป็นผื่น หายใจไม่ออก ปากชาลิ้นชา หรืออาการอื่นๆ ควรรีบพบแพทย์ทันที
  4. ศึกษาข้อห้ามข้อควรระวัง วันหมดอายุ และขนาดรับประทานยาตามฉลากอย่างเคร่งครัดทุกครั้ง หากยามีสี กลิ่น หรือรสชาติเปลี่ยนไปจากเดิม ไม่ควรรับประทาน และควรทิ้งยาทันที
  5. ยาทุกชนิดมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ไม่ควรรับประทานในปริมาณมาก และไม่ควรรับประทานเป็นเวลานาน แม้แต่ยาสมุนไพรก็สามารถสะสมและก่อให้เกิดพิษต่อร่างกายได้เช่นกัน และหากอาการดีขึ้นสามารถหยุดยาได้ ไม่จำเป็นต้องรับประทานต่อเนื่อง
  6. สตรีตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรไม่ควรใช้ยาสมุนไพรโดยไม่จำเป็น เนื่องจากสารสำคัญบางชนิดในสมุนไพรสามารถผ่านทางรก หรือขับออกมาพร้อมน้ำนม ทำให้มีผลต่อการเจริญเติบโตของทารกได้
  7. ควรเลือกซื้อยาสมุนไพรที่ได้มาตรฐานการผลิต มีเลขทะเบียนยา ที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เท่านั้น

ยาสมุนไพรตัวใดบ้าง ห้ามกินคู่กับยาแผนปัจจุบัน?

เป้าหมายของการรับประทานยาคงไม่พ้นเหตุผลเพื่อการรักษา เพิ่มภูมิคุ้มกัน และป้องกันโรคที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่การรับประทานยาที่มีสรรพคุณคล้ายกันหรือรับประทานยาหลายชนิดร่วมกันนั้นเป็นการใช้ยาอย่างพร่ำเพื่อ และอาจทำให้ยาตีกัน เรียกง่ายๆ ว่าอาจจะส่งผลกระทบด้านลบต่อร่างกาย หรืออาจส่งผลต่อการรักษาให้ดีขึ้นก็ได้

มีรายงานการเกิดปฏิกิริยาของสมุนไพรกับยาแผนปัจจุบันบางชนิดที่อาจส่งผลกระทบต่อร่างกาย ดังนี้

  1. กระเทียม ขิง กับยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด (กลุ่มวาร์ฟาริน: Warfarin)
    เนื่องจากสารสำคัญของสมุนไพร 2 ตัวนี้ มีฤทธิ์ช่วยไม่ให้เลือดแข็งตัว เมื่อรับประทานคู่กับยาแผนปัจจุบันชนิดดังกล่าว อาจทำให้เกิดอาการเลือดไหลไม่หยุดได้
  2. ชะเอม กับยาต้านการอักเสบชนิดสเตียรอยด์ (Prednisolone)
    ชะเอมเป็นสมุนไพรที่พบมากในกลุ่มยาแก้ไอ มีสารออกฤทธิ์ที่ชื่อว่าไกลเซอร์ไรซิน (Glycyrrhizin) รสหวาน ช่วยให้ชุ่มคอ ขับเสมหะ มีอยู่ในกลุ่มยาหอมและกลุ่มยาที่ช่วยขับลม แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ แต่ถ้ารับประทานคู่กับยาต้านการอักเสบชนิดสเตียรอยด์จะยิ่งเพิ่มผลข้างเคียงของยา คือกดภูมิคุ้มกันของร่างกาย และอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้
  3. มะขามแขก กับยากลุ่มขยายหลอดลม (Theophylline) ยารักษาโรคหัวใจ (Digoxin) และยาขับปัสสาวะ
    มะขามแขกมีสารสำคัญที่ชื่อว่าเซนโนไซด์ (Sennoside) ช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ บรรเทาอาการท้องผูก นอกจากนี้ยังช่วยขับโพแทสเซียมในร่างกาย แต่หากใช้มะขามแขกเป็นเวลานานจะส่งผลให้มีการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ซึ่งยาแผนปัจจุบันทั้ง 3 กลุ่มก็มีกลไกดังกล่าวเช่นกัน ดังนั้นหากรับประทานร่วมกันจะทำให้ร่างกายเกิดอาการโพแทสเซียมในเลือดต่ำ เพิ่มผลข้างเคียงของยา ทำให้หัวใจเต้นเร็ว ปวดกล้ามเนื้อ และเป็นตะคริวได้
  4. สะระแหน่ กับยาลดความดันโลหิตชนิดต้านแคลเซียม (Calcium channel blockers)
    จากการศึกษาพบว่า น้ำมันหอมระเหยจากใบสะระแหน่มีฤทธิ์ช่วยลดความดันโลหิตได้ ดังนั้นหากรับประทานคู่กับยาลดความดันโลหิตอาจทำให้ความดันโลหิตลดลงมากเกินไป จนเกิดอันตรายแก่ร่างกายได้

ก่อนรับประทานยาสมุนไพรร่วมกับยาแผนปัจจุบันอื่นๆ ก็ควรศึกษาข้อมูลให้ถี่ถ้วนและปรึกษาแพทย์เช่นกัน เพราะยังมีกลไกการเกิดปฏิกริยาระหว่างยาสมุนไพรและยาแผนปัจจุบันอีกมากที่ยังไม่มีการรายงานชัดเจน


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง, มาตรการส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบัน และใช้เป้นลำดับแรก (First Line Drug) (http://www.lpho.go.th/main/wp-content/plugins/download-attachments/includes/download.php?id=OshX8WOoHK8dpoLfHXEeXqta_p8g1WfgKKfbkH-bpFY), 11 ตุลาคม 2560.
ยุวดี วงษ์กระจ่าง และวสุ ศุภรัตนสิทธิ, ภาควิชาสรรีวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, สมุนไพรกับยาแผนปัจจุบัน…กินด้วยกันดีไหม? (https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/209/), 3 สิงหาคม 2557.
บดินทร์ ชาตะเวที, คณะกาแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ใช้ยาอย่างไรให้ปลอดภัย (http://www.ttmed.psu.ac.th/blog.php?p=218), 28 ธันวาคม 2560.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)