กินยาแล้วหัวล้าน...เป็นไปได้จริงหรือ?

รายชื่อยาที่กินแล้วส่งผลให้ผมร่วง จนอาจถึงขั้นศีรษะล้าน และไขความเข้าใจว่าผลข้างเคียงนี้จะถาวรหรือไม่
เผยแพร่ครั้งแรก 5 ก.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
กินยาแล้วหัวล้าน...เป็นไปได้จริงหรือ?

หลายคนคงเคยได้ยิน เรื่องที่มีคนกินยาบางชนิด แล้วหลังจากนั้นเส้นผมก็หลุดร่วง ถึงขั้นศีรษะล้านในที่สุด แต่เรื่องนี้เป็นจริงหรือไม่ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น และมีตัวยาชนิดใดบ้างที่ส่งผลดังกล่าว HonestDocs มีคำตอบ

กินยาแล้วหัวล้าน...เป็นไปได้จริง!

การรับประทานยาแล้วผมร่วงหรือหัวล้านนั้นเป็นไปได้จริง เนื่องจากยาบางตัวมีผลรบกวนกระบวนการสร้างและเจริญเติบโตของเส้นผม โดยยาจะมีผลรบกวนกลไกกระบวนการสร้างและเจริญเติบโตของเส้นผมใน 2 ช่วงได้แก่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปลูกผม รักษาผมร่วงวันนี้ ที่คลินิกใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 484 บาท ลดสูงสุด 89%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

  1. รบกวนในระยะเอนาเจน (Anagen phase) เป็นระยะที่ผมกำลังเจริญเติบโต ซึ่งผมส่วนใหญ่บนศีรษะประมาณ 85-90% อยู่ในระยะนี้ อาการผมร่วงที่เกิดจากยาที่มีผลต่อระยะเอนาเจ็นมักเกิดขึ้นภายในไม่กี่วันถึงไม่กี่สัปดาห์หลังการเริ่มใช้ยา ยาที่มีผลรบกวนกลไกในระยะเอนาเจ็น เช่น กลุ่มยามะเร็ง (Antineoplastic agents)
  2. รบกวนในระยะทีโลเจ็น (Telogen phase) เป็นระยะที่ผมหยุดการเจริญเติบโต ช่วงของโคนผมจะถูกผมที่ขึ้นใหม่ในระยะเอนาเจนมาแทนที่ โดยดันจนผมในระยะนี้หลุดร่วงไป ใช้เวลาประมาณ 100 วัน หรือ 3 เดือน ดังนั้น อาการผมร่วงที่เกิดจากยาที่มีผลต่อระยะทีโลเจ็นมักเกิดขึ้นโดยใช้ระยะเวลานาน 2-4 เดือน หลังจากเริ่มใช้ยา ยาที่มีผลรบกวนกลไกในระยะทีโลเจน เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants) เรตินอล หรือวิตามินเอ (Retinol: vitamin A) ยากลุ่มยาลดไขมัน (Antihyperlipidaemic drugs) และยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน (Oral contraceptives)

ผลข้างเคียงจากยาจะทำให้ศีรษะล้านถาวรหรือไม่?

ผมร่วงที่เกิดจากการใช้ยามักเกิดขึ้นแบบชั่วคราว โดยหลังการหยุดยา ผมจะค่อยๆ กลับมาขึ้นเป็นปกติ ส่วนความถี่และความรุนแรงของอาการผมร่วงนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของยาและความไวต่ออาการข้างเคียงของแต่ละบุคคล ยาบางชนิดทำให้ผมร่วงในผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ได้รับขนาดยาที่เหมาะสม ในขณะที่ยาบางชนิดจะมีการตอบสนองเฉพาะบางบุคคลที่มีความไวต่อยาเท่านั้น

ตัวอย่างยาที่ทำให้ศีรษะล้าน

  1. กลุ่มยาต้านมะเร็ง (Antineoplastic agents) เป็นกลุ่มยาที่มีผลทำให้ผมร่วงเกือบ 100% ในผู้ป่วยที่ใช้ยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ได้รับยาเคมีบำบัดร่วมด้วย อาการผมร่วงจะยิ่งรุนแรงขึ้นจนทำให้ศีรษะล้านได้ โดยยามีผลทำให้เส้นผมที่งอกใหม่ไม่เจริญเติบโต และยังมีผลทำให้เส้นผมที่เจริญเติบโตแล้วอ่อนแอลงจนหลุดร่วง ตัวอย่างยาต้านมะเร็ง เช่น ด็อกโซรูบิซิน (Doxorubicin: adriamycin), ไซโคลฟอสฟามายด์ (Cyclophosphamide), คลอมีทีน (Chlormethine: Mechlorethamine), เมโทเทร็กเซต (Methotrexate), ฟลูออโรยูราซิล (Fluorouracil), วินคริสทีน (Vincristine), ดอร์โนรูบิซิน (Daunorubicin), บลีโอมัยซิน (Bleomycin) และไฮดรอกซีคาร์บามายด์ (Hydroxycarbamide: Hydroxyurea)
  2. ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants) เช่น เฮพาริน (Heparin), เฮพารินอยด์ (Heparinoids), คูมาริน (Coumarins), เด็กทรานซ์ (Dextran) และอินแดนไดโอนซ์ (Indandiones)
  3. ยารักษาโรคไทรอยด์ (Antithyroid drugs) เช่น ไอโอดีน (Iodine), ไทโอยูราซิล (Thiouracils) และคาร์บิมาโซลล์ (Carbimazole)
  4. ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน (Oral Contraceptives) เช่น Microgynon ED50®, Ovulen®,  Lyndiol®,  Anovlar®,  Gynovlar®,  Minilyn®, Ovostat®,  Eugynon®,  Norinyl®, Diane-35®, Preme®, Tina®, Sucee®, Cilest®, Yasmin®, Microgynon ED30®, Nordette®, Microgest®, AnNa®, Marvelon®, Prevenon®, Minulet®, Gynera®, Mercilon®, Meliane®, norethisterone, levonorgestrel, ethynodiol diacetate, desogestrel 
  5. เรตินอลหรือวิตามินเอ (Retinol: vitamin A) โดยทั่วไปแล้วแพทย์มักสั่งจ่ายวิตามินเอเพื่อรักษาอาการผมร่วง อย่างไรก็ตาม การให้วิตามินเอขนาดยาสูงมีผลทำให้ศีรษะล้าน ดังนั้นหากต้องการใช้วิตามินเอเพื่อการรักษา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงขนาดยาที่เหมาะสมและวัตถุประสงค์ในการใช้
  6. กลุ่มยาลดไขมัน (Antihyperlipidaemic drugs) เช่น ไตรพารานอลล์ (Triparanol) และโคลไฟเบรต (Clofibrate)
  7. ยาอื่นๆ เช่น 
  • ยาถ่ายพยาธิ-อัลเบนดาโซล (Albendazole)
  • ยารักษาโรคเกาท์-อัลโลพูรินอล (Allopurinol)
  • ยาโรคหัวใจ-อะมิโอดาโรน (Amiodarone)
  • ยารักษาโรคลมชัก-คาร์บามาซีพิน (Carbamazepine) และวาลโพรอิก เอซิด (Valproic acid; valproate sodium)
  • ยารักษาวัณโรค-อีแทมบูทอล (Ethambutol)
  • ยารักษาโรคซึมเศร้า-ฟลูอ็อกซีทีน (Fluoxetine)
  • ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย-เจ็นทาไมซิน (Gentamicin)
  • ยาลดปวดกลุ่ม NSAIDs-ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) และอินเมททาซิน (Indomethacin)
  • ยาฆ่าเชื้อรา-ไอทราโคนาโซล (Itraconazole)
  • ยารักษาโรคพาร์กินสัน-ลีโวโดพา (Levodopa), เมทิลโดพา (Methyldopa)
  • ยาลดความกัด-เม็ทโทรโพรอล (Metoprolol)

ผู้ที่ต้องการใช้ยาต่างๆ ตามตัวอย่างที่กล่าวมา ควรปรึกษาแพทย์และประเมินผลดี-ผลเสียร่วมกัน ก่อนตัดสินใจทำการรักษา อย่างไรก็ตาม โดยส่วนใหญ่หลังการหยุดยาผมของผู้ป่วยก็จะค่อยๆ งอกขึ้นมาทดแทนผมเดิมที่หลุดร่วงไป แต่สำหรับผู้ที่มีพันธุกรรมศีรษะล้านอยู่เป็นทุนเดิม อาจมีความเสี่ยงในการศีรษะล้านถาวรได้


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)