Budesonide เป็นยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteroid) ใช้สำหรับโรคระบบทางเดินหายใจ ในผู้ป่วยโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ชื่อทางการค้าที่เป็นที่รู้จักคือ Pulmicort ผลิตโดยบริษัท AstraZeneca กลไกการออกฤทธิ์ของยา คือ ยามีฤทธิ์ควบคุมอัตราการสังเคราะห์โปรตีน ยับยั้งการแพร่กระจายของเม็ดเลือดขาวและไฟโบรบลาสต์ ปรับคุณสมบัติในการเลือกสารผ่านของหลอดเลือดแบบผันกลับได้ ป้องกันการทำงานของไลโซโซม (การกระตุ้นไลโซโซมเป็นส่วนที่ทำให้เกิดกระบวนการทำลายของเซลล์) เพื่อหลีกเลี่ยงและควบคุมไม่ให้เกิดกระบวนการอักเสบจนนำไปสู่การทำลายตัวเองของเซลล์ ยา Budesonide จึงมีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ
Budesonide ชนิดสำหรับใช้ทางจมูก จัดอยู่ในกลุ่มยาอันตราย ตามการจำแนกโดยคณะกรรมการอาหารและยา มีจำหน่ายเฉพาะร้านยาแผนปัจจุบันที่มีเภสัชกรชั้นหนึ่งควบคุมการขายยา ต้องมีการจัดทำบัญชียาอันตราย และสำหรับบุคคลทั่วไปเภสัชกรสามารถจำหน่ายยาและให้คำแนะนำในการใช้ยาได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ใบสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพฯ เว้นแต่ Budesonide ที่เป็นยาผสม (ร่วมกับ Formoterol เช่น Symbocort®) จะจัดอยู่ในกลุ่มยาควบคุมพิเศษ รูปแบบยาที่ใช้ทางจมูกที่มีวางจำหน่ายในประเทศไทย ได้แก่
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
- รูปแบบสเปรย์พ่นจมูก ขนาด 50 และ 64 ไมโครกรัมต่อการพ่น 1 ครั้ง
- รูปแบบยาน้ำแขวนตะกอนสำหรับใช้กับเครื่องพ่นเนบูไลเซอร์ (nebulizer) ขนาด 0.5 และ 1 มิลลิกรัมต่อ 2 มิลลิลิตร
- รูปแบบสูดพ่นทั้งชนิดใช้ก๊าซ (metered-dose inhaler (MDI)) และชนิดผงแห้ง ขนาด 100 และ 200 ไมโครกรัมต่อการพ่น 1 ครั้ง
- รูปแบบเทอบูเฮเลอร์ (Turbuhaler) ขนาด 100 และ 200 ไมโครกรัมต่อการพ่น 1 ครั้ง
ข้อบ่งใช้ของยา Budesonide
โรคที่เป็นข้อบ่งใช้ของยานี้ ได้แก่
- โรคหืด (Asthma)
- โรคไอครูป (Croup)
- โรคริดสีดวงจมูก (Nasal polyp)
- โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic rhinitis)
ขนาดและวิธีการใช้ยา Budesonide
Budesonide มีขนาดและวิธีการใช้ตามข้อบ่งใช้ ดังนี้
- โรคหืด การใช้ยาในรูปแบบยาพ่น
- ยาพ่นรูปแบบ metered-dose (MDI)
- ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาด 400 ไมโครกรัมต่อวัน แบ่งพ่นครั้งละ 200 ไมโครกรัม วันละสองครั้ง สามารถเพิ่มขนาดยาได้ถึง 1600 ไมโครกรัมในรายที่มีอาการรุนแรง การใช้ยาในระยะรักษาอาการ ขนาด 200-400 ไมโครกรัม
- ขนาดการใช้ยาในเด็กอายุ 2-12 ปี ขนาด 200-800 ไมโครกรัมต่อวัน โดยแบ่งพ่น
- ยาพ่นชนิดผงแห้ง
- ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาด 200-800 ไมโครกรัมต่อวัน วันละครั้ง หรือแบ่งพ่นวันละสองครั้ง ขนาดยาสูงสุด 800 ไมโครกรัมต่อวัน
- ขนาดการใช้ยาในเด็กอายุ 5-12 ปี ขนาด 200-800 ไมโครกรัมต่อวัน แบ่งพ่นวันละสองครั้ง
- ยาชนิดใช้กับเครื่องพ่นเนบูไลเซอร์
- ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ รายที่มีอาการหืดรุนแรง ขนาด 1-2 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง การใช้ยาในระยะรักษาอาการ ขนาด 0.5-1 มิลลิกรัม วันละสองครั้ง
- ขนาดการใช้ยาในเด็ก อายุ 3 เดือน-12 ปี ขนาดเริ่มต้น 0.5-1 มิลลิกรัม วันละสองครั้ง การใช้ยาในระยะรักษาอาการ ขนาด 0.25-0.5 มิลลิกรัม วันละสองครั้ง
- ยาพ่นรูปแบบ metered-dose (MDI)
- โรคไอครูป (Croup) การใช้ยาในรูปแบบใช้กับเครื่องพ่นเนบูไลเซอร์ ขนาดการใช้ยาในเด็ก ขนาด 2 มิลลิกรัม ให้ครั้งเดียว หรือแบ่งให้ยาสองครั้ง (ครั้งละ 1 มิลลิกรัม เว้นระยะห่าง 30 นาทีแล้วค่อยให้ยาอีก 1 มิลลิกรัม) อาจให้ยาซ้ำได้ทุก 12 ชั่วโมง สูงสุด 36 ชั่วโมง (ต่อเนื่อง 3 ครั้ง) หรือจนกว่าอาการจะดีขึ้น
- โรคริดสีดวงจมูก การใช้ยาในรูปแบบสเปรย์พ่นจมูก
- ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ พ่น 1 ครั้งลงในจมูกแต่ละข้าง วันละสองครั้ง หรือพ่น 2 ครั้งลงในจมูกแต่ละข้าง วันละครั้ง ใช้ต่อเนื่องสูงสุดนาน 3 เดือน
- ขนาดการใช้ยาในเด็ก อายุมากกว่า 6 ปี ให้ใช้ขนาดยาเดียวกันกับผู้ใหญ่
- โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ การใช้ยาในรูปแบบสเปรย์พ่นจมูก
- ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาดเริ่มต้น พ่น 2 ครั้งลงในจมูกแต่ละข้าง วันละครั้ง หรือพ่น 1 ครั้งลงในจมูกแต่ละข้าง วันละ 2 ครั้ง เมื่ออาการดีขึ้นให้ลดขนาดยาลงเหลือ พ่น 1 ครั้งลงในจมูกแต่ข้าง วันละครั้ง
- ขนาดการใช้ยาในเด็ก อายุมากกว่า 6 ปี ให้ใช้ขนาดยาเดียวกันกับผู้ใหญ่
ข้อควรระวังและผลข้างเคียงของการใช้ Budesonide
ข้อควรระวังในการใช้ Budesonide ได้แก่
- ไม่แนะนำให้ใช้ยาชนิดพ่นผ่านทางปากเป็นยาหลักในการรักษาอาการหืดกำเริบเฉียบพลัน ควรให้ยาในรูปแบบเนบูไลเซอร์ (เครื่องพ่นละอองยาไฟฟ้า โดยเครื่องจะทำการพ่นยาจากของเหลวให้เป็นละอองฝอย โดยผู้ใช้ต้องหายใจผ่านหน้ากากเพื่อรับละอองยา)
- ยาไม่ได้มีฤทธิ์บรรเทาอาการหลอดลมหดตัวเฉียบพลัน
- ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อวัณโรค ติดเชื้อรา หรือติดเชื้อไวรัส ในระบบทางเดินหายใจ
- ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
- ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยกระดูกพรุน เนื่องจากยาเพิ่มความเสี่ยงความรุนแรงของโรคกระดูกพรุน
- ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยแผลในกระเพาะอาหาร
- ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยต้อกระจก ต้อหิน
- ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคต่อมไร้ท่อ ได้แก่ โรคไทรอยด์ โรคเบาหวาน
- ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคลมชัก
- ควระวังการใช้ยาในผู้ป่วยโรคตับ โรคไต
- ควรระวังการใช้ยานี้ในเด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร
ผลข้างเคียงของการใช้ Budesonide ได้แก่
- การใช้ยาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาจเกิดผลข้างเคียง คือ กลุ่มอาการคุชชิง (Cushing’s syndrome) อาการแสดง ได้แก่ มีใบหน้ากลม แก้มแดง มีหนอกบริเวณคอ พุงยื่นแต่แขนขาลีบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง กลุ่มอาการคุชชิงเกิดจากการที่ต่อมใต้สมองมีการสร้างฮอร์ไมน ACTH มากกว่าปกติ
- กดการทำงานของต่อมหมวกไต
- บกพร่องทางการเจริญเติบโต
- ลดความหนาแน่นของมวลกระดูก
- ทำให้เกิดต้อกระจก ต้อหิน
- ส่งผลต่อจิตประสาท และพฤติกรรม
ข้อควรทราบอื่นๆของยา Budesonide
- ยาชนิดสำหรับใช้ทางจมูก ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม category B ตามดัชนีความปลอดภัยการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ (Pregnancy Safety Index) ยาค่อนข้างมีควรปลอดภัยกับทารกในครรภ์
- ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดพ่นที่ใช้สำหรับโรคหืด เป็นยาที่ใช้สำหรับควบคุมอาการเท่านั้น ยาไม่ได้มีฤทธิ์รักษาอาการ การใช้ยาจึงจำเป็นต้องใช้อย่างต่อเนื่องร่วมกับยาพ่นสำหรับรักษาอาการ
- หากผู้ป่วยมีอาการหืดที่รุนแรง แนะนำให้รีบพบแพทย์ เนื่องจากการใช้ยาชนิดพ่นอาจรักษาหรือบรรเทาอาการไม่ได้ผล
- หลังพ่นยาคอร์ติโคสเตียรอยด์แล้ว ผู้ป่วยควรบ้วนปากเพื่อล้างคราบยาที่หลงเหลือออกจากช่องปากและลำคอ เพื่อป้องกันการเจริญของเชื้อราในช่องปาก
- ยานี้แนะนำให้เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส เก็บให้พ้นจากแสงแดด