การเกณฑ์ทหารกับชายไทยคือสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นของคู่กัน อีกทั้งยังเป็นหน้าที่ของผู้ชายไทยที่อายุย่างเข้า 21 ปี จะต้องไปรับคัดเลือกการเป็นทหาร โดยเกณฑ์ที่ใช้เลือกนอกจากความสูงและรอบอกแล้ว การมีน้ำหนักมากหรือน้อยก็อาจมีผลกับการเกณฑ์ทหารด้วยเช่นกัน และเกณฑ์ที่จะรู้ว่าบุคคลนั้นจะเป็นโรคอ้วนหรือไม่สามารถวัดได้จากค่า BMI
ค่า BMI คืออะไร?
ค่า BMI (Body Mass Index) หรือดัชนีมวลกาย คือ ค่าการคำนวณทางสากลเพื่อหาน้ำหนักตัวที่สมดุล ซึ่งค่า BMI นี้จะเป็นตัวจำแนกว่าบุคคลนั้นมีน้ำหนักตัวเกินจนเป็นโรคอ้วนหรือน้ำหนักน้อยจนผอมมีค่าอยู่ที่เท่าไร แต่ทั้งนี้ยังไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าบุคคลนั้นจะมีน้ำหนักเหมาะสมได้อย่างชัดเจน เพราะต้องนำปัจจัยอื่นๆ เข้ามาช่วยพิจารณาประกอบด้วย อย่างเช่นพันธุกรรม พฤติกรรมการกิน การออกกำลังกาย และการใช้ชีวิต เป็นต้น
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
แต่ค่า BMI จะช่วยทำให้แพทย์สามารถนำมาใช้พิจารณา เพื่อดูอัตราความเสี่ยงของการเกิดโรคที่มากับความอ้วนได้ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือด โรคมะเร็งบางชนิด โรคเกี่ยวกับหัวใจ โรคกระดูกพรุน โดยมีสูตรการคำนวณดังนี้ (เหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุ 20 ปี ขึ้นไป)
BMI (ดัชนีมวลกาย) = น้ำหนักตัว (กก.) / ส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง ผลลัพธ์ที่ได้มีเกณฑ์ดังนี้
- ผอมเกินไป (น้อยกว่า18.5) จัดว่ามีน้ำหนักน้อยเกินไป ทำให้เสี่ยงต่อการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอแล้วส่งผลให้อ่อนเพลียง่าย ดังนั้นควรออกกำลังกายให้แข็งแรงและรับประทานอาหารให้เพียงพอ
- น้ำหนักปกติ (18.6-22.9) ผู้ที่มีค่า BMI อยู่ในช่วงนี้จัดว่าดีที่สุด เพราะยังห่างไกลโรคอ้วนและมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่างๆ น้อยที่สุด
- น้ำหนักเกิน (23.0-24.9) จัดว่ามีความอ้วนอยู่ หากมีประวัติทางด้านกรรมพันธุ์ โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง ก็ยังคงมีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติทั่วไป
- อ้วน (25.0-29.9) ยังไม่ถึงเกณฑ์ที่อ้วนมาก แต่ก็มีโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานหรือโรคความดันโลหิตสูงได้เช่นกัน
- อ้วนมาก (30.0 ขึ้นไป) มีความอันตรายเพราะอ้วนมาก และเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงที่แฝงมากับความอ้วน ซึ่งต้องระวังเรื่องไขมัน และควรหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ
ค่า BMI กับการเกณฑ์ทหาร
จากกฎกระทรวง ฉบับที่ 74 (พ.ศ.2540) อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 41และมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 2 โรคหรือสภาพร่างกายหรือสภาพจิตใจ ซึ่งไม่สามารถรับราชการทหารได้ตามมาตรา 41 คือข้อ 8 (จ) ภาวะอ้วน (Obesity) ซึ่งมีดัชนีความหมายของร่างกาย (Body Mass Index) ตั้งแต่ 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป
นั่นหมายความว่านอกจากเกณฑ์ที่ไม่สามารถเข้ารับราชการทหาร ซึ่งเจ็บป่วยด้วยโรคที่กำหนดโดยกฎของกระทรวงแล้ว โรคอ้วนยังถูกกำหนดให้ยกเว้นไม่ต้องเข้ารับราชการทหาร หากคนนั้นมีค่า BMI มากกว่า 35 ขึ้นไปนั่นเอง โดยจะต้องได้รับการบริการจากโรงพยาบาลของทหาร และการนำหลักฐานใบรับรองแพทย์มายืนยันเพียงเท่านั้น
วิธีการเพิ่มหรือลดค่า BMI
ค่า BMI จะแปรผันตามน้ำหนักตัว หากน้ำหนักตัวเพิ่มก็จะทำให้ค่า BMI เพิ่มขึ้น ถ้าน้ำหนักตัวลดก็จะทำให้ค่า BMI ลดลงเช่นเดียวกัน
- หากได้ค่า BMI น้อยกว่า 18.5 นั่นหมายถึงมีน้ำหนักน้อยจนเกินไป ต้องเพิ่มน้ำหนักด้วยการรับประทานอาหารให้มากขึ้น โดยเน้นให้มีสารอาหารและปริมาณให้มากเกินพอ รวมทั้งรับประทานอาหารประเภทไขมันและน้ำตาลให้มากขึ้น
- หากได้ค่า BMI มากกว่า 35 ขึ้นไป นั่นหมายถึงมีน้ำหนักมากเกินไปสำหรับส่วนสูง การลดน้ำหนักสำหรับคนอ้วน คือต้องออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญไขมันอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งต้องจำกัดอาหารให้มีแคลอรีต่ำควบคู่กันไปด้วย
ทั้งนี้ การคัดเลือกเข้ารับการเกณฑ์ทหารยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกหลายอย่าง อาจขึ้นอยู่กับดุลพินิจและความต้องการในพื้นที่ที่คัดเลือกด้วย อย่างเช่นถ้าในเขตนั้นมีคนสมัครเต็ม ความต้องการทหารเกณฑ์ก็จะน้อยลง ผู้ที่มีค่า BMI เกิน 35 ก็จะถูกคัดออก แต่หากความต้องการทหารในพื้นที่นั้นมีมากและโรคอ้วนไม่เป็นอุปสรรคในขณะฝึก ก็อาจได้รับการเข้าคัดเลือกเพื่อเสี่ยงจับใบดำใบแดงอีกด้วย