ดอกอัญชัน สมุนไพรสีน้ำเงิน ประโยชน์หลากหลายปลูกง่ายโตไว

ดอกอัญชัน ดอกไม้สีน้ำเงิน มีดีมากกว่าแค่สีสันสดใส ให้คุณประโยชน์มากมาย แถมยังเป็นสมุนไพรที่หาได้ง่ายอีกด้วย
เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 13 พ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
ดอกอัญชัน สมุนไพรสีน้ำเงิน ประโยชน์หลากหลายปลูกง่ายโตไว

อัญชัน  คือ พืชผักที่เราคุ้นหน้าคุ้นตาเป็นอย่างดี นิยมนำมาใช้ประโยชน์ในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นผักเครื่องเคียงน้ำพริก เป็นเครื่องสำอาง เป็นสีผสมอาหาร หรือทำเป็นเครื่องดื่ม ไม่เพียงแค่สีน้ำเงินสดใสของดอกเท่านั้น แต่ยังอุดมไปด้วยสรรพคุณทางยา  จัดได้ว่า อัญชันเป็นสมุนไพรที่ให้ประโยชน์ได้ตั้งแต่รากจนถึงดอกแถมเป็นพืชที่ปลูกได้ง่าย โตไว ทำให้อัญชันเป็นสมุนไพรราคาถูกที่ใครๆ ก็สามารถหามารับประทานกันได้ไม่ยาก

ลักษณะของดอกอัญชัน

  • อัญชันมีชื่อในภาษาอังกฤษว่า butterfly pea หรือ blue pea ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Clitoria ternatea Linn. จัดอยู่ในวงศ์ Fabaceae ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับถั่วฝักเมล็ดกลม เช่น ถั่วแระ ถั่วลันเตา และถั่วพู เป็นต้น มีชื่อเรียกในท้องถิ่น เช่น เอื้องชัน แดงชัน เป็นต้น
  • ลำต้นของอัญชันจะเป็นไม้เลื้อยล้มลุกเนื้ออ่อน มีอายุสั้น ลำต้นมีขมนุ่มปกคลุม แตกยอดเลื้อยพันไปกับสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวที่เกาะเกี่ยวได้ 
  • ต้นอัญชันสามารถพบเห็นได้ทั่วไปโดยเฉพาะในป่าที่มีความโล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทสะดวก เป็นพื้นที่ที่มีต้นไม้ให้ร่มเงาแบบกึ่งร่ม ใบเรียงตัวประกอบกันเหมือนขนนก ยาว 6 - 12 เซนติเมตร มีใบย่อยเป็นรูปไข่ 5 - 7 ใบ กว้างประมาณ 2 - 3 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ส่วนโคนใบมน สัมผัสผิวใบด้านล่างจะรู้สึกได้ถึงขนหนาปกคลุมอยู่
  • ดอกอัญชันมีเอกลักษณ์โดดเด่นอยู่ที่สีสันของดอก สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี โดยทั่วไปจะเป็นสีน้ำเงินเข้ม เมื่อคั้นน้ำออกมาจะได้เป็นสีฟ้า แต่ยังพบดอกสีขาว ม่วง และฟ้า ตามแต่ละสายพันธุ์ ซึ่งการออกดอกจะออกเป็นดอกเดี่ยว รูปทรงคล้ายกับฝาหอยเชลล์ อยู่กันเป็นคู่ตามซอกใบ มีกลีบดอก 5 กลีบ เมื่อดอกบานสมบูรณ์เต็มที่แล้วจะมีความยาวตั้งแต่ 2 - 4 เซนติเมตร ปลายดอกเว้าเป็นแอ่ง ตรงกลางดอกเป็นสีเหลือง มีทั้งแบบดอกซ้อนและดอกลา โดยที่ดอกซ้อนจะมีกลีบดอกที่ขนาดเท่ากัน แต่หากเป็นดอกชั้นเดียว กลีบชั้นนอกจะใหญ่กว่ากลีบชั้นใน
  • ผลของอัญชันจะเป็นฝักแบน กว้าง 1 - 1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5 - 8 เซนติเมตร ด้านในมีเมล็ดสีดำคล้ายไตเรียงตัวอยู่ประมาณ 5 - 10 เมล็ด

สรรพคุณทางการแพทย์แผนไทยของดอกอัญชัน

  1. ราก : ต้มดื่มช่วยขับปัสสาวะ
  2. ดอก : ตำเป็นยาพอก หรือคั้นเอาน้ำทาแก้ฟกบวม ทำยาสระผมแก้ผมร่วงเนื่องจากมีฤทธิ์เป็นยาเย็น ต้มน้ำใช้ดื่มช่วยดับกระหาย เป็นยาเย็นแก้ร้อนใน
  3. เมล็ด : ใช้กินเป็นยาระบายถ่ายท้อง
  4. แพทย์อายุรเวท (ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย) : ใช้ดอกอัญชันในการเข้าตำรับยาเพื่อช่วยลดความเครียดและวิตกกังวล

ประโยชน์จากการรับประทานดอกอัญชัน

  1. สรรพคุณทางยาที่น่าสนใจของ ดอกอัญชัน ที่นำมารับประทาน ภายในดอกจะมีสารพิเศษที่รู้จักกันในชื่อว่า "แอนโทไซยานิน (Anthocyanin)" เป็นสารที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการมองเห็น กระตุ้นการทำงานของดวงตาให้ดีขึ้น ช่วยลดภาวะเสื่อมสภาพของดวงตา ลดอาการตามัว ตาฟาง ป้องกันการเกิดภาวะเบาหวานขึ้นตา ป้องกันความเสี่ยงโรคต้อหิน และโรคต้อกระจก กระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิต ช่วยให้เลือดนำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้อย่างเต็มที่
  2. ดอกอัญชัน มีสารที่ช่วยทำหน้าที่เสมือนสารต้านอนุมูลอิสระที่ต้านการออกซิเดชั่นของไขมัน ทำให้ชะลอการเกิดโรคที่มาจากคอเลสเตอรอล ภาวะอุดตันในหลอดเลือด โรคหัวใจ โรคความดัน และโรคหลอดเลือด อีกทั้งยังช่วยลดการแข็งตัวของเกล็ดเลือด ป้องกันการอุดตันของลิ่มเลือด กระตุ้นการเรียนรู้และการจดจำ ต้านการอักเสบ ขับปัสสาวะ และทำให้กล้ามเนื้อเกิดความผ่อนคลาย
  3. ดอกอัญชัน ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานให้กับร่างกาย ชะลอการเกิดริ้วรอย บำรุงสมอง ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง ลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ช่วยขับล้างสารพิษออกจากร่างกาย บรรเทาอาการเหน็บชาตามมือและเท้า และแก้อาการฟกช้ำ

ดอกอัญชันนำมาทาคิ้ว ปลูกหนวด ได้จริงหรือ?

มีการวิจัยพบว่า สารที่ได้จากการสกัดโดยใช้เอทานอลจากดอกอัญชัน มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ 5 α- reductase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของผมและขน  อีกทั้งยังมีฤทธิ์กระตุ้นการงอกของเส้นขนและผมอีกด้วย 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ tyrosinase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเม็ดสีเมลินินจึงคาดว่า สามารถช่วยให้ผมที่เกิดใหม่มีสีเข้มขึ้นได้

สูตรการทำน้ำดอกอัญชัน

ส่วนผสมสำหรับการทำน้ำดอกอัญชัน ให้เลือกเก็บดอกอัญชันสดมาตากแห้งเก็บไว้ เมื่อต้องการนำมาใช้ ให้กะประมาณดอกอัญชันแห้ง 1 กำ สำหรับต้มในน้ำ 1 หม้อไม่ใหญ่มาก แต่หากเก็บเป็นดอกสดมาก็ใช้ได้เช่นกัน ให้นำดอกมาล้างทำความสะอาดก่อนนำลงต้มในหม้อ อาจผสมกับใบเตยขณะต้มเพื่อเพิ่มกลิ่นหอมก็ได้

วิธีการทำน้ำดอกอัญชัน ดังนี้

  1. ต้มน้ำดอกอัญชันไปเรื่อยๆ จนสีของน้ำเข้มขึ้นเป็นสีม่วง ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 - 5 นาที
  2. จากนั้นกรองแยกกากกับน้ำออกจากกัน นำน้ำดอกอัญชันที่ได้ไปต้มต่อ ผสมน้ำตาลหรือน้ำผึ้งลงไป
  3. ชิมรสให้ได้พอดี สามารถนำมาดื่มเป็นชาร้อน หรือจะผสมกับน้ำแข็งดื่มแบบเย็นเพื่อดับกระหายก็ได้เช่นกัน

ข้อควรระวังในการรับประทานดอกอัญชัน

  1. ควรระมัดระวังการบริโภคดอกอัญชันร่วมกับยาที่มีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มเกล็ดเลือด หรือยาที่ทำหน้าที่ป้องกันการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน (aspirin) วาร์ฟาริน (warfarin) เพราะจะทำให้ฤทธิ์เข้าไปเสริมกัน ซึ่งอาจจะส่งผลอันตรายต่อร่างกายได้
  2. ในกลุ่มคนที่มีภาวะภูมิแพ้เกสรดอกไม้ เป็นไปได้ก็ควรหลีกเลี่ยง เพื่อป้องกันอาการแพ้กำเริบขึ้นมา
  3. ไม่ควรดื่มน้ำดอกอัญชันแทนน้ำเปล่า หรือดื่มในปริมาณเข้มข้น หรือมากเกินไป เพราะจะส่งผลให้ไตทำงานหนัก เนื่องจากต้องขับเอาสารสีจากดอกอัญชันออกมา
  4. ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือต่ำ ควรงดการบริโภค หรือบริโภคแต่น้อยเท่านั้น เพราะจะทำให้เกิดอาการหน้ามืดและหมดสติได้ง่าย เนื่องจากเมื่อรับประทานแล้วจะเกิดการขับน้ำออกจากร่างกายทางปัสสาวะมากขึ้น ทำให้ความดันโลหิตตกกระทันหันได้
  5. ผู้ป่วยโรคโลหิตจาง ควรระมัดระวังการบริโภคให้มาก เนื่องจากในดอกอัญชันมีฤทธิ์ที่ทำหน้าที่ละลายลิ่มเลือด ส่งผลให้เป็นอันตรายต่อตัวผู้ป่วยได้
  6. หลีกเลี่ยงการเด็ดดอกอัญชันกินสดๆ เพราะกลีบเลี้ยงหรือขั้วดอกจะมียางที่ทำให้ระคายเคืองภายในลำคอ ส่วนของเมล็ดหากรับประทานเข้าไปสดๆ ก็จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้

สรุป  ดอกอัญชัน คือ สมุนไพรที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีสีสันที่โดดเด่น และยังให้คุณประโยชน์ทางยาที่หลากหลาย แต่ก่อนจะนำไปใช้บริโภคหรือใช้ในด้านอื่นๆ ควรศึกษาทำความเข้าใจให้ดีก่อน เพื่อช่วยให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยอย่างสูงสุด


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ผศ.ดร ทิพรัตน์ หงภัทรคีรี, กิจกรรมการต้านอนุมูลอิสระและความคงตัวของสารสกัดแอนโธไซยานินจากดอกอัญชัน, ดอกชบา และดอกกระเจี๊ยบ (http://www.stdb.most.go.th/research_detail.aspx?ResearchId=40662)
สํานักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ประโยชน์น่ารู้ของ“อัญชัน” ( http://medplant.mahidol.ac.th/document/Clitoria_ternatea.pdf)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
อัญชัน ดอกไม้สีน้ำเงินที่มีดีมากกว่าความสวย
อัญชัน ดอกไม้สีน้ำเงินที่มีดีมากกว่าความสวย

ประโยชน์ของอัญชัน ไอเดียการกินการใช้อัญชันเพื่อสุขภาพ ข้อควรระวัง

อ่านเพิ่ม