คุณไม่จำเป็นต้องเลิกรับประทานผลไม้หากเป็นโรคเบาหวาน เพราะผลไม้เป็นแหล่งที่มีสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพ แต่จะต้องระมัดระวังปริมาณผลไม้ที่รับประทานต่อวัน และเลือกชนิดของผลไม้ให้เหมาะสม เนื่องจากผลไม้เหล่านั้น อาจมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป ซึ่งส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดได้
ผลไม้ชนิดไหนเหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะต้องระวังระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้มากหรือน้อยจนเกินไป การรับประทานผลไม้จึงต้องสังเกตน้ำตาลในผลไม้แต่ละชนิด ซึ่งสามารถสังเกตง่ายๆ ได้จากรสชาติของผลไม้ ถ้าผลไม้ชนิดนั้นมีรสชาติหวานก็ไม่ควรรับประทานมากจนเกินไป ควรเลือกผลไม้ที่มีจำนวนกากใยสูง เพราะนอกจากจะช่วยให้อิ่มท้องแล้ว ยังช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นระยะๆ เพื่อความปลอดภัยของร่างกาย
ตรวจเบาหวานวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 78 บาท ลดสูงสุด 83%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
ผลไม้ชนิดใดที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ปัจจุบันยังไม่มีมีคำตอบที่แน่ชัด เพราะแต่ละคนมีความชอบ และอาหารที่รับประทานแตกต่างกัน แต่ผลไม้ที่จะแนะนำในวันนี้ เป็นผลไม้ที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ สามารถรับประทานปริมาณมากได้ และนำไปประยุกต์ทำเป็นขนมหวานได้หลากหลายชนิด มีประโยชน์ต่อร่างกาย อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอวัย ก็คือ "ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่" นั่นเอง
ทำไมผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ถึงเหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่เป็นผลไม้ที่ดีสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานมาก เพราะมีปริมาณน้ำตาลต่ำ อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินหลากหลายชนิด และเส้นใยอาหาร สารต้านอนุมูลอิสระในเบอร์รี่จะช่วยป้องกันการทำลายอนุมูลอิสระที่เกิดในร่างกาย จากการสัมผัสมลภาวะทางอากาศ ฝุ่น ควัน แสงแดด เป็นต้น ซึ่งสารอนุมูลอิสระชนิดนี้จะสร้างความเสื่อมให้กับร่างกาย ทำให้ดูมีอายุมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นบ่อเกิดของโรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง และการเสื่อมของจุดรับแสงภายในตา
ผลไม้ 5 ชนิดที่ดีที่สุดสำหรับคนเป็นโรคเบาหวาน
- ราสเบอร์รี่ มีปริมาณคาร์โบไฮเดรต 15 กรัมต่อ 1 ถ้วย และยังให้เส้นใยอาหารมากที่สุดในผลไม้ 5 ชนิด ข้อมูลจาก Obesity and Annals of Nutrition and Metabolism พบว่าการรับประทานราสเบอร์รี่ซึ่งมีเส้นใยอาหารสูงจะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่และช่วยลดโรคแทรกซ้อนต่างๆที่เกิดจากโรคเบาหวานได้ นอกจากนี้ราสเบอร์รี่ยังอุดมไปด้วยกรดเอลลาจิก (Ellagic acid) ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง
- แบล็คเบอร์รี่ ปริมาณ 3 ส่วน 4 ถ้วย มีคาร์โบไฮเดรตเพียง 15 กรัม อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่มีการศึกษาพบว่า สามารถช่วยลดความดันโลหิต ช่วยลด Cholesterol นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจและโรคมะเร็งได้อีกด้วย นอกจากนี้แบล็คเบอร์รี่มีเส้นใยอาหารทั้ง 2 ประเภทคือละลายน้ำและไม่ละลายน้ำ ซึ่งแบบละลายน้ำจะทำให้อิ่มได้นานและช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีจึง เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานเป็นอย่างมากส่วนส้นใยอาหารแบบที่ไม่ละลายน้ำจะลดอาการท้องผูกช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น
- แครนเบอร์รี่ ผลไม้ชนิดนี้มีปริมาณคาร์โบไฮเดรต 15 กรัมต่อ 1 ถ้วย มีสรรพคุณช่วย ป้องกันการเกิดโรคหัวใจ เส้นเลือดในสมองตีบ และโรคมะเร็ง
โดยมีการศึกษาเกี่ยวกับแครนเบอร์รี่พบว่า สามารถช่วยลดระดับไขมัน LDL (Low Density Lipoprotein) ไขมันที่ความหนาแน่นต่ำ ซึ่งเป็นไขมันที่ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง และช่วยเพิ่ม HDL (High Density Lipoprotein ) ซึ่งเป็นไขมันที่ดีต่อร่างกาย ช่วยป้องกันไม่ให้ไขมันที่ไม่ดี คือ โคเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และ LDL ไปสะสมในหลอดเลือดแดงได้ และใน Journal Nutrition พบว่าการดื่มน้ำแครนเบอร์รี่ช่วยลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรังเช่นโรคหัวใจโรคเบาหวานและโรคหลอดเลือดสมองได้
นอกจากนี้ ดร. Simran Saini จากโรงพยาบาล Fortis Shalimar Bagh ประเทศอินเดียได้กล่าวว่าน้ำแครนเบอร์รี่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระสูงจึงช่วยป้องกันการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้อีกด้วย
- สตรอเบอร์รี่ สตรอเบอร์รี่ปริมาณ 1.25 ถ้วย มีคาร์โบไฮเดรต 15 กรัม เป็นผลไม้ที่ให้พลังงาน และมีวิตามินซีสูงกว่าเบอร์รี่ชนิดอื่นถึง 3 เท่า โดยในสตรอเบอร์รี่ 1 ถ้วยสามารถให้วิตามินซีเท่ากับวิตามินซีในน้ำส้ม 1 ถ้วย จากงานวิจัยพบว่าการรับประทานสตรอเบอร์รี่ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์สามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ นอกจากนี้ยังช่วยลดไขมันไม่ดี (LDL) และช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจในสตรีได้ถึง 32% นอกจากนี้สตรอเบอร์รี่ยังมีกรดโฟลิค ที่ช่วยป้องกันความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด โรคหัวใจ และโรคมะเร็งอีกด้วย
- บลูเบอร์รี่ ปริมาณ 3 ส่วน 4 ถ้วย มีคาร์โบไฮเดรต 15 กรัม เป็นผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระมากที่สุดใน 5 ชนิด ถูกเรียกว่าเป็น อาหารสมอง เพราะช่วยในเรื่องการป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์ และยังมีสาร Phytonutrients จำนวนมาก เช่น Flavonoids, Anthocyanins ที่มีประโยชน์ต่อระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยลดอาการอักเสบ
นอกจากนี้บลูเบอร์รี่ยังเป็นผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำและมีไฟเบอร์สูงดังนั้นเมื่อรับประทานบลูเบอร์รี่แล้วโอกาสที่จะทำให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นจึงมีน้อยมาก และการรับประทานบลูเบอร์รี่ 1-2 ถ้วยต่อวันสามารถลดระดับไขมัน LDL และช่วยเพิ่มระดับไขมัน HDL ได้ จากการศึกษายังพบว่าผู้ที่มีความดันโลหิตสูงเมื่อรับประทานบลูเบอร์รี่เป็นประจำจะช่วยให้ความดันลดลง แต่สำหรับผู้ที่มีความดันปกติจะช่วยให้ความดันอยู่ในภาวะคงที่ ทำให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น
ลดค่าใช้จ่ายจากการรับประทานเบอร์รี่สด
ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่มีราคาสูงในประเทศไทย แต่เมื่อถึงฤดูกาลของเบอร์รี่ แล้วจะมีราคาค่อนข้างถูก คุณสามารถซื้อกักตุนไว้ โดยการแช่แข็ง หรือซื้อเบอร์รี่ตากแห้งมารับประทานได้ แต่ต้องระวังจำนวนที่รับประทาน เพราะเบอร์รี่แห้งจะมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตมากกว่าเบอร์รี่สด เนื่องจากเบอร์รี่แห้งจะสูญเสียน้ำทำให้มีขนาดเล็กลง แต่ปริมาณคาร์โบไฮเดรตต่อลูกเท่าเดิม การรับประทานปริมาณเบอร์รี่แห้ง 1 ถ้วยจึงมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตมากกว่าเดิม เพราะจำนวนของเบอร์รี่ที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง
ทั้งนี้สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานการรับประทานผลไม้ทุกอย่างจะต้องอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสมจึงจะดีที่สุด