กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HonestDocs
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HonestDocs

ประโยชน์ของกล้วยหอม ไอเดียการกินการใช้เพื่อสุขภาพ และข้อควรระวัง

เรื่องกล้วยๆ ที่ช่วยให้คุณสุขภาพดีด้วย แถมยังช่วยลดน้ำหนักได้อีก
เผยแพร่ครั้งแรก 11 เม.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 8 เม.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
ประโยชน์ของกล้วยหอม ไอเดียการกินการใช้เพื่อสุขภาพ และข้อควรระวัง

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • กล้วยหอม เป็นผลไม้ที่ประกอบไปด้วยวิตามิน และเกลือแร่ต่างๆ หลายชนิด ทั้งยังให้พลังงานแก่ร่างกายได้ดี เป็นที่นิยมต่อผู้ที่ต้องการคุมน้ำหนัก
  • กล้วยหอมให้ประโยชน์ทั้งด้านร่างกาย เช่น บำรุงสายตา แก้ท้องผูก ลดน้ำหนัก ช่วยให้ย่อยอาหารได้ง่ายขึ้น บำรุงหัวใจ และด้านสุขภาพจิต เช่น ผ่อนคลายความเครียด แก้อาการนอนไม่หลับ
  • กล้วยหอมมีสรรพคุณด้านความงามโดยช่วยทำให้ผิวดูอ่อนเยาว์ เรียบเนียน และกระชับได้ ผ่านการมาส์กหน้า ทั้งยังทำให้ฟันขาวขึ้นได้ โดยให้นำเปลือกกล้วยมาถูฟันให้ทั่วก่อนแปรงฟนทุกวัน
  • กล้วยหอมมีฤทธิ์เย็น อาจส่งผลกระทบทำให้ท้องอืด สร้างแก๊สในกระเพาะอาหารมากขึ้นจนไม่สบายตัวได้ จึงควรรับประทานในปริมาณที่พอดีเท่านั้น
  • ถึงกล้วยผอมจะมีสรรพคุณดีๆ มากมาย แต่ก็แฝงไปด้วยน้ำตาลไม่น้อยจนอาจทำให้น้ำหนักขึ้นได้ คุณจึงควรสลับไปรับประทานผลไม้ชนิดอื่นบ้าง เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนจากน้ำตาลอย่างโรคอ้วน หรือโรคเบาหวาน (ดูแพ็กเกจตรวจเบาหวาน ตรวจสุขภาพทั่วไปได้ที่นี่)

อยากมีสุขภาพดีไม่จำเป็นต้องลงทุนอะไรมากมาย เพราะการรับประทานกล้วยหอมช่วยให้คุณมีสุขภาพร่างกายที่ดีได้ ไม่เพียงเท่านั้น กล้วยหอมยังช่วยในการรักษาและป้องกันโรคต่างๆ ได้อีกด้วย ว่าแล้วเราก็ไปดูกันดีกว่าว่า ประโยชน์ของกล้วยหอมมีดีต่อสุขภาพร่างกายอย่างไร

รู้จักกล้วยหอม

กล้วยหอม เป็นผลไม้ที่ประกอบไปด้วยน้ำตาลธรรมชาติ 3 ชนิด คือ ซูโครส ฟรุกโตส และกลูโคส อีกทั้งยังมีเส้นใยอาหารรวมทั้งวิตามิน และเกลือแร่ต่างๆ หลายชนิด 

กล้วยหอมยังไม่เพียงแค่กลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ แต่ยังช่วยเพิ่มพลังงานให้แก่ร่างกายได้อีกด้วย กล้วยหอมจึงเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มคนออกกำลังกาย และลดน้ำหนัก

คุณค่าทางโภชนาการของกล้วยหอม

กล้วยหอม 1 ลูก ไม่รวมเปลือก (100 กรัม) ให้คุณค่าทางโภชนาการหลักๆ ดังนี้

พลังงาน 132 กิโลแคลอรี  น้ำ 66.3 กรัม โปรตีน 0.9 กรัม ไขมัน 0.2 กรัม คาร์โบไฮเดรต 31.7 กรัม ไฟเบอร์ 1.9 กรัม ซัลเฟต 0.9 กรัม แคลเซียม 26 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 46 มิลลิกรัม เหล็ก 0.8 มิลลิกรัม  เบต้า-แคโรทีน 99 ไมโครกรัม วิตามินเอ 17 ไมโครกรัม

ประโยชน์ของกล้วยหอม

กล้วยหอมดีต่อสุขภาพหลายด้าน ซึ่งประโยชน์เหล่านั้นก็มีดังนี้

1. ช่วยผ่อนคลายความเครียด

เมื่อร่างกายคนเราเข้าสู่ภาวะเครียด ย่อมทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น ส่งผลทำให้รู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัว หรือบางครั้งอาจถึงขั้นเกิดอาการปวดหัวตุ้บๆ 

แต่การรับประทานกล้วยหอมจะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เพราะผลไม้ชนิดนี้อุดมไปด้วยสารโพแทสเซียม และวิตามินมากมาย ซึ่งสารอาหารเหล่านี้จะช่วยลดความดันเลือดให้สามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้ร่างกายค่อยๆ ลดระดับความเครียดลงมานั่นเอง

2. ช่วยแก้อาการท้องผูก

เมื่อมีอาการท้องผูก การรับประทานกล้วยหอม สามารถช่วยแก้อาการนี้ได้ เพราะกล้วยหอมอุดมไปด้วยไฟเบอร์ชนิดที่ละลายน้ำได้ซึ่งส่งผลดีต่อระบบขับถ่าย ดังนั้นหากมีอาการท้องผูกบ่อยๆ แนะนำให้รับประทานกล้วยหอมวันละ 1 ลูกทุกวัน แล้วอาการท้องผูกจะเริ่มดีขึ้น

3. บำรุงสายตา

กล้วยหอมอุดมไปด้วยวิตามินเอ และสารเบต้าแคโรทีน ซึ่งสารทั้ง 2 ชนิดนี้ล้วนเป็นสารอาหารที่มีความสำคัญต่อดวงตาอย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยบำรุงสายตาแล้ว ยังมีส่วนช่วยบำรุง และกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทตาอีกด้วย

4. ช่วยต่อต้านสารอนุมูลอิสระ

ผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินซีมีส่วนช่วยในการต่อต้านสารอนุมูลอิสระทั้งสิ้น กล้วยหอมก็เป็นอีกผลไม้ที่ช่วยต้านสารอนุมูลอิสระได้ดี วิตามินซีจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับหลอดเลือด และยังช่วยป้องกันโรคลักปิดลักเปิดด้วย

5. แก้อาการนอนไม่หลับ

ใครที่มีปัญหานอนไม่หลับบ่อยๆ อย่าเพิ่งตัดสินใจรับประทานยานอนหลับ เพราะการรับประทานกล้วยหอมเป็นตัวช่วยที่ดี และปลอดภัยกว่า เนื่องจากอุดมไปด้วยกรดอะมิโน และทริปโตเฟน ซึ่งสารทั้ง 2 อย่างนี้เป็นส่วนประกอบของการสร้างเซโรโทนินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยทำให้ร่างกายหลับได้ง่ายขึ้น 

ดังนั้นเมื่อร่างกายเผชิญกับภาวะนอนไม่หลับ หรือรู้สึกกระสับกระส่าย อาจลองรับประทานกล้วยหอมในช่วงมื้อเย็นจากนั้นจึงค่อยอาบน้ำ และเข้านอน บางทีการนอนหลับอันยากเย็นของคุณอาจจะง่ายดายขึ้น

6. ช่วยลดน้ำหนัก

กล้วยหอมมีวิตามินบี1 และวิตามินบี2 ที่คอยเร่งการเผาผลาญน้ำตาล และไขมันในร่างกาย ที่สำคัญยังมีสารอาหารสำคัญอย่างคาร์โบไฮเดรต และไฟเบอร์ชนิดที่ละลายน้ำได้ ซึ่งกากใย (ไฟเบอร์) จะทำการดูดซับน้ำทำให้เกิดการพองตัว และช่วยให้รู้สึกอิ่มได้นานขึ้น 

7. มีส่วนช่วยในการย่อยอาหาร

กากอาหารที่อุดมอยู่ในกล้วยหอมนั้น มีหน้าที่ช่วยการทำงานของระบบย่อยอาหารให้สามารถทำงานได้อย่างคล่องตัว ดังนั้นเมื่อรับประทานกล้วยหอมบ่อยๆ ก็จะเป็นการปรับระบบย่อยอาหารในร่างกายให้สามารถทำงานได้เป็นปกติยิ่งขึ้น 

สำหรับใครที่ระบบย่อยอาหารมีปัญหา หากรับประทานกล้วยหอมเป็นประจำก็ไม่จำเป็นต้องง้อยาช่วยย่อยใดๆ เลย

8. บำรุงหัวใจ

วิตามิน และแร่ธาตุหลายชนิดที่มีอยู่ในกล้วยหอมล้วนส่งผลดีต่อสุขภาพของหัวใจมากมาย และยังมีสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งมีหน้าที่ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจได้อีกด้วย 

9. ป้องกันกระดูกเปราะ

เหตุผลที่การรับประทานกล้วยหอมช่วยในการป้องกันโรคกระดูกเปราะ คือ มีปริมาณของฟอสฟอรัสปริมาณสูง ซึ่งฟอสฟอรัสเป็นสารอาหารที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก  

และอีกประโยชน์ของกล้วยหอมก็คือ แคลเซียมที่อุดมอยู่ในกล้วยหอมก็มีหน้าที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับกระดูกตามส่วนต่างๆ ในร่างกายได้เป็นอย่างดีอีกด้วย 

10. สร้างสรรค์เมนูได้หลายอย่าง

หากใครเบื่อที่จะรับประทานกล้วยหอมแบบเดิมๆ สามารถนำกล้วยหอมมาดัดแปลงเป็นเมนูของว่างได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะนำไปทำเป็นเครื่องดื่ม หรือของหวาน ก็ล้วนส่งกลิ่นหอมเข้ากับวัตถุดิบอื่นๆ ได้อย่างลงตัว เช่น เค้กกล้วยหอม บานอฟฟี่ หรือสมูทตี้กล้วยหอมปั่น 

อย่างไรก็ตาม คุณไม่ควรรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบเป็นกล้วยหอมมากเกินไป เพราะอาจส่งผลต่อน้ำหนักที่อาจเพิ่มขึ้นจากความหวานของกล้วยก็เป็นได้

ไอเดียการรับประทานกล้วยหอมเพื่อสุขภาพ

1. ทำเป็นยารักษาความดันโลหิตสูง

กล้วยหอมสามารถนำมาทำเป็นยา รับประทานเพื่อรักษาโรคความดันโลหิตสูงได้ โดยจะใช้ส่วนของเปลือกกล้วยในการทำ ด้วยการนำเอาเปลือกกล้วยประมาณ 30-60 กรัม มาต้มแล้วกรองเอาแต่น้ำ ดื่มเป็นประจำทุกวัน จะช่วยให้ความดันโลหิตค่อยๆ ลดต่ำลง และอยู่ในระดับปกติได้ในที่สุด

2. นำมาทำขนม

การนำกล้วยหอมมาทำขนม ก็จะได้เมนูสุดอร่อย และดีต่อสุขภาพเหมือนกัน แต่ต้องระมัดระวังในเรื่องของน้ำตาล เพราะเมนูขนมส่วนใหญ่จะมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบสูงมาก จึงไม่ควรรับประทานมากเกินไป เพราะจะทำให้อ้วนหรือเป็นเบาหวานได้ 

สำหรับเมนูขนมที่สามารถทำ หรือหารับประทานได้ เช่น คัพเค้กกล้วยหอม พายกล้วยหอม และเปาะเปี๊ยะกล้วยหอม 

3. แก้เมาค้าง

เมื่อมีอาการเมาค้าง กล้วยหอมก็สามารถนำมารับประทาน เพื่อแก้เมาค้างได้อีกด้วย โดยการนำมาปั่นกับนม และใส่น้ำผึ้งลงไปเล็กน้อย ปั่นให้เป็นเนื้อเดียวกัน แล้วรับประทานทันทีหลังตื่นนอน อาการเมาค้างจะค่อยๆ ลดน้อยลงไป และไม่มีอาการปวดหัวมากวนใจด้วย

ไอเดียการใช้กล้วยหอมเพื่อสุขภาพ และความงาม

นอกจากนำมารับประทานแล้ว กล้วยหอมยังนำมาใช้ประโยชน์ภายนอกได้อีกด้วย โดยมีวิธีนำมาใช้เพื่อสุขภาพและความงามดังต่อไปนี้

1. แก้ผื่นคันจากยุงกัด

อาการคันจากการถูกยุงกัด เป็นสิ่งที่สร้างความรำคาญใจ และทรมานไม่น้อย เราสามารถบรรเทาอาการคันจากการโดนยุงกัดได้ ด้วยการนำเอาเปลือกกล้วยหอมด้านในมาทาบริเวณที่ถูกยุงกัดจะช่วยลดอาการคันไปได้มากทีเดียว 

นอกจากนี้ กล้วยผอมยังช่วยบรรเทาอาการจากผื่นคันอื่นๆ ได้ด้วย 

2. มาส์กหน้า ชะลอวัย

สำหรับสาวๆ ที่รักสวยรักงามจะพลาดไม่ได้เลย กับสูตรมาส์กหน้าจากกล้วยหอม ที่จะช่วยชะลอวัยให้คุณดูอ่อนเยาว์ลง และมีผิวพรรณที่ดูเนียนสวย กระชับมากขึ้น โดยให้นำกล้วยหอมสุกมาบดให้ละเอียด ผสมกับน้ำผึ้งประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ 

จากนั้นคลุกให้เข้ากัน แล้วนำส่วนผสมที่ได้มาพอกหน้าทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที เสร็จแล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด ทำเป็นประจำ จะเริ่มเห็นผลลัพธ์ที่พึงพอใจอย่างแน่นอน

3. ห้ามเลือด

เมื่อมีเลือดออก สามารถนำยางจากกล้วยหอมมาใช้ในการห้ามเลือดได้ เพราะมีสารที่จะช่วยยับยั้งการไหลของเลือด ทำให้เลือดหยุดไหลเร็วขึ้นนั่นเอง เพียงนำยางกล้วยมาทาบริเวณที่มีเลือดออกเท่านั้น

4. ช่วยให้ฟันขาว

อยากมีฟันขาว กล้วยหอมก็ช่วยได้ เพียงแค่นำเปลือกกล้วยมาถูฟันให้ทั่วก่อนแปรงฟันเป็นประจำทุกวัน ฟันจะดูขาวขึ้นอย่างทันตา และยังช่วยลดอาการปวดฟัน ป้องกันฟันผุได้อีกด้วย ดังนั้นก่อนแปรงฟันเช้าเย็นลองนำเปลือกกล้วยมาถูฟันกันดู

5. เปลือกกล้วยรักษาสิว

หมดกังวลเรื่องปัญหาสิว เพราะคุณสามารถจัดการได้ไม่ยาก เพียงใช้เปลือกของกล้วยหอมเท่านั้น โดยให้นำเปลือกกล้วยมาถูให้ทั่วบริเวณที่เป็นสิว ทิ้งไว้สักพักแล้วล้างออกให้สะอาด เท่านี้ปัญหาสิวก็จะไม่มากวนใจคุณแล้ว แถมยังช่วยให้ใบหน้าดูเนียนสวยขึ้นอีกด้วย

ข้อควรระวัง

นอกจากกล้วยหอมจะอุดมไปด้วยคุณประโยชน์แล้ว รู้หรือไม่ว่า กล้วยหอมก็มีโทษเช่นกัน มีข้อควรระวังในการใช้ ดังนี้

  • กล้วยหอมมีฤทธิ์เย็น จึงไม่ควรรับประทานมากเกินไปเพราะจะทำให้เกิดปัญหากับระบบการย่อย ท้องอืด และในคนที่มีปัญหาม้ามพร่อง ก็อาจมีอาการรุนแรงมากกว่าเดิม
  • ไม่ควรรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจก่อให้เกิดผลเสียได้ ดังนั้นจึงควรรับประทานให้หลากหลาย สลับกับผลไม้อื่นๆ บ้าง หรือเว้นช่วงไปบ้างก็ได้
  • ไม่ควรรับประทานในขณะที่กำลังหิวจัด เพราะจะไปสร้างแก๊สในกระเพาะอาหารอย่างรวดเร็ว จนส่งผลกระทบตามมาอีกมากมาย และทำให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ทำงานติดขัดได้
  • อาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ แม้ว่ากล้วยหอมจะถือเป็นผลไม้ลดน้ำหนัก แต่ก็มีน้ำตาลอยู่ไม่น้อย คุณจึงควรรับประทานให้ถูกช่วงเวลาคือ ช่วงมื้อเช้า หรือมื้ออาหารว่างโดยอาจผสมกับโยเกิร์ต และผลไม้อื่นๆ ซึ่งไม่ควรรับประทานเพื่อลดน้ำหนักในปริมาณมาก 

กล้วยหอมเป็นผลไม้ที่มากไปด้วยประโยชน์ สามารถนำมาใช้ได้ทั้งการรับประทานและใช้ประโยชน์อื่นๆ ดังนั้น คุณควรหันมารับประทานกล้วยหอมเพื่อสุขภาพกันดีกว่า แต่ก็ควรบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม และไม่รับประทานติดต่อกันนานเกินไป เพื่อป้องกันการเกิดโทษจากกล้วยหอมด้วยนั่นเอง

ดูแพ็กเกจตรวจเบาหวาน ตรวจสุขภาพทั่วไป เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Megan Ware, Benefits and health risks of bananas (https://www.medicalnewstoday.com/articles/271157.php), 28 November 2017
Adda Bjarnadottir, 11 Evidence-Based Health Benefits of Bananas (https://www.healthline.com/nutrition/11-proven-benefits-of-bananas), 18 October 2018

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป