ลูกใต้ใบ พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย เห็นมากในฤดูฝน ในสมัยก่อนพระธุดงค์นิยมพกเป็นสมุนไพรที่ติดกายเนื่องจากมีสรรพคุณแก้ไข้ แก้ท้องเสียได้ดี ปัจจุบันมีการนำมาสกัดเป็นสมุนไพรในรูปของแคปซูล ทำให้รับประทานสะดวกยิ่งขึ้น
ลูกใต้ใบกับหญ้าใต้ใบ คือพืชชนิดเดียวกันหรือไม่?
ลูกใต้ใบกับหญ้าใต้ใบเป็นพืชพรรณคนละชนิดกัน แต่ชื่อคล้ายกัน จึงทำให้หลายคนเข้าใจผิด ลักษณะที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนและสังเกตง่ายของพืช 2 ชนิด คือ ผลของลูกใต้ใบจะมีลักษณะเรียบ ขนาดเล็ก ไม่มีขน และลำต้นมีสีเขียว ส่วนผลของหญ้าใต้ใบ จะมีลักษณะแบน ขรุขระ ขนาดใหญ่กว่า มีขน และลำต้นจะมีสีแดง
ต้นลูกใต้ใบมีกี่ชนิด?
ที่พบในประเทศไทยทั่วไปมี 4 ชนิด คือ ได้แก่ Phyllanthus amarus, Phyllanthus debilis, Phyllanthus urinaria, Phyllanthus virgatus
สรรพคุณมีอะไรบ้าง?
- ทุกส่วนของต้นมีรสขมเช่นเดียวกับ ฟ้าทะลายโจร บอระเพ็ด ขี้เหล็ก กระดอม ซึ่งทางการแพทย์แผนไทยเชื่อว่า ยารสขมช่วยแก้โรคทางน้ำดีและโลหิต มักจะมีสารในกลุ่มของไกลโคไซด์ และอัลคาลอยด์ มีฤทธิ์ลดอาการไข้ทุกชนิด (ไข้หวัด ไข้ทับระดู ไข้จับสั่น) ช่วยเจริญอาหาร แก้ร้อนในกระหายน้ำ และบำรุงน้ำดี
- แพทย์พื้นบ้านไทยและอินเดีย นำทั้งต้น (ราก ลำต้น ใบ ดอก ผล) ต้มกินรักษาโรคดีซ่าน โรคตับ เนื่องจากมีฤทธิ์ป้องกันสารพิษต่างๆ ที่ทำลายตับ เช่น เหล้า ยารักษาโรค และสารเคมี ลดการอักเสบของตับ รักษาสมดุลระดับไขมันในตับ นอกจากนี้จากงานวิจับยังพบว่าลูกใต้ใบสามารถป้องกันการเกิดภาวะตับอักเสบบี และสามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื่อไวรัสตับอักเสบบีได้อีกด้วย
- สามารถยับยั้งเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันบกพร่องในคนหรือเชื้อ HIV ได้ประมาณ 30 %
- มีฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารลดการบาดเจ็บและอาการเลือดออกในกระเพาะอาหารได้
- จากการศึกษาทางเภสัชวิทยาพบว่า สารสกัดของลูกใต้ใบช่วยควบคุมและลดระดับน้ำตาลในกระแสเลือดได้
- ยับยั้งการเกิดเนื้องอกและทำให้ก้อนเนื้องอกมีขนาดเล็กลง นอกจากนี้สามารถต้านมะเร็งได้อีกด้วย
- รักษาอาการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ใช้ในการขับปัสสาวะ ช่วยลดความดันโลหิต ขับก้อนนิ่ว และขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะในผู้ป่วยโรคเกาต์
- ใช้เป็นยาช่วยขับประจำเดือน สำหรับสตรีที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ
- มีฤทธิ์ลดการอักเสบ ช่วยแก้ปวดกล้ามเนื้อ ทำให้กระเพาะอาหาร ลำไส้ และมดลูกคลายตัว แก้อาการปวดประจำเดือนได้ เนื่องจากมีฤทธิ์ยาคล้ายกับแอสไพรินแต่มีความเข้มข้นน้อยกว่า
รากของลูกใต้ใบมีประโยชน์หรือไม่?
จากงานวิจัยการค้นคว้าสารพฤกษเคมี หรือสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ (Phytochemical) ของรากลูกใต้ใบ พบว่า มีสารอัลคาลอยด์ (Alkaloids) และไกลโคไซด์ (Glycosides) มีสรรพคุณระงับอาการปวด แก้อาการไข้หวัด สารแทนนิน (Tannins) มีรสฝาด มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ใช้เป็นยารักษาอาการท้องเสีย สารฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ แก้บวม และสารซาโปนิน (Saponin) แต่ไม่พบสารสเตียรอยด์ (Steroids) วิธีใช้คือนำรากของต้นลูกใต้ใบฝนกับน้ำซาวข้าว ดื่มแก้อาการต่างๆ ข้างต้น และสารมารถแก้อาการเหล่านี้ คือ แก้นิ่ว แก้ปัสสาวะขัด แก้โรคดีซ่าน ประจำเดือนไหลไม่หยุด และช่วยบำรุงธาตุได้
ข้อควรระวังในการใช้รักษาโรค
- ควรระวังผู้ป่วยโรคไต เนื่องจากมีการทดลองในหนู พบว่าการรับประทานเป็นเวลานานพบว่าเกิดพิษต่อไตได้
- การใช้ลูกใต้ใบเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด และควรวัดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ
- ห้ามใช้ลูกใต้ใบในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากลูกใต้ใบมีฤทธิ์เป็นยาขับประจำเดือน อาจทำให้เกิดการแท้งบุตรได้
- ควรระวังผู้ป่วยที่รับประทานยากลุ่มต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด เนื่องจากลูกใต้ใบอาจไปเสริมฤทธิ์ยา จนทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้