April 25, 2017 18:42
ตอบโดย
รัชนี รุ่งราตรี (พญว.)
โรคเบาหวานไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ค่ะ
แต่ผู้ที่เป็นสามารถคุมเบาหวานได้ และดำเนินชีวิตได้อย่างปกติเหมือนคนทั่วไปค่ะ
วิธีการดูแลตัวเองของผู้ป่วยเบาหวานนะคะ
1.พบแพทย์และตรวจเลือดตามนัด โรคนี้จะอาศัยการสังเกต ดูอาการแสดงเพียงอย่างเดียวแบบโรคทั่วๆ ไปไม่ได้ เนื่องเพราะถ้าระดับน้ำตาลในเลือดสูงเล็กน้อย (126-200 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร) ก็มักไม่มีอาการผิดปกติให้รู้สึกได้ กรณีเช่นนี้อาจทำให้ผู้ป่วยชะล่าใจ ปล่อยตัวจนอาจเกิดโรคแทรกซ้อนในระยะยาวได้ ดังนั้นจึงควรตรวจเลือดเป็นระยะๆ หากเป็นไปได้ควรตรวจดูระดับน้ำตาลในเลือดทุกวัน หรือทุกสัปดาห์
2.กินยาลดน้ำตาลหรือฉีดอินซูลินตามขนาดที่แพทย์สั่ง อย่าลดยาหรือปรับยาตามความรู้สึก หรือการคาดเดาของตัวเองเป็นอันขาด ควรกินยาและกินอาหารให้เป็นเวลา (กินให้ตรงเวลาทุกมื้อ และอย่าเผลอหลับใกล้เวลาอาหาร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจากยาที่ออกฤทธิ์) และกะปริมาณอาหารให้พอๆ กันทุกวัน
3.ควรควบคุมอาหารการกินอย่างเคร่งครัด โดยมีหลักง่ายๆ ดังนี้
1.กินอาหารวันละ 3 มื้อ กินให้ตรงเวลา ไม่งดมื้อใดมื้อหนึ่ง กินในปริมาณใกล้เคียงกันทุกวันทุกมื้อ
2.อย่ากินจุบจิบ ไม่เป็นเวลา
3.ในแต่ละมื้อ ให้กินอาหารที่มีทั้งแป้ง เนื้อสัตว์ ไขมัน และผัก
4.หลีกเลี่ยงการกินน้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำหวาน น้ำอัดลม ขนมเชื่อมน้ำตาล นมหวาน (ให้ดื่มนมจืดแทน) ผลไม้ที่มีรสหวานจัด (เช่น ทุเรียน ขนุน ลำไย ลิ้นจี่ องุ่น ละมุด อ้อย) ผลไม้กระป๋อง ผลไม้แช่อิ่มหรือผลไม้เชื่อมน้ำตาล
5.ห้ามดื่มเหล้า เบียร์ ไวน์ ยาดองเหล้า
6.หลีกเลี่ยงการกินเครื่องในสัตว์ ไขมันสัตว์ น้ำมันหมู เนย มันหมู มันไก่ เนื้อติดมัน หมูสามชั้น ครีม กะทิ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม ไข่แดง หอยนางรม อาหารทอด (เช่น ไก่ทอด กล้วยแขก ปาท่องโก๋ มันทอด)
7.กินอาหารประเภทแป้ง เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ ถั่ว ขนมปัง ในจำนวนพอเหมาะ ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป
8.กินผักให้มากๆ โดยเฉพาะผักประเภทใบและถั่วสด เช่น ผักกวางตุ้ง ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักบุ้ง ผักกะเฉด มะระ มะเขือยาว ถั่วงอก ถั่วแขก ถั่วฝักยาว เป็นต้น
9.กินผลไม้ที่มีรสหวานไม่มากได้มื้อละ 6-8 คำ เช่น ส้ม มังคุด มะม่วง มะละกอ พุทรา ฝรั่ง สัปปะรด เป็นต้น
4.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ หรือทำงานออกแรงกายให้มาก ควรทำในปริมาณที่เท่าๆ กันทุกวัน อย่าหักโหม ทั้งการควบคุมอาหารและการออกกำลัง ควรปฏิบัติการเกิดความพอเหมาะ เพราะจะช่วยควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ถ้ายังอ้วน แสดงว่ายังปฏิบัติตัวทั้ง 2 เรื่องไม่ได้เต็มที่
5.ภาวะน้ำตาลต่ำ ผู้ที่กินยาหรือฉีดยารักษาเบาหวานอยู่ประจำทุกวัน ถ้าหากมีอาการหิว ใจหวิว ใจสั่น หน้ามืด ตาลาย ตัวเย็น แสดงว่าอาจมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ควรรีบกินของหวานหรือน้ำตาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเวลาที่กินอาหารน้อย หรือกินผิดเวลา ทำงานหรือออกกำลังกายหักโหมกว่าปกติ
6.พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้ร่าเริง อย่าให้เครียดหรือวิตกกังวล ถ้ามีความเครียด การออกกำลังกายจะช่วยผ่อนคลายความเครียดไปในตัว
7.ควรเลิกสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นอาจทำให้หลอดเลือดแดงแข็งและตีบขึ้น ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคแทรกซ้อนต่างๆ
8.หมั่นดูแลรักษาเท้า
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต คำตอบของแพทย์เป็นการให้ความรู้และคำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา คุณควรพบแพทย์ที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจทุกครั้ง หากคุณมีเหตุฉุกเฉินกรุณาโทรแจ้ง 1669
ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 386 บาท ลดสูงสุด 61%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
ตอบโดย
ชยากร พงษ์พยัคเลิศ (นพ.)
เบาหวานโดยทั่วไปไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และเมื่อเป็นเบาหวานนานๆ เข้า ความรุนแรงของโรคมักจะมากขึ้นและต้องใช้ยามากขึ้น ฉะนั้นจึงต้องรักษาเบาหวานตั้งแต่เมื่อพบว่ามีน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติเพียงเล็กน้อย เพื่อป้องกันเบต้าเซลล์ของตับอ่อนที่ผลิตอินซูลินมิให้เสื่อมเร็ว ซึ่งจะชะลอหรือยับยั้งไม่ให้เบาหวานเป็นรุนแรงได้นานๆ
การดูแลตนเองในผู้ป่วยเบาหวาน
เบาหวานเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ คนที่เป็นเบาหวานส่วนใหญ่จะไม่มีอาการเจ็บป่วย ไม่มีความไม่สบายกายแต่อย่างใดเป็นระยะเวลานาน จึงมักจะไม่อยากมาพบแพทย์ตามนัด หรือมาตรวจพบว่าเป็นเบาหวานได้รับยาไปครั้งหนึ่ง ครั้งต่อๆ ไปมักจะซื้อยากินเอง จึงมักพบว่าส่วนหนึ่งของผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นมานานและไม่ควบคุมระดับน้ำตาลให้ใกล้เคียงปกติอย่างสม่ำเสมอจะเกิดโรคแทรกซ้อน ซึ่งเมื่อมีความรุนแรงมากขึ้นจะเกิดความเจ็บป่วยทรมานอย่างถาวร
การดูแลสุขภาพทั่วไปในชีวิตประจำวัน
1. ควบคุมเบาหวาน ให้ระดับน้ำตาลใกล้เคียงคนปกติ
2. รับประทานยาสม่ำเสมอ
3. อาจจะมีการติดตามตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง
4. ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอครั้งละ 20-30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง โดยเลือกรับประเภทการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสภาวะร่างกายตนเอง
5. พยายามรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน การรับประทานอาหารให้เหมาะสม และออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยในการควบคุมน้ำหนักตัวได้ดี อย่าปล่อยให้น้ำหนักขึ้นหรืออ้วน เพราะจะทำให้การคุมเบาหวานยากขึ้น
6. แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้า-ก่อนนอน ถ้าไม่สามารถปฏิบัติได้ หลังอาหารทุกมื้อควรบ้วนปากทุกครั้ง เพื่อเอาเศษอาหารที่ติดค้างออกจนหมด ใช้แปรงสีฟันที่ขนไม่แข็งจนเกินไป
7. อาบน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ใช้สบู่ที่มีฤทธิ์อ่อน รักษาความสะอาดบริเวณซอกอับ เช่น ขาหนีบ ใต้ราวนม อวัยวะขับถ่าย เป็นพิเศษ และหลีกเลี่ยงการอับชื้น
8. ล้างเท้าด้วยน้ำธรรมดาและสบู่อ่อนๆ ทุกวัน ซับเท้าให้แห้งด้วยผ้าขนหนู โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้า
9. สวมเสื้อผ้าแห้ง สะอาด ระบายอากาศได้ดี และควรเปลี่ยนทุกวัน
10. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง
11. หลีกเลี่ยงความเครียดทางอารมณ์ ในภาวะเครียดร่างกายและฮอร์โมนต่างๆ จะมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้
12. ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6 แก้ว
13. ควรพบแพทย์สม่ำเสมอตามนัด แม้จะรู้สึกสบายดี เพื่อรับการตรวจสุขภาพและคำแนะนำที่ถูกต้อง พร้อมปรับแผนการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เนื่องจากโรคแทรกซ้อนที่เกิดในโรคเบาหวานส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นก่อนที่ผู้ป่วยจะรู้สึกตัวหรือมีอาการ
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต คำตอบของแพทย์เป็นการให้ความรู้และคำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา คุณควรพบแพทย์ที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจทุกครั้ง หากคุณมีเหตุฉุกเฉินกรุณาโทรแจ้ง 1669
มีวิธีรักษาโรคเบาหวานให้หายขาดได้ไหมคะ
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรคหรือการรักษา คุณควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหากมีอาการน่ากังวล)