April 19, 2017 16:18
ตอบโดย
ชยากร พงษ์พยัคเลิศ (นพ.)
การคุมกำเนิดแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ครับ คือ
1. การคุมกำเนิดแบบถาวร คือ การทำหมันชายและหมันหญิง
2. การคุมกำเนิดชั่วคราว ได้แก่ การกินยาคุมกำเนิด ฉีดยาคุมกำเนิด ใส่ห่วงคุมกำเนิด ฝังยาคุมกำเนิด แปะแผ่นยาคุมกำเนิด ใส่ถุงยางอนามัย การนับวัน การหลั่งภายนอกครับ
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต คำตอบของแพทย์เป็นการให้ความรู้และคำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา คุณควรพบแพทย์ที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจทุกครั้ง หากคุณมีเหตุฉุกเฉินกรุณาโทรแจ้ง 1669
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
ตอบโดย
วลีรักษ์ จันทร (พว.)
วิธีการคุมกำเนิดค่ะ
1. แบบชั่วคราว การนับวันที่ที่ปลอดภัยหรือที่ทั่วไปเรียกว่า "หน้า 7 หลัง 7" หมายถึงนับจากวันที่มีประจำเดือนคราวที่แล้ว โดยคาดว่าประจำเดือนจะมาอีกครั้งเป็นวันที่เท่าไร โดยนับถอยหลังไปช่วงก่อนประจำเดือนรอบใหม่มา 7 วัน และนับบวกเพิ่มต่อไปอีก 7 วัน เบ็ดเสร็จรวมกันเป็น 14 วัน นับเป็นช่วงที่ปลอดภัยเพราะช่วงนี้ผนังมดลูกจะลอกออกมาเป็นประจำเดือน ทำให้ไข่ที่ผสมตัวแล้ว ไม่สามารถหาที่ฝังตัวเพื่อเจริญเป็นทารกต่อไปได้
วิธีนี้ได้ผลดีเมื่อมีรอบเดือนของคุณมาอย่างสม่ำเสมอ เป็นรอบที่แน่นอน แต่เสี่ยงมากหากจำวันผิดพลาดถ้าไม่ได้มีการจดบันทึก ข้อควรระวังอีกอย่างคือ ช่วงที่มีประจำเดือนปากมดลูกจะเปิดเพื่อให้ขับเลือดออก ถ้ามีการร่วมเพศช่วงนั้นมีโอกาสที่จะติดเชื้อทำให้มดลูกอักเสบ ได้มากกว่าช่วงปกติ เพราะฝ่ายชายอาจนำเอาเชื้อโรคภายนอก เข้าสู่โพรงมดลูกทำให้เกิดปัญหาได้
2. การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด
ยาคุมกำเนิดจะมี 2 แบบ คือ แบบ 21 เม็ด และแบบ 28 เม็ด โดยแบบ 28 เม็ดมี 7 เม็ดสุดท้ายจะเป็นวิตามินและแร่ธาตุ มีไว้ให้รับประทานเพื่อกันลืม ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน จะมีข้อห้ามใช้ในบางคนที่มีโรคต่อไปนี้ ได้แก่ คุณผู้หญิงที่มีปัญหาเรื่องระดับไขมันสูง เส้นเลือดอุดตันที่สมองหรือหัวใจ คนตั้งครรภ์ คนที่เคยเป็นโรคตับหรือเคยตัวเหลือง เป็นมะเร็งเต้านม และคนที่มีเลือดออกจากช่องคลอดแบบผิดปกติที่ยังไม่ทราบสาเหตุ ดังนั้นก่อนจะเลือกวิธีคุมกำเนิดชนิดนี้ขอแนะนำว่า ควรไปพบแพทย์เพื่อสอบถามรายละเอียดในแต่ละอาการโรคดังกล่าว
นอกจากนี้ผลจากฮอร์โมนเอสโตรเจนในยาเม็ดอาจจะส่งผลให้มีอาการผลข้างเคียงของยาตามมาได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักตัวเพิ่ม เกิดเม็ดสีตามร่างกายหรือเกิดฝ้า
3. การฉีดยาคุมกำเนิด
ในยาฉีดจะเป็นฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน โดยฉีดทุกๆ 84 วันหรือ 12 สัปดาห์ หรือตามที่แพทย์กำหนด การใช้ยาฉีดอาจพบว่าประจำเดือนจะมาน้อยหรือขาดหายไป โดยฉพาะถ้าฉีดช่วงแรกๆ อาจพบมีประจำเดือนมากระปริบกระปรอย ผลจากยาฉีดทำให้ไข่ไม่ตก และอาจเกิดภาวะหมันชั่วคราวได้ วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีบุตรมาแล้ว และผู้ที่ไม่สามารถทนผลข้างเคียงของยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน ข้อห้ามยาฉีดเหมือนยารับประทาน การหยุดฉีดเพื่อให้มีบุตรต้องวางแผนล่วงหน้า 6-12 เดือน เพราะบางครั้งกว่าร่างกายจะปรับสมดุลย์ของฮอร์โมนให้กลับสู่ภาวะปกติ ต้องใช้เวลานาน
4. ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง (Norplant)
เป็นยาคุมที่ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ลักษณะเป็นหลอดเล็กๆ สามารถฝังได้บริเวณต้นแขนด้านใน ฮอร์โมนจะค่อยๆ กระจายสู่ร่างกายอย่างช้าๆ จะออกฤทธิ์คุมกำเนิดได้นานประมาณ 5 ปี จึงเหมาะสำหรับผู้มีบุตรเพียงพอแล้ว หรือต้องการเว้นระยะห่างของการมีบุตรนานๆ
5. การใส่ห่วงอนามัย (IUD)
เป็นการคุมกำเนิดที่นิยมทำกันในกลุ่มแม่บ้าน ที่ต้องการคุมกำเนิดนานๆ อาจใส่หลังคลอดหรือช่วงประจำเดือนมา ห่วงสามารถคุมกำเนิดได้นานประมาณ 3 ปี หลังใส่อาจมีอาการปวดเกร็งท้องได้บ้าง ห่วงอนามัยไม่เหมาะกับคนที่มีโอกาสติดเชื้อง่าย เช่น เป็นโรคเบาหวาน รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน เป็นมะเร็งหรือมีเพศสัมพันธ์แบบเปลี่ยนคู่บ่อย เพราะที่บริเวณต่อจากห่วงจะมีเชือกต่อออกมาบริเวณปากมดลูก ใช้เป็นตัวตรวจสอบสอบว่าห่วงยังอยู่ในตำแหน่งปกติหรือไม่ เชือกนี้จะเป็นจุดที่เชื้อเข้าสู่มดลูกได้ง่าย
6. การสวมถุงยางอนามัยสตรี (Diaphragm)
เป็นถุงยางที่ต่างจากของคุณผู้ชาย โดยมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ให้คุณผู้หญิงสวมก่อนมีเพศสัมพันธ์ ปัจจุบันออกแบบใช้สะดวกขึ้น ไม่รำคาญ ใช้ง่าย ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เหมาะสำหรับการคุมกำเนิด และป้องกันการติดเชื้อ
7. การสวมถุงยางอนามัยผู้ชาย (Condom)
เป็นวิธีคุมกำเนิดที่ง่ายสะดวกและมีความปลอดภัย ในการป้องกันการตั้งครรภ์ และป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เทคนิควิธีการใช้ต้องมีการพิจารณาถึงคุณภาพ และชนิดของถุงยาง โดยดูวันหมดอายุ การฉีกซองต้องระวังถุงยางจะรั่วขาด การสวมต้องขณะอวัยวะเพศชายแข็งตัว โดยบีบที่ปลายถุง แล้วสวมเพื่อให้ส่วนปลายเป็นที่รองรับน้ำอสุจิที่จะหลั่งออกมา ห้ามใช้วาสลินหรือน้ำมันเป็นสารหล่อลื่น แต่ให้ใช้เจลหรือน้ำแทน เมื่อใช้เสร็จการถอดต้องใช้กระดาษทิชชูพันรอบ แล้วดึงออกมานำทิ้งในภาชนะที่จัดไว้ เป็นวิธีที่สะดวก ปลอดภัย ราคาไม่แพง
8. การคุมกำเนิดแบบถาวร
ทำได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โดยส่วนใหญ่ในผู้หญิงมักจะทำหลังจากคลอดขณะอยู่โรงพยาบาลภายใน 1 สัปดาห์แรก เรียกว่า หมันเปียก สะดวกสำหรับผู้ที่มีบุตรพอเพียง การผ่าตัดใช้เวลาไม่นาน โดยทำการผูกและตัดท่อนำไข่ การทำวิธีนี้อาจทำร่วมกับผ่าตัดช่องท้องอย่างอื่น หรือทำช่วงไหนก็ได้เรียกมันแห้ง
การทำหมันถาวรในผู้ชายโดยการตัดท่อนำอสุจิ ทำเวลาไหนก็ได้ที่ร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง แผลเล็กใช้เวลาสั้น ประมาณ 20 นาทีก็เสร็จ หลังจากทำแล้วต้องชี้แจงให้ทราบว่า ยังคงมีเชื้ออสุจิค้างอยู่ในท่อนำน้ำเชื้อ จึงต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอย่างอื่น เช่นสวมถุงยางอนามัยในช่วงแรกๆ ใช้เวลาประมาณ 1 ถึง 3 เดือน เพราะการสร้างเชื้ออสุจิใช้เวลาประมาณนั้น
9. วิธีการคุมกำเนิดหลังร่วมเพศ
โดยการรับประทานยาคุมกำเนิดที่มีปริมาณเอสโตรเจนสูง เพื่อป้องกันการฝังตัวของตัวอ่อน ฮอร์โมนตัวนี้จะไปเพิ่มการเคลื่อนไหวและบีบตัวของมดลุกและท่อนำไข่ ทำให้การผสมกันระหว่างไข่ และเชื้ออสุจิเป็นไปได้ยาก ยากลุ่มนี้ที่รู้จักกันดีได้แก่ ออพรอล (Ovral) โดยรับประทานครั้งเดียว 4 เม็ด หลังร่วมเพศ พบว่า มีผลคุมกำเนิดหลังมีเพศสัมพันธ์ได้ อาการข้างเคียงจากยา คือ คลื่นไส้ อาเจียน พบได้บ่อยมาก
ส่วนยาอีกตัวที่รู้จักกันดีคือ โพสตินอร์ (Postinor) มีปริมาณโปรเจสเตอโรนสูง แต่ความเป็นจริงแล้ว ไม่ควรรับประทานมากกว่า 4 เม็ดต่อเดือน และควรใช้หลังร่วมเพศภายใน 3 ชั่วโมง ไม่ควรเกิน 12 ชั่วโมง ผลระยะยาวของยาตัวนี้คือ เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งของมดลูกได้ ค่ะ
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต คำตอบของแพทย์เป็นการให้ความรู้และคำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา คุณควรพบแพทย์ที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจทุกครั้ง หากคุณมีเหตุฉุกเฉินกรุณาโทรแจ้ง 1669
คุมกำนิดแบบไหนได้บ้างคะ
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรคหรือการรักษา คุณควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหากมีอาการน่ากังวล)