March 15, 2017 23:56
ตอบโดย
นิชดา พงษ์ธัญญกรณ์ (แพทย์ทั่วไป) (พญ.)
เมื่อมีอาการปวดประจำเดือน ผู้หญิงส่วนใหญ่มักคิดว่าเป็นอาการปกติของการมีประจำเดือน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นความจริงและก็มีที่ไม่จริงบ้าง โดยทั่วไปอาการปวดประจำเดือนจะเกิดจากมดลูกหดรัดตัวทำให้เกิดอาการปวดบริเวณท้องน้อย แต่หากมีอาการปวดมากจนมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือทำให้ต้องพักงาน แบบนี้ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป เพราะสาเหตุที่ทำให้มีอาการปวดท้องประจำเดือนนั้นมีหลายสาเหตุ ซึ่งการรักษาบางครั้งอาจต้องถึงขั้นผ่าตัดเลยทีเดียว
สาเหตุของการปวดประจำเดือนจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ
1. ปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ (Primary dysmenorrhea) เป็นการปวดประจำเดือนที่แพทย์ตรวจไม่พบพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกรานหรือท้องน้อยที่ชัดเจน โดยจะไม่มีความผิดปกติของมดลูกและรังไข่แต่อย่างใด ในปัจจุบันเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในระหว่างการมีประจำเดือน และมาจากการมีสารพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandins) หลั่งออกมาจากเยื่อบุโพรงมดลูกมากผิดปกติ และสารชนิดนี้จะดูดซึมผ่านกระแสเลือดและมาออกฤทธิ์ที่มดลูก จึงทำให้มดลูกมีการบีบเกร็งตัวและเกิดอาการปวดที่บริเวณท้องน้อย การปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมินี้มักพบได้ในเด็กสาวหรือผู้หญิงวัยรุ่น ส่วนมากจะเริ่มมีอาการตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก หรือไม่ก็เกิดขึ้นภายในช่วง 2-3 ปีหลังจากการมีประจำเดือนครั้งแรก โดยจะมีอาการมากที่สุดในช่วงอายุ 15-25 ปี หลังจากวัยนี้ไปอาการจะค่อย ๆ ลดลง บางรายอาจหายปวดหลังแต่งงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการมีลูกแล้ว มีเพียงส่วนน้อยที่ยังอาจมีอาการตลอดไปจนถึงวัยหมดประจำเดือน
2. ปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมิ (Secondary dysmenorrhea) เป็นการปวดประจำเดือนที่แพทย์ตรวจพบพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกรานร่วมด้วย ลักษณะการปวดจะมีอาการปวดก่อนมีเลือดประจำเดือนมาและยังปวดต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าประจำเดือนจะหยุดหรือหลังประจำเดือนหยุด ผู้ป่วยจะมีอาการปวดครั้งแรกเมื่อมีอายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไป โดยก่อนหน้านี้จะไม่เคยมีอาการปวดประจำเดือนเลย การปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมินี้ มักเกิดจากความผิดปกติของมดลูกหรือรังไข่ เช่น
* การมีเนื้องอกมดลูก โดยเฉพาะในโพรงมดลูก มดลูกจึงมีการบีบตัวเพื่อขจัดสิ่งขัดขวางการหดรัดตัวในโพรงมดลูกออก จึงทำให้มีอาการปวดประจำเดือนมากขึ้นเรื่อย ๆ
* เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญขึ้นผิดที่ หรือ เยื่อบุโพรงมดลูกต่างที่(Endometriosis) โดยเยื่อโพรงบุมดลูกจะหลุดออกมาจากท่อรังไข่ย้อนเข้ามาเจริญที่เยื่อบุช่องท้อง รังไข่ บริเวณอุ้งเชิงกราน หรือลำไส้ ซึ่งเซลล์เหล่านี้จะมีการตอบสนองต่อฮอร์โมนในร่างกายที่หลั่งออกมาจากรังไข่เช่นเดียวกับเยื่อบุโพรงมดลูก ดังนั้นในขณะที่มีประจำเดือนจะทำให้มีเลือดออกในช่องท้องด้วย จึงทำให้เกิดการระคายเคืองที่เยื่อบุช่องท้อง ส่งผลให้เกิดอาการปวดท้องในขณะที่มีประจำเดือน ซึ่งในรายที่มีอาการปวดประจำเดือนรุนแรงเป็นประจำ มักมาจากสาเหตุนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงที่มีบุตรยาก
* การมีพังผืดในช่องท้อง (Pelvic adhesion) พังผืดเกิดจากการผ่าตัดครั้งก่อน หรือจากการที่เคยมีการอักเสบในอุ้งเชิงกรานมาก่อน (ที่ไม่ใช่จากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญขึ้นผิดที่) จะทำให้เกิดการดึงรั้งของพังผืดกับเยื่อบุช่องท้องหรือเส้นประสาท ส่งผลให้เกิดอาการปวดขึ้นมา ส่วนมากผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังมากกว่าที่จะปวดตามรอบของประจำเดือน
* การใส่ห่วงอนามัย หรือ ห่วงคุมกำเนิด (Intrauterine device birth control) จะทำให้เกิดอาการปวดประจำเดือนได้เช่นกัน เนื่องจากร่างกายพยายามบีบตัวเพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมนั้นออกไป
* สาเหตุอื่น ๆ เช่น มดลูกย้อยไปด้านหลังมาก, ปีกมดลูกอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น
ดังนั้น ผู้ที่เคยมีอาการปวดประจำเดือนมาก่อน หากมีอาการปวดท้องน้อยที่มีลักษณะไม่เหมือนกับที่เคยเป็นมา เช่น ปวดรุนแรงหรือปวดติดต่อกันเป็นเวลานานกว่าปกติ กดถูกหรือกระเทือนถูกแล้วรู้สึกเจ็บ มีไข้ขึ้นหรือมีอาการตกขาวร่วมด้วย ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด เพราะอาการที่ปวดนั้นอาจเกิดจากสาเหตุเหล่านี้ก็ได้
https://medthai.com/ปวดประจำเดือน/
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต คำตอบของแพทย์เป็นการให้ความรู้และคำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา คุณควรพบแพทย์ที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจทุกครั้ง หากคุณมีเหตุฉุกเฉินกรุณาโทรแจ้ง 1669
ทำเลสิกวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 25,500 บาท ลดสูงสุด 35%!!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
ทำไมเราปวดท้องเมนสเหรอคะ
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรคหรือการรักษา คุณควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหากมีอาการน่ากังวล)