หาคำตอบ ยาหน้าใสมีจริงหรือ?

หาคำตอบจากเภสัชกรว่ายาที่กินแล้วหน้าใส ยากินแล้วผิวขาว มีจริงหรือ? ที่โฆษณากันว่าเป็นยาหน้าใส ความจริงแล้วมันทำงานอย่างไร อันตรายหรือไม่?
เผยแพร่ครั้งแรก 28 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 11 มิ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
หาคำตอบ ยาหน้าใสมีจริงหรือ?

หลายคนน่าจะเคยได้ยินเรื่องตัวยาที่กินแล้วหน้าใส กินแล้วขาว แต่ยาที่ขายกันตามท้องตลาดหรืออินเทอร์เน็ตอาจไม่ปลอดภัยเสมอไป HonestDocs จะมาไขความลับของตัวยาที่ว่ากันว่าช่วยให้หน้าใส อธิบายกระบวนการทำงานของยา (ที่เขาว่าช่วยให้) หน้าใสเหล่านั้น พร้อมข้อควรระวังในการใช้ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจ ให้สาวๆ มีผิวดีอย่างปลอดภัย ได้สุขภาพ

1. วิตามินซี (Vitamin C) หรือ กรดแอสคอบิก (Ascorbic Acid)

วิตามินซีเป็นวิตามินที่สำคัญเป็นอย่างมากต่อการทำงานของร่างกาย มีประสิทธิภาพในการต่อต้านอนุมูลอิสระสูง จึงช่วยชะลอการเกิดริ้วรอยก่อนวัย หากใช้ในขนาดยาที่สูง (มากกว่า 1000 มิลลิกรัม/วัน) วิตามินซีมีผลช่วยบำรุงผิวพรรณให้ดูขาวใส ลดรอยหมองคล้ำ นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่เสื่อมสภาพ ทำให้แผลหายเร็วขึ้น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

อีกสรรพคุณของวิตามินซี คือเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย จึงช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นหวัดและการติดเชื้อในระบบต่างๆ ของร่างกาย ช่วยบำรุงเหงือกและฟันให้แข็งแรง ป้องกันโรคลักปิดลักเปิดและปัญหาเลือดออกตามไรฟัน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมธาตุเหล็ก จึงช่วยลดความเสี่ยงในการขาดธาตุเหล็กอีกด้วย อย่างไรก็ตาม หลังรับประทานวิตามินซีแล้วควรดื่มน้ำตามมากๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในไต

ข้อควรระวังอีกอย่างหนึ่งคือ การรับประทานวิตามินซีปริมาณมากเกินไปก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกัน เช่น อาจทำให้เกิดอาการท้องร่วง ปัสสาวะบ่อย หรือเกิดนิ่วในไตได้ นอกจากนี้ที่อาจได้ยินกันว่ามีการ ฉีดวิตามินซี ก็มีสิ่งที่ควรทราบ คือ การได้รับการฉีดวิตามินซีในขนาดที่สูงและเร็วเกินไปอาจทำให้เกิดอาการมึนศีรษะ คล้ายจะเป็นลมได้ ดังนั้น จึงควรได้รับการดูแลจากแพทย์

2. กลูต้าไทโอน (Glutathinone)

กลูต้าไทโอนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญในร่างกายที่สามารถสร้างขึ้นเองจากอาหาร และจะถูกเก็บไว้ที่ตับ ซึ่งมีหน้าที่หลัก ได้แก่

  • เป็นสารต้านปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (Antioxidant) ที่มีความสำคัญตัวหนึ่งในร่างกาย และช่วยให้วิตามินซีและอีทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย (Immune Enhancer) โดยกระตุ้นการทำงานของเอ็นไซม์หลายชนิดเพื่อให้ร่างกายต่อต้านสิ่งแปลกปลอมรวมถึงเชื้อแบคทีเรียและไวรัส นอกจากนี้ กลูตาไทโอน ยังช่วยสร้างและซ่อมแซม DNA
  • ช่วยขจัดสารพิษ (Detoxification) กลูต้าไทโอนช่วยสร้างเอ็นไซม์ชนิดต่างๆ ที่ช่วยในการกำจัดพิษออกจากร่างกายโดยไปเปลี่ยนสารพิษชนิดไม่ละลายในน้ำ เช่น ยาฆ่าแมลง โลหะหนัก สารระเหย รวมถึงยาบางชนิด ให้เป็นสารที่ละลายน้ำได้ดีขึ้นและง่ายต่อการกำจัดออกจากร่างกาย นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันตับ จากการถูกทำลายโดยแอลกอฮอล์ และการได้รับยาพาราเซตามอลเกินขนาด

กลูต้าไทโอนมีข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคทางระบบประสาท เช่น พาร์กินสัน ใช้รักษาภาวะการเป็นพิษจากโลหะหนัก พิษจากยาพาราเซตามอล ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานในคนไข้เอชไอวี และใช้ต้านความชรา

สำหรับข้อมูลของกลูต้าไทโอนที่ใช้รักษาฝ้า และช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งเหมือนมีแสงออร่านั้น พบว่าเป็นผลข้างเคียงจากการใช้สารนี้ที่ใช้รักษาโรคอื่นแล้วทำให้ผิวขาวขึ้น จึงได้รับความนิยมนำมาช่วยทำให้ผิวขาวขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อบ่งใช้ในทางการแพทย์ของกลูต้าไทโอนในประเทศไทยยังไม่ผ่านการอนุมัติจากองค์การอาหารและยา แม้ว่าในต่างประเทศหลายประเทศจะได้รับการอนุมัติ เนื่องจากเป็นสารที่มีความเสี่ยง สามารถทำให้เกิดอันตรายอย่างสูงจนถึงแก่ชีวิตได้ หากมีการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ผลข้างเคียงที่รุนแรงของกลูต้าไทโอน เช่น การฉีดยาเข้าหลอดเลือดมีโอกาสแพ้ได้ พบรายงานในต่างประเทศว่าผู้ที่ได้รับการฉีดกลูต้าไทโอนขนาดสูงเกิดอาการช็อก ความดันต่ำ หายใจไม่ออก และเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ ยังพบรายงานว่าผู้ที่ได้รับสารกลูต้าไทโอนเป็นระยะเวลานานจะทำให้เม็ดสีที่จอตาลดลง ทำให้รับแสงได้น้อยลง เกิดความเสี่ยงต่อการมองเห็นและตาบอดได้ในอนาคต ทางวารสารทางการแพทย์สหรัฐอเมริกาจึงจัดว่าเป็นสารที่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงทางตา การรับประทานกลูต้าไทโอนที่ผู้คนส่วนใหญ่เชื่อว่าสามารถช่วยให้ผิวขาวได้นั้น เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากกลูต้าไทโอนถูกดูดซึมผ่านทางกระเพาะอาหารได้น้อยมากซึ่งไม่เพียงพอที่จะทำให้ผิวขาวขึ้นได้ สำหรับผู้ที่ต้องการผิวขาวอย่างรวดเร็วนิยมให้วิตามินซีในขนาดสูงร่วมกับกลูต้าไทโอนด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

2. เอ็น-อะซิทิลซิสเทอีน (N-Acetylcysteine; NAC)

ชื่อทางการค้าของตัวยา เอ็น-อะซิทิลซิสเทอีน ที่มีจำหน่ายในประเทศไทยคือ NAC-long® ประกอบด้วย N-acetylcysteine ปริมาณ 600 มิลิกรัม แท้จริงแล้ว NAC มีข้อบ่งใช้โดยสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศไทยเพื่อใช้เป็นยาละลายเสมหะในผู้ป่วยที่มีเสมหะข้นเหนียวจากโรคระบบทางเดินหายใจ และใช้เป็นยาถอนพิษที่เกิดจากการรับประทานยาพาราเซตามอลเกินขนาด

อย่างไรก็ตาม NAC ยังมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ (reactive oxygen species; ROS และ reactive nitrogen species; RNS) ได้โดยตรง ทั้งอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นภายในและภายนอกร่างกาย จากการมีหมู่ thiol หรือ sulfhydryl group (-HS) ในโครงสร้างของ NAC โดยเปลี่ยนสารพิษและอนุมูลอิสระให้กลายเป็นน้ำ สำหรับการต้านอนุมูลอิสระทางอ้อมนั้น NAC เป็นสารตั้งต้นของกลูต้าไทโอน (Glutathione) ซึ่งโดยปกติร่างกายจะผลิตกลูต้าไทโอนเพื่อใช้เป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระตามธรรมชาติอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม จากการสืบค้นข้อมูลทางวิชาการ ยังไม่พบข้อมูลการรับรองให้ใช้ NAC หรือกลูตาไธโอน เพื่อทำให้ผิวขาว

3. ยาคุมกำเนิด (Oral contraceptive)

ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรวมในท้องตลาด ประกอบไปด้วยฮอร์โมน 2 ชนิด ได้แก่ ฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมนโปรเจสติน ซึ่งออกฤทธิ์ป้องกันไม่ให้ไข่ตก และทำให้มูกบริเวณปากมดลูกเหนียวข้น ทำให้อสุจิผ่านเข้าปากมดลูกได้ยาก ยาคุมควรมีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนในสัดส่วนที่พอเหมาะ โดยฮอร์โมนเอสโตรเจนจะมีผลทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งเนื่องจากได้รับฮอร์โมนเพศหญิงเพิ่มขึ้นนั่นเอง แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะมีผลทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมตามมาได้เช่นกัน ส่วนโปรเจสเตอโรนเป็นฮอร์โมนที่ช่วยปรับสมดุล เมื่อรับประทานเข้าไปจะทำให้ร่างกายเกิดการคั่งของน้ำ บวมน้ำ ดังสังเกตว่าเมื่อมีประจำเดือน คุณจะรู้สึกว่าผิวพรรณดูเปล่งปลั่ง มีน้ำมีนวล หน้าอกใหญ่ขึ้น สะโพกผายโดยทั่วไปผิวพรรณที่เปล่งปลั่งขึ้นเป็นผลพลอยได้จากการใช้ยาคุมกำเนิดเท่านั้น จึงไม่ควรซื้อยาคุมกำเนิดรับประทานเพียงเพื่อต้องการให้ผิวเปล่งปลั่ง เว้นแต่แพทย์จะพิจารณาเห็นสมควรในบางกรณี ยาคุมกำเนิดที่มีจำหน่าย เช่น Oilezz® Diane-35® PREME® Meliane® Yasmin® Yaz®  

4. เรทิโนอิก เอซิด (Retinoic Acid) หรือ เทรตติโนอิน (Tretinoin) หรือ กรดวิตามินเอ (Vitamin A Acid)

ตัวยาเหล่านี้ทั้งหมดเป็นสารที่ถูกเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีมาจากวิตามินเอ กรดเรทิโนอิกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย โดยมีข้อบ่งใช้เพื่อรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันชนิดเอ็ม 3 (Acute promyelocytic leukemia) นอกจากนี้ ยังมีการนำมาผลิตในรูปยาใช้ภายนอกทารักษาสิวขนาดความเข้มข้น 0.01-0.1% โดยมีกลไกการออกฤทธิ์กระตุ้นการแบ่งเซลล์และเร่งการผลัดเซลล์ของผิวในชั้นอิพิทีเรียลหรือเยื่อบุผิว นอกจากนี้ยังออกฤทธิ์กดการสร้างและป้องกันการสร้างโคมิโดน ซึ่งทำให้เกิดสิวอุดตัน เนื่องจากเป็นกรดวิตามินที่มีฤทธิ์ต่อระบบการทำงานของร่างกาย การใช้ยาที่มีส่วนประกอบของกรดเรทิโนอิกจึงต้องอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์เท่านั้น และห้ามใช้ยานี้ในสตรีมีครรภ์ ยาที่มีจำหน่าย เช่น Retin-A® cream 0.025 %, Retin-A® cream 0.05 %


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
MIMs Thailand, https://www.mims.com/thailand/drug/info/retin-a/?type=brief, Access online: 13 May 2019.
MIMs Thailand, https://www.mims.com/thailand/drug/info/nac%20long/, Access online: 13 May 2019.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)