กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

ภาวะไส้ติ่งอักเสบ

สาเหตุและอาการ
เผยแพร่ครั้งแรก 20 ม.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 29 มี.ค. 2021 เวลาอ่านประมาณ 7 นาที
ภาวะไส้ติ่งอักเสบ

ไส้ติ่งเป็นอวัยวะเล็กๆ ลักษณะคล้ายท่อที่ติดอยู่กับส่วนแรกของลำไส้ใหญ่ (colon) ไส้ติ่งจะอยู่ในตำแหน่งท้องน้อยทางด้านขวา ไส้ติ่งไม่มีหน้าที่ใดๆ การเอาไส้ติ่งออกไม่ได้ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของระบบการย่อยอาหารแต่อย่างใด

ภาวะไส้ติ่งอักเสบคืออะไร?

ภาวะไส้ติ่งอักเสบ คือการอักเสบของไส้ติ่ง เมื่อมันเกิดขึ้นจะไม่มีการรักษาด้วยยาที่ได้ประสิทธิภาพ ดังนั้น ภาวะไส้ติ่งอักเสบจึงถูกจัดเป็นภาวะฉุกเฉิน เมื่อได้รับการรักษาทันท่วงที ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะฟื้นตัวได้ไม่ยาก แต่หากได้รับการรักษาช้า ไส้ติ่งอาจแตก ทำให้มีการติดเชื้อ และถึงขั้นเสียชีวิตได้ ภาวะไส้ติ่งอักเสบเป็นภาวะฉุกเฉินทางศัลยกรรมของช่องท้องที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งใครๆ ก็เป็นได้ แต่จะพบได้มากที่สุดในช่วงอายุระหว่าง 10-30 ปี

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ผ่าตัดไส้ติ่ง วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 56,050 บาท ลดสูงสุด 6,100 บาท

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

สาเหตุของภาวะไส้ติ่งอักเสบ

สาเหตุของภาวะไส้ติ่งอักเสบเกี่ยวข้องกับการอุดตันของช่องภายในไส้ติ่ง ซึ่งเรียกว่า lumen การอุดตันนี้ทำให้แรงดันเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เลือดมาเลี้ยงได้ไม่ดี และเกิดการอักเสบ หากการอุดกั้นนี้ไม่ได้รับการรักษา อาจเกิดภาวะไส้ติ่งอักเสบสีดำคล้ำ (เป็นเนื้อตาย หรือ gangrene) หรือไส้ติ่งแตกได้ สิ่งอุดตันที่พบได้บ่อยที่สุด คือ อุจจาระ และการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสของทางเดินอาหารก็สามารถทำให้ต่อมน้ำเหลืองโตขึ้น กดเบียดไส้ติ่ง และทำให้อุดตันได้เช่นกัน

การโตขึ้นของต่อมน้ำเหลืองนี้เรียกว่า lymphoid hyperplasia นอกจากนี้ การบาดเจ็บต่อช่องท้องก็อาจทำให้เกิดภาวะไส้ติ่งอักเสบได้เช่นกันซึ่งพบได้น้อย พันธุกรรมก็อาจเป็นปัจจัยได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น ภาวะไส้ติ่งอักเสบที่พบสืบเนื่องในครอบครัวอาจเป็นผลมาจากความผันแปรทางพันธุกรรมที่ทำให้คนๆ หนึ่งเสี่ยงต่อการเกิดการอุดตันของไส้ติ่งได้

อาการของภาวะไส้ติ่งอักเสบ

อาการของภาวะไส้ติ่งอักเสบอาจเป็นได้ ดังนี้

  • อาการปวดท้อง เริ่มที่บริเวณสะดือแล้วย้ายไปยังด้านขวาล่าง
  • อาการเบื่ออาหาร
  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • ท้องผูกหรือท้องเสีย
  • ไม่ผายลม
  • อาการไข้ต่ำๆ หลังจากมีอาการอื่นๆ ดังกล่าวมาแล้ว
  • ท้องอืด

ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าทุกคนที่มีภาวะไส้ติ่งอักเสบจะมีอาการเหล่านี้ทั้งหมด อาการปวดจะเป็นมากขึ้นเมื่อขยับตัว หายใจเข้าลึกๆ ไอ หรือจาม เมื่อบริเวณที่ปวดมีอาการเจ็บมากแล้วอาจมีอาการปวดเบ่ง (tenesmus) ซึ่งเป็นความรู้สึกว่าการเคลื่อนไหวของลำไส้จะทำให้อาการดีขึ้น ไม่ควรใช้ยาระบายและยาแก้ปวดในกรณีนี้ ใครก็ตามที่มีอาการเหล่านี้ควรไปพบแพทย์โดยทันที

ผู้ที่ต้องพึงระวังเป็นพิเศษ

ผู้ป่วยที่มีภาวะบางอย่างอาจไม่ได้มีกลุ่มอาการเหมือนกับที่กล่าวไปข้างต้นและอาจรู้สึกแค่เหมือนไม่สบายทั่วไปๆ ภาวะดังกล่าว ได้แก่

  • ผู้ที่ได้รับยากดภูมิ เช่น สเตียรอยด์
  • ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ
  • ผู้ติดเชื้อ HIV
  • ผู้ป่วยเบาหวาน
  • ผู้ป่วยโรคมะเร็งหรือได้รับยาเคมีบำบัด
  • คนอ้วน

ทั้งนี้ หญิงตั้งครรภ์ ทารก เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ ก็จะมีประเด็นเฉพาะอีก

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ผ่าตัดไส้ติ่ง วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 56,050 บาท ลดสูงสุด 6,100 บาท

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ภาวะไส้ติ่งอักเสบในหญิงตั้งครรภ์

อาการปวดท้อง คลื่นไส้ และอาเจียนเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยในระหว่างการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจจะเป็นอาการแสดงของไส้ติ่งอักเสบหรือไม่ก็ได้ ผู้หญิงหลายคนที่มีภาวะไส้ติ่งอักเสบขณะตั้งครรภ์ไม่มีอาการที่จำเพาะของภาวะไส้ติ่งอักเสบดังกล่าว หญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการปวดท้องทางด้านขวาควรไปพบแพทย์ ซึ่งหญิงตั้งครรภ์ในระยะไตรมาสที่สามจะมีความเสี่ยงมากที่สุด

ภาวะไส้ติ่งอักเสบในทารกและเด็ก

ทารกและเด็กเล็กจะไม่สามารถสื่อสารอาการปวดให้พ่อแม่หรือแพทย์เข้าใจได้และจากประวัติอาการที่ไม่ชัดเจน แพทย์จึงต้องอาศัยการตรวจร่างกายและอาการที่จำเพาะน้อยกว่านั้น เช่น อาการอาเจียน อ่อนเพลีย เด็กวัยหัดเดินที่มีภาวะไส้ติ่งอักเสบอาจมีปัญหาไม่ยอมกินและดูง่วงซึมผิดปกติ เด็กที่โตขึ้นอาจมีปัญหาท้องผูกหรืออาจเป็นอุจจาระที่เล็กลงและมีมูกปน ในเด็กนั้น อาการของภาวะนี้เป็นได้หลากหลาย หากคุณคิดว่าลูกของคุณมีภาวะไส้ติ่งอักเสบ ควรไปพบแพทย์ทันที

ภาวะไส้ติ่งอักเสบในผู้ป่วยสูงอายุ

ผู้ป่วยสูงอายุมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาทางสุขภาพมากกว่าผู้ป่วยอายุน้อย ผู้สูงอายุมักมีไม่ค่อยมีไข้ และมีอาการปวดท้องน้อยกว่าผู้ป่วยอื่นๆ ผู้สูงอายุหลายคนมักไม่รู้ว่าตนเองกำลังมีภาวะรุนแรงดังกล่าวจนไส้ติ่งเกือบจะแตก ดังนั้น ไข้เพียงเล็กน้อยและอาการปวดท้องทางด้านขวาก็เป็นเหตุผลที่เพียงพอที่จะไปพบแพทย์ทันที

ทั้งนี้ ผู้ป่วยทุกคนที่มีภาวะที่ต้องระวังเป็นพิเศษดังกล่าวและครอบครัวควรตื่นตัวกับความเปลี่ยนแปลงของการทำงานต่างๆ ในร่างกาย ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เสมอเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการไปพบแพทย์เร็วก็ดีกว่าไปพบเมื่อสายเกินไป

ประวัติทางการแพทย์และการตรวจร่างกาย

การซักถามเพื่อให้ได้ประวัติอาการและการตรวจร่างกายอย่างระมัดระวังเป็นหัวใจสำคัญในการวินิจฉัยภาวะไส้ติ่งอักเสบ แพทย์อาจถามคำถามมากมายจนดูคล้ายผู้สื่อข่าว ทั้งนี้ก็เพื่อพยายามจะเข้าใจการดำเนินโรค ระยะเวลา ตำแหน่งและรูปแบบของอาการปวดและความรุนแรงของอาการ ประวัติโรคประจำตัวและการผ่าตัดก่อนหน้านี้ ประวัติครอบครัว ประวัติการใช้ยา และประวัติการแพ้ยาแพ้อาหารก็เป็นข้อมูลที่สำคัญสำหรับแพทย์เช่นกัน

ควรระบุเรื่องการสูบบุหรี่ การดื่มสุรา และการใช้สารเสพติดด้วย ข้อมูลดังกล่าวจะถูกเก็บไว้เป็นความลับและจะไม่ถูกเผยแพร่หากไม่ได้รับความยินยอมจากตัวผู้ป่วยเองก่อนที่จะทำการตรวจร่างกายแพทย์หรือพยาบาลจะทำการวัดสัญญาณชีพ ได้แก่ อุณหภูมิกาย ชีพจร อัตราการหายใจ และความดันโลหิต

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ผ่าตัดไส้ติ่ง วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 56,050 บาท ลดสูงสุด 6,100 บาท

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

โดยทั่วไปแพทย์จะตรวจร่างกายโดยครอบคลุมตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า เนื่องจากมีอีกหลายภาวะที่ทำให้เกิดอาการปวดท้องได้เช่นกัน เช่น ปอดบวมหรือโรคหัวใจ อาการแสดงทั่วๆ ไป เช่น ไข้ ผื่น หรือต่อมน้ำเหลืองที่โต อาจเป็นอาการที่บ่งบอกถึงภาวะที่ไม่ต้องรักษาโดยการผ่าตัด การตรวจท้องจะช่วยจำกัดขอบเขตของการวินิจฉัย โดยตำแหน่งของอาการปวดและตำแหน่งกดเจ็บเป็นสิ่งสำคัญอาการปวดเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยบอก แต่ตำแหน่งกดเจ็บจะบอกการตอบสนองต่อการกดท้อง

สองอาการแสดงที่จัดว่าเป็นอาการระคายเคืองของเยื่อบุช่องท้อง (peritoneal sign) ซึ่งบ่งบอกว่าเยื่อบุช่องท้องมีการอักเสบและอาจต้องการการผ่าตัด ได้แก่ อาการปล่อยเจ็บ (rebound tenderness) และอาการเกร็งแข็งของหน้าท้อง (guarding)

อาการปล่อยเจ็บ (rebound tenderness) คือ เมื่อแพทย์ปล่อยมือจากตำแหน่งที่กดหน้าท้องอยู่แล้วผู้ป่วยรู้สึกเจ็บมากขึ้นกว่าตอนที่กดท้อง ส่วนอาการเกร็งแข็งของหน้าท้อง (guarding) หมายถึงการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหน้าท้องเมื่อสัมผัส แพทย์อาจขยับขาของผู้ป่วยเพื่อทดสอบอาการเจ็บเมื่องอสะโพก (psoas sign) หรือเมื่อหมุนบิดสะโพกเข้าใน (obturator sign) หรืออาการเจ็บหน้าท้องด้านขวาเมื่อกดที่ด้านซ้าย (Rovsing’s sign) สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยบ่งบอกอาการอักเสบที่สำคัญ แต่ไม่ได้พบในผู้ป่วยทุกคน

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

การตรวจเลือดจะทำเพื่อตรวจหาการสัญญาณบ่งชี้การติดเชื้อ เช่น เม็ดเลือดขาวที่สูงขึ้น ผลเกลือแร่ในเลือดอาจบ่งบอกถึงภาวะขาดน้ำ หรือพบมีความผิดปกติของสารน้ำและเกลือแร่ได้ การส่งตรวจปัสสาวะทำเพื่อแยกโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะออกไป

สำหรับหญิงวัยเจริญพันธุ์แพทย์อาจส่งตรวจการตั้งครรภ์ด้วยการส่งตรวจภาพวินิจฉัยเอ็กซเรย์ อัลตราซาวน์ และการตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์จะทำให้เห็นภาพของช่องท้อง ภาพเอ็กซเรย์อาจแสดงภาวะการอุดตันการแตก (เป็นรู) สิ่งแปลกปลอม หรือในกรณีที่หาได้ยากมาก คือ appendicolith ซึ่งเป็นอุจจาระที่แข็งตัวอยู่ในไส้ติ่ง การตรวจอัลตราซาวน์อาจแสดงให้เห็นการอักเสบของไส้ติ่งและสามารถช่วยวินิจฉัยโรคของถุงน้ำดีและการตั้งครรภ์ได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม การส่งตรวจที่ทำมากที่สุด คือ การเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งจะประกอบไปด้วยภาพตัดขวางของลำตัวหลายๆ ภาพและช่วยในการวินิจฉัยเมื่อประวัติและการตรวจร่างกายไม่ชัดเจน ซึ่งหญิงในวัยเจริญพันธุ์ทุกคนควรได้รับการตรวจทดสอบการตั้งครรภ์ก่อนที่จะทำการตรวจทางเอ็กซเรย์ใดๆ

ในบางกรณีโดยเฉพาะในผู้ป่วยหญิงที่สาเหตุของอาการอาจเป็นได้ทั้งจากไส้ติ่งหรือท่อนำไข่ที่อักเสบ การตรวจส่องกล้อง (laparoscopy) อาจเป็นสิ่งจำเป็นการตรวจนี้จะหลีกเลี่ยงการถูกรังสีแต่จะต้องใช้การดมยา กล้องส่องตรวจ (laparoscope) เป็นท่อผอมๆ ที่มีกล้องติดอยู่ ซึ่งจะถูกใส่เข้าไปในร่างกายผ่านทางรูเจาะเล็กๆ ทำให้แพทย์สามารถเห็นอวัยวะภายในได้และยังสามารถทำการผ่าตัดส่องกล้องได้อีกด้วยหากตรวจพบมีภาวะที่จำเป็นต้องให้การรักษา

การรักษาภาวะไส้ติ่งอักเสบ

การผ่าตัด

ภาวะไส้ติ่งอักเสบจะถูกรักษาโดยการผ่าตัดเพื่อนำไส้ติ่งออก หัตถการดังกล่าวจะทำผ่านทางรอยกรีดเปิดหน้าท้องเล็กๆ ทางด้านขวาล่างของหน้าท้องหรืออาจทำผ่านการส่องกล้อง ซึ่งต้องใช้รูเจาะเล็กๆ ประมาณสามถึงสี่รู หากมีภาวะอื่นๆ ที่สงสัยนอกเหนือไปจากภาวะไส้ติ่งอักเสบก็อาจจะเห็นได้จากการส่องกล้องดังกล่าว

ในผู้ป่วยบางราย การผ่าตัดส่องกล้องจะเป็นที่ชื่นชอบมากกว่าการผ่าตัดเปิดหน้าท้องเนื่องจากแผลผ่าตัดเล็กกว่าระยะเวลาฟื้นตัวเร็วกว่าและใช้ยาระงับปวดน้อยกว่า ไส้ติ่งมักจะถูกนำออกเสมอ แม้ว่ามันจะดูปกติก็ตาม เมื่อนำไส้ติ่งออกไปโดยสมบูรณ์แล้ว อาการปวดใดๆ หลังจากนี้ก็ย่อมไม่ได้เกี่ยวข้องภาวะไส้ติ่งอักเสบอีกแน่

การฟื้นตัวหลังการผ่าตัดไส้ติ่งจะใช้เวลาเป็นสัปดาห์ โดยแพทย์จะสั่งยาแก้ปวดให้และให้ผู้ป่วยจำกัดการใช้แรง การฟื้นตัวหลังการผ่าตัดส่องกล้องจะเร็วกว่า แต่การจำกัดกิจกรรมหนักๆ เป็นเวลา 4-6 สัปดาห์ก็ยังเป็นเรื่องจำเป็น ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดรักษาภาวะไส้ติ่งอักเสบส่วนใหญ่จะฟื้นตัวได้อย่างดีเยี่ยมและแทบไม่ต้องปรับเปลี่ยนการกินอาหาร การออกกำลังกาย หรือวิถีชีวิตเลย

ยาปฏิชีวนะและการรักษาอื่นๆ

หากการวินิจฉัยยังไม่แน่นอน ผู้ป่วยจะได้รับการเฝ้าสังเกตอาการและในบางครั้งอาจถูกรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ แพทย์จะให้การรักษาในแนวทางนี้เมื่อสงสัยว่าอาการของผู้ป่วยอาจเป็นจากภาวะที่ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดหรือภาวะทางอายุรกรรม หากสาเหตุของการปวดคือการติดเชื้อ อาการจะดีขึ้นหลังได้ยาปฏิชีวนะและสารน้ำทางหลอดเลือดดำ อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วภาวะไส้ติ่งอักเสบจะไม่สามารถรักษาด้วยยาปฏิชีวนะได้เพียงอย่างเดียว และจะต้องผ่าตัด

ในบางครั้ง ร่างกายสามารถจำกัดการแตกของไส้ติ่งได้โดยการสร้างโพรงหนอง (abscess) โพรงหนองจะเกิดขึ้นเมื่อการติดเชื้อถูกจำกัดอยู่ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกาย แพทย์อาจใช้การใส่สารระบายไว้ในโพรงหนอง ซึ่งจะทิ้งไว้เป็นระยะเวลาหลายสัปดาห์และอาจนัดมาทำการผ่าตัดไส้ติ่งหลังจากที่ได้ระบายหนองออกไปแล้ว

ภาวะแทรกซ้อนของไส้ติ่งอักเสบ

ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงที่สุดของไส้ติ่งอักเสบ คือ ไส้ติ่งแตก ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อไม่ได้รับการวินิจฉัยภาวะไส้ติ่งอักเสบรวดเร็วพอและไม่ได้รับการรักษา เด็กทารก เด็กเล็ก และผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงต่อภาวะนี้มากที่สุด ซึ่งไส้ติ่งที่แตกนี้จะทำให้มีการติดเชื้อของเยื่อบุช่องท้อง (peritonitis) และทำให้เกิดโพรงหนองได้การติดเชื้อของเยื่อบุช่องท้องเป็นการติดเชื้อที่อันตรายเกิดขึ้นเมื่อแบคทีเรียและสิ่งที่อยู่ในไส้ติ่งที่แตกออกมาไหลเข้าช่องท้อง

ในผู้ที่มีภาวะไส้ติ่งอักเสบ โพรงหนองมันเป็นในรูปแบบของก้อนที่มีน้ำและแบคทีเรียอยู่ภายใน ในผู้ป่วยบางรายภาวะแทรกซ้อนของไส้ติ่งอักเสบอาจทำให้การทำงานของอวัยวะล้มเหลวและเสียชีวิตได้


13 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Yvette Brazier,appendicitis (https://www.medicalnewstoday.com/articles/158806.php), November 30, 2017
Verneda Lights and Elizabeth Boskey, PhD, appendicitis (https://www.healthline.com/health/appendicitis), April 2, 2019

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป