เรื่องของการมีประจำเดือน

เผยแพร่ครั้งแรก 26 มิ.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
เรื่องของการมีประจำเดือน

การเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์และการมีประจำเดือน

การมีประจำเดือนหรือรอบเดือนเป็นขั้นตอนสำคัญของการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ของเด็กผู้หญิง ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญญาณที่บอกถึงการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพว่าเด็กหญิงกำลังจะเปลี่ยนเป็นหญิงสาวในไมช้า

การมีประจำเดือนอาจทำให้เกิดความสับสนและความกังวลใจเช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ เด็กสาวบางคนแทบรอไม่ไหวที่จะมีประจำเดือน แต่บางคนกลับรู้สึกกลัวและวิตกกังวล พบว่าเด็กหญิงหลายคน (รวมทั้งเด็กชายด้วย) ไม่มีความเข้าใจในระบบสืบพันธุ์เพศหญิงและไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างระหว่างการมีรอบเดือน ซึ่งส่งผลทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเรื่องลึกลับไปโดยปริยาย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

เด็กผู้หญิงจะเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ที่อายุประมาณ 8 – 13 ปี ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและจิตใจในหลายๆ ด้าน โดยฮอร์โมนส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลง เช่น ความสูงและขนาดของหน้าอกที่โตขึ้น เป็นต้น และประมาณ 2 – 2 ปีครึ่งหลังจากเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของหน้าอก เด็กสาวจะเริ่มมีประจำเดือนเป็นครั้งแรก

ประมาณ 6 เดือนก่อนที่ประจำเดือนครั้งแรกจะมา คุณอาจสังเกตได้ว่ามีตกขาวหรือระดูขาวลักษณะใส ซึ่งตกขาวที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องปกติ จึงไม่จำเป็นต้องวิตกกังวลแต่อย่างใดจนกว่าตกขาวจะมีลักษณะ สี หรือกลิ่นที่แปลกไปหรือเมื่อคุณรู้สึกคัน

เมื่อเด็กผู้หญิงมีประจำเดือนครั้งแรก แพทย์จะเรียกภาวะนี้ว่า การเริ่มแรกมีระดู ซึ่งเด็กสาวจะไม่สามารถมีประจำเดือนได้หากระบบสืบพันธุ์ยังทำงานไม่สมบูรณ์

ระบบสืบพันธุ์เพศหญิง

เด็กทารกเพศหญิงเกิดมาพร้อมกับรังไข่ ท่อนำไข่และมดลูก รังไข่ทั้งสองข้างที่มีลักษณะเป็นรูปทรงรีอยู่บริเวณสองข้างของมดลูก อยู่ในตำแหน่งล่างสุดของช่องท้อง เรียกว่า อุ้งเชิงกราน โดยรังไข่จะมีไข่อยู่เป็นพันๆ ใบ จากรังไข่ก็จะมีท่อนำไข่ที่มีลักษณะเล็กและยาว ท่อนำไข่แต่ละข้างจะทอดยาวจากรังไข่สู่มดลูกที่มีลักษณะเหมือนลูกแพร์ซึ่งอยู่ตรงกลางอุ้งเชิงกราน กล้ามเนื้อมดลูกถือเป็นกล้ามเนื้อที่มีความแข็งแรงมากที่สุดในร่างกาย ซึ่งสามารถขยายออกเพื่อรองรับทารกที่จะพัฒนาและโตขึ้นในครรภ์ได้ ทั้งยังสามารถยืดหดและผลักดันให้ทารกคลอดออกมาได้ด้วย

เมื่อเด็กหญิงเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ต่อมใต้สมองจะปล่อยสารที่กระตุ้นให้รังไข่ผลิตฮอร์โมนเพศ 2 ชนิด คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ซึ่งฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของเด็กผู้หญิงมาก ไม่ว่าจะเป็นการเจริญเติบโตทางด้านร่างกาย ความสูง และภาวะทางอารมณ์ด้วย

โดยไข่ใบเล็กจะถูกปล่อยออกมาจากรังไข่เพียง 1 ครั้งต่อเดือน เรียกกระบวนการนี้ว่า การตกไข่ จากนั้นไข่จะเดินทางไปตามท่อนำไข่ไปสู่มดลูก ไม่กี่วันก่อนไข่ตก รังไข่จะกระตุ้นมดลูกให้สร้างเยื่อบุผนังมดลูกให้หนาขึ้นด้วยเลือดและเนื้อเยื่อซึ่งเป็นกระบวนการเตรียมพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ หากไข่ได้รับการปฏิสนธิโดยอสุจิ มันจะฝังตัวอยู่ใต้เยื่อบุผนังมดลูก แล้วจะค่อยๆ พัฒนาเซลล์เป็นตัวอ่อนและทารกต่อไป

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

แต่ถ้าไข่ไม่ได้รับการปฏิสนธิ ซึ่งเป็นกระบวนการปกติที่เด็กสาวมีในแต่ละรอบเดือน ไข่จะไม่มีการฝังตัวใต้เยื่อบุผนังมดลูก ส่งผลให้เนื้อเยื่อและเลือดบริเวณผนังมดลูกหลุดลอกออกมาจากช่องคลอด จึงกลายเป็นเลือดประจำเดือนในที่สุด

รอบเดือนจะเกิดขึ้นเป็นวัฏจักรเป็นเวลาหลายสิบปี (นอกเสียจากว่าหญิงสาวมีการตั้งครรภ์) จนกว่าผู้หญิงจะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนและรังไข่ไม่สามารถปล่อยไข่ได้อีกต่อไป

ความถี่ของการมีรอบเดือน

การเริ่มมีรอบเดือนก็เหมือนกับการเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ที่แต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกัน เด็กหญิงบางคนเริ่มมีรอบเดือนเมื่ออายุ 10 ปี ในขณะที่บางคนไม่มีรอบเดือนจนอายุกว่า 15 ปี

ช่วงเวลาระหว่างการมีประจำเดือน เรียกว่า รอบเดือน ซึ่งนับจากวันมีประจำเดือนวันแรกไปจนถึงวันแรกของประจำเดือนรอบถัดไป เด็กบางคนพบว่ามีรอบเดือนอยู่ที่ 28 วัน บางคนมี 24 วัน, 30 วัน หรืออาจนานกว่านั้น ซึ่งช่วงที่เริ่มมีประจำเดือนรอบเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 21 – 45 วัน แต่หลังจากนั้น 1 – 2 ปี รอบเดือนจะสม่ำเสมอและสั้นลง คือ ประมาณ 21 – 34 วัน

รอบเดือนที่มาไม่สม่ำเสมอเป็นเรื่องปกติของเด็กผู้หญิงที่เริ่มมีประจำเดือน เนื่องจากร่างกายยังต้องมีการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่าคุณอาจมีรอบเดือน 28 วันอยู่ 2 เดือน แล้วอยู่ๆ รอบเดือนก็ขาดหายไป แล้วก็กลับมาอีกครั้ง เป็นต้น แต่หลังจากนั้น 1 – 2 ปี รอบเดือนจะเริ่มมาเป็นปกติและสม่ำเสมอมากขึ้น อย่างไรก็ตามยังมีเด็กบางคนที่มีรอบเดือนมาไม่ปกติตลอดช่วงการเป็นวัยรุ่นจนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่เลยก็มี

เมื่อเด็กหญิงโตขึ้นและประจำเดือนมาอย่างสม่ำเสมอ และเมื่อเริ่มคุ้นเคยกับระยะเวลาของรอบเดือนแล้ว คุณจะเริ่มคาดเดาวันที่ประจำเดือนจะมาได้ อย่างไรก็ตามแนะนำให้จดบันทึกวันที่ประจำเดือนมาลงในปฏิทินของคุณด้วยจะเป็นประโยชน์มาก 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ระยะเวลาของรอบเดือนและปริมาณของประจำเดือน

แต่ละคนนั้นมีระยะเวลาของรอบเดือนที่แตกต่างกันออกไป บางรายมีประจำเดือนมาเพียง 2 – 3 วัน ในขณะที่บางรายมีประจำเดือนมานานถึง 7 วัน และปริมาณของเลือดประจำเดือนก็แตกต่างกันไปในแต่ละคนเช่นกัน

เด็กสาวอาจรู้สึกเป็นกังวลว่าพวกเธอสูญเสียเลือดมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้รู้สึกตกใจเมื่อเห็นเลือดออกเป็นจำนวนมาก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณสูญเสียเลือดมากเกินไป นอกเสียจากว่าคุณมีโรคประจำตัวอย่างโรควอนวิลลิแบรนด์หรือโรคที่มีเลือดออกง่าย แม้ประจำเดือนอาจดูเหมือนว่าไหลออกมาเป็นจำนวนมาก แต่ปริมาณโดยเฉลี่ยที่ออกมาจริงๆ นั้นประมาณ 2 ช้อนโต๊ะหรือ 30 มล.เท่านั้น ซึ่งสาวๆ จะต้องเปลี่ยนผ้าอนามัย 3 – 6 แผ่นต่อวันหรืออาจบ่อยกว่านั้นหากประจำเดือนมามาก โดยเฉพาะวันแรกๆ ที่ประจำเดือนมา

คุณอาจกังวลว่ารอบเดือนของคุณมาปกติหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติหากคุณเพิ่งเริ่มมีประจำเดือนและไม่อาจทราบได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลหากคุณมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ และนี่คือเรื่องของช่วงเวลาและอาการที่คุณสามารถสอบถามจากแพทย์ได้เมื่อมีข้อสงสัย

  • มีประจำเดือนมานานกว่า 1 สัปดาห์
  • มีเลือดประจำเดือนออกมากจนคุณต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกๆ 1 – 2 ชม.
  • ช่วงห่างระหว่างรอบเดือนนานเกินกว่า 3 เดือน
  • มีเลือดออกช่วงเว้นจากการมีประจำเดือน
  • มีอาการปวดท้องมากผิดปกติก่อนและช่วงที่มีประจำเดือน
  • เคยมีรอบเดือนมาเป็นปกติและสม่ำเสมอ แต่อยู่ๆ ก็ไม่ปกติและขาดหายไป 

อาการปวดประจำเดือน

เด็กสาวหลายคนสังเกตว่าตนเองมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและมีอารมณ์แปรปรวนช่วงที่มีประจำเดือน และการปวดประจำเดือนก็เป็นเรื่องปกติของผู้หญิงทุกคน ซึ่งจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งของสาวๆ มีอาการปวดประจำเดือนในช่วง 1 – 2 วันแรกที่ประจำเดือนมา แพทย์เชื่อว่าอาการนี้เกิดจากสารเคมีชนิดหนึ่ง เรียกว่า  โพรสตาแกรนดิน ที่ส่งผลให้มดลูกมีการหดรัดตัว

อาการปวดประจำเดือนมีหลายแบบ บางทีก็ปวดตื้อ ปวดแปลบ เจ็บจี๊ด หรือปวดตึง นอกจากนี้สาวๆ อาจรู้สึกปวดหลังและท้องร่วมด้วย บางรายยังคงมีอาการปวดประจำเดือนไปตลอดช่วงที่ประจำเดือนยังมาอยู่ และบางรายพบว่าอาการปวดหายไปได้ในช่วงหนึ่ง

หลายคนพบว่ายาแก้ปวดที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป อย่าง acetaminophen หรือ ibuprofen ช่วยบรรเทาอาการปวดได้ แนะนำให้ลองแช่น้ำอุ่นหรือวางถุงน้ำร้อนบริเวณท้องน้อยก็ช่วยบรรเทาอาการปวดได้เช่นกัน นอกจากนี้ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้อาการปวดลดลงได้ แต่หากลองวิธีการต่างๆ หลายวิธีแล้วก็ยังไม่หายปวด คุณจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์

อาการ PMS และสิว

เด็กสาวหลายคนพบว่าตนเองรู้สึกหดหู่และหงุดหงิดง่ายประมาณ 1-2 วันหรือประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน บางรายหงุดหงิดง่ายกว่าปกติหรืออยู่ๆ ก็ร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุ และบางรายอาจรู้สึกอยากอาหารมาก ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นผลมาจาก ภาวะ PMS (Premenstrual Syndrome) นั่นเอง

อาการ PMS เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย เนื่องจากระดับฮอร์โมนมีปริมาณเพิ่มขึ้นและลดลงในแต่ละรอบเดือน ซึ่งจะส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึก และการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย บางรายอาจรู้สึกกระปรี้กระเปร่ามากกว่าปกติ นอกจากนี้ยังรู้สึกว่าร่างกายผิดปกติไป เช่น ท้องอืดท้องเฟ้อ ปวดคัดเต้านม และเต้านมขยายใหญ่ขึ้น และบางรายมีอาการปวดศีรษะ เป็นต้น

อาการ PMS มักจะหายไปหลังจากหมดประจำเดือนแต่มันจะยังกลับมาในทุกรอบเดือน แนะนำให้ทานอาหารที่มีประโยช์ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นได้ หากคุณมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการ PMS คุณสามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์หรือพยาบาล

นอกจากนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เด็กสาวจะมีสิวในช่วงที่มีประจำเดือนนั่นเพราะผลจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน โชคดีที่ว่าภาวะที่มีสิวขึ้นเมื่อมีประจำเดือนจะค่อยๆ หายไปเมื่อคุณโตขึ้น

ผ้าอนามัย ผ้าอนามัยแบบสอด และแผ่นอนามัย

เมื่อคุณเริ่มมีประจำเดือนคุณจำเป็นต้องใช้สิ่งที่สามารถดูดซับเลือดประจำเดือนได้ สาวๆ ส่วนใหญ่ใช้ผ้าอนามัยหรือผ้าอนามัยแบบสอด แต่พบว่าบางคนใช้ถ้วยอนามัยซึ่งสามารถใช้โดยการสอดเข้าไปในช่องคลอดเพื่อรองรับเลือดประจำเดือน แทนการดูดซับเลือดอย่างผ้าอนามัย

แนะนำให้ทดลองใช้ผลิตภัณฑ์อย่างหลากหลายจนกว่าคุณจะเจอประเภทและยี่ห้อที่คุณพึงพอใจมากที่สุด บางคนมีการใช้ผ้าอนามัยเพียงอย่างเดียวโดยเฉพาะเมื่อแรกเริ่มมีประจำเดือน บางคนใช้เฉพาะผ้าอนามัยแบบสอด และบางคนใช้ทั้งสองประเภทสลับกัน เช่น ใช้ผ้าอนามัยแบบสอดในช่วงกลางวันและใช้ผ้าอนามัยแบบปกติในช่วงกลางคืน เป็นต้น

ส่วนสาวๆ ที่กังวลว่าอาจมีเลือดซึมออกมาจากการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด คุณสามารถใช้แผ่นอนามัยร่วมด้วย และบางคนใช้แผ่นอนามัยในวันที่ประจำเดือนมาไม่มากด้วยเช่นกัน

การมีรอบเดือนไม่ได้เป็นอุปสรรคใดๆ ต่อการออกกำลังกาย การทำกิจกรรมสุดมัน หรือทำให้ชีวิตคุณหมดสนุกไป เด็กสาวที่ชอบทำกิจกรรมต่างๆ อย่างการว่ายน้ำ ก็สามารถใช้ผ้าอนามัยแบบสอดได้เพื่อไม่ให้คุณพลาดกิจกรรมสนุกสนาน

หากคุณมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ผ้าอนามัย ผ้าอนามัยแบบสอด หรือเกี่ยวกับการรับมือกับการมีประจำเดือน ลองปรึกษาหรือขอคำแนะนำจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูสุขศึกษา พยาบาลประจำโรงเรียน หรือพี่สาว

ที่มาของข้อมูล http://kidshealth.org/en/teens/menstruation.html


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Menstruation & The Menstrual Cycle: Everything Girls Need To Know. WebMD Teen Health Center. (https://teens.webmd.com/girls/all-about-menstruation#1)
Menstruation: Periods, the menstrual cycle, PMS, and treatment. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/154699)
Menstruation Definition, Symptoms, Pain Relief & Remedies. MedicineNet. (https://www.medicinenet.com/menstruation/article.htm)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป