การเกิดผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยานั้นเป็นเรื่องปกติ ในแต่ละคนมีลักษณะการตอบสนองต่อการแพ้ที่ต่างกัน คนหนึ่งอาจเกิดผื่นหรือเกิดการตอบสนองอื่นจากการใช้ยา ในขณะที่อีกคนหนึ่งอาจไม่เกิดการตอบสนองใดๆเลยก็ได้แม้ว่าทั้งสองคนนั้นจะใช้ยาตัวเดียวกัน ในจำนวนการเกิดผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์นั้น ประมาณร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 10 มีสาเหตุมาจากการแพ้ยา
ปัจจัยที่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา
ปัจจัยเสี่ยงที่มีมาก่อน (predisposing factors) ในผู้ป่วยแต่ละรายนั้นส่งผลต่อการเกิดผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาได้ได้แก่ (1) การใช้ยารักษาร่วมกันหลายชนิด พบว่าอุบัติการณ์การเกิดนั้นสูงขึ้นเมื่อผู้ป่วยได้รับยาที่ใช้ในการรักษามากขึ้น เนื่องจากยาสามารถเกิดอันตรกิริยาจากการช้ยาร่วมกันหลายชนิด (2) อายุของผู้ป่วย พบว่าผู้ป่วยสูงอายุและผู้ป่วยเด็กมีโอกาสตอบสนองต่อการเกิดผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ได้มากกว่า (3) เพศ การศึกษาพบว่าเพศหญิงมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยามากกว่าเพศชาย 1.5 ถึง 1.7 เท่า ยังไม่มีคำอธิบายที่แน่ชัดถึงสาเหตุที่แท้จริง แต่คาดว่าน่าจะเกิดจากเภสัชจลนศาสตร์ ระบบภูมิคุ้มกัน และระบบต่อมไร้ท่อที่แตกต่างกัน (4) โรคที่ผู้ป่วยกำลังเป็นอยู่ หากผู้ป่วยกำลังเป็นโรคตับ หรือโรคไตพบว่ามีโอกาสเกิดผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาได้มากกว่า เนื่องจากตับ และไตเป็นช่องทางในการขับออกของตัวยา (5) เชื้อชาติและพันธุกรรม ส่งผลต่อเอนไซม์ในร่างกายที่ทำหน้าที่แมทาบอลึซึมยา กระบวนการนี้ส่งผลต่อเภสัชจลนศาสตร์ของยาที่รับประทาน
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
ประเภทของผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์
การเกิดผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยานั้น แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกคือ
(1) Type A (A; augmented) การตอบสนองในรูปแบบ Type A นี้จะเพิ่มขึ้นตามขนาดยาที่ได้รับ ยิ่งได้รับยาในปริมาณมาก ก็จะยิ่งตอบสนองต่อผลข้างเคียงมาก (dose-dependent) ซึ่งผลข้างเคียงที่ตอบสนองนั้นเกี่ยวข้องกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของตัวยา เป็นไปในลักษณะที่คาดการณ์ได้ว่าอาจจะเกิด อุบัติการณ์การเกิดสูงกว่า Type B มีความรุนแรงน้อยกว่า สามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับขนาดยา ยกตัวอย่างเช่น ยาอินซูลินมีฤทธิ์ในการลดระดับน้ำตาลในเลือด หากร่างกายได้รับอินซูลินมากเกินไป ร่างกายอาจตอบสนองด้วยภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เกิดอาการอ่อนเพลีย วิงเวียน หน้ามืด ซึ่งเป็นผลข้างเคียงของการใช้ยาที่คาดการณ์ได้หากผู้ป่วยได้รับเกินขนาด
(2) Type B (B; bizarre) การตอบสนองในรูปแบบ Type B นี้ มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดการแก้แพ้ยา (hypersensitivity / drug allergy) การตอบสนองไม่เกี่ยวข้องว่าผู้ป่วยได้รับขนาดยาเท่าไหร่ การได้รับขนาดยาเพียงเล็กน้อยสามารถให้การตอบสนองที่รุนแรงได้ ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ อุบัติการณ์การเกิดน้อยกว่า Type A แต่มีความรุนแรงมากกว่า ไม่มียารักษาเฉพาะ ยกตัวอย่างเช่น การเกิดภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรงเมื่อได้รับยาเพนนิซิลิน
ยาที่เกิดอุบัติการณ์การแพ้ได้บ่อย
ยาที่เกิดอุบัติการณ์การแพ้ได้บ่อย พบว่าเป็นยาในกลุ่มยาปฏิชีวนะ ได้แก่ ยากลุ่มเพนนิซิลิน (penicillin) ยาปฏิชีวนะที่มีซัลโฟนาไมด์ (ยาซัลฟา) เป็นส่วนประกอบ (sulfonamide; sulfa) ยาแอสไพริน (aspirin) ยาในกลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (non-steroidal anti-inflammatory drug; NSAID) เช่น ibuprofen-nsaid' target='_blank'>ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) ยากลุ่มยาต้านชัก ยากลุ่มโมโนโคลนอล แอนติบอดี (monoclonal antibody) และยาเคมีบำบัดซึ่งอุบัติการณ์จะมีความเสี่ยงเกิดได้มากยิ่งขึ้นหากจำเป็นต้องได้รับยาถี่ หรือมีการสัมผัสยาทางผิวหนัง หรือฉีดเข้าร่างกาย พบได้มากกว่าการรับประทาน การได้รับยาที่มีโครงสร้างทางเคมีใกล้เคียงกันามารถก่อให้เกิดการแพ้ได้เช่นเดียวกัน
อาการแพ้ยา
อาการแพ้ยาที่พบได้บ่อย ได้แก่ การเกิดผื่นที่บริเวณผิวหนัง ลักษณะผื่นจะเป็นผื่นนูน แดง มีอาการคันโดยมากผื่นมักจะหายไปใน 24 ชั่วโมง ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ เช่น หายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก มีอาการบวม บริเวณที่เห็นได้ชัดเจน เช่น บริเวณใบหน้า หนังตา ลิ้น อาการแพ้อาจรุนแรงได้ถึงการเกิดการแพ้แบบอะนาไฟแลกซิส (anaphylacxis) คือเกิดการตอบสนองต่อการแพ้อย่างรุนแรง ความดันโลหิตต่ำ ในกรณีรุนแรงอาจเกิดอาการช็อก หากไม่ได้รับการรักษาทันเวลาอาจส่งผลถึงชีวิตได้
การสงสัยการแพ้ยา
หากผู้ป่วยมีข้อสงสัยว่าตัวเองจะมีการแพ้ยา อาจปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ซึ่งแพทย์หรือเภสัชกรอาจต้องขอทราบข้อมูลเหล่านี้แก่ผู้ป่วย ได้แก่ ผู้ป่วยสงสัยว่ายาชนิดใดที่ก่อให้เกิดการแพ้ อาการเริ่มต้นเป็นตั้งแต่เมื่อไหร่ มีลักษณะอาการเป็นอย่างไรบ้าง มีการใช้ยาอื่นร่วมด้วยระหว่างการใช้ยาที่สงสัยนี้หรือไม่
บัตรแพ้ยา
หากแพทย์หรือเภสัชกรมีความเห็นว่าผู้ป่วยมีการแพ้ยา แพทย์หรือเภสัชกรจะออกบัตรแพ้ยาให้แก่ผู้ป่วย ข้อมูลของบัตรจะบอกประวัติการแพ้ยาของผู้ป่วย สามารถป้องกันการเกิดการแพ้ยาซ้ำได้ ผู้ป่วยควรพกบัตรแพ้ยาติดตัวไว้เสมอ เมื่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาหรือใช้บริการที่โรงพยาบาล คลินิก หรือร้านยา ให้แสดงบัตรแพ้ยานี้แก่บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อลดขั้นตอนและความเสี่ยงที่จะเกิดการแพ้ยาซ้ำ นอกจากนี้ผู้ป่วยควรจดจำชื่อยาที่ผู้ป่วยแพ้ให้ได้ บอกชื่อยาที่แพ้ให้กับคนใกล้ตัวหรือญาติพี่น้องทราบ และหลีกเลี่ยงการซื้อยามาใช้เองโดยเฉพาะยาที่ไม่ทราบชื่อ เนื่องจากอาจมีส่วนผสมของยาที่ผู้ป่วยแพ้
ข้อปฏิบัติเมื่อเกิดการแพ้ยา
ให้สังเกตอาการของตนเองเมื่อได้รับยาที่ไม่เคยใช้มาก่อน หากเกิดอาการข้างต้น ให้รีบไปพบแพทย์โดยนำยาที่ใช้และบัตรแพ้ยาไปแสดงแก่แพทย์ด้วย