ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Abnormal Heart Rhythms หรือ Arrhythmia) คือ สภาวะที่หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ เต้นช้ากว่าปกติ หรือเต้นผิดจังหวะ ผู้ป่วยภาวะนี้อาจไม่พบอาการใดเลย หรืออาจพบว่ารู้สึกไม่สบาย ใจสั่น ปวดบริเวณหน้าอก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้อาจไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต และไม่ได้ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง
ชนิดของอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะที่พบบ่อย มีดังนี้
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
- หัวใจเต้นเร็ว (Tachycardia) : หมายถึง การที่หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ คืออยู่ในขณะพักแต่หัวใจเด้นเร็วกว่า 100 ครั้งต่อนาที สามารถแบ่งอาการหัวใจเต้นเร็วออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่
- หัวใจเต้นเร็วชนิด Supraventricular Tachycardia : อาการหัวใจเต้นเร็วที่เกิดขึ้นในหัวใจห้องบน (Atria)
- หัวใจเต้นเร็วชนิด Ventricular Tachycardia : อาการหัวใจเต้นเร็วที่เกิดขึ้นในหัวใจห้องล่าง (Ventricles)
- หัวใจเต้นเร็วชนิด Sinus Tachycardia : ภาวะที่หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดขณะที่ป่วยหรือมีอาการตื่นเต้น
- หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดหัวใจห้องบนสั่นพริ้ว (Atrial Fibrillation) : หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดนี้เกิดขึ้นในหัวใจห้องบน เป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่พบบ่อย เกิดขึ้นเมื่อสัญญาณไฟฟ้าภายในหัวใจไม่เสถียร และมีความผิดพลาด เป็นผลให้หัวใจห้องบนสั่นพลิ้วเกินการควบคุม อัตราการเต้นของหัวใจจะสูงได้ถึง 100-200 ครั้งต่อนาที
- หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดหัวใจห้องบนเต้นเร็วผิดจังหวะ (Atrial Flutter) : มักเกิดขึ้นในหัวใจห้องบนขวา (Right Atrium) แต่ก็อาจเกิดขึ้นกับหัวใจห้องบนซ้ายได้เช่นกัน ภาวะนี้มีสาเหตุมาจากสัญญาณไฟฟ้าที่เคลื่อนที่อย่างรวดเร็วในหัวใจห้องบนที่ได้รับผลกระทบ ทำให้มีอาการหัวใจเต้นเร็วแบบเป็นจังหวะสม่ำเสมอ
- หัวใจเต้นช้า (Bradycardia) : ภาวะที่หัวใจเต้นช้ากว่า 60 ครั้งต่อนาที มักเกิดจากการที่สัญญาณไฟฟ้าในหัวใจจากหัวใจห้องบนไปหัวใจห้องล่างถูกขัดขวาง แต่นักกีฬาบางคนอาจจะมีอัตราการเต้นของหัวใจช้ากว่าคนปกคิ เพราะมีสมรรถนะทางกายที่ดีเยี่ยม ไม่ได้เกิดจากปัญหาที่หัวใจ
- หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดหัวใจห้องล่างสั่นพริ้ว (Ventricular Fibrillation) : ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดนี้สามารถทำให้หัวใจหยุดเต้นและเป็นสาเหตุของหัวใจวายได้ เพราะเลือดไม่สามารถสูบฉีดออกไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายและสมอง จัดเป็นภาวะร้ายแรงที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที
- ภาวะหัวใจเต้นก่อนกำหนด (Premature Contractions) : ภาวะที่หัวใจเหมือนจะมีจังหวะที่หายไปขณะวัดชีพจรที่ข้อมือหรือที่หน้าอก เพราะการเต้นในภาวะนี้จะเบาหรืออ่อนจนไม่สามารถได้ยินหรือรู้สึกได้
อาการของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ มักจะทำให้เกิดอาการดังต่อไปนี้
- รู้สึกหน้ามืด เวียนศีรษะ เป็นลม
- หายใจถี่ หายใจลำบาก
- ใจสั่น
- เจ็บหน้าอก
- ผิวหนังซีด
- เหงื่อออก
สาเหตุของอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ
อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่
- โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Heart Disease) : เป็นโรคหัวใจที่รุนแรง เกิดขึ้นเมื่อมีคอเลสเตอรอลและไขมันไปอุดตันในเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ (Coronary arteries)
- การใช้ยา : ยาหรือสารบางชนิดอาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น คาเฟอีน (Caffeine) แอมเฟตามีน (Amphetamines) หรือยาในกลุ่ม Beta-blockers ที่ใช้สำหรับลดความดันโลหิต
- สาเหตุอื่นๆ : ยังมีปัจจัยอื่น ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจังหวะการเต้นของหัวใจ ได้แก่
- การเปลี่ยนแปลงของกล้ามเนื้อหัวใจภายหลังอาการเจ็บป่วยหรือการบาดเจ็บ
- การฟื้นตัวของหัวใจหลังการผ่าตัดหัวใจ
- ระดับโพแทสเซียมและเกลือแร่อื่นๆ ต่ำ
- ความผิดปกติของหัวใจ
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีแนวโน้มจะเกิดมากขึ้น ในผู้มีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้
- สูบบุหรี่
- เคยเป็นโรคหัวใจ หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ
- เป็นโรคเบาหวาน
- มีความเครียด
- มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน
- ไม่ออกกำลังกาย และไม่ค่อยขยับร่างกาย
- การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง คอเลสเตอรอลสูง และอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ
- มีความดันโลหิตสูง หรือปัญหาทางสุขภาพอื่นๆ
- ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก
- ใช้ยาในทางที่ผิด
- มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Sleep Apnea)
การวินิจฉัยอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ
แพทย์จะตรวจร่างกาย โดยใช้หูฟัง (Stethoscope) ฟังการเต้นของหัวใจ และอาจใช้เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram) ตรวจคลื่นไฟฟ้าภายในหัวใจ เพื่อช่วยประเมินว่าจังหวะการเต้นของหัวใจนั้นปกติหรือไม่ และช่วยหาสาเหตุของความผิดปกติที่เกิดขึ้น และนอกจากนี้ แพทย์อาจใช้เครื่องมืออื่นๆ ช่วยวินิจฉัย ได้แก่
- การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) : เป็นการตรวจโดยใช้คลื่นเสียงช่วยถ่ายภาพหัวใจ
- การติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง (Holter Monitor) : เป็นการติดเครื่องมือไว้ที่ตัวผู้เข้ารับการตรวจเป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง เพื่อติดตามการจังหวะการเต้นของหัวใจตลอดทั้งวัน
- การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย (Stress Test) : ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องเดินบนสายพาน หรือวิ่งเหยาะๆ บนสายพาน เพื่อตรวจดูว่าการออกกำลังกายส่งผลต่อการทำงานของหัวใจอย่างไร
การรักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ
การรักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะจะขึ้นกับสาเหตุของการเกิดอาการ ซึ่งผู้ป่วยอาจต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ออกกำลังกายเป็นประจำ ปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหาร จำกัดการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือหยุดสูบบุหรี่ เป็นต้น นอกจากนี้อาจจำเป็นต้องใช้ยาเพื่อควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ รวมถึงอาการอื่นๆ ที่เป็นร่วมด้วย
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความผิดปกติอย่างรุนแรง แพทย์อาจรักษาด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- การใช้ยาควบคุมการเต้นผิดจังหวะของหัวใจ ซึ่งกลไกของยามีหลายแบบ การเลือกใช้แพทย์จะเป็นผู้พิจารณายาที่เหมาะสม
- การใช้ยาอื่น เช่น ยาละลายลิ่มเลือด
- การตรวจสวนหัวใจเพื่อวินิจฉัยปัญหาที่เกิดขึ้นกับหัวใจ (Cardiac Catheterization)
- การใช้สายสวนจี้กล้ามเนื้อหัวใจที่นำไฟฟ้าผิดปกติ (Catheter Ablation)
- การปรับการเต้นของหัวใจ (Cardioversion) โดยการใช้ยา หรือการใช้กระแสไฟฟ้าช็อกที่หัวใจ
- การฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemaker หรือ Cardioverter defibrillator)
- การผ่าตัดเพื่อแก้ไขความผิดปกติที่เกิดขึ้น