กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

11 โรคติดเชื้ออันตรายสำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์

เผยแพร่ครั้งแรก 5 ก.พ. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 8 มี.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
11 โรคติดเชื้ออันตรายสำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์

เชื่อได้ว่าคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ทุกคน ก็อยากที่จะมีสุขภาพที่ดี แข็งแรงตลอดระยะเวลาที่ตั้งครรภ์ แต่คงเป็นไปได้ยากที่จะไม่เจ็บป่วยอะไรเลย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่มีโอกาสเจ็บป่วยได้เท่ากับคนทั่วๆ ไป โดยเฉพาะโรคที่แพร่กระจายในกลุ่มคนใกล้ชิดได้ง่าย เช่น ไข้หวัด หัด คางทูม ฯลฯ ซึ่งบางโรคอาจมีผลกระทบต่อทารกครรภ์ ดังนั้นเราจึงควรหาทางป้องกันไว้แต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้

อันดับที่ 1 - ไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่

จากสถิตินั้นคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่มีโอกาสที่จะเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่อย่างน้อย 1 ครั้งในช่วงตลอดการตั้งครรภ์ 9 เดือน ซึ่งการเป็นไข้หวัดแบบปกติจะไม่มีผลกระทบต่อทารกในครรภ์แต่อย่างใด แต่การทานยาบางชนิดเพื่อลดอาการไข้ต่างๆ จะมีผลกระทบ ดังนั้นหากต้องทานยาควรปรึกษาแพทย์และปฏิบัติตัวดังนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

  • เมื่อเริ่มมีอาการเป็นหวัดให้ดูแลร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เป็นหวัดมากขึ้น
  • เวลานอนให้ยกศีรษะสูงขึ้นเล็กน้อยเพื่อให้การหายใจสะดวกขึ้น
  • กินอาหารตามปกติแม้ว่าจะรู้สึกหิวหรือไม่ก็ตาม
  • ดื่มน้ำให้มากๆ
  • ใช้น้ำเกลืออุ่นๆ กลั้วคอ
  • ถ้ามีไข้ ควรลดไข้ด้วยการเช็ดตัว และดื่มน้ำเย็นบ่อยๆ เป็นการลดไข้ด้วยวิธีธรรมชาติ
  • ถ้ามีไข้สูงเกิน 38 องศา ควรรีบปรึกษาคุณหมอทันที

การเป็นไข้หวัดขณะตั้งครรภ์อาจจะหายช้ากว่าปกติเล็กน้อย เพราะขณะตั้งครรภ์ภูมิต้านทานจะลดลงเล็กน้อย หากอาการรุนแรงหรือเป็นไข้หวัดนานเกิน 1 สัปดาห์ควรรีบปรึกษาคุณหมอ

อันดับที่ 2 - โรคระบบทางเดินอาหาร

โรคที่เกิดในระบบทางเดินอาหารที่มักพบบ่อย มักเกิดจากกระเพาะอาหารหรือลำไส้อักเสบจากเชื้อไวรัส ซึ่งมักจะหายไปภายใน 24 ชั่วโมง แต่หากเป็นเรื้อรังก็จะไม่เกิน 3 วัน และมักจะทำให้ทานอาหารไม่ได้มาก ดังนั้นควรจะพยายามดื่มน้ำให้มาก การติดเชื้อแบบนี้มักไม่มีอันตรายใดๆ ต่อทารกในครรภ์ แต่ควรปฏิบัติตนให้ถูกต้องดังนี้

  • นอนพักผ่อนให้มากขึ้น
  • ดื่มน้ำมากๆ อาจเป็นน้ำเปล่าหรือน้ำผลไม้ หรือเลือกทานอาหารเหลวที่ชอบ
  • ควรจิบน้ำบ่อยๆ หรืออมน้ำแข็งตลอดเวลาก็ได้
  • ในช่วงที่เกิดอาการ 12 ชั่วโมงแรกไม่ควรทานอาหารใดๆ โดยเฉพาะคนที่กระเพาะอาหารอักเสบจากเชื้อไวรัส ควรงดอาหารและน้ำ 12-24 ชั่วโมง จึงค่อยเริ่มกินอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย ที่ไม่ใช่น้ำผลไม้รสเปรี้ยว อาจเป็นซุปใส โจ๊ก ข้าวต้ม ผักต้มเปื่อย จนอาการดีขึ้นแล้วค่อยกินอาหารตามปกติ ไม่ต้องกังวลว่าจะขาดสารอาหาร และรีบไปพบแพทย์หากมีอาการแย่ลง เช่น ท้องเสียถ่ายเหลวจำนวนมาก รับประทานอาหารไม่ได้ อาเจียนมาก

อันดับที่ 3 - หัดเยอรมัน

โดยปกติแล้วคนที่วางแผนจะตั้งครรภ์ คุณหมอมักจะแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมันก่อนที่จะตั้งครรภ์และเว้นช่วงไม่ให้ตั้งครรภ์หลังจากฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 เดือน แต่หากไม่ได้ฉีดก็จะต้องตรวจดูว่ามีภูมิต้านทานอยู่หรือไม่ บางคนอาจมีภุมิต้านทานอยู่แล้ว หรือบางคนอาจเคยสัมผัสมาแล้วแต่ไม่ติดเชื้อ เนื่องจากว่า 1 ใน 7 จะมีการติดเชื้อหัดเยอรมันเมื่อสัมผัสกับเชื้อ

โรคหัดเยอรมันจะมีอันตรายกับทารกในครรภ์ก็ต่อเมื่อมีการติดเชื้อ อาการของโรคใน 2-3 สัปดาห์แรกจะมีเพียงเล็กน้อยจนแทบไม่รู้สึกว่ามีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ต่ำๆ ปวดเมื่อยตัว และต่อมน้ำเหลืองโตเล็กน้อย การติดเชื้อหัดเยอรมันนั้นมีผลกระทบต่อทารกในครรภ์โดยไม่สามารถป้องกันได้

ผลกระทบที่ทารกในครรภ์จะได้รับนั้นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ ถ้ามีการติดเชื้อในเดือนแรก โอกาสที่คลอดลูกออกมาแล้วเด็กจะพิการมีสูงมากถึงร้อยละ 35 ในขณะที่การติดเชื้อในเดือนที่ 3 จะมีผลน้อยกว่าคือร้อยละ 10-15 จะพิการและความรุนแรงก็จะลดลงด้วย ดังนั้นควรจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมันก่อนจะดีที่สุด

อันดับที่ 4 - โรคท็อกโซพลาสโมซิส

โรคท็อกโซพลาสโมซิส เกิดจากการติดเชื้อที่เรียกว่า ท็อกโซพลาสมา สาเหตุมาจากการกินเนื้อดิบที่มีเชื้อนี้อยู่ หรือสัมผัสกับอุจจาระแมวที่ติดเชื้อนี้ คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์หากติดเชื้อนี้เข้าไปอาจทำให้ทารกในครรภ์เสียชีวิตได้ หรือทารกต้องคลอดก่อนกำหนด หรือเกิดความผิดปกติของระบบสมอง หัวใจ ตับ และปอด การติดเชื้อนี้บางรายไม่มีการแสดงอาการ เพียงแค่มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองโต หลังจาก 2-3 สัปดาห์จะมีผื่นคันตามตัว แต่คนที่เลี้ยงแมวมักจะมีภูมิต้านทานโรคนี้อยู่ หากกังวลก็อาจจะตรวจเลือดดูระดับภูมิต้านทานโรคนี้ทุก 1-2 เดือน จนกว่าจะคลอด หญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยง การสัมผัสแมว หรือบริเวณที่มีการปนเปื้อนของอุจจาระแมว หมั่นล้างมืออย่างสม่ำเสมอ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ฝากครรภ์ คลอดบุตรวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 79 บาท ลดสูงสุด 65%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

อันดับที่ 5 - โรคไซโตเมกาไวรัส (CMV)

CMV เป็นไวรัสที่พบการติดเชื้อได้บ่อยที่สุดในเด็กแรกเกิด เป็นได้ทั้งแบบมีอาการและไม่มีอาการ โดยจะเกี่ยวข้องกับอวัยวะภายในหลายๆอย่าง และส่งผลทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด เด็กในวัยอนุบาลร้อยละ 25 - 60 สามารถแพร่เชื้อไซโตเมกาไวรัส ซึ่งอยู่ในน้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระ ได้ โดยเชื้อนี้ไม่อันตรายรุนแรงต่อทารกในครรภ์เนื่องจากเชื้อไวรัสนี้ไม่ติดโดยการสัมผัส และส่วนมากตัวคุณแม่ที่ตั้งครรภ์จะมีภูมิต้านทานโรคนี้อยู่แล้วเนื่องจากเคยมีเชื้อนี้ในวัยเด็ก ทำให้การติดเชื้อนี้ไม่รุนแรงเท่าคนที่ติดเชื้อครั้งแรก มีสถิติว่าทารก 1 ใน 100 รายเท่านั้นที่มีการแสดงอาการของโรคแต่กำเนิด คือมีอาการตัวเหลือง หูหนวก และตาพิการ วิธีป้องกันการติดเชื้อง่ายๆ คือใส่ถุงมือทุกครั้งที่เปลี่ยนผ้าอ้อม อาบน้ำ และหลีกเลี่ยงการกอดจูบเด็ก และกินอาหารเหลือของเด็ก

อันดับที่ 6 - โรคฟิฟท์ดิซีส หรือ "โรคที่ 5"

เกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า ฮิวแมน พาร์โวไวรัส บี 19 เป็นกลุ่มไวรัสที่ 5 ของโรคไข้ออกผื่น 6 ชนิดในเด็ก โรคนี้ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันเนื่องจากไม่ค่อยมีอาการชัดเจน และมักจะหายไปเองโดยที่คนไข้ไม่ทราบ มีเพียงร้อยละ 15 - 30 เท่านั้นที่เป็นไข้ บางรายพบว่ามีผื่นคันทีโหนกแก้มใน 2 - 3 วันแรก มีลักษณะเป็นรอยแดงคล้ายถูกตบ ต่อมาจะลุกลามไปยังตัว ก้นและขา ผื่นนี้จะเป็นๆ หายๆ อยู่ 1 - 3 สัปดาห์ คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ที่ต้องดูแลเด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้ หรือใกล้ชิดกับคนป่วยเป็นโรคนี้มีโอกาสติดเชื้อมากกว่าคนทั่วไป ผลกระทบคือทำให้ทารกในครรภ์แท้งได้ แต่โดยมากแล้วจะมีภูมิคุ้มกันโรคนี้เนื่องจากมักจะเคยติดเชื้อนี้ในวัยเด็กมาแล้ว ดังนั้นจึงพบคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อนี้ได้น้อยมาก

อันดับที่ 7 - การติดเชื้อสเตรปกลุ่มบี

การติดเชื้อสเตรปกลุ่มบีในคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ถือว่าเป็นอันตรายกับทารกในครรภ์มาก อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ แต่เป็นสิ่งที่พบได้น้อย เนื่องจากทางการแพทย์จะระวังโรคนี้มาก โดยปกติการติดเชื้อนี้จะอยู่ในช่องคลอดโดยไม่ปรากฏอาการให้เห็น แพทย์จะนำมูกจากช่องคลอดไปตรวจหาเชื้อ หากพบเชื้อก็จะให้ยาปฏิชีวนะที่มากพอตั้งแต่ก่อนคลอด จึงทำให้ไม่มีการติดเชื้อในทารก

อันดับที่ 8 - โรคหัด

การฉีดวัคซีนป้องกันหัดเป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ เพราะการฉีดวัคซีนเปรียบเหมือนกับร่างกายได้รับเชื้อโดยตรงเพื่อไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งเชื้อที่ถูกฉีดเข้าไปอาจมีผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้ อย่างไรก็ดีมักจะมีการฉีดวัคซีนป้องกันหัดกันตั้งแต่เด็กดังนั้นการติดเชื้อจึงไม่รุนแรงมาก แต่หากมีการติดเชื้อช่วงใกล้คลอดอาจทำให้ทารกเกิดภาวะติดเชื้อไวรัสในเลือด แพทย์จะให้แกมม่าโกลบูลินแก่ทารกทันทีที่เกิดเพื่อลดความรุนแรงจากการติดเชื้อ

อันดับที่ 9 - การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

เป็นการติดเชื้อที่พบได้บ่อยมาก ร้อยละ 10 ของคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์จะมีการติดเชื้อ 1 ครั้งและคนที่ติดเชื้อแล้ว 1 ใน 3 คนจะติดเชื้อซ้ำอีก อาการที่พบบ่อยคือ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ และมักจะไม่แสดงอาการ แต่จะพบเมื่อมีการตรวจปัสสาวะในตอนฝากครรภ์ หากพบการติดเชื้อจะต้องรีบรักษาให้หายโดยเร็วที่สุดเพื่อป้องกันการลุกลามของเชื้อ

การรักษาจะต้องกินยาจนครบแม้ว่าจะหายแล้วก็ตาม นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะจะนำไปสู่การติดเชื้อที่กรวยไตหากไม่ได้รับการรักษา ทำให้กรวยไตอักเสบซึ่งจะมีอันตรายต่อตัวแม่เองและทารกในครรภ์ หากเป็นกรวยไตอักเสบในช่วงหลังอายุครรภ์เดือนที่ 7 เป็นต้นไป จะทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้ ดังนั้นหากมีอาการควรรีบไปพบคุณหมอโดยด่วนและดื่มน้ำสะอาดมากๆ หรือน้ำผลไม้รสเปรี้ยวที่ไม่ใส่น้ำตาล งดชากาแฟ ไม่กลั้นปัสสาวะโดยไม่จำเป็น ใช้กางเกงในผ้าฝ้ายที่ระบายอากาศได้ดี ทำความสะอาดอวัยวะเพศให้ถูกวิธี ระหว่างที่รักษาอยู่จะได้รับยาปฏิชีวนะ ควรกินโยเกิร์ตไม่ใส่น้ำตาล เพื่อช่วยให้แบคทีเรียในทางเดินอาหารสมดุล และกินอาหารที่มีประโยชน์

อันดับที่ 10 - โรคตับอักเสบ

ตับอักเสบชนิดเอ เป็นโรคที่พบได้มากในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี และมีอาการไม่รุนแรงมาก และไม่สามารถผ่านเข้าสู่ทารกในครรภ์ได้ จึงไม่มีผลกระทบต่อทารกในครรภ์ อย่างไรก็ตามควรที่จะหลีกเลี่ยงการติดเชื้อใดๆ ด้วยการล้างมือให้สะอาดก่อนทานอาหารและทุกครั้งที่ดูแลการขับถ่ายของเด็ก

ตับอักเสบชนิดบี พบได้ 1 ใน 3 ของคนไข้โรคตับ พบได้ในคนอายุ 15 - 39 ปี และสามารถถ่ายทอดจากแม่มาสู่เด็กทารกในครรภ์ได้ โดยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการแต่จะพัฒนาไปเป็นระยะเรื้อรัง และเป็นโรคที่ติดต่อระหว่างบุคคล จึงไม่ควรใช้สิ่งของร่วมกับคนที่ติดเชื้อนี้ หากคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ป่วยด้วยโรคตับอักเสบบี การรักษาที่สำคัญคือ กินอาหารที่มีประโยชน์และพักผ่อนให้เพียงพอ งดแอลกอฮอล์ทุกชนิด ร้อยละ 95 ของผู้ป่วยจะฟื้นคืนสภาพมาเป็นปกติเอง ร้อยละ 5 จะกลับรุนแรงมากขึ้น ทารกที่คลอดจากคุณแม่ที่มีเชื้อตับอักเสบบี ควรได้รับการอาบน้ำให้สะอาด ระวังการปนเปื้อน และให้วัคซีนตับอักเสบบีและแกมม่าโกลบูลินภายใน 12 ชั่วโมงหลังคลอดและให้วัคซีนซ้ำเมื่ออายุ 1 และ 6 เดือน แล้วตรวจสอบภูมิคุ้มกันเมื่ออายุ 12 และ 15 เดือน ส่วนตับอักเสบชนิดอื่นยังไม่มีรายงานหรือความรู้ที่แน่ชัดว่าติดต่อหรือไม่ทางใดและถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกหรือไม่

อันดับที่ 11 - โรคอีสุกอีใส

ส่วนมากคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์จะเคยเป็นอีสุกอีใสในวัยเด็กมาแล้วจึงมีภูมิคุ้มกันอยู่ แต่หากมาเป็นในช่วงที่ตั้งครรภ์จะต้องได้รับแกมม่าโกลบูลินภายใน 96 ชั่วโมงหลังการสัมผัสโรค จะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ เนื่องจากอาการของโรคนี้ในผู้ใหญ่จะรุนแรงกว่าในเด็ก โดยเฉพาะภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจเกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Sarah Logan and Laura Price, Infectious disease in pregnancy
Lara A. Friel MD, PhD, University of Texas Health Medical School at Houston, Infectious Disease in Pregnancy,

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
อะไรคือสัญญาณการฉีกขาดในภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก?
อะไรคือสัญญาณการฉีกขาดในภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก?

เรียนรู้สัญญาณการตั้งครรภ์นอกมดลูกก่อนที่มันจะฉีกขาด

อ่านเพิ่ม
ทำความเข้าใจกับภาวะตั้งครรภ์ที่ไข่ที่ปฏิสนธิไม่ฝังตัว (Chemical Pregnancy) ใช่หรือไม่ใช่?
ทำความเข้าใจกับภาวะตั้งครรภ์ที่ไข่ที่ปฏิสนธิไม่ฝังตัว (Chemical Pregnancy) ใช่หรือไม่ใช่?

การตั้งครรภ์ที่เร็วเกินไปที่จะยืนยันด้วยวิธีการทางชีวเคมี

อ่านเพิ่ม
ภาวะถุงน้ำคร่ำอักเสบ (Chorioamnionitis)
ภาวะถุงน้ำคร่ำอักเสบ (Chorioamnionitis)

ภาวะติดเชื้อในมดลูกจัดเป็นภาวะที่รุนแรง

อ่านเพิ่ม