เซลล์เม็ดเลือดขาวสูง เป็นสัญญาณอันตรายหรือไม่?

เซลล์เม็ดเลือดขาวสูงบ่งบอกถึงความผิดปกติอะไรได้บ้าง มาเรียนรู้ภาวะผิดปกติที่เกี่ยวของกับภาวะเซลล์เม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ (Leukocytosis) วิธีการตรวจ การรักษา และการป้องกัน
เผยแพร่ครั้งแรก 12 ส.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
เซลล์เม็ดเลือดขาวสูง เป็นสัญญาณอันตรายหรือไม่?

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • เซลล์เม็ดเลือดขาว เป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน คอยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคในร่างกาย ช่วยกำจัดสารพิษ สิ่งแปลกปลอม และของเสียบางชนิด เมื่อเซลล์เม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ นั่นอาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติในร่างกาย
  • จำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวปกติจะอยู่ระหว่าง 4,000-11,000 เซลล์/ไมโครลิตร
  • อาการเมื่อมีเซลล์เม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ เช่น ไข้ อ่อนแรง วิงเวียน มีเหงื่อออกมาก หายใจลำบาก ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือมีปัญหาด้านการมองเห็น
  • สาเหตุที่ทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ เช่น การติดเชื้อ การอักเสบ ความผิดปกติของไขกระดูก หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • หากคุณมีอาการของภาวะเซลล์เม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ อย่าเพิกเฉย เพราะอาจเป็นสัญญาณผิดปกติของร่างกาย ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพได้ที่นี่)

เซลล์เม็ดเลือดขาว (White Blood Cell: WBC) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ลิวโคไซต์ (Leukocyte)” เป็นหนึ่งในส่วนประกอบที่อยู่ในเลือด ทำหน้าที่ในระบบภูมิคุ้มกัน คอยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคในร่างกาย ช่วยกำจัดสารพิษ สิ่งแปลกปลอม และของเสียบางชนิด

เมื่อใดที่เซลล์เม็ดเลือดขาวมีจำนวนมากกว่าปกติ เรียกภาวะนี้ว่า “ลิวโคไซโตซิส (Leukocytosis)” อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติภายในร่างกาย เช่น เกิดการติดเชื้อ การอักเสบ โรคมะเร็ง หรือโรคภูมิแพ้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

จำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวปกติคือเท่าไร?

ปกติแล้ว จำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวจะอยู่ระหว่าง 4,000-11,000 เซลล์/ไมโครลิตร

ชนิดของเซลล์เม็ดเลือดขาวและความผิดปกติที่เกี่ยวข้อง

เซลล์เม็ดเลือดขาวในร่างกายของเราแบ่งออกเป็น 5 ชนิด เรียงตามจำนวนมากไปน้อย ได้แก่

  • นิวโทรฟิล (Neutrophil) เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดที่มีจำนวนมากที่สุด คิดเป็น 50-70% ของจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวในร่างกาย โดยภาวะจำนวนนิวโทรฟิลผลิตมากผิดปกติ (Neutrophilia) จะเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ และการอักเสบ

  • ลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) คิดเป็น 20-40% ของจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวในร่างกาย โดยภาวะจำนวนลิมโฟไซต์ผลิตมากผิดปกติ (Lymphocytosis) จะเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อไวรัส และโรคลูคีเมีย

  • โมโนไซต์ (Monocyte) คิดเป็น 0-7% ของจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวในร่างกาย โดยภาวะโมโนไซต์ผลิตมากผิดปกติ (Monocytosis) จะเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ และโรคมะเร็ง

  • อีโอซิโนฟิล (Eosinophil) คิดเป็น 0-1% ของจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวในร่างกาย โดยภาวะอีโอซิโนฟิลผลิตมากผิดปกติ (Eosinophilia) จะเกี่ยวข้องกับโรคภูมิแพ้ และโรคจากปรสิต

  • เบโซฟิล (Basophil) คิดเป็น 0-5% ของจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวในร่างกาย โดยภาวะเบโซฟิลผลิตมากผิดปกติ (Basiphilia) จะเกี่ยวข้องกับโรคลูคีเมีย

อาการเมื่อมีเซลล์เม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ

หากจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย มักไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ แต่หากเซลล์เม็ดเลือดขาวสูงมากผิดปกติ ก็อาจเกิดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันได้มากกว่าปกติ จนทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น

  • มีไข้
  • อ่อนแรง หน้ามืด วิงเวียน
  • มีเหงื่อออกมาก
  • หายใจลำบาก
  • ปวดเมื่อย หรือชาตามแขนขา
  • มีเลือดออก หรือรอยฟกช้ำตามผิวหนัง
  • เบื่ออาหาร
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีปัญหาด้านการมองเห็น

หากมีอาการดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุความผิดปกติ เพราะถ้าหากเกี่ยวข้องกับภาวะเซลล์เม็ดเลือดขาวสูงผิดปกติ ก็อาจหมายถึงการป่วยเป็นโรคร้ายแรงที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างใกล้ชิดได้

สาเหตุที่ทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ

สาเหตุที่ทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ มีหลายประการ ดังนี้

  • การติดเชื้อ ทำให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดขาวจำนวนมากเพื่อมาต่อสู้กับเชื้อโรค เช่น
    • การติดเชื้อแบคทีเรีย มักพบในภาวะเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลสูง
    • การติดเชื้อไวรัส มักพบในภาวะเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์สูง ยกเว้นการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) เนื่องจากเชื้อเอชไอวี มีเซลล์เป้าหมายเป็นเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ ดังนั้น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี จึงอาจพบภาวะเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ต่ำลงได้
    • การติดเชื้อปรสิต หรือหนอนพยาธิ มักพบในภาวะเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิลสูง

  • ร่างกายมีการอักเสบ เนื่องจากการอักเสบเป็นหนึ่งในกลไกตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน และเกี่ยวข้องกับการทำงานของเม็ดเลือดขาวโดยตรงด้วย

  • มีความผิดปกติของไขกระดูก เซลล์เม็ดเลือดขาวนั้นถูกสร้างในไขกระดูก ดังนั้น หากไขกระดูกเกิดความผิดปกติก็อาจส่งผลให้การสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวมากหรือน้อยกว่าปกติได้

  • มีความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันไวเกิน หรือเป็นโรคภูมิแพ้ตัวเอง อาจมีการสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวในร่างกายมากกว่าปกติได้เช่นกัน

  • เป็นผลจากยาบางชนิด เช่น ยาที่กระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน และยาสเตียรอยด์

  • มีอาการแพ้ เมื่อร่างกายสัมผัสกับสารกระตุ้นอาการแพ้ จะตอบสนองโดยการสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวมากขึ้น โดยเฉพาะเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดเบโซฟิล

  • ความเครียด ความตึงเครียดทางร่างกายและอารมณ์ อาจส่งผลให้พบเม็ดเลือดขาวสูงได้เช่นกัน

  • เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว การพบเซลล์เม็ดเลือดขาวสูงมาก อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ เช่น
    • มะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลัน ทั้งชนิดมัยลอยด์และลิมฟอยด์ มักพบเซลล์ตัวอ่อนของเม็ดเลือดขาวในกระแสเลือดจำนวนมาก
    • เม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง ทั้งชนิดมัยลอยด์และลิมฟอยด์ มักพบเซลล์ตัวเต็มวัยของเม็ดเลือดขาวในกระแสเลือดสูงมาก (สูง 2-5 เท่า ของจำนวนปกติ) และมีเซลล์ตัวอ่อนเม็ดเลือดขาวปะปนมาด้วย

การตรวจวัดจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาว

การวัดจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวในกระแสเลือด ทำได้โดยการเจาะเลือดไปตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count) หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ตรวจซีบีซี (CBC)” เพื่อนับแยกจำนวนเม็ดเลือดขาวแต่ละชนิด

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

การตรวจซีบีซีจะตรวจร่วมกับการตรวจค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดผ่านกล้องอจุลทรรศน์ (Blood smear) เพื่อดูลักษณะของเซลล์เม็ดเลือดขาวด้วย

ค่าปกติของจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวจะอยู่ที่ 4,000-11,000 เซลล์/ไมโครลิตร โดยสัดส่วนปกติของเซลล์เม็ดเลือดขาวแต่ละชนิด คือ

  • นิวโทรฟิล 50-70%
  • ลิมโฟไซต์ 20-40%
  • โมโนไซต์ 0-7%
  • อีโอซิโนฟิล 0-5%
  • เบโซฟิล 0-1%

การรักษาภาวะเซลล์เม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ

การรักษาภาวะเซลล์เม็ดเลือดขาวสูงจะแบ่งออกเป็น 3 กรณี คือ

  • เซลล์เม็ดเลือดขาวสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย และไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ไม่จำเป็นต้องรักษา เนื่องจากเป็นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันตามปกติ

  • เซลล์เม็ดเลือดขาวสูงขึ้น และมีอาการผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย แพทย์จะวินิจฉัยหาสาเหตุ และรักษาตามความเหมาะสม เช่น
    • หากเกิดการติดเชื้อ จะรักษาโดยการให้ยาต้านไวรัส ยาปฏิชีวนะ หรือยาถ่ายพยาธิ
    • หากมีอาการแพ้ จะรักษาโดยการให้ยาแก้แพ้
    • หากพบว่า เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว จะรักษาโดยการให้ยาเคมีบำบัด และการฉายรังสี

  • ผู้ป่วยมีเซลล์เม็ดเลือดขาวสูงมาก (มากกว่า 100,000 เซลล์/ไมโครลิตร) อาจต้องรักษาโดยการเปลี่ยนถ่ายพลาสมา เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

การป้องกันภาวะเซลล์เม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ

การเพิ่มจำนวนเม็ดเลือดขาวมักเป็นการตอบสนองตามปกติของร่างกาย เพื่อป้องกันการรุกรานของเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม จึงไม่มีวิธีป้องกันเป็นพิเศษ

สิ่งที่สามารถทำได้คือ การรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้ภูมิต้านทานอ่อนแอ ออกกำลังกายเป็นประจำ และรับประทานอาหารที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เช่น ผักผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ก็จะช่วยให้เซลล์เม็ดเลือดขาวทำงานได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีอาการของภาวะเซลล์เม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ เช่น มีไข้ อ่อนแรง หายใจลำบาก มีเลือดออก หรือเบื่ออาหาร อย่าเพิกเฉย เพราะอาจเป็นสัญญาณผิดปกติในร่างกาย ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการที่เหมาะสม

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
อาจารย์ ดร.วันวิสาข์ อุดมสินประเสริฐ, ผลแลปจากการตรวจเลือด...มีความหมายว่าอย่างไร (https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/442/ผลแลปจากการตรวจเลือด/), 27 พฤศจิกายน 2561.
Nancy L. Moyer, What is Leukocytosis? (https://www.healthline.com/health/leukocytosis), 18 July 2018.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
วิตามิน (Vitamins) คืออะไร?
วิตามิน (Vitamins) คืออะไร?

ร่างกายของคุณต้องการวิตามินที่สำคัญถึง 13 ชนิดในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

อ่านเพิ่ม