ตกขาวคืออะไร? ตอบทุกคำถามเกี่ยวกับตกขาว

ตอบสิ่งที่หลายคนมักสงสัย ตกขาวคืออะไร? แบบไหนปกติ แบบไหนเป็นสัญญาณของโรค
เผยแพร่ครั้งแรก 30 เม.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 27 พ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ตกขาวคืออะไร? ตอบทุกคำถามเกี่ยวกับตกขาว

ตกขาวคืออะไร?

ตกขาว (Leucorrhoea) คือ ภาวะที่มีของเหลว ลักษณะขาวใส หรือ มูกใสสีขาวปริมาณเล็กน้อย ไหลออกมาจากช่องคลอด ซึ่งเป็นภาวะปกติที่เกิดจากเยื่อบุผิวผนังด้านในช่องคลอดจะสร้างเยื่อเมือกซึ่งมีลักษณะคล้ายแป้งออกมาเพื่อช่วยหล่อลื่นช่องคลอด รวมถึง ช่วยป้องกันเชื้อโรคและขับสิ่งแปลกปลอมออกมาจากช่องคลอด

ตกขาวเกิดขึ้นในช่วงไหนได้บ้าง?

โดยปกติ เมือกใสนี้จะถูกขับออกมาในแต่ละรอบเดือน ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนในร่างกายเปลี่ยนแปลงสภาพไป เช่น ในช่วงกลางของรอบเดือนช่วงเวลาใกล้ไข่ตกน้ำเมือกในช่องคลอดจะเหลวใส ปริมาณมาก ส่วนช่วงเวลาอื่นๆ น้ำเมือกจะขุ่นข้นคล้ายแป้ง ซึ่งมีปริมาณมากน้อยแตกต่างกันในแต่ละบุคคล ซึ่งอาการนี้เป็นอาการตกขาวปกติ ซึ่งเกิดขึ้นได้ในสตรีทุกคนในช่วงเวลาไข่ตกหรือใกล้มีรอบเดือนนั่นเอง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

อาการแบบไหนที่เรียกว่าตกขาวผิดปกติ?

อาการตกขาวผิดปกติ คือ ภาวะที่น้ำเมือกมีลักษณะแตกต่างไปจากเดิม เช่น มีปริมาณขาวขุ่นมากผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น และเป็นอยู่นาน รวมถึงตกขาวที่มีสีผิดปกติ เช่น ปนมูกเลือด ปนหนอง มีสีกลิ่นผิดปกติ มีฟอง บางรายมีกลิ่นเหม็นคาว เหม็นเน่า มีกลิ่นอับ เหม็นเค็มคล้ายปลาเค็ม หรือ กลิ่นเหม็นเปรี้ยว ร่วมกับอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น มีอาการคัน มีอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณปากช่องคลอด ปวดท้องน้อย หรือมีอาการปัสสาวะแสบขัด หากเป็นแล้วควรพบแพทย์ทันที

ตกขาวบอกปัญหาสุขภาพอะไรได้บ้าง?

สีของตกขาวสามารถบ่งบอกสาเหตุและอาการปกติได้ดังนี้

  1. ตกขาวสีขาวใส หรือ มูกใส หรือไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ไม่มีอาการคัน หรือ อาการผิดปกติในช่องคลอดร่วมด้วย ถือว่า เป็น “ตกขาวปกติ”
  2. ตกขาวสีขาวขุ่น เป็นน้ำใส ไหลออกมาเป็นฟอง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเกิดจากการอักเสบของช่องคลอด
  3. ตกขาวปนเทา มีกลิ่นเหม็นอับคล้ายกลิ่นคาวปลาเค็ม กลิ่นมักจะรุนแรงหลังการร่วมเพศหรือหลังหมดประจำเดือนใหม่ๆ ระดับความรุนแรงของกลิ่นจะแตกต่างกันออกไป บางคนไม่มีกลิ่น บางคนก็มีกลิ่นแรงจนคนใกล้ตัวได้กลิ่น อาจมีอาการระคายเคืองบริเวณปากช่องคลอด และเจ็บช่องคลอดเวลามีเพศสัมพันธ์ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial vaginosis) พบได้ในคนที่สวนล้างช่องคลอดบ่อย หรือ ติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
  4. ตกขาวเป็นสีขาวข้นคล้ายคราบนม หรือเป็นสีเหลืองขาว เป็นก้อนคล้ายนมบูด มีกลิ่นเหม็นอับ แต่ไม่มีกลิ่นคาว ร่วมกับแสบคันในช่องคลอด หรือคันที่อวัยวะเพศ เกิดจากเชื้อรา Candida albicans ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคคือโรคเบาหวาน การใช้ยาปฎิชีวนะเป็นเวลานาน การมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงขึ้น และภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
  5. ตกขาวเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว มีกลิ่นเหม็นออกเปรี้ยวเล็กน้อย ตกขาวมีลักษณะเป็นฟอง เกิดจากการติดเชื้อทริโคโมแนส หรือเชื้อพยาธิในช่องคลอด (Trichomoniasis)
  6. ตกขาวสีน้ำตาล หรือ ตกขาวปนเลือด อาจเกิดจากการมีเลือดออกผิดปกติแล้วปนออกมากับตกขาว อาจเกิดจากการติดเชื้อที่ปากมดลูกหรือช่องคลอด
  7. ตกขาวสีชมพู มักพบได้ในหญิงหลังคลอด เนื่องจากการลอกของเยื่อบุโพรงมดลูก หรืออาจเป็นสีของเลือดล้างหน้าเด็กซึ่งมักจะเป็นสีชมพูจางๆ ถือว่าปกติ

การรักษาตกขาว

หากคุณมีตกขาวร่วมกับอาการผิดปกติอื่นๆ ให้รีบไปพบแพทย์หรือสูตินรีแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อทำการตรวจภายในช่องคลอดและให้การรักษาไปตามสาเหตุที่ตรวจพบ ซึ่งการรักษาทั่วไปมีดังนี้

  1. การให้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อ โดยตัวอย่างยาที่อาจเลือกใช้ในการรักษาตามสาเหตุของโรคมีดังนี้
    • ตกขาวจากแบคทีเรีย ให้รับประทานยาเมโทรไนดาโซล (Metronidazole) 500 มิลลิกรัม วัน 2 ครั้ง นาน 7 วัน ได้ผลประมาณ 95%
    • ตกขาวจากการติดเชื้อรา ให้ยาเหน็บช่องคลอดโคลไตรมาโซล (Clotrimazole vaginal tablets) ขนาด 100 มิลลิกรัม สอดทางช่องคลอดวันละ 1 ครั้ง นาน 7 วัน หรือสอดครั้งละ 2 เม็ด นาน 3 วัน มีประสิทธิภาพ 85-90%
    • ตกขาวจากการติดเชื้อพยาธิหรือโปรโตซัว ให้รับประทานยา เช่น เมโทรนิดาโซล (Metronidazole) 2,000 มิลลิกรัม เพียงครั้งเดียว หรือแบ่งให้ครั้งละ 1,000 มิลลิกรัม ในตอนเช้าและตอนเย็นเพื่อลดอาการคลื่นไส้อาเจียนซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนของยา เป็นต้น การรักษานี้มีประสิทธิภาพ 82-88% (ถ้ารักษาทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายจะมีประสิทธิภาพมากกว่า 95%)
  2. การปฏิบัติทั่วไปในการรักษาและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ ได้แก่
    • ใช้ยาตามที่แพทย์สั่งให้ครบและไปตรวจตามนัด
    • รักษาความสะอาดของช่องคลอด อวัยวะสืบพันธุ์ ไม่ให้อับชื้น ล้างทำความสะอาดทุกครั้งหลังขับถ่ายแล้วซับให้แห้ง ไม่ควรโรยแป้งหรือน้ำหอมใดๆ หากมีรอบเดือนห้ามใช้ผ้าอนามัยแบบสอดเพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย
    • งดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะหาย ถ้าจำเป็นให้สวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง
    • ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะตกขาวมีหลายสาเหตุ ถ้ารักษาไม่ตรงตามสาเหตุอาจไม่หายและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
    • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา การรับประทานอาหารหมักดอง ตลอดห้วงการรักษา
    • รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ดูแลสุขอนามัยให้สะอาด และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ตัวเองต่อไป

5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
รศ. ดร. ภญ. ศรีจันทร์ พรจิราศิลป์ , ตกขาวรักษาอย่างไร (https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/knowledge/files/0312.pdf)
รศ.พ.ญ. จารุวรรณ แซ่เต็ง, Vaginal Discharge and Vaginal Bleeding (http://www.med.cmu.ac.th/dept/obgyn/2011/index.php?option=com_content&view=article&id=1413:icm-vaginal-discharge-and-vaginal-bleeding&catid=127&Itemid=1010), 6 พฤษภาคม 2561.
ผศ. นพ. ดิฐกานต์ บริบูรณ์หิรัญสาร, ตกขาวคราวตั้งครรภ์ (http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/admin/article_files/402_1.pdf)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
ตกขาวมีกลิ่น...อันตรายไหม หากเป็นแล้วทำอย่างไรดี?
ตกขาวมีกลิ่น...อันตรายไหม หากเป็นแล้วทำอย่างไรดี?

สาเหตุ อาการ วิธีวินิจฉัยและรักษาตกขาวมีกลิ่น ปัญหาหญิงๆ ที่เกิดได้บ่อย

อ่านเพิ่ม
ทำอย่างไรเมื่อตกขาวเป็นสีเหลือง?
ทำอย่างไรเมื่อตกขาวเป็นสีเหลือง?

สันนิษฐานสาเหตุที่ทำให้มี ตกขาวสีเหลือง การสังเกตอาการ และหลักปฏิบัติเบื้องต้น

อ่านเพิ่ม
5 วิธีรักษาตกขาวด้วยตนเองแบบไม่ต้องพึ่งยา
5 วิธีรักษาตกขาวด้วยตนเองแบบไม่ต้องพึ่งยา

หากอาการตกขาวที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีสาเหตุมาจากเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส หรือมีความรุนแรงมาก สามารถรักษาได้ด้วย 5 วิธีนี้

อ่านเพิ่ม