กนกกาญจน์  ดวงสุวรรณกุล
เขียนโดย
กนกกาญจน์ ดวงสุวรรณกุล

อาการ "เพ้อ" คืออะไร อันตรายไหม รับมืออย่างไรดี?

อาการเพ้อ เป็นความผิดปกติทางจิตเวช เกิดได้กับคนทุกวัย เกิดจากหลายสาเหตุ หากไม่ได้รับการรักษา อาจจะมีอาการแย่ลงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
เผยแพร่ครั้งแรก 30 ม.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
อาการ "เพ้อ" คืออะไร อันตรายไหม รับมืออย่างไรดี?

ภาวะเพ้อ หรือ ภาวะสับสนเฉียบพลัน (Delirium) คือ ความผิดปกติทางจิตประสาท อาการมักเป็นชั่วคราว สามารถกลับมาเป็นปกติได้ เกิดจากความผิดปกติของสมองซึ่งเป็นผลจากการเจ็บป่วยทางกายเฉียบพลัน

อาการเพ้อเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แต่จะพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ป่วยหนักใน ICU ผู้ป่วยหลังผ่าตัด และผู้ที่มีสมองบกพร่องอยู่เดิม

อาการเพ้อคืออะไร?

สิ่งที่ใช้เป็นอาการหลักในการวินิจฉัยว่ามีภาวะเพ้อ คือ ระดับความรู้สึกตัวแปรปรวน ทั้งด้านความใส่ใจและระดับการรับรู้

อาการจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่ชั่วโมง หรือเป็นวัน ความรุนแรงมีความผันผวนไม่แน่นอน มีความบกพร่องของการรู้คิดที่พิเศษ คือความจำบกพร่องและสับสนงุนงง การใช้ภาษาผิดปกติ อารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียว และวงจรการนอนหลับผิดปกติ

เพ้อ เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง?

สาเหตุหลักๆ ของภาวะเพ้อแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มหลักๆ ดังนี้

1. ได้รับยาและสารเสพติดบางชนิดเกินขนาด

ยากลุ่มดังกล่าว เช่น

  • ยานอนหลับ ยารักษาโรคทางจิตเวช ยาระงับอาการปวด ยารักษาโรคพาร์กินสัน
  • ยาบ้า (Amphetamine)
  • ยาแผนโบราณ โดยเฉพาะยาลูกกลอน

2. หยุดสุรา หรือยานอนหลับบางชนิดกระทันหัน

ในกรณีนี้จะเกิดในคนที่ติดสุราหรือยาชนิดนั้นแล้ว ในรายที่หยุดดื่มสุราอย่างฉับพลันอาจเกิดอาการเพ้อซึ่งมีชื่อเรียกเฉพาะว่า "ภาวะถอนพิษสุรา (Delirium tremens)" 

3. มีความผิดปกติของสมองและระบบประสาท

ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง การติดเชื้อในสมอง อุบัติเหตุที่ศีรษะ และเนื้องอกที่สมอง

4. มีอาการผิดปกติอื่นๆ

อาการผิดปกติที่ว่านั้น ได้แก่

  • มีไข้สูง
  • สมดุลเกลือแร่ผิดปกติ (ระดับเกลือแร่ในเลือดสูงหรือต่ำไป)
  • ติดเชื้อ
  • การขาดสารอาหาร ขาดออกซิเจน
  • เป็นโรคทางต่อมไร้ท่อ มะเร็ง
  • กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด มีภาวะหัวใจล้มเหลว

หากแบ่งสาเหตุที่พบได้บ่อยตามกลุ่มอายุของผู้ป่วย จะเป็นดังนี้

  • วัยเด็ก มักเกิดจากการติดเชื้อ มีไข้ ได้รับสารพิษ การชัก และอุบัติเหตุทางสมอง
  • วัยรุ่น มักเกิดจากการขาดหรือได้รับสารเสพติดเกินขนาด การติดเชื้อ และอุบัติเหตุทางสมอง
  • วัยกลางคน มักเกิดจากการขาดสุรา หรือยานอนหลับ สารพิษจากโรงงาน มะเร็ง โรคทางต่อมไร้ท่อ ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดหัวใจ
  • วัยสูงอายุ โรคหลอดเลือดหัวใจ ได้รับยานอนหลับเกินขนาด โรคสมองเสื่อม

เพ้อ มีอาการอย่างไร?

อาการและลักษณะของอาการที่สามารถพบได้ มีดังนี้

  • มีความผิดปกติของระดับสติสัมปชัญญะ ได้แก่ ง่วงนอน ซึม สับสน เสียการรับรู้ความเป็นไปของสิ่งแวดล้อม คือ ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ตอนนี้วันที่เท่าไร วันอะไร เวลาไหน หรืออาจไม่มีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าทุกชนิด
  • อาการต่างๆ มักเกิดโดยเฉียบพลัน ภายในระยะเวลาสั้นๆ
  • เสียการรับรู้ต่อเวลา สถานที่ แต่การรับรู้ต่อบุคคลว่าเป็นใครอาจจะยังดีอยู่ก็ได้
  • สูญเสียความทรงจำ โดยเฉพาะความจำระยะสั้นๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้น
  • ไม่สามารถจดจ่อได้ เสียสมาธิได้ง่ายกว่าปกติ
  • มีปัญหาในการใช้ภาษาพูด ไม่สามารถเรียกชื่อสิ่งของได้ เล่าเรื่องได้ไม่ต่อเนื่อง พูดจานอกประเด็น อาจเขียนหนังสือไม่ได้
  • กระสับกระส่าย วิตกกังวล หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ สับสนเป็นพักๆ พูดจาเพ้อเจ้อ บางครั้งรู้สึกตัว บางครั้งไม่รู้เรื่อง โดยในเวลาใกล้ค่ำมักจะไม่รู้เวลา บุคคล หรือสถานที่
  • อาจจะมีอาการประสาทหลอน หลงผิด หูแว่ว เห็นภาพหลอน โดยผู้ป่วยจะแสดงอารมณ์หรือมีพฤติกรรมตอบโต้ต่อสิ่งเหล่านั้น ที่พบได้ เช่น ทำร้ายตนเองหรือทำร้ายผู้อื่น
  • มีความผิดปกติของวงจรการนอนหลับและตื่น โดยมักง่วงและนอนตอนกลางวัน ส่วนตอนกลางคืนมักจะวุ่นวาย เอะอะโวยวาย ปีนเตียง ดึงสายน้ำเกลือ หรืออาจจะเชื่องช้า ไม่รู้สึกตัวแทนได้
  • กลุ่มอาการ ICU (ICU Syndrome) เป็นอาการเพ้อเมื่อถูกส่งเข้าห้อง ICU เนื่องจากอยู่ในสิ่วแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย ทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาในการปรับตัว

อาการเพ้อ พูดคนเดียว สับสน ตอนกลางคืน ในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยมะเร็ง หลังผ่าตัด อันตรายมากไหม?

ในผู้สูงอายุ อาการเพ้อส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้น เพิ่มระยะเวลาการรักษาในโรงพยาบาล เพิ่มผลข้างเคียงจากการอยู่โรงพยาบาล เพิ่มอัตราการกลับมานอนโรงพยาบาล และเพิ่มอัตราของโรคสมองเสื่อมมากขึ้น

มีการศึกษาวิจัยพบว่า มีปัจจัยที่สามารถทำนายถึงผลการรักษาที่ไม่ดีในผู้ป่วยที่มีภาวะเพ้อในโรงพยาบาล เช่น ระยะเวลาที่เกิดอาการเพ้อ การเพ้อแบบไฮโปแอกทีฟ (Hypoactive-เซื่องซึม เฉยเมย ไม่ค่อยตอบสนอง) ระดับความรุนแรง และภาวะความผิดปกติทางจิตเดิมจากโรคสมอง หรือโรคซึมเศร้า 

ในผู้ป่วยมะเร็ง ภาวะเพ้อจะเกิดในระยะท้ายๆ ของโรคแล้ว มะเร็งมีการแพร่กระจายไปที่ต่างๆ ทำให้สามารถรักษามะเร็งซึ่งเป็นปัจจัยหลักของภาวะเพ้อให้หายขาดได้ยาก

สิ่งที่ทำได้มักเป็นการรักษาแบบประคับประคอง เพื่อให้ผู้ป่วยสบายที่สุด เจ็บปวดน้อยที่สุด ก่อนการจากไปอย่างสงบ

ภาวะเพ้อหลังการผ่าตัดเกิดได้จากหลายสาเหตุมาก เช่น ฤทธิ์ยาสลบ (Sedation) อาการปวด ภาวะถอนยาเบนโซไดอาซีพีน (Benzodiazepine) ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ความดันโลหิตต่ำ การติดเชื้อในกระแสเลือด 

หากแก้ไขสาเหตุได้ อาการก็จะหายไป โดยอาการมักเกิดขึ้นภายใน 3 วันแรกหลังจากผ่าตัด และมักจะกลับมาเป็นปกติได้ภายในเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์

การดูแลผู้ป่วยมีอาการเพ้อ

การดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการเพ้อ แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน ดังนี้

1. การดูแลผู้ป่วยที่มีอาการเพ้อด้านร่างกาย

อย่างแรกควรรักษาภาวะเจ็บป่วยที่เป็นอยู่ และน่าจะเป็นสาเหตุของภาวะเพ้อทั้งหมด

โดยเฉพาะสาเหตุที่รักษาให้หายเป็นปกติได้ ได้แก่ ไข้สูง ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ขาดออกซิเจน ความดันโลหิตสูงมาก ภาวะขาดแอลกอฮอล์ หรือยานอนหลับ สมดุลกรดด่างผิดปกติ สมดุลเกลือแร่ผิดปกติ ภาวะขาดน้ำ ขาดสารอาหารในร่างกาย

อาจใช้ยารักษาและบรรเทาอาการเพ้อ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการโรคจิต (หลงผิด ประสาทหลอน เห็นภาพหลอน) ยาที่ได้ผลดีคือ ฮาโลเพอริดอล (Haloperidol) ให้กิน หรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อก็ได้ โดยสามารถให้ยาซ้ำได้อีกหากอาการไม่ดีขึ้นหลังผ่านไป 1 ชั่วโมง

หรืออาจให้ยากลุ่มเบนโซไดอาซีพีน (Benzodiazepine) เช่น ยาลอราซีแพม (Lorazepam) ไดอาซีแพม (Diazepam) โดยวิธีกิน หรือฉีดเข้าเส้นเลือดก็ได้ โดยมักให้ในผู้ป่วยที่มีอาการกระสับกระส่าย นอนไม่หลับ หรือในรายที่มีโอกาสชักสูง เช่น ผู้ป่วยในภาวะขาดแอลกอฮอล์หรือขาดยานอนหลับต่างๆ

อย่างไรก็ตาม การให้ยาควรอยู่ในการดูแลของแพทย์

2. การดูแลผู้ป่วยที่มีอาการเพ้อด้านจิตใจ

ก่อนอื่นประเมินสิ่งแวดล้อมและหามาตรการป้องกันอันตรายต่อตัวผู้ป่วยและบุคคลรอบข้าง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการหลงผิด

เพราะผู้ป่วยอาจทำร้ายตัวเองและคนใกล้ชิดได้ หรือมีการแปลภาพผิด เช่น เห็นหน้าต่างชั้นสูงๆ เป็นประตูที่สูงจากพื้นดินแค่ไม่ถึงเมตร จึงเดินออกไปเกิดตกตึกเสียชีวิตได้

ควรสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ป่วย และให้ความมั่นใจว่าอาการต่างๆ จะค่อยๆ ดีขึ้นหลังจากได้รับการรักษา อาการที่เกิดขึ้นเป็นเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น

บุคคลใกล้ชิดที่อาศัยร่วมกับผู้ป่วยที่มีอาการเพ้อควรปรับสภาพแวดล้อมรอบตัวผู้ป่วยให้เหมาะสม ได้แก่ นาฬิกา ปฏิทิน ในระยะที่ผู้ป่วยมองเห็นได้ชัดเจน

หากผู้ป่วยมีปัญหาด้านสายตาก็หาแว่นตาให้ใส่เพื่อความชัดเจนของการมองเห็น จัดให้มีแสงสว่างตามธรรมชาติในช่วงกลางวัน และลดแสงสว่างจากอุปกรณ์ต่างๆ ในช่วงกลางคืน สภาพแวดล้อมต้องไม่เงียบ หรือวุ่นวายมากจนเกินไป และอาจจะเพิ่มบรรยากาศที่ผู้ป่วยคุ้นเคย เช่น ให้ญาติสนิทมาเฝ้า หารูปถ่ายครอบครัวมาตั้งไว้ใกล้ๆ 

บุคคลใกล้ชิดควรช่วยบอก ช่วยเตือนความทรงจำของผู้ป่วยให้ถูกต้อง โดยพูดเป็นคำสั้นๆ เข้าใจง่าย เช่น ตอนนี้อยู่ที่โรงพยาบาล แพทย์และพยาบาลกำลังให้การรักษา ญาติที่มาเฝ้าเป็นใคร ชื่ออะไร

ข้อควรระวังคือ ห้ามญาติตามใจด้วยการคล้อยตามสิ่งที่ผู้ป่วยเข้าใจผิด ให้คอยบอกว่าที่ถูกต้องคืออะไร โดยสิ่งที่พูดต้องไม่เป็นการโต้เถียงกับผู้ป่วย


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
พัชรียา นิวัฒน์ภูมินทร์, การสูญเสียหน้าที่ด้านการรับรู้การเข้าใจหลังผ่าตัด (Thai Journal of Anesthesiology) 14 มีนาคม 2555.
ปารีณา สุวัฒนะพงศ์เชฏ, ภาวะสับสนเฉียบพลับในผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉิน (http://www.errama.com/system/spaw2/uploads/files/love_5.pdf).
ศิริรัตนคุปติวุฒิ, ภาวะเพ้อ (https://med.mahidol.ac.th/ramamental/sites/default/files/public/pdf/Delirium.PDF), 2544.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)