เมื่ออายุมากขึ้น มันเป็นเรื่องปกติที่อวัยวะต่างๆ จะเริ่มเสื่อมถอยลง ไม่เว้นแม้แต่ดวงตาค่ะ นอกจากนี้ปัญหาทางสายตาก็อาจเกิดขึ้นก่อนที่คุณจะเข้าสู่วัยสูงอายุเช่นกัน โดยอาจเกิดจากไลฟ์สไตล์และโรคประจำตัว ซึ่งวันนี้เราจะพาคุณไปดูว่ามีปัจจัยใดบ้างที่ทำให้การมองเห็นของคุณเปลี่ยนไป จะตรงกับที่คุณคิดมากน้อยแค่ไหน เราลองมาดูพร้อมกันเลยค่ะ
1. จ้องคอมพิวเตอร์
คนส่วนมากใช้เวลาวันละประมาณ 400 นาที ในการมองหน้าจอคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แล็ปท็อป และแท็บเล็ต ทำให้เราเสี่ยงมีปัญหาสายตาเนื่องจากใช้อุปกรณ์ดิจิทัล หรือที่เรียกว่า Digital eye strain (DES) มากขึ้น ซึ่งมันจะทำให้เรามีอาการตาล้าและมองเห็นภาพไม่ชัด อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบคือ คนไม่ค่อยกระพริบตาในระหว่างที่ใช้อุปกรณ์เหล่านี้ ส่งผลให้ดวงตาแห้ง หรือเกิดการระคายเคืองตามมา ซึ่งมีงานวิจัยพบว่า เมื่อเราใช้อุปกรณ์ดิจิทัล อัตราการกระพริบตาจะลดลงมากถึง 70%
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
อย่างไรก็ตาม การอ่านตัวหนังสือบนหน้าจอทำให้เราต้องใช้สายตามากขึ้น เพราะตัวอักษรมักมีขนาดเล็ก และไม่คมชัดเท่ากับการอ่านกระดาษ แต่โชคดีที่ปัญหา DES สามารถบรรเทาลงหลังจากที่คุณละสายตาจากอุปกรณ์ดังกล่าว นอกจากนี้คุณอาจป้องกันโดยใช้กฎ 20 : 20 : 20 คือ ในทุก 20 นาที ให้คุณหลับตา หรือมองไปข้างหน้า โดยมีความห่างจากสายตา 20 ฟุต เป็นเวลา 20 วินาที แต่หากคุณยังคงมีปัญหากับการมองเห็น คุณก็อย่าลังเลที่จะไปพบแพทย์ค่ะ
2. ใส่คอนแทคเลนส์นานเกินไป
ยิ่งคุณใส่คอนแทคเลนส์นานเท่าไร บรรดาสิ่งสกปรก เมือก โปรตีน หรือแร่ธาตุก็จะยิ่งก่อตัวมากขึ้นเท่านั้น นอกจากมันจะทำให้สายตาพร่ามัวแล้ว คุณก็อาจเจ็บตา และมีอาการตาแห้ง ทั้งนี้วิธีง่ายๆ ที่บอกได้ว่าคอนแทคเลนส์เป็นตัวการที่ทำให้คุณมีอาการดังกล่าวหรือไม่คือ ให้คุณถอดคอนแทคเลนส์และใส่แว่น หากทัศนวิสัยของคุณชัดเจนมากกว่าเดิม บางทีอาจเป็นเพราะคอนแทคเลนส์สกปรกก็ได้ค่ะ
อย่างไรก็ตาม ต่อให้คอนแทคเลนส์ของคุณอยู่ในสภาพปกติ คุณก็ยังต้องทำความสะอาดมันทุกวัน และเปลี่ยนไปใช้อันใหม่ตามวันที่ๆ ระบุไว้ข้างกล่อง
3. กระจกตาถลอก
กระจกตาถลอกคือ ภาวะที่เยื่อที่มีหน้าที่ปกป้องกระจกตาหลุดลอก นอกจากมันจะทำให้คุณรู้สึกเจ็บแล้ว คุณก็จะมองเห็นภาพไม่ชัด ตาแดง หรือรู้สึกว่ามีเม็ดทรายอยู่ข้างในดวงตา อย่างไรก็ตาม ถ้าพบว่ากระจกตาถลอก คุณควรไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด หากเป็นการถลอกเล็กๆ น้อยๆ มันก็จะหายเองในเวลาไม่กี่วัน แต่แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะมาหยอดตา เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หรือให้ยาสเตียรอยด์ เพื่อลดการอักเสบและโอกาสที่จะเกิดรอยแผลเป็น ซึ่งอาจทำให้คุณสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร หากคุณใส่คอนแทคเลนส์ ให้คุณหยุดใช้จนกระทั่งตาหายสนิทค่ะ
4. ตั้งครรภ์
ทัศนวิสัยที่เปลี่ยนไปอย่างการมองเห็นภาพไม่ชัด และมองเห็นภาพซ้อนถือเป็นอาการพื้นฐานที่มักเกิดในระหว่างตั้งครรภ์ค่ะ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนสามารถทำให้ของเหลวที่อยู่หลังกระจกตาเปลี่ยนรูปร่าง และความเหนียว นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ถึงมีสายตาสั้น หรือสายตายาวจนถึงช่วงเวลาหลังคลอดลูก นอกจากนี้คนที่กำลังเป็นแม่ยังมีแนวโน้มที่จะมีอาการตาแห้ง ซึ่งสามารถนำไปสู่การมองเห็นภาพเบลอ และทำให้รู้สึกไม่สบายตาตอนใส่คอนแทคเลนส์
5. ทานยาบางชนิด
ไม่ว่าจะเป็นยาแอนตี้ฮีสตามีน ยาความดันโลหิต หรือยาต้านซึมเศร้านั้นก็ล้วนแต่ทำให้ตาแห้งได้ค่ะ ซึ่งมันจะไปชะลอการผลิตน้ำตา หรือเปลี่ยนองค์ประกอบของน้ำตา ส่งผลให้น้ำตาระเหยเร็วขึ้น คุณอาจรู้สึกว่ามีบางอย่างติดอยู่ในดวงตา เห็นภาพไม่ชัด ปวดตา ตาแดง หรือมีน้ำตามาก อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะตาแห้ง เพราะฮอร์โมนที่ผันผวนระหว่างตั้งครรภ์ การทานยาคุมกำเนิด และการบำบัดด้วยฮอร์โมน นอกจากนี้การเป็นโรครูมาตอยด์ และโรคเบาหวานก็ทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเช่นกัน หากรู้ตัวว่ามีอาการดังกล่าว คุณก็ควรปรึกษาแพทย์ค่ะ เพราะหากปล่อยไว้นานวันเข้า มันก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อ และนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร
6. เป็นต้อหิน
คนสูงอายุมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคต้อหินสูงขึ้น แต่ความจริงแล้ว คนทุกวัยสามารถเป็นต้อหินได้ค่ะ ทั้งนี้โรคดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อของเหลวส่วนเกินในดวงตาทำให้เกิดแรงดันที่ทำให้เกิดอันตรายต่อเส้นประสาทตา อย่างไรก็ดี ความน่ากลัวของต้อหินก็คือ มันจะไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ ให้คุณทราบล่วงหน้าค่ะ เมื่อคุณรู้ตัวว่าการมองเห็นเปลี่ยนไป คุณอาจสูญเสียบางส่วนที่สำคัญในดวงตาแล้วก็ได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณควรไปตรวจสายตาเป็นประจำ คนที่มีอายุ 18-60 ปี ควรไปเช็กสายตาอย่างน้อยทุก 2 ปี แต่หากมีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป คุณก็ควรไปพบจักษุแพทย์ทุกปี
เพราะดวงตาเป็นอวัยวะที่สำคัญมาก หากการมองเห็นของเราเปลี่ยนไป แน่นอนว่ามันจะส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันได้มากทีเดียว ดังนั้นคุณควรหมั่นไปตรวจสายตา และหากพบความผิดปกติใดๆ คุณก็ควรรีบไปพบแพทย์ค่ะ