พยาธิ หรือปรสิต (Parasite) คือสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในสิ่งมีชีวิตอื่น เช่น คนและสัตว์ เพื่อค่อยแย่งกินอาหารในร่างกาย และหลายๆ ครั้งก็ยังก่อโรคและความผิดปกติในอวัยวะที่มันเข้าไปอยู่ด้วย พยาธิที่ก่อโรคในคนมีทั้งชนิดที่เป็นโปรโตซัว เช่น พวกอะมีบา และเชื้อมาลาเรีย และชนิดปรสิตหนอนพยาธิ ซึ่งก็แบ่งย่อยได้อีกตามลักษณะโครงสร้างร่างกาย ในที่นี้เราจะมาทำความรู้จักกับกลุ่มปรสิตหนอนพยาธิ ว่ามีชนิดไหนบ้าง
พยาธิตัวกลม (Roundworms)
เป็นหนอนพยาธิกลุ่มที่มีลำตัวกลม เรียวยาว ไม่แบ่งเป็นปล้อง ซึ่งพยาธิตัวกลมที่พบบ่อยๆ ในคน ได้แก่
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
- พยาธิไส้เดือน (Ascaris lumbricoides) เป็นพยาธิตัวกลมในคนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด โดยตัวเต็มวัยอาจยาวถึง 1 เมตร สามารถติดต่อได้โดยการกินอาหารและน้ำที่มีไข่พยาธิปนเปื้อน ไข่พยาธิจะฟักเป็นตัวและอาศัยอยู่ในลำไส้เล็ก อาการของโรคพยาธิไส้เดือน คือขาดสารอาหาร โดยเฉพาะในเด็ก จะผอมผิดปกติ ท้องโต และมีอาหารไม่ย่อยจนปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียนบ่อยๆ ถ้ามีพยาธิจำนวนมากอาจทำให้ลำไส้อุดตัน และพยาธิก็อาจไปอุดตันท่อน้ำดีจนมีอาการดีซ่านได้ นอกจากนี้ ตัวอ่อนพยาธิอาจไชไปยังส่วนอื่นๆ เช่น ปอด ทำให้มีอาการแน่นหน้าอก หายใจติดขัด ปอดอักเสบ และพบตัวอ่อนพยาธิในเสมหะได้
- พยาธิเข็มหมุด หรือพยาธิเส้นด้าย (Enterobius vermicularis) เป็นพยาธิขนาดเล็กที่ลำตัวยาวเพียง 2-5 มม. โรคพยาธิเข็มหมุดมักพบในเด็กๆ เนื่องจากการทานไข่พยาธิที่ปนเปื้อนอยู่กับพื้นดินพื้นทราย พยาธิจะฟักจากไข่และเติบโตอยู่ในลำไส้เล็ก และมักไชออกมาจากรูทวารในตอนกลางคืน ทำให้เกิดอาการคัน โดยเฉพาะในเด็กๆ ที่มักเกาจนเกิดบาดแผล นอกจากนี้ ไข่พยาธิก็อาจติดมาตามมือและซอกเล็บ ทำให้เกิดการติดต่อไปสู่คนอื่นๆ ได้ นอกจากอาการคันแล้ว บางครั้งอาจพบอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด มดลูกอักเสบ และต่อมลูกหมากอักเสบได้
- พยาธิปากขอ (Hookworm) เป็นกลุ่มพยาธิที่มีหลายสปีชีส์ ลักษณะเด่นของพยาธิปากขอคือมีช่องปากขนาดเล็ก ซึ่งมีฟันตัด (ventral cutting plate) อยู่ภายใน 1 คู่ พยาธิปากขอสามารถติดต่อสู่คนได้โดยการกินอาหารปนเปื้อนตัวอ่อนพยาธิ หรือตัวอ่อนพยาธิตามพื้นดินไชเข้าทางผิวหนัง และพยาธิตัวแก่จะอาศัยอยู่ในลำไส้เล็ก อาการที่พบบ่อยคือ รู้สึกคัน มีผื่นแดงอักเสบตามผิวหนังส่วนที่พยาธิไชเข้าไป พยาธิในลำไส้อาจทำให้เยื่อบุผนังลำไส้ฉีกขาด เกิดแผล มีเลือดออกในทางเดินอาหาร เกิดอาการปวดท้อง คลื่นไส้ ท้องเสีย และโลหิตจางได้ ซึ่งหากมีพยาธิจำนวนมากอาการก็จะรุนแรงมาก
การรักษาโรคพยาธิตัวกลม วิธีการรักษาทั่วไปคือใช้ยาถ่ายพยาธิ เช่น ทานยา Albendazole 400 มก. ครั้งเดียว หรือทานยา Mebendazole 100 มก. วันละ 2 ครั้ง นาน 3 วัน เป็นต้น
พยาธิใบไม้ (Fluke)
มีลักษณะลำตัวแบนคล้ายใบไม้ และไม่มีช่องว่างภายในลำตัว พยาธิใบไม้มีหลายชนิด ซึ่งมีขนาดลำตัวแตกต่างกันไป และแต่ละชนิดก็อาศัยอยู่ในอวัยวะต่างๆ
- พยาธิใบไม้ลำไส้ (Intestinal flukes) เป็นพยาธิที่ตัวเต็มวัยอาศัยอยู่ในลำไส้เล็ก ชนิดของพยาธิลำไส้ที่พบบ่อย ได้แก่ Fasciolopsis buski ซึ่งเป็นพยาธิใบไม้ในคนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือยาวถึง 20-75 มม. สามารถติดสู่คนได้จากการกินพืชน้ำจำพวก กระจับ แห้ว ผักบุ้งดิบ ที่มีตัวอ่อนพยาธิปนเปื้อนอยู่ อาการที่พบบ่อยคือปวดท้องเป็นครั้งคราว อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ซึ่งอันตรายอาจเกิดขึ้นได้จากภาวะขาดสารอาหาร และมีพยาธิอุดตันในลำไส้
- พยาธิใบไม้เลือด (Blood flukes) เป็นพยาธิที่อาศัยอยู่ในหลอดเลือดดำ สามารถติดสู่คนได้โดยตัวอ่อนพยาธิจะไชเข้าสู่ผิวหนัง และผ่านมายังกระแสเลือด ซึ่งตัวอ่อนพยาธินั้นพบได้ทั่วไปตามแหล่งน้ำจืด อาการจากการติดเชื้อพยาธิมักพบได้ทันทีเมื่อพยาธิไชเข้าสู่ผิวหนัง คือมีผื่นแดงอักเสบ คัน และอาจเป็นแผลติดเชื้อได้ นอกจากนี้ ไข่ของพยาธิที่โดยปกติจะปนออกมากับอุจจาระ อาจไปติดอยู่ตามผนังลำไส้หรือตับ จนเกิดการระคายเคืองได้
- พยาธิใบไม้ตับ (Liver flukes) เป็นโรคพยาธิที่พบบ่อยมากในคนไทย โดยพยาธิใบไม้ตับชนิดที่พบแพร่หลายที่สุด คือ Opisthorchis viverrini ซึ่งติดต่อสู่คนจากการทานปลาตระกูลเกล็ดขาวดิบๆ เช่น ปลาตะเพียน พยาธิตัวเต็มวัยจะไปอาศัยอยู่บริเวณท่อน้ำดีตับ ทำให้เกิดอาการปวดท้องด้านขวาบนคล้ายตับอักเสบ ดีซ่าน ตัวเหลืองตาเหลือง ท้องเสียเรื้อรัง อ่อนเพลีย และบางครั้งคลำพบตับและถุงน้ำดีโตด้วย นอกจากนี้ พยาธิอาจทำให้ท่อน้ำดีอุดตัน และกลายเป็นมะเร็งท่อน้ำดีได้
การรักษาโรคพยาธิใบไม้ การติดเชื้อพยาธิใบไม้ทุกชนิดสามารถรักษาได้โดยการทานยาถ่ายพยาธิ Praziquantel 25 มก. ต่อ กก. วันละ 3 ครั้ง นาน 2 วัน ส่วนภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่เกิดขึ้น จะต้องประเมินและรักษาตามความรุนแรง
พยาธิตัวตืด (Tapeworms)
เป็นหนอนพยาธิตัวแบนที่ลำตัวแบ่งเป็นปล้องๆ คล้ายแถบริบบิ้น ไม่มีช่องว่างในลำตัว ความยาวของพยาธิอาจยาวถึง 2-4 เมตรได้ และพยาธิตัวตืดโตเต็มวัยจะพบในลำไส้ของสัตว์มีกระดูกสันหลัง พยาธิตัวตืดชนิดที่พบบ่อยในคน ได้แก่
- พยาธิตืดวัว (Taenia saginata) ติดสู่คนจากการกินถุงพยาธิในเนื้อวัวดิบ ที่มีตัวอ่อนพยาธิอยู่ภายใน หรือที่เรียกว่า วัวสาคู (Cysticercus bovis) คนที่ติดเชื้อพยาธิตืดวัวส่วนมากมักไม่มีอาการ แต่ถ้าพยาธิมีจำนวนมาก ก็อาจพบอาการปวดท้อง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด คลื่นไส้ อุจจาระบ่อย และมักพบไข่หรือปล้องพยาธิปนออกมากับอุจจาระด้วย นอกจากนี้ บางคนอาจมีอาการแพ้พยาธิจนเกิดผื่นคันตามผิวหนังได้
- พยาธิตืดหมู (Taenia solium) ติดสู่คนทางการกินถุงพยาธิในเนื้อหมูดิบ หรือ หมูสาคู (Cysticercus cellulosae) รวมถึงน้ำดื่มและพืชผักที่มีไข่พยาธิปนเปื้อนด้วย พยาธิตืดหมูเมื่อเข้าสู่ร่างกายคน จะสามารถไชทะลุผนังลำไส้ไปยังอวัยวะต่างๆ และฝังตัวอยู่โดยมีถุงหุ้ม ซึ่งเรียกว่า cyst หาก cyst ไปฝังตัวอยู่ที่อวัยวะใดก็จะทำให้อวัยวะนั้นทำงานผิดปกติไปด้วย เช่น หากไปอยู่ที่สมองและไขสันหลัง ก็จะทำให้มีอาการปวดศีรษะรุนแรง นอกจากนี้ cyst อาจแตกออก ทำให้ตัวอ่อนพยาธิจำนวนมากกระจายเข้าสู่กระแสเลือดอย่างเฉียบพลันจนเกิดภาวะช็อกได้
การรักษาพยาธิตัวตืด ใช้ยาถ่ายพยาธิ ได้แก่ Praziquantel 5-10 มก. ต่อ กก. ทานครั้งเดียว หรือ Niclosamide 2 กรัม ทานครั้งเดียว