กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

อาการปวดหลังส่วนล่าง

เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
อาการปวดหลังส่วนล่าง

อาการปวดเกิดขึ้นจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อลาย สาเหตุของอาการปวดหลังที่แท้จริงยังไม่แน่ชัด แต่คาดว่ามาจากหลายสาเหตุ เช่น ปัจจัยเชิงกล ทำให้เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หรืออาจเกิดจากการมีบาดแผล การอักเสบ ความผิดปกติของระบบเมตาบอลิซึม ซึ่งปัจจัยที่เป็นสาเหตุพบได้บ่อยที่สุดนั้นเกิดขึ้นจากปัจจัยเชิงกล ได้แก่ การอยู่ในท่าทางการยืน นั่ง นอน ที่ผิดปกติ ภาวะโรคอ้วน การแบกของหนัก หรือการทำงานในท่าทางที่ไม่คุ้นชินเป็นเวลานาน อย่างเช่น การก้ม การขุดดิน เป็นระยะเวลานาน หรือการออกกำลังกายที่ผิดวิธี

อาการแสดง ได้แก่ อาการปวด ทั้งแบบปวดตื้อๆและแบบปวดแปลบ รู้สึกตึง อ่อนแรง และอาการแสดงอาจไม่จำกัดอยู่เฉพาะบริเวณหลังส่วนล่างเท่านั้นอาการปวดอาจลามไปถึงบริเวณก้นและขา

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ยาสำหรับบรรเทาอาการปวดหลังส่วนล่าง

ยาที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์สนับสนุนว่าการใช้ยาในกลุ่มต้านการอักเสบ (NSAID) ยาพาราเซตามอล และยาคลายกล้ามเนื้อ (muscle relaxant) มีประสิทธิภาพในการรักษาอาการปวดหลังส่วนล่างแบบเฉียบพลัน

ยาพาราเซตามอล

มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาอาการปวดหลังส่วนล่างระดับน้อยถึงปานกลาง กลไกที่เกี่ยวข้องกับการบรรเทาการปวดยังไม่ทราบชัดเจน ขนาดรับประทานสำหรับบรรเทาอาการปวดหลังส่วนล่างนั้นอยู่ที่ 325 ถึง 650 มิลลิกรัม ทุก 4 ถึง 6 ชั่วโมง และห้ามรับประทานเกิน 4000 มิลลิกรัมใน 1 วัน เนื่องจากยามีพิษต่อตับหากรับประทานเกินหรือต่อเนื่องเป็นเวลานาน สามารถใช้ยาพาราเซตามอลได้ในผู้ป่วยที่มีอาการแพ้แอสไพริน หรือผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด ผู้ที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด หรือผู้ป่วยที่มีโรคในระบบทางเดินอาหารเนื่องจากยาไม่เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร

ยาต้านอักเสบ NSAID

มีกลไกคือยับยั้งเอนไซม์ไซโคลออกซิจิเนส (cyclooxygenase) โดยเอนไซม์นี้เป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนกรดอะราคิโดนิค (arachidonic acid) เป็นพรอสตาแกลนดิน ที่เป็นสารสื่อกลางตอบสนองการอักเสบและความรู้สึกเจ็บปวด ยาในกลุ่มนี้เช่น ยาไอบูโพรเฟน (ibuprofen) ขนาดรับประทานสำหรับยาไอบูโพรเฟน เพื่อบรรเทาอาการปวดหลังส่วนล่าง คือ 200 มิลลิกรัม ทุก 4 ถึง 6 ชั่วโมง ถ้ารับประทาน 200 มิลลิกรัมแล้วอาการปวดหลังยังไม่ทุเลาลง อาจรับประทานเพิ่มเป็นครั้งละ 400 มิลลิกรัม แต่ไม่รับประทานเกินวันละ 1200 มิลลิกรัม และไม่ใช้ยาต่อเนื่องกันเกิน 10 วัน ไม่ใช้ยาในผู้ที่แพ้ยาไอบูโพรเฟน ยาอาจมีผลค้างเคียงคือระคายเคืองกระเพาะอาหารจึงควรรับประทานยาหลังอาหารเพื่อป้องกันผลข้างเคียงดังกล่าว

ยาคลายกล้ามเนื้อ

เป็นยาที่ใช้บรรเทาอาการเจ็บปวดเฉียบพลันจากกล้ามเนื้อลายหดเกร็ง ไม่ใช้ยากลุ่มนี้เป็นยาหลักแต่ใช้เป็นยาเสริมร่วมกับยาตัวอื่นหรือการรักษาด้วยวิธีอื่น ยาคลายกล้ามเนื้อมีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อแบบเฉียบพลันเท่านั้น และใช้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ มีหลักฐานเชิงประจักษ์คุณภาพปานกลางสนับสนุนว่า ยาคลายกล้ามเนื้อในกลุ่มที่ไม่ใช่เบนโซไดอะเซปีน ได้แก่ ไซโคลเบนซาพรีน (cyclobenzaprine) ทิซานิดีน (tizanidine) เมทาซาโลน (metaxalone) มีประโยชน์ในการบรรเทาอาการปวดหลังส่วนล่าง โดยช่วยลดอาการปวดได้ดีที่สุดใน 1 ถึง 14 วันแรก ผลข้างเคียงของยาเช่น ง่วงซึม มึนศีรษะ คลื่นไส้

หากอาการปวดหลังส่วนล่างเฉียบพลันยังอยู่ในระดับรุนแรง อาจมีการใช้ยากลุ่มโอพิออยด์ (opioid) เพื่อระงับอาการปวด แต่หลักฐานสนับสนุกการใช้ยังคงมีอยู่น้อย การรักษาที่ได้ผลจึงอยู่ที่การใช้ยาร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นสำคัญ

การบำบัดนอกเหนือจากการใช้ยา

การนอนพักเป็นระยะเวลานานบนเตียง ไม่มีประโยชน์ในการบรรเทาอาการปวดหลังส่วนล่างแบบเฉียบพลัน การอยู่ในท่าเดิมเป็นระยะเวลานานอาจทำให้อาการปวดหลังส่วนล่างแย่ลง การเคลื่อนไหวร่างกายหรือทำกิจกรรมปกติจะช่วยให้อาการกลับมาดีขึ้นได้ การใช้เข็มขัดซัพพอร์ทรับน้ำหนักมีประโยชน์ในผู้ป่วยแต่ไม่ควรใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานเพราะจะส่งผลต่อความตึงของกล้ามเนื้อ การเรียนรู้วิธีการนั่ง การยืน การนอนที่ถูกตามหลักกายศาสตร์สามารถช่วยป้องกันอาการปวดหลังส่วนล่างได้


17 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Back pain: Causes, symptoms, and treatments. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/172943)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป