มะเขือเปราะ (Thai egg plant)

มะเขือเปราะ ผักไฟเบอร์สูง แคลอรีต่ำ ทำอาหารได้หลากหลาย และมีประโยชน์ทางยา
เผยแพร่ครั้งแรก 16 ธ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
มะเขือเปราะ (Thai egg plant)

มะเขือเปราะ ที่ขายในท้องตลาดส่วนใหญ่เป็นพันธุ์เจ้าพระยา ผลของมะเขือเปราะสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น แกงป่า แกงเขียวหวาน ผัดเผ็ด และยังใช้รับประทานสดคู่กับน้ำพริก นอกจากจะช่วยให้อาหารดูน่ารับประทานและปรับรสอาหารให้กลมกล่อมแล้ว มะเขือเปราะยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลากหลายชนิดที่จำเป็นต่อร่างกาย

มะเขือเปราะมีหน้าตาและรสชาติเป็นอย่างไร?

มะเขือเปราะเป็นไม้ต้นเตี้ยขนาดเล็ก มีถิ่นกำเนิดจากประเทศอินเดีย มีความนิยมใช้มะเขือเปราะอย่างแพร่หลายในวงการแพทย์อายุรเวท ดอกมะเขือชนิดนี้มีสีม่วงหรือสีขาว ลักษณะผลอ่อนคือมีสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นเหลือง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ยุค New Normal สุขภาพ เป็นสิ่งที่ทุกคนใส่ใจมากยิ่งขึ้น

ถ้าเริ่มมีอาการเจ็บคอ คันคอ ระคายคอ หรือมีเสมหะ เหนียวคอ มาดู 5 วิธี บรรเทาง่ายๆ ได้ผล อย่ารอให้เป็นหนัก

นอกจากนี้มะเขือเปราะผลอ่อนอาจมีสีม่วง สีขาว ก็ได้ แล้วแต่สายพันธุ์ ผิวของผลมีลักษณะเรียบ มีลายริ้วสีขาวผสมอยู่

เนื้อผลสดจะแน่น กรอบ มีรสหวานปนขมเล็กน้อย หากนำไปต้มเนื้อจะนุ่มและมีรสชาติหวานขึ้นเล็กน้อย

ประโยชน์ทางยาของมะเขือเปราะ

ส่วนต่างๆ ของมะเขือเปราะเพื่อประโยชน์ทางยา ดังนี้

  • ผลสด ใช้เป็นยารักษาโรคได้หลายชนิด เช่น ยาลดไข้ ยาต้านการอักเสบ ยารักษาความดันโลหิตต่ำ ต้านการเกิดเนื้องอกและโรคมะเร็ง ยาระงับการเกร็งของกล้ามเนื้อ ยาแก้หอบหืด รวมถึงช่วยขับเสมหะ

    นอกจากนี้มีรายงานว่าสามารถลดการหลั่งสารฮีสตามีน (Histamine หรือสารก่อภูมิแพ้) จากปอดได้
  • น้ำต้มจากผลมะเขือเปราะ ใช้ดื่มแก้ไอ เจ็บคอ รักษาโรคไขข้อและโรคเบาหวาน
  • ผลตากแห้งแล้วนำมาบดเป็นผงผสมน้ำผึ้ง บรรเทาอาการไอและรักษาโรคหัวใจ
  • ลำต้น ดอก และผล นำมาตำ ใช้พอกแก้อาการปวดแสบปวดร้อน ตุ่มผื่น บริเวณเท้าหรือบริเวณที่มีอาการบวมได้ หรือต้มดื่มก็ได้เช่นกัน มีสรรพคุณช่วยขับลมและพยาธิ
  • รากหรือเม็ด นำมาต้มในน้ำ ผสมเกลือเล็กน้อย ใช้ดื่มต้านการอักเสบ บรรเทาอาการปวดฟัน แก้อาการไอ ขับเสมหะ หอบหืด รักษาโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ปอดบวม บรรเทาอาการเจ็บหน้าอก
  • ทั้งต้น นำมาต้มดื่ม มีฤทธิ์ต้านการเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงอย่างเฉียบพลัน ออกฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเพศชาย (Antiandrogenic activities) ลดการสร้างตัวอสุจิ (Anti spermatogenic activity) และลดคอเลสเตอรอล
  • ใบมะเขือผสมพริกไทยดำ นำมาต้มน้ำดื่ม ช่วยบรรเทาอาการรูห์มาติกหรือโรคที่เกี่ยวกับข้อต่อได้

นอกจากนี้มีการศึกษาทางคลินิกพบว่า เมื่อรับประทานผงยาจากต้นมะเขือเปราะขนาด 300 มิลลิกรัม โดยรับประทาน 3 ครั้งต่อวัน เป็นระยะเวลา 3 วัน จะมีประสิทธิภาพในการควบคุมและลดความรุนแรงของโรคหอบหืดได้ในระดับปานกลาง มีฤทธิ์เทียบเท่ากับการใช้ยาเดอริฟีลิน (Deriphyllin) ซึ่งเป็นยากลุ่มรักษาโรคหอบหืดขนาด 200 มิลลิกรัม

อีกทั้งการแพทย์พื้นบ้านประเทศอินเดียยังนิยมใช้มะเขือเปราะในการรักษาโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ สอดคล้องกับข้อมูลจากการทดลองในห้องปฏิบัติการ โดยใช้สารสกัดจากมะเขือเปราะพบว่า มีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ เช่น เชื้ออีโคไล (E. coli) และ เชื้อเคลบซีเอลลา (Klebsiella) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในทางเดินปัสสาวะและระบบขับถ่าย

การรับประทานมะเขือเปราะเป็นประจำ จะช่วยลดระดับคอลเรสเตอรอลในเส้นเลือด เพิ่มไขมันชนิด HLD ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและโรคเส้นเลือดในสมองอุดตันได้ (Stroke)

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ไม่เพียงเท่านั้น มะเขือเปราะยังส่งเสริมการทำงานของตับอ่อน ช่วยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีสรรพคุณคล้ายฮอร์โมนอินซูลินในร่างกาย ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายใช้น้ำตาลกลูโคสเป็นพลังงาน จึงมีคุณสมบัติที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีเทียบเท่ากับการใช้ยาแผนปัจจุบันกลุ่มไกลเบนคลามายด์ (Glibenclamide) และยังไม่มีรายงานความเป็นพิษในสัตว์ทดลอง

การใช้มะเขือเปราะในแพทย์แผนไทยพื้นบ้าน

สำหรับแพทย์แผนไทยพื้นบ้าน ได้ใช้มะเขือเปราะเพื่อส่งเสริมและแก้ปัญหาสุขภาพ ดังนี้

  • รากมะเขือเปราะ นำมาต้มน้ำดื่ม บรรเทาอาการระคายเคืองคอ ลดอาการไอ ใช้เป็นยาแก้หอบหืด แก้หลอดลมอักเสบและยาขับปัสสาวะได้
  • ใบมะเขือเปราะ ต้มดื่ม แก้อาการร้อนใน กระหายน้ำ ต้มอาบ แก้ผดผื่น อาการคันที่ผิวหนัง หรือนำมาตำพอก ช่วยรักษาแผลและห้ามเลือด
  • ผลมะเขือเปราะสด มีฤทธิ์เย็น ช่วยบรรเทาอาการไข้ เมื่อรับประทานเป็นประจำมีฤทธิ์ช่วยบำรุงหัวใจ ใช้เป็นยาขับพยาธิ ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ช่วยในการย่อยอาหารและกระตุ้นการขับถ่าย

คุณค่าทางโภชนาการของมะเขือเปราะ

ในมะเขือเปราะมีสารอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ ดังต่อไปนี้

  • เนื้อของมะเขือเปราะมีไฟเบอร์ปริมาณมาก จึงช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น แก้อาการท้องผูก ลดการเกิดโรคริดสีดวงทวาร นอกจากนี้ยังช่วยขับสารพิษที่ตกค้างจากการย่อยอาหารในลำไส้ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้กากใยอาหารยังช่วยควบคุมการหลั่งอินซูลินและกลูโคสให้ซึมเข้ากระแสเลือดช้าๆ เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวานและผู้ที่ควบคุมระดับน้ำตาล
  • เนื้อมะเขือเปราะ 100 กรัม มีวิตามินซีประมาณ 24 มิลลิกรัม และวิตามินเอ 90 กรัม มีส่วนช่วยในการต้านอนุมูลอิสระ ลดความความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย และยังช่วยให้ผิวพรรณ เล็บ และเส้นผม มีสุขภาพดีอีกด้วย
  • มะเขือเปราะมีธาตุเหล็ก แคลเซียม และโพสแทสเซีม ช่วยเสริมส้รางกระดูกและฟันให้แข็งแรง หากรับประทานเป็นประจำจะช่วยลดภาวะกระดูกพรุนและกระดูกเสื่อม บำรุงเม็ดเลือดแดง ช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง มีส่วนช่วยในการควบคุมสมดุลของความดันโลหิต ลดความดันโลหิตในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ส่งเสริมการทำงานและการเต้นของหัวใจ

มะเขือเปราะช่วยลดความอ้วนได้ไหม?

การรับประทานมะเขือเปราะอาจช่วยควบคุมน้ำหนักได้ เพราะเป็นผักที่มีแคลอรีต่ำ (39 แคลอรี/100 กรัม) กากใยสูง จึงช่วยให้อิ่มท้องนาน

วิธีบริโภคมะเขือเปราะเพื่อสุขภาพ

สามารถรับประทานทั้งสุกและดิบ หากรับประทานแบบสุก น้ำที่ต้มมะเขือเปราะก็ยังนำมารับประทานได้ด้วย และส่วนใหญ่สารอาหารจะอยู่ในน้ำต้มค่อนข้างเยอะ

อย่างไรก็ตาม ในมะเขือเปราะมีสารโซลานีน (Solanine) ซึ่งหากรับประทานมากเกินไป สารนี้อาจตกค้างบริเวณข้อต่างๆในร่างกาย ทำให้มีอาการปวดและเป็นตะคริวได้ นอกจากนี้สารดังกล่าวสามารถทำให้เกิดอาการในระบบทางเดินอาหารและระบบประสาทได้ เช่น อาการเวียนศรีษะ มึนงง หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
สุธาทิพ ภมรประวัติ, มะเขือเปราะลดน้ำตาลในเลือด (https://www.doctor.or.th/article/detail/5704), 1 กรกฎาคม 2551.
ราชันย์ ภู่มา และ สมราน สุดดี, ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557, มะเขือเปราะ (http://biodiversity.crru.ac.th/public/bio2018/File%20PDF.pdf), 2557.
Shintre, Sayali & Ashok, Ramteke & Phadke, Manju & Parab, Vivek, Preliminary Antimicrobial Study of Kantakari (Solanum Xanthocarpum Schrad & Wendl) by Ditch Plate Technique (https://www.researchgate.net/publication/335320083_Preliminary_Antimicrobial_Study_of_Kantakari_Solanum_Xanthocarpum_Schrad_Wendl_by_Ditch_Plate_Technique), August 2019.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)