“คุณหมอลูกเป็ด”
เขียนโดย
“คุณหมอลูกเป็ด”
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

รวมโรคผิวหนังที่ควรระวังในหน้าฝน

เตรียมตัวป้องกันและระวังโรคผิวหนังที่เกิดได้บ่อยในช่วงฤดูฝน พร้อมวิธีสังเกตลักษณะอาการเบื้องต้น
เผยแพร่ครั้งแรก 16 มิ.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 5 ส.ค. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 12 มิ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
รวมโรคผิวหนังที่ควรระวังในหน้าฝน

ช่วงนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทยแล้ว ซึ่งสภาพอากาศตอนกลางวันอาจจะร้อน พอถึงตอนเย็นฝนก็ตกหนัก บางคนต้องตากหรือลุยฝน ปัญหาความอับชื้นจากทั้งเสื้อผ้าและอากาศ รวมถึงอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงสามารถ ทำให้เกิดโรคทางผิวหนังได้มากมายที่ตามมากับหน้าฝนในเขตร้อนชื้อ ดังนี้

1. โรคกลาก (Dermatophyte infection) 

โรคกลาก เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อรา ซึ่งประกอบด้วย Microsporum spp., Trichophyton spp. และ Epidermophyton spp. เชื้อดังกล่าวสามารถติดต่อจากคนสู่คน จากสัตว์สู่คน เช่น สุนัขหรือแมว หรือจากสิ่งแวดล้อม เช่น ดิน สู่คนได้โดยผ่านทางการสัมผัสเชื้อโดยตรง โดยส่วนใหญ่เชื้อรามักชอบสิ่งแวดล้อมร้อนชื้น จึงทำให้เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่เขตมรสุม โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน เชื้อราที่ทำให้เกิดโรคกลากสามารถติดได้ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ตัวหรือแขนขา (Tinea corporis) ศีรษะ (Tinea capitis) เล็บ (Tinea unguium) เท้า (Tinea pedis) มือ (Tinea manuum) ง่ามขา (Tinea cruris) และหน้า (Tinea faciei) โดยเชื้อกลากที่ก่อโรคบริเวณผิวหนังจะมีรอยโรคเป็นวง ขอบวงแดงมีลักษณะอักเสบ ตรงกลางวงมีสีแดงหรืออาจสีคล้ายผิวหนังปกติ มีขุยสีขาวเล็กๆ กระจายทั่วผืนของรอยโรค มีอาการคัน หากปล่อยทิ้งไว้หรือได้รับการรักษาล่าช้า ผื่นดังกล่าวจะขยายตัวออกและอักเสบยิ่งขึ้น หากเชื้อกลากก่อโรคบริเวณศีรษะสามารถมาได้หลายรูปแบบ เช่น เป็นผื่นวงคล้ายที่ผิวหนัง เป็นผื่นแดงคันมีขุยสีขาว หรือแม้แต่มีลักษณะคล้ายก้อนนูนอักเสบมีหนอง โดยเชื้อกลากบริเวณศีรษะมักพบร่วมกับผมร่วงและผมหัก และมักพบในเด็กเป็นส่วนใหญ่ ส่วนเชื้อกลากที่ก่อโรคบริเวณเล็บสามารถมาได้หลายรูปแบบเช่นกัน โดยมักพบแผ่นเล็บหนาขึ้น มีการเสียรูป ผิวเล็บด้านบนมีลักษณะขรุขระหรือเป็นขุยขาว ซึ่งขึ้นอยู่กับตัวเชื้อก่อโรคและลักษณะการติดโรค โดยทั่วไปเชื้อกลากสามารถตรวจพบด้วยขูดผิวหนังที่มีรอยโรคและย้อมเชื้อทางห้องปฏิบัติการ อย่างไรก็ตาม โรคกลากในบางตำแหน่งมีความจำเป็นต้องส่งเพาะเชื้อเพื่อใช้ในการวางแผนการรักษาต่อไป

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

2. โรคหิด (Scabies) 

โรคหิดเป็นโรคผิวหนังอีกโรคที่สามารถพบได้ตลอดทั้งปี แต่พบได้บ่อยมากขึ้นในช่วงฤดูฝน โรคนี้เกิดจากเชื้อปรสิต Sarcoptes scabiei var. hominis ที่อาศัยอยู่บริเวณชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) ซึ่งเป็นส่วนบนสุดของผิวหนัง โรคดังกล่าวสามารถติดต่อค่อนข้างง่ายจากคนสู่คน ผ่านทางการสัมผัส หรือจากสิ่งของที่มีเชื้ออยู่สู่คน จากการสัมผัสเช่นกัน เช่น การใช้เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว หรือผ้าห่มของผู้ที่มีเชื้อหิด เป็นต้น โดยทั่วไปผื่นโรคหิตมักมีลักษณะเป็นตุ่มแดง มีขุย สามารถพบผื่นได้ทั้งตัว แต่จะมีปริมาณมากบริเวณซอกนิ้วมือนิ้วเท้า รักแร้ ขาหนีบ ซอกคอ หรือข้อพับ ในเด็กเล็กผื่นสามารถลุกลามไปยังบริเวณใบหน้าและศีรษะ ซึ่งเป็นบริเวณที่พบได้น้อยกว่าในผู้ใหญ่ ผู้ป่วยจะมีอาการคันมาก โดยเฉพาะในเวลากลางคืน มักพบสมาชิกที่อาศัยในบ้านเดียวกันมีอาการและผื่นลักษณะเดียวกัน โดยทั่วไปตัวหิด ไข่ และอุจจาระ สามารถตรวจพบด้วยการขูดผิวหนังที่มีรอยโรคและย้อมสีทางห้องปฏิบัติการ

3. โรคเกลื้อน (Pityriasis versicolor หรือ Tinea versicolor) 

เกลื้อนเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งแตกต่างจากโรคกลากที่กล่าวไปในข้างต้น เชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคคือ Malassezia spp. โดยเฉพาะ Malassezia furfur เชื้อดังกล่าวสามารถติดต่อจากคนสู่คนโดยผ่านทางการสัมผัสเชื้อโดยตรง โดยส่วนใหญ่เชื้อรามักชอบสิ่งแวดล้อมร้อนชื้น จึงทำให้เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่เขตมรสุมโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ผื่นของโรคเกลื้อนมีลักษณะเป็นวง ขอบเขตชัดเจน มีได้หลายสี เช่น ขาว หรือน้ำตาล เป็นต้น พบว่าโดยส่วนใหญ่ผื่นในคนไทยมักเป็นสีขาว มีขุย มีอาการคันได้ มักอยู่ตามบริเวณที่มีต่อมไขมันจำนวนมาก เช่น หน้า โดยเฉพาะหน้าผาก คอ หน้าอก หลังส่วนบน และศีรษะ มักไม่ทำให้ผมร่วงหรือหักเหมือนโรคกลาก โดยมากมักพบในวัยรุ่น นักกีฬา หรือผู้ที่มีเหงื่อออกมาก โดยทั่วไปเชื้อเกลื้อนสามารถตรวจพบด้วยการขูดผิวหนังที่มีรอยโรคและย้อมเชื้อทางห้องปฏิบัติการ เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำมากขึ้น

4. ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) 

เป็นโรคที่มักจะมีอาการมากขึ้นหากอุณหภูมิและความชื้นของอากาศเปลี่ยนแปลงไป โดยทั่วไปผื่นภูมิแพ้ผิวหนังสามารถแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่ ลักษณะที่หนึ่ง เป็นผื่นปื้นแดงมีตุ่มน้ำใสขนาดเล็กหรือมีน้ำเหลืองบริเวณแผล ลักษณะที่สอง เมื่อแผลแห้งลงจะมีตุ่มแดงเพิ่มและมีขุยมากขึ้น มีอาการคัน หากผู้ป่วยเกามากผื่นดังกล่าวจะหนาตัวและเห็นเส้นลายผิวหนังชัดมากขึ้น กลายเป็นลักษณะที่สามของผื่น โดยผื่นดังกล่าวจะมีอาการในลักษณะเดียวหรือหลายลักษณะรวมกันก็ได้ หากเป็นในเด็กเล็กมักมีผื่นบริเวณแก้ม ข้อศอก หรือข้อเข่า หากเป็นในเด็กโตหรือผู้ใหญ่มักเป็นบริเวณข้อพับแขนหรือขา หากมีแผลถลอกจากการเกาสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือเชื้อไวรัสแทรกซ้อนได้ การใช้สารให้ความชุ่มชื้นในปริมาณที่เหมาะสมและการดูแลผิวหนังอย่างถูกต้องสามารถลดความรุนแรงของภาวะดังกล่าว

5. ผื่นแพ้ (Eczema) 

เป็นโรคที่สามารถเกิดได้ทั้งจากปัจจัยภายในร่างกายและปัจจัยภายนอกร่างกายจากสิ่งแวดล้อม โดยลักษณะผื่นเป็นได้ทั้งปื้นแดงมีตุ่มน้ำใสขนาดเล็ก หรือมีน้ำเหลืองบริเวณแผล หรือมีตุ่มแดงขนาดเล็กรวมกันเป็นปื้นใหญ่ขึ้นและมีขุยมากขึ้น มีอาการคัน หากผู้ป่วยเกามาก ผื่นดังกล่าวจะหนาขึ้นและเห็นเส้นลายผิวหนังชัดมากขึ้น หากผื่นลักษณะเป็นวงกลมขึ้นซ้ำในตำแหน่งที่เคยมีผื่นมาก่อน โดยเฉพาะบริเวณแขนขา เรียกว่า “Nummular eczema” หากเป็นตุ่มน้ำใสอยู่ค่อนข้างลึกบริเวณด้านข้างของนิ้วมือนิ้วเท้า คันมาก เป็นๆ หายๆ  เรียกว่า “Dyshidrotic eczema” ทั้งนี้ หากมีแผลถลอกจากการเกาสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือเชื้อไวรัสแทรกซ้อนได้

6. รูขุมขนอักเสบ (Folliculitis) 

โรครูขุมขนอักเสบ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการอุดตันของรูขุมขน การเสียดสิวของผิวหนังกับเสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป หรือการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา จนเท่าให้เกิดการอักเสบขึ้น เมื่อมีความชื้นหรืออุณหภูมิในอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้การขับสารคัดหลั่งของรูขุมขนทำงานเปลี่ยนไปด้วย จึงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้รูขุมขนอุดตันจนเกิดการอักเสบได้ง่ายขึ้น ผื่นจากรูขุมขนอักเสบสามารถสังเกตได้จากการเห็นรูขุมขนบวมแดงขึ้น มีอาการเจ็บ หากมีอาการรุนแรงมากอาจเห็นเป็นตุ่มหนองที่รูขุมขน โดยทั่วไปหากอาการไม่รุนแรงสามารถหายเองได้ แต่หากมีปัจจัยกระตุ้นต่อเนื่องและมีการติดเชื้อแทรกซ้อน อาจทำให้การอักเสบและการติดเชื้อลุกลามจนกลายเป็นฝีได้

7. ผดร้อน (Miliaria) 

ผดร้อนเป็นโรคที่เกิดจากต่อมเหงื่อไม่สามารถระบายเหงื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะช่วงอากาศอบอ้าวและมีความชื้นสัมพัทธ์สูง เช่น ฤดูฝน ผดร้อนมักพบในทารก เด็กเล็ก คนอ้วน หรือนักกีฬาที่มีเหงื่อออกค่อนข้างมากตลอดทั้งวัน โดยผื่นมีได้หลายลักษณะ เช่น เป็นตุ่มน้ำใสขนาดเล็ก เป็นตุ่มแดงนูน หรือเป็นตุ่มหนอง มักพบบ่อยในบริเวณที่มีต่อมเหงื่อจำนวนมาก ได้แก่ หน้า โดยเฉพาะบริเวณหน้าผาก หนังศีรษะ ไรผม ซอกคอ หน้าอก หรือหลังส่วนบน เป็นต้น โดยส่วนใหญ่ผื่นมักหายได้เองเมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เย็น การอาบน้ำช่วยบรรเทาอาการของผื่นได้

8. ผื่นจากการติดเชื้อไวรัส (Viral exanthem) 

ผื่นดังกล่าวสามารถเจอได้ในการติดเชื้อไวรัสหลายชนิด ซึ่งพบได้บ่อยในการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ หรือการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินอาหาร ผู้ป่วยมักมีอาการไข้ ไอ น้ำมูก มีเสมหะ อาเจียน ถ่ายเหลว หรือปวดท้อง ก่อน หลัง หรือพร้อมกับผื่นตามตัว โดยผื่นมีลักษณะเป็นปื้นแดง ขอบเขตไม่ชัด กระจายทั่วทั้งตัว หลังจากการติดเชื้อไวรัสหายไป ผื่นจะค่อยๆ ดีขึ้น โดยทั่วไปการรักษาคือการดูแลผิวอย่างถูกต้องและเหมาะสม

โดยสรุป มีโรคผิวหนังมากมายที่มาพร้อมกับฤดูฝน ทั้งผื่นแพ้ ผื่นติดเชื้อ และผื่นที่เกิดจากการอักเสบ ซึ่งที่กล่าวมาในข้างต้นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่พบได้บ่อยเท่านั้น อย่างไรก็ตามการดูแลผิวที่ถูกต้องเหมาะสมสามารถช่วยลดปัจจัยเสี่ยงและป้องกันโรคทางผิวหนังที่มาพร้อมกับหน้ามรสุมได้


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Brito LAR, Nascimento A, Marque C, Miot HA. Seasonality of the hospitalizations at a dermatologic ward (2007-2017). An Bras Dermatol. 2018;93:755-758.
Wootton CI, Bell S, Philavanh A, et al. Assessing skin disease and associated health-related quality of life in a rural Lao community. BMC Dermatol. 2018;18:11.
Banerjee S, Gangopadhyay DN, Jana S, Chanda M. Seasonal variation in pediatric dermatoses. Indian J Dermatol. 2010;55:44-46.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)