หนึ่งในปัญหาผิวที่พบได้มากที่สุดก็คือ "สิว" โดยพบได้ทั้งในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ แต่ในบางครั้งตุ่มสีแดงที่คุณเห็นบนผิวนั้นอาจไม่ใช่สิวก็ได้ค่ะ ซึ่งความจริงแล้วมีปัญหาผิวอื่นๆ เช่นกันที่มีลักษณะคล้ายสิวจนทำให้หลายคนสับสน แต่จะมีอะไรบ้างนั้น เราลองมาดูพร้อมกันเลยดีกว่า
1.โรซาเซีย
โรซาเซียเป็นโรคที่เกี่ยวกับการอักเสบและเกิดขึ้นเรื้อรัง ซึ่งหลายคนมักเข้าใจผิดว่ามันคือสิว ทั้งนี้ตัวการที่กระตุ้นให้เกิดโรคโรซาเซีย เช่น อาหารเผ็ด คาเฟอีน แอลกอฮอล์ ฯลฯ สำหรับวิธีการรักษานั้นมักใช้วิธีผสมผสานระหว่างการปรับเปลี่ยนอาหารและไลฟ์สไตล์กับการใช้ยาทาตามที่แพทย์สั่งและเปลี่ยนไปใช้สกินแคร์สูตรที่ไม่ทำให้ระคายเคือง
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
2.รูขุมขนอักเสบ
เมื่อรูขุมขนอักเสบ มันก็จะทำให้เกิดภาวะ Folloculitis ซึ่งผู้ป่วยจะมีตุ่มสีแดงและมีขนาดเล็กที่ผิว โดยอาจพบหนองได้ภายในตุ่ม นอกจากนี้มันยังทำให้เรารู้สึกคันหรือเจ็บ หรือทำให้เกิดแผลในกรณีที่ร้ายแรง เราสามารถพบรูขุมขนอักเสบได้ทุกที่บนร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณที่มีการเสียดสีอย่างสะโพก ก้น คอ และรักแร้ หากรูขุมขนอักเสบในระดับเบา วิธีรักษาคือ การใช้เบนซอยเปอร์ออกไซด์ และคลีนเซอร์ที่มีกรดซาลิซิลิกเป็นหลัก แต่หากอาการรุนแรง คุณอาจต้องทานยาปฏิชีวนะ
3.โรค Keratosis pilaris
โรค Keratosis pilaris เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่ทำให้ผู้ป่วยมีตุ่มที่ขรุขระ โดยเป็นได้ทั้งตุ่มสีแดง สีขาว หรือสีเดียวกับผิว และมักพบได้ในแขนส่วนบนและขา ซึ่งผิวสัมผัสของมันจะมีความคล้ายกับกระดาษทราย อย่างไรก็ดี ตุ่มเล็กๆ เหล่านี้เกิดจากการมีเคราตินปริมาณผิดปกติอุดตันอยู่ในรูขุมขน แม้ว่าไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง แต่มันก็สามารถทำให้รู้สึกคันและทำให้ผิวแห้ง ทั้งนี้การใช้มอยส์เจอไรเซอร์สามารถช่วยบรรเทาอาการได้ หรือคุณอาจใช้เรตินอยด์ชนิดทาและครีมที่มีกรดซาลิซิลิกและกรด แลคติก ซึ่งช่วยกำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว และป้องกันไม่ให้รูขุมขนอุดตัน
4.โรคเพอริออรัล เดอร์มาไทติส (Perioral dermatitis)
การเป็นโรคเพอริออรัล เดอร์มาไทติส หรือโรคพีโอดี ทำให้ผู้ป่วยมีผื่นที่เกิดจากการอักเสบบนใบหน้า และมักพบบริเวณปาก ทั้งนี้สาเหตุทั่วไปที่ทำให้เกิดโรคคือ การใช้สเตียรอยด์ชนิดทา แต่มันก็สามารถเกิดจากฟลูออไรด์ในยาสีฟัน สำหรับวิธีรักษาคือ การหยุดใช้สเตียรอยด์แบบทา ครีมเนื้อหนัก และยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ แต่ให้เลือกใช้เป็นคลีนเซอร์ที่มีเนื้อเบาและไม่ทำให้เกิดการระคายเคือง และโลชั่นชนิดที่ไม่ทำให้เกิดสิว นอกจากนี้การใช้ยาปฏิชีวนะก็เป็นวิธีรักษาที่มีประสิทธิผลเช่นกัน
5.ต่อมไขมัน
ต่อมไขมันเป็นภาวะทางพันธุกรรม ซึ่งมีลักษณะเป็นตุ่มสีเดียวกับเนื้อและมีรูปทรงเหมือนโดนัท โดยพบได้บนหน้าผาก แก้ม จมูก และคาง อย่างไรก็ดี ความจริงแล้วตุ่มเหล่านี้คือต่อมไขมันที่มีขนาดใหญ่ หรือเป็นเนื้องอกที่ไม่ทำให้เกิดอันตราย แต่บางคนก็อาจต้องการกำจัดออกไปเพื่อความสวยงาม โดยใช้วิธี Electrodessication หรือการใช้ไฟฟ้าจี้
6.ขนคุด
ขนคุดคือ ขนที่ไม่โผล่ขึ้นมาบนผิวหนังตามปกติ ทำให้ผิวเป็นตุ่ม และดูคล้ายกับสิว ซึ่งเป็นได้ทั้งตุ่มสีขาว ตุ่มสีแดง หรือซีสต์ที่อยู่ใต้ผิว โดยพบได้มากรอบๆ โซนบิกินีและใต้วงแขน นอกจากนี้ผู้ชายมักมีขนคุดบริเวณคาง แก้ม และคอส่วนบน อย่างไรก็ตาม คุณควรหลีกเลี่ยงการบีบตุ่มดังกล่าว เพราะมันจะยิ่งทำให้สภาพแย่ลง โดยมากแล้วขนคุดจะหายไปเอง แต่หากมันไม่หายหรือเกิดการติดเชื้อ การไปพบแพทย์ผิวหนังก็เป็นทางเลือกที่ดี ซึ่งแพทย์อาจให้ครีมที่มีส่วนผสมของกรดซาลิซิลิก คลีนเซอร์ เรตินอล ฯลฯ
7.โรคมะเร็งผิวหนังชนิดเบซาลเซลล์
โรคมะเร็งผิวหนังชนิดเบซาลเซลล์เป็นมะเร็งผิวหนังชนิดหนึ่งที่เติบโตอย่างช้าๆ ซึ่งมีที่มาจากฐานของชั้น Epidermis และมักเกิดจากการสัมผัสกับรังสียูวีมากเกินไป อย่างไรก็ดี เบซาลเซลล์เป็นตุ่มสีใสและแวววาวหรือเป็นตุ่มสีชมพูที่มีเส้นเลือดเล็กๆ ภายใน และมักทำให้เราเข้าใจผิดว่ามันคือ สิวซีสต์ ซึ่งมันต่างจากสิวตรงที่มักมีวงจรการไหลของเลือด เมื่อตุ่มเกือบหายดีแล้ว เลือดก็จะไหลออกมาอีกครั้ง ดังนั้นหากคุณพบตุ่มที่ไม่หายหลังจากผ่านไป 1-2 เดือน คุณก็ควรไปให้แพทย์ผิวหนังประเมินอาการ สำหรับการรักษาประกอบไปด้วยการฉายแสง การผ่าตัด และ Tissue Scraping
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คุณจะเห็นได้ว่ามีหลายปัญหาผิวที่ทำให้เราเข้าใจว่ามันคือสิว ซึ่งในบางครั้งมันอาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งผิวหนัง ดังนั้นหากคุณพบความผิดปกติของผิวที่ใบหน้าหรือตามร่างกาย คุณก็ควรไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อที่จะได้รู้สาเหตุที่แน่ชัดและหาวิธีรักษาที่เหมาะสมกับคุณมากที่สุด