อาการปวดไหล่

รู้จักอาการปวดไหล่เกิดจากอะไร ทั้งแบบปวดด้านนอก ปวดด้านหน้า ปวดด้านบน และปวดทั่วหัวไหล่ เมื่อไรที่ควรไปพบแพทย์ การรักษาอาการปวดไหล่ ทั้งการดูแลตัวเอง ยา และการผ่าตัดที่นี่
เผยแพร่ครั้งแรก 10 พ.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 8 นาที
อาการปวดไหล่

อาการปวดไหล่เกิดจากอะไร?  

หัวไหล่เป็นข้อต่อที่มีความยืดหยุ่นมากที่สุดในร่างกาย และมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเรามากมาย โดยเป็นอวัยวะที่ช่วยให้เราสามารถหวีผมไปจนถึงช่วยให้เราเอื้อมหยิบสิ่งของบนตู้ ทั้งนี้หัวไหล่ประกอบไปด้วยกระดูกสามส่วน ได้แก่ กระดูกต้นแขน (Humerus) กระดูกสะบัก (Scapula) และกระดูกไหปลาร้า (Clavicle)

กระดูกต้นแขนซึ่งมีรูปทรงเหมือนกับลูกบอลจะยึดอยู่กับกระดูกสะบักโดยเส้นเอ็น การที่คุณยกหรือหมุนแขนได้ ก็เพราะกล้ามเนื้อที่เรียกว่า Rotator Cuff ซึ่งประกอบไปด้วยเอ็น 4 เส้น ทั้งนี้เอ็นเป็นเนื้อเยื่อที่เชื่อมต่อกล้ามเนื้อ หากเอ็นหรือกระดูกรอบๆ Rotator Cuff เสียหายหรือบวม มันก็อาจทำให้คุณรู้สึกเจ็บหรือยกแขนเหนือศีรษะได้ยากลำบาก

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

อย่างไรก็ดี การทำงานที่ต้องใช้แรง การเล่นกีฬา หรือแม้แต่การเคลื่อนไหวแบบซ้ำๆ นั้นสามารถทำให้หัวไหล่บาดเจ็บ นอกจากนี้การเป็นโรคบางชนิดก็สามารถทำให้คุณรู้สึกเจ็บหัวไหล่เช่นกัน เช่น โรคที่เกี่ยวกับกระดูกสันหลังช่วงคอ โรคตับ โรคหัวใจ หรือโรคถุงน้ำดี

หัวไหล่ของคุณมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาเมื่อคุณอายุมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่คุณมีอายุ 60 ปี ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าเนื้อเยื่ออ่อนรอบๆ หัวไหล่มีแนวโน้มที่จะเสื่อมตามวัย

สาเหตุของอาการปวดไหล่

เนื่องจากหัวไหล่เป็นอวัยวะที่ซับซ้อน จึงมีหลายสาเหตุที่เป็นไปได้ที่ทำให้คุณปวดไหล่ ซึ่งการหาว่าส่วนใดของหัวไหล่ที่บาดเจ็บจะช่วยให้คุณเข้าใจสาเหตุที่ทำให้คุณมีอาการเจ็บหัวไหล่ได้ดีที่สุด

อาการปวดด้านนอกของหัวไหล่

สาเหตุที่ทำให้เราปวดไหล่ด้านนอกที่พบได้บ่อยที่สุดคือ เอ็นข้อไหล่มีปัญหา (Rotator Cuff Problem)

  1. เอ็นข้อไหล่มีปัญหา (Rotator Cuff Problem)
    มีกล้ามเนื้อข้อไหล่ 4 ชนิดที่สำคัญต่อการเคลื่อนไหวหัวไหล่ กล้ามเนื้อเหล่านี้ไม่ได้เป็นกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการยกสิ่งของที่หนัก แต่มันมีส่วนสำคัญในการช่วยให้หัวไหล่เคลื่อนไหวได้เป็นปกติ อย่างไรก็ตาม ปัญหาเอ็นข้อไหล่ที่สำคัญมี 3 ประเภท ได้แก่ เอ็นอักเสบ (Tendonitis) ถุงน้ำป้องกันการเสียดสีอักเสบ (Bursitis) และเอ็นข้อไหล่ฉีก (Rotator Cuff Tear)

    เอ็นอักเสบ หรือถุงน้ำป้องกันการเสียดสีอักเสบเกิดจากการอักเสบ ในขณะที่เอ็นข้อไหล่ฉีกเกิดจากการที่เอ็นของข้อไหล่แยกออกจากกระดูก หากเอ็นข้อไหล่มีปัญหา ผู้ป่วยมักรู้สึกเจ็บเมื่อทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เอื้อมมือ หรือโยนสิ่งของ นอกจากนี้อาการปวดหัวไหล่แบบร้าวมีแนวโน้มที่จะแย่ลงหรือกำเริบตอนกลางคืนซึ่งสาเหตุยังไม่แน่ชัด หากเอ็นข้อไหล่มีปัญหา มันก็จะจำกัดการเคลื่อนไหว เพราะกล้ามเนื้อที่บาดเจ็บหรืออักเสบจะไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ แต่หากมีคนยกมือของคุณ หัวไหล่จะเคลื่อนไหวได้ตามปกติ

  2. ข้อไหล่ติด (Frozen Shoulder)
    ข้อไหล่ติด หรือที่เรียกว่า Adhesive Capsulitis เป็นภาวะที่พบได้ทั่วไปซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการข้อแข็งและเจ็บอย่างต่อเนื่องเป็นบางครั้ง หรือทำให้รู้สึกไม่สบายเมื่อแตะหลังหรือศีรษะ ทั้งนี้อาการเจ็บหัวไหล่สามารถพัฒนาเป็นภาวะข้อไหล่ติด ซึ่งสาเหตุที่พบได้มากที่สุดก็คือ เอ็นข้อไหล่อักเสบ สุดท้ายแล้วผู้ป่วยจะสูญเสียพิสัยการเคลื่อนไหวทั้งแบบที่คนอื่นเป็นผู้กระทำและตัวเองเป็นผู้กระทำ
  3. ภาวะหินปูนเกาะเส้นเอ็น (Calcific Tendonitis)
    Calcific Tendonitis เป็นภาวะที่มีหินปูนสะสมภายในเส้นเอ็น โดยมากแล้วจะเกิดภายในเอ็นข้อไหล่ ทั้งนี้ภาวะดังกล่าวทำให้ผู้ป่วยค่อยๆ รู้สึกปวดหัวไหล่ ซึ่งอาการจะยิ่งแย่ลงในตอนกลางคืน อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางคนมีอาการเรื้อรัง ซึ่งมีหลายคนที่อาการดังกล่าวหายไปเองภายใน 3-6 เดือน

อาการปวดด้านหน้าของหัวไหล่

อาการเจ็บด้านหน้าของหัวไหล่มักเกี่ยวข้องกับเอ็นของกล้ามเนื้อไบเซพ (Biceps tendon) ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปในหัวไหล่

  1. เอ็นกล้ามเนื้อไบเซพอักเสบ (Bicep Tendonitis)
    คนที่เอ็นกล้ามเนื้อไบเซพอักเสบมักจะค่อยๆ รู้สึกเจ็บที่ด้านหน้าของหัวไหล่ที่เคลื่อนลงไปทางกล้ามเนื้อไบเซพ อาการปวดจะยิ่งรุนแรงขึ้นหากมีการยกของซ้ำๆ ถือกระเป๋าที่หนัก หรือทำกิจกรรมที่ต้องยกมือ นอกจากนี้คนที่เอ็นกล้ามเนื้อไบเซพอักเสบอาจได้ยินเสียงดังกริ๊กเมื่อหมุนหัวไหล่ และอาการเจ็บอาจรุนแรงขึ้นในตอนกลางคืน

  2. เอ็นไบเซพฉีกขาด (Bicep Tendon Rupture)
    คนที่เอ็นไบเซพฉีกขาดจะมีกล้ามเนื้อไบเซพแยกออกมาจากข้อต่อ อาการของผู้ป่วยประกอบไปด้วยการรู้สึกเจ็บแบบรุนแรง มีรอยช้ำ บวม และมักมีก้อนนูนก่อตัวขึ้นเหนือเส้นเลือดดำบริเวณข้อพับแขน
  3. SLAP Tear
    SLAP Tear หรือที่ย่อมาจาก Superior Labrum Anterior Posterior Tear เป็นการฉีกขาดของข้อต่อไหล่ประเภทหนึ่ง สาเหตุสำคัญก็คือ การล้มแบบใช้มือยันพื้น ซึ่งพบในนักกีฬาที่ต้องขว้างสิ่งของโดยยกมือเหนือศีรษะ หรือคนที่ต้องทำงานที่ต้องยกมือเหนือศีรษะซ้ำๆ อาการที่พบได้อาจประกอบไปด้วยการรู้สึกเจ็บแบบตื้อๆ ที่หัวไหล่ รู้สึกว่าแขนเคลื่อนไหวได้ไม่ราบรื่น และมีเสียงดังขณะเคลื่อนไหว
  4. โรคข้อไหล่เสื่อม (Shoulder Osteoarthritis)
    คนที่เป็นโรคข้อไหล่เสื่อมมักรู้สึกเจ็บตื้อๆ ที่ไหล่หรือด้านหน้าหัวไหล่พร้อมกับมีไหล่ที่แข็ง โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยจะสูญเสียพิสัยการเคลื่อนไหวของหัวไหล่ทั้งแบบที่คนอื่นและตัวเองเป็นผู้กระทำ โรคข้อไหล่เสื่อมเป็นโรคที่ค่อนข้างพบได้น้อย และมักเกิดจากการที่ผู้ป่วยเคยบาดเจ็บที่แขน คอ หรือไหล่ตอนปีก่อนหน้านี้

อาการปวดด้านบนของหัวไหล่

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเจ็บที่ด้านบนของหัวไหล่มากที่สุดก็คือ ข้อต่ออโครมิโอคลาวิคิวลาร์ (Acromioclavicular Joint – AC) ผิดปกติ ซึ่งประกอบไปด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจกระดูกวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 534 บาท ลดสูงสุด 61%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

  1. AC Arthritis
    โรคข้อไหล่อักเสบเป็นโรคที่พบได้น้อยกว่าโรคเข่าหรือสะโพกอักเสบ แต่หากอาการอยู่ในระดับรุนแรง ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด ทั้งนี้โรคดังกล่าวสามารถทำให้เกิดการสะสมของหินปูนและทำให้กระดูกอ่อนไม่เรียบ ซึ่งทำให้การเคลื่อนไหวถูกจำกัด และทำให้กระดูกอ่อนเสื่อมสภาพ หากพื้นผิวของกระดูกอ่อนไม่เรียบ มันก็อาจทำให้เกิดเสียงดังโดยเฉพาะเมื่อยกแขนขึ้นหรือยื่นแขนไปข้างหน้า

  2. AC Separation
    คนที่เป็น AC separation มักเคยมีประวัติล้มลงโดยที่ไหล่กระแทกพื้น ทำให้เกิดการบาดเจ็บที่เอ็นรอบๆ ข้อต่ออโครมิโอคลาวิคิวลาร์ (AC) อย่างไรก็ตาม เหนือหัวไหล่อาจมีก้อนนูนก่อตัวขึ้นเนื่องจากมีการแยกตัวของกระดูกหัวไหล่ออกจากกระดูกไหปลาร้า ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการบาดเจ็บ
  3. Distal Clavicle Osteolysis
    Distal Clavicle Osteolysis เป็นภาวะที่ทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บข้อไหล่แบบจี๊ดๆ ที่ปลายของกระดูกไหปลาร้า ซึ่งพบได้มากที่สุดในคนที่ยกสิ่งของหรือคนที่ยกสิ่งของซ้ำๆ หรือยกสิ่งของที่หนัก

อาการปวดทั่วหัวไหล่

หัวไหล่มีเส้นเอ็นกระดูก เส้นเอ็นกล้ามเนื้อ และกล้ามเนื้อที่แข็งแรงเพื่อช่วยให้หัวไหล่มั่นคง หากเนื้อเยื่อเหล่านี้หลวมหรือฉีกขาด มันก็สามารถทำให้เกิดภาวะดังนี้

  1. ข้อไหล่หลวม (Shoulder Instability)
    ภาวะข้อไหล่หลวมสามารถเกิดจากการบาดเจ็บอย่างรุนแรงหรือการใช้งานหัวไหล่มากเกินไป ผู้ป่วยอาจรู้สึกว่าหัวไหล่ไม่มั่นคงราวกับว่ามันจะหลุดออกจากข้อต่อ

  2. ข้อไหล่หลุด (Shoulder Dislocation)
    ข้อไหล่หลุดเป็นการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นเมื่อด้านบนของกระดูกแขนไม่เชื่อมต่อกับกระดูกสะบัก ซึ่งอาจทำให้เส้นเอ็นกระดูกที่ยึดหัวไหล่ถูกทำลาย และหัวไหล่มีแนวโน้มที่จะหลุดออกจากข้อต่ออีกครั้ง

เมื่อไรที่ควรไปพบแพทย์?

หากคุณไม่แน่ใจสาเหตุที่ทำให้คุณเจ็บหัวไหล่ หรือไม่รู้ว่าต้องรักษาตัวอย่างไร คุณควรไปพบแพทย์ สำหรับสัญญาณที่บอกว่าคุณควรไปพบแพทย์ประกอบไปด้วย

  • ไม่สามารถถือสิ่งของหรือใช้แขน
  • การบาดเจ็บที่ทำให้ข้อต่อผิดรูปผิดร่าง
  • เจ็บหัวไหล่ตอนกลางคืนหรือตอนพัก
  • มีอาการเจ็บหัวไหล่ต่อเนื่องมากกว่า 3-4 วัน
  • ไม่สามารถยกแขน
  • รอบๆ ข้อต่อหรือแขนบวมหรือช้ำมาก
  • มีสัญญาณของการติดเชื้อซึ่งประกอบไปด้วยการมีไข้ ผิวแดง และร่างกายอุ่น
  • มีอาการผิดปกติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปวดที่หัวไหล่อย่างการปวดท้องหรือมีปัญหากับการหายใจ

การวินิจฉัยอาการปวดไหล่

  1. การตรวจร่างกาย
    หลังจากที่มีการสอบทานอาการและประวัติการเจ็บป่วย แพทย์จะตรวจหัวไหล่อย่างละเอียด ซึ่งเขาจะกดที่บริเวณต่างๆ ของหัวไหล่เพื่อประเมินว่าคุณมีอาการเจ็บหรือมีหัวไหล่ผิดรูปหรือไม่ นอกจากนี้เขาจะทดสอบความแข็งแรงของแขนและพิสัยการเคลื่อนไหวของหัวไหล่ อย่างไรก็ดี แพทย์อาจตัดสาเหตุของอาการปวดที่ไม่เกี่ยวกับหัวไหล่จากการตรวจสอบบริเวณอื่นๆ ของร่างกายอย่างคอหรือท้อง

  2. การตรวจจากภาพ
    นอกจากการตรวจร่างกายแล้ว แพทย์อาจทำการตรวจโดยใช้เครื่องมือที่ทำให้เห็นภาพภายในร่างกายเพื่อยืนยันผลการวินิจฉัย
    1. เอ็กซ์เรย์ (X-ray): การเอ็กซ์เรย์หัวไหล่สามารถตรวจพบการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับกระดูกที่สร้างข้อต่อหัวไหล่ รวมถึงช่วยตรวจหาสัญญาณที่ซ่อนเร้นอื่นๆ อย่างการมีหินปูนเกาะที่กระดูก
    2. การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging – MRI): การตรวจ MRI ที่หัวไหล่สามารถช่วยให้ภาพที่แสดงรายละเอียดของเส้นเอ็นกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นกระดูก และกล้ามเนื้อที่อยู่รอบๆ ข้อต่อหัวไหล่ ตัวอย่างเช่น MRI สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่ง ขนาด และแม้แต่ระยะเวลาที่เอ็นข้อไหล่ฉีกขาด

การวินิจฉัยแยกโรคจากอาการปวดไหล่

อาการเจ็บไหล่อาจไม่ได้มีต้นเหตุมาจากหัวไหล่เสมอไป อาการเจ็บบริเวณทั่วไปของหัวไหล่ หรือบริเวณที่ไม่สามารถระบุตำแหน่งได้แน่ชัดอาจเกี่ยวข้องกับระบบกล้ามเนื้อและกระดูกอย่างโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทในคอหรือโรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี นอกจากนี้อาจเป็นอาการของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหรือการมีเลือดไหลจากตับหรือม้าม ซึ่งแพทย์อาจทำการทดสอบหลายอย่าง ตัวอย่างเช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจควบคู่กับการตรวจระดับของ Cadiac Enzymes เมื่อสงสัยว่าคุณอาจมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือหากสงสัยว่าคุณเป็นโรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี แพทย์ก็อาจทำการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง

การรักษาอาการปวดไหล่

การรักษาอาการปวดไหล่ขึ้นอยู่กับสาเหตุของปัญหา ซึ่งวิธีการรักษาแบบหนึ่งอาจมีประโยชน์กับปัญหาหนึ่ง แต่อาจทำให้เกิดอันตรายหรือไม่มีประโยชน์กับอีกปัญหาหนึ่ง อย่างไรก็ตาม วิธีรักษาที่เรากำลังจะกล่าวหลังจากนี้ไม่ได้เหมาะกับทุกภาวะแต่อาจมีประโยชน์สำหรับสถานการณ์ที่คุณกำลังเผชิญ

  1. พักผ่อน
    การพักข้อต่อและปล่อยให้การอักเสบที่เกิดขึ้นเฉียบพลันบรรเทาลงเป็นวิธีการรักษาแรกสำหรับภาวะต่างๆ ที่ทำให้คุณมีอาการปวดไหล่ อย่างไรก็ตาม คุณควรระวังเมื่อพักข้อต่อ เพราะการไม่เคลื่อนไหวเป็นเวลานานสามารถทำให้เกิดภาวะข้อไหล่ติด

  2. การใช้น้ำแข็งและความร้อนประคบ
    ไอซ์แพคถูกนำมาใช้เพื่อลดอาการบวมและอาการเจ็บจากการบาดเจ็บแบบฉับพลันที่หัวไหล่บ่อยที่สุด แต่เราก็สามารถนำมาใช้รักษาหัวไหล่ที่บาดเจ็บเนื่องจากถูกใช้งานมากเกินไป ตัวอย่างเช่น เอ็นข้อไหล่ฉีก เอ็นอักเสบ หรือ การอักเสบของถุงน้ำลดการเสียดสี หากเป็นกรณีเหล่านี้ให้คุณใช้น้ำแข็งวางประคบที่หัวไหล่หลังจากทำกิจกรรมที่ต้องยกแขนเหนือศีรษะเพื่อลดการอักเสบ

    นอกจากนี้ยังมีการนำแผ่นร้อนมาใช้รักษาภาวะที่เกี่ยวกับหัวไหล่ชนิดเรื้อรัง แต่โดยทั่วไปแล้วจะถูกนำมาใช้ก่อนที่จะเริ่มทำกิจกรรมที่ต้องยกแขนเหนือศีรษะ ความร้อนสามารถคลายกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการกล้ามเนื้อเกร็ง และบรรเทาอาการปวด อย่างไรก็ตาม ก่อนที่คุณจะใช้น้ำแข็งหรือความร้อนประคบ ให้คุณปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดก่อน
  3. การทำกิจกรรมทางกาย
    การทำกายภาพบำบัดเป็นส่วนสำคัญของการรักษาโรคที่เกี่ยวกับกระดูกเกือบทั้งหมด ทั้งนี้นักกายภาพบำบัดใช้วิธีแตกต่างกันในการเพิ่มความแข็งแรง ฟื้นฟูความสามารถในการเคลื่อนไหว และช่วยให้คนไข้กลับมาทำกิจกรรมต่างๆ ได้อีกครั้ง
  4. การกินยา
    ยาที่นิยมใช้ในการรักษาอาการเจ็บไหล่และอาการบวมมากที่สุดก็คือ ยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal Anti-Inflammatories (NSAIDs)) และการฉีดยาสเตียรอยด์ ทั้งนี้เราสามารถพบ NSAIDs บางชนิดได้ตามร้านขายยาทั่วไป ตัวอย่างเช่น ไอบูโพรเฟน สำหรับยาชนิดอื่นๆ ที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์อย่างโวลทาเรนนั้นมักถูกนำมาใช้รักษาเกี่ยวกับหัวไหล่อย่างโรคปวดข้อ การอักเสบของถุงน้ำลดการเสียดสี และเอ็นอักเสบ

    คุณควรใช้ยาเหล่านี้ในช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น และใช้ตามคำแนะนำของแพทย์ ทั้งนี้ยา NSAIDs มีความเสี่ยง คุณควรแจ้งแพทย์หากคุณกำลังตั้งครรภ์หรือมีปัญหาสุขภาพอื่นๆ อย่างความดันโลหิตสูง โรคหืด โรคไต โรคตับ หรือแผลในกระเพาะอาหาร

    สำหรับการรักษาโดยการฉีดยาสเตียรอยด์ แพทย์จะฉีดคอร์ติโซนซึ่งเป็นยาสเตียรอยด์ที่ช่วยรักษาการอักเสบไปยังบริเวณที่คุณรู้สึกเจ็บ การฉีดยาไม่เพียงแต่ช่วยบรรเทาอาการเจ็บได้เท่านั้น แต่มันยังช่วยให้คุณสามารถทำกายภาพบำบัดได้ง่ายขึ้น
  5. การผ่าตัด
    ในบางกรณีคุณอาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดหากวิธีรักษาอื่นๆ ไม่ได้ผล หรือการบาดเจ็บที่หัวไหล่อยู่ในระดับรุนแรงตั้งแต่เริ่มต้น

    การหาสาเหตุที่ทำให้คุณมีอาการปวดไหล่สามารถเป็นกระบวนการที่ท้าทาย แต่เราอยากให้คุณพยายามอดทน เพราะหัวไหล่เป็นโครงสร้างที่ซับซ้อน และการวินิจฉัยที่ถูกต้องเป็นกุญแจสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้คุณหายจากอาการดังกล่าว ซึ่งคนส่วนมากจะหายเป็นปกติหากทำตามแผนการรักษา

ที่มา: HealthLine และ VeryWellHealth


10 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Why Do My Shoulders Hurt? 13 Causes of Neck & Shoulder Pain. WebMD. (https://www.webmd.com/pain-management/guide/neck-shoulder)
Ouch! Shoulder pain and how to treat it. Harvard Health. (https://www.health.harvard.edu/pain/ouch-shoulder-pain-and-how-to-treat-it)
12 Common Shoulder Problems & How To Treat Them. WebMD. (https://www.webmd.com/pain-management/why-does-my-shoulder-hurt)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป