ผู้สูงอายุมีโอกาสติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้สูงและจัดเป็นโรคติดเชื้อที่พบบ่อยที่สุดและเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของการติดเชื้อในกระแสเลือด (bacteremia) ในชายสูงอายุมีโอกาสเกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะสูงขึ้นมาก เมื่อเทียบกับชายอายุน้อยที่แทบจะไม่เกิดการติดเชื้อนี้เลย นอกจากนั้นเชื้อโรคที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ ก็มีโอกาสเกิดจากเชื้อหลายชนิดมากขึ้น
สาเหตุที่ผู้สูงอายุมีโอกาสติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะมากขึ้น
- เมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน จะขาดฮอร์โมนเอสโทรเจนทำให้มีเชื้อแลคโตบาซิลไล (lactobacilli) ในช่องคลอดน้อย ค่าพีเอช (pH) ในช่องคลอดจึงสูงขึ้น เหมาะต่อการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรค ส่วนในชายสูงอายุ สารคัดหลั่งจากต่อมลูกหมากจะมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียน้อยลง
- เมื่ออายุมากขึ้นการทำงานของไตลดลง ความสามารถในการทำให้ปัสสาวะเป็นกรด ทำให้ปัสสาวะเข้มข้น การขับสารยูเรีย (urea) จึงลดลงและติดเชื้อได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้การมีน้ำตาลในปัสสาวะ (ซึ่งพบได้มากขึ้นในผู้สูงอายุ เนื่องจากมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานมากขึ้น) ยังเป็นสารเพาะเชื้อได้ดีอีกด้วย
- ผู้สูงอายุได้รับการใส่สายสวนปัสสาวะบ่อยขึ้น เช่น จากการปัสสาวะไม่ออก กลั้นปัสสาวะไม่ได้ หรือการใส่สายสวนในช่วงผ่าตัด จึงทำให้เชื้อโรคเข้าไปในทางเดินปัสสาวะได้
- ผู้สูงอายุมีโรคที่เกิดขึ้นหลายโรค ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะง่ายขึ้น เช่น โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ โรคพาร์คินสัน ทำให้เดินไม่คล่อง ปัสสาวะได้น้อย มีปัสสาวะค้างในกระเพาะปัสสาวะ โรคเบาหวาน ขาดสารอาหาร ต่อมลูกหมากโต
อาการ
อาการขึ้นกับว่าติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะระดับใด ถ้าติดเชื้อแค่ในกระเพาะปัสสาวะ อาจมีอาการปัสสาวะแสบขัด ขุ่น หรือปัสสาวะบ่อยขึ้น แต่ถ้าติดเชื้อที่กรวยไต จะมีไข้และปวดหลังร่วมด้วย ซึ่งต้องได้รับการรักษาด้วยยาฉีดปฏิชีวนะในโรงพยาบาล อย่างไรก็ตามผู้ป่วยสูงอายุจำนวนมากอาจมีอาการที่ไม่จำเพาะกับการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เช่น ซึม สับสน เบื่ออาหาร หกล้ม กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
การป้องกัน
- แก้ไขสาเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ เช่น ต่อมลูกหมากโต กะบังลมหย่อน หรือถ้ามีนิ่วในทางเดินปัสสาวะก็ต้องรักษา เพราะก้อนนิ่วอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อและอาจอุดตันการไหลของปัสสาวะ
- หลีกเลี่ยงหรือหยุดยาที่ไม่จำเป็น เนื่องจากยาบางตัวมีฤทธิ์ทำให้การหดตัวของกระเพาะปัสสาวะไม่ดี หรือบางตัวทำให้ความต้านทานในท่อปัสสาวะสูงขึ้น จึงมีปัสสาวะคั่งค้าง เกิดการติดเชื้อได้ง่าย
- การใช้ฮอร์โมนเอสโทรเจนสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะซ้ำๆ ในหญิงสูงอายุที่มีสาเหตุจากการขาดฮอร์โมนได้ โดยมีฮอร์โมนเอสโทรเจนแบบทาช่องคลอด อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ การใช้ฮอร์โมนเอสโทรเจนแบบทาทุกวันนั้นทำได้ยากในผู้สูงอายุ และได้ระดับยาไม่คงที่ จึงมีการใช้ฮอร์โมนแบบวงแหวน ซึ่งทำจากซิลิโคนนิ่มๆ ที่ค่อยๆ ปล่อยฮอร์โมนออกมาช้าๆ และคงที่ ใช้ได้นาน 3 เดือน
- ดูแลความสะอาดบริเวณรอบๆ ท่อปัสสาวะ
- วิธีอื่นๆ
- การดื่มน้ำผลไม้แครนเบอร์รี่ (cranberry juice) จะสามารถลดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้ แต่รสชาติค่อนข้างเฝื่อนและยังหาได้ยากในประเทศไทย
- นผู้ป่วยสูงอายุบางรายที่อายุยังไม่มากและการติดเชื้อมีความสัมพันธ์กับการมีเพศสัมพันธ์ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านจุลชีพ เพื่อป้องกันการติดเชื้อหลังการมีเพศสัมพันธ์ - ถ้าวิธีข้างต้นไม่ได้ผล อาจพิจารณาให้ยาต้านจุลชีพ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ แต่ยังไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ในผู้สูงอายุ