ผักคราดหัวแหวน

ประโยชน์ของผักคราดหัวแหวน คุณค่าทางโภชนาการ สรรพคุณ ตัวอย่างเมนูน่ากินจากผักคราดหัวแหวน และข้อควรระวัง
เผยแพร่ครั้งแรก 23 มี.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 9 ธ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ผักคราดหัวแหวน

“ผักคราดหัวแหวน” หรือ “ผักคราด” เป็นผักพื้นบ้านที่รับประทานกันมาตั้งแต่โบราณ โดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคอีสาน ที่มักจะนำมารับประทานเป็นผักสดหรือมาประกอบอาหารหลายชนิด รสของผักคราดจะออกเผ็ดและหอม คนโบราณนิยมนำมาใช้เป็นยาที่มีสรรพคุณมากมายอีกด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ชื่อวิทยาศาสตร์ Acmella oleracea (L.) R.K.Jansen

ชื่อวงศ์ COMPOSITAE (ASTERACEAE)

ชื่อพ้อง Spilanthes acmella (L.) Murray

ชื่ออังกฤษ Para cress

ชื่อท้องถิ่น ผักคราด (ภาคกลาง), ผักเผ็ด (ภาคเหนือ), ผักตุ้มหู (ภาคใต้), เทียงบุ่งเช่า, โฮ่วซั้วเช่า, อึ่งฮวยเกี้ย (จีน)

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ถิ่นกำเนิด

ผักคราดหัวแหวนมีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปอเมริกาใต้ บริเวณประเทศบราซิลและอาร์เจนตินา จากนั้นมีการกระจายพันธุ์ไปในเขตร้อนทั่วโลกทั้งในทวีปเอเชียและแอฟริกา ในทวีปเอเชียพบได้มากแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบได้ทั่วไปทั่วทุกภาค มักพบขึ้นในป่าธรรมชาติ ป่าละเมาะ โดยขึ้นปะปนกับต้นไม้อื่น หรือตามริมคลอง บริเวณที่ค่อนข้างชื้นแฉะ

ลักษณะทางพฤกษาศาสตร์

ผักคราดหัวแหวนจัดเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก อายุปีเดียว ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้าน สูงประมาณ 30 เซนติเมตร หรือทอดไปตามดินเล็กน้อย ลำต้นกลมอวบน้ำ มีสีเขียวม่วงแดงปนเข้ม ลำต้นอ่อน มีขนปกคลุมเล็กน้อย ใบเป็นใบเดี่ยว รูปไข่ หรือรูปใบหอกแกมรูปไข่ กว้าง 1-2.5 เซนติเมตร ยาว 2-4 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบหรือจักเป็นฟันเลื่อยหยาบๆ ดอกออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง ลักษณะกลมอัดแน่นเป็นรูปไข่ ยาว 8 มิลลิเมตร สีเหลือง ดอกย่อยมี 2 วง วงนอกเป็นดอกเพศเมีย วงในเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ก้านดอกเรียวยาว 2.5-15 เซนติเมตร ยกตั้งทรงกลมเหมือนหัวแหวน ริ้วประดับมี 2 ชั้น รูปใบหอกแกมรูปไข่ ยาวราว 6 มิลลิเมตร เกลี้ยง ดอกวงนอกเป็นดอกตัวเมีย มี 1 วง กลีบดอกรูปรางน้ำ ดอกวงในเป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบดอกรูปท่อ ปลายแยกเป็น 4-5 แฉก ผลเป็นผลแห้งรูปไข่ ยาวราว 3 มิลลิเมตร มีสัน 3 สัน ปลายเว้าเป็นแอ่งเล็กน้อย รยางค์มีหนาม 1-2 อัน(3)

คุณค่าทางโภชนาการ ผักคราดหัวแหวนน้ำหนัก 100 กรัม ให้พลังงาน 32 กิโลแคลอรี่

ที่มา : กองโภชนาการ กรมอนามัย (ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม)

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

สรรพคุณผักคราดหัวแหวน

  • ตามตำราของแพทย์แผนไทยบันทึกว่า ผักคราดมีรสเอียนเฝื่อนเล็กน้อย แก้พิษตานซาง (โรคที่พบในเด็กเล็ก พบเป็นเม็ดขึ้นในช่องปากและลำคอ)(1) แก้ริดสีดวง แก้ผอมเหลือง (อาการผอมแห้งแรงน้อย)(5)
  • ตามตำราพระโอสถพระนารายณ์ กล่าวว่า น้ำต้มราก ใช้เป็นยาถ่าย หรืออมบ้วนปาก แก้อาการอักเสบในช่องปากและลำคอ ดอกใช้เป็นยาขับน้ำลาย แก้อาการปวดฟัน แก้รำมะนาด (โรคที่เกิดขึ้นกับรากฟัน ทำให้เหงือกบวมอักเสบ เป็นหนอง) แก้ลิ้นเป็นอัมพาต เมล็ดเคี้ยวแก้ปากแห้ง(3)
  • แก้จุกเสียด อาการท้องอืดท้องเฟ้อ แก้ลมพิษ(2)
  • แพทย์ตามชนบทใช้ผักคราดผสมกับขมิ้นอ้อยและเกลือสะตุ กวาดคอเด็กแก้ตัวร้อน(4)
  • แพทย์แผนจีน ใช้ทั้งต้นตำผสมกับสุรา แล้วชุบสำลีอมกลืนทีละน้อย แก้ต่อมน้ำลายอักเสบ แก้ฝีในคอ แก้คออักเสบ แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ(4) และต้มกินแก้หอบไอ แก้หลอดลมอักเสบ แก้ปอดบวมและไอกรน(3)
  • แพทย์ศรีลังกา นำทั้งต้นใช้ชงดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ(3)
  • ต้นสดมีรสเผ็ดร้อน ช่วยเจริญอาหาร
  • ดอกและก้านช่อดอกมีสาร spilanthol จัดเป็นสารใน กลุ่ม alkamide มีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่รวมทั้ง มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและลดอาการปวดกล้ามเนื้อ
  • ราก มีฤทธิ์เป็นยาระบายและขับปัสสาวะ

แนวทางการใช้ผักคราดเพื่อสุขภาพ

  • กรณีที่มีอาการปวดฟัน หรือมีอาการอักเสบภายในช่องปากและลำคอ นำผักคราดทั้งต้นมาล้างน้ำให้สะอาด หรือจะเลือกใช้เฉพาะส่วนดอก แล้วเคี้ยวแบบสด หรือนำผักคราดมาตำผสมกับเหล้าโรง หรือเหล้า 40 ดีกรีเพียงเล็กน้อย จากนั้นจึงชุบสำลี แล้วนำไปอุดบริเวณที่อาการปวดหรืออักเสบ หรือจะนำมาต้มกับน้ำ แล้วอมเป็นน้ำบ้วนปากก็ได้เช่นกัน
  • กรณีที่มีอาการปัสสาวะแสบขัด อาการหอบไอ หรือมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ นำผักคราดทั้งต้นประมาณ 5-10 กรัม มาล้างน้ำให้สะอาด จากนั้นจึงหั่นซอยเป็นชิ้นเล็กๆ ต้มในน้ำเดือด รับประทานเป็นยาชงดื่ม
  • กรณีที่มีแผลเรื้อรัง ผื่นลมพิษ นำผักคราดทั้งต้นมาล้างน้ำให้สะอาด ตำให้แหลก แล้วนำไปผสมกับแอลกอฮอล์ล้างแผลหรือเหล้า 40 ดีกรี จากนั้นจึงนำมาพอกในบริเวณที่เป็นแผลหรือผื่น
  • ใช้รากแห้ง 4-8 กรัม ต้มในน้ำ 1 ถ้วย นำมาดื่มเพื่อใช้เป็นยาระบายสำหรับผู้ใหญ่

การปรุงอาหาร

ชาวเหนือ ชาวอีสาน รับประทานผักคราดโดยนำยอดอ่อนใบอ่อนรับประทานเป็นผักสดแกล้มกับน้ำพริก ลาบ ก้อย แกง และนำไปปรุงเป็นอาหารได้ ชาวเหนือนำผักคราดไปแกงแค ชาวอีสานนำผักคราดไปใส่กับแกงอ่อมปลา แกงอ่อมกบ ซุปหน่อไม้ ซึ่งผักคราดจะช่วยดับกลิ่นคาวได้เป็นอย่างดี ส่วนชาวใต้นำยอดอ่อนของผักคราดไปแกงร่วมกับหอยและปลา ทำให้อาหารมีรสชาติและกลิ่นน่ารับประทานมากขึ้น

ข้อห้ามและข้อควรระวัง

แม้จะมีการทดลองความเป็นพิษของผักคราดในสัตว์ทดลอง แล้วพบว่าความเป็นพิษต่ำ รวมถึงยังไม่พบรายงานระบุผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ แต่อย่างไรก็ตาม ควรรับประทานผักคราดเป็นส่วนประกอบในอาหาร และไม่ควรรับประทานติดต่อกันนานเกิน 3 เดือน เพราะอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง หรือการทำงานของตับและไต รวมถึงสตรีมีครรภ์ไม่ควรการรับประทานผักคราดเนื่องจากเป็นพืชที่มีรสร้อนอาจจะมีผลให้เกิดการแท้งบุตรได้


8 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Panicha Pongnaratorn, A Literature Review of the Pharmacological Effects of Spilanthesacmella: Anti-inflammatory and Analgesic of Muscles, Srinagarind Med J 2016; 31(4): 245-9.
โครงการอนุรักษ์พันธุ์พืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, ยากลุ่มแก้ปวดฟัน ผักคราดหัวแหวน (http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_18_4.htm)
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, ผักคราดหัวแหวน (http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=76)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)