การบรรเทาอาการปวดท้องด้วยยา

เผยแพร่ครั้งแรก 27 มี.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
การบรรเทาอาการปวดท้องด้วยยา

อาการปวดท้องเป็นอาการปวดตั้งแต่บริเวณใต้กระบังลมมาจนถึงบริเวณเชิงกราน อาจปวดในบริเวณกว้างหรือเฉพาะบริเวณ สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุและอาจเป็นอาการแสดงของโรคอื่นที่ร่างกายกำลังเป็นอยู่ ดังนั้นการใช้ยาได้ให้ผลจึงต้องทราบเบื้องต้นว่าอาการปวดท้องนั้น เกิดจากสาเหตุอะไร และมีความรุนแรงในระดับใด เพราะการใช้ยาที่ไม่ตรงกับสาเหตุของโรคนอกจากจะไม่บรรเทาอาการของโรคแล้ว อาจทำให้โรคแท้จริงที่กำลังเป็นอยู่ดำเนินไปโดยไม่ได้รับการรักษาและรุนแรงขึ้น การพบแพทย์จึงอาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในกรณีรักษาด้วยยาเบื้องต้นแล้วอาการปวดท้องยังไม่ทุเลาลงภายใน 2 สัปดาห์ การใช้ยาในเบื้องต้นนั้นผู้ป่วยจึงควรสังเกตว่าสาเหตุเบื้องต้นของอาการปวดท้องนั้นเกิดจากอะไร

อาการปวดท้องหลังรับประทานอาหาร

หากเป็นการปวดท้องหลังรับประทานอาหารได้สักครู่ อาจเป็นไปได้ว่า อาการปวดท้องนั้นเกิดจากกรดเกินในกระเพาะอาหาร ยาที่บรรเทาอาการกรดเกิน คือ ยากลุ่มยาลดกรด ที่จะช่วยสะเทินกรดในกระเพาะให้อยู่ในสภาวะกรดด่างที่เป็นกลาง ผลข้างเคียงของยาลดกรดที่มีแมกนีเซียม (magnesium) เป็นส่วนประกอบคือ อาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ และยาลดกรดที่มีอลูมิเนียม (aluminum) เป็นส่วนประกอบอาจะทำให้เกิดอาการท้องผูก กลุ่มผู้ที่ต้องระวังการใช้ยาลดกรด คือ กลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจวาย ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยที่ควบคุมการรับประทานโซเดียม เนื่องจากยาลดกรดมีส่วนประกอบของเกลือโซเดียมในปริมาณสูง เนื่องจากโซเดียมจะดึงน้ำเข้ามาในกระแสเลือดมากขึ้น ปริมาณเลือดที่สูงขึ้นอาจทำให้เกิดการกำเริบของโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของหัวใจ นอกจากนี้การใช้ยาลดกรดใช้เพื่อสะเทินกรดในกระเพาะอย่างเดียวเท่านั้น ไม่สามารถใช้เพื่อรักษาแผลในกระเพาะอาหารหรืออาการมีลมในทางเดินอาหารได้ และไม่ควรใช้ยาลดกรดต่อเนื่องนานเกิน 2 สัปดาห์

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

หากเป็นการปวดท้องที่เกิดจากความรู้สึกท้องอืด แน่นท้องเหมือนมีลมอยู่ในท้อง ยากลุ่มไซเมธิโคน(simethicone) จะช่วยลดแรงตึงผิวของแก๊ส ทำให้แก๊สที่รวมตัวกันในท้องกระจายตัวจากแรงบีบของกระเพาะอาหารและขับออกง่ายขึ้น โดยปกติไม่ค่อยพบอาการข้างเคียงของการใช้ยาในกลุ่มนี้

อาการปวดท้องจากท้องผูก

การสะสมของอุจจาระในทางเดินอาหารอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการปวดท้องได้ สังเกตตนเองได้จากการเริ่มมีปัญหาในเรื่องการขับถ่ายไม่เป็นปกติ ยาที่ใช้สำหรับอาการท้องผูกคือกลุ่มยาระบาย (laxative) ซึ่งมีหลายกลุ่มตามกลไกการออกฤทธิ์ ยาที่ค่อนข้างปลอดภัยในการใช้คือ ยาระบายกลุ่ม bulk laxative ซึ่งเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับบรรเทาอาการท้องผูกในขั้นต้น เนื่องจากยาไม่ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและมีผลข้างเคียงของการใช้ยาต่ำ สามารถใช้ยาได้ในผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ ยาจะช่วยให้เกิดการดูดน้ำในลำไส้และขับอุจจาระออกมาได้ง่ายขึ้น ยาในกลุ่มนี้เช่น มูซิลิน (mucilin) ไม่ควรใช้ยาระบายกลุ่มกระตุ้นระบบทางเดินอาหาร (stimulant) เช่น เซนนา (senna) มะขามแขก น้ำมันละหุ่ง ไบซะโคดิล (bisacodyl) เมื่อท้องผูกที่มีอาการปวดท้องร่วมด้วย

อาการปวดท้องจากการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร

การติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร เชื้อที่ติดมีความแตกต่างกันในแต่ละแหล่งที่มาของโรค ดังนั้นแล้วหากอาการปวดท้องมีอาการท้องเสียร่วมด้วย สิ่งที่ผู้ป่วยควรทำคือการรับประทานเกลือแร่ชนิดผงผสมน้ำสำหรับอาการท้องเสียเพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่ ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะหรือยาหยุดถ่ายมารับประทานเพื่อรักษาอาการด้วยตัวเอง ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อให้คำแนะนำในการรักษาอย่างเหมาะสม ถ้าหากมีอาการเหลวถ่ายเป็นเลือดควรปรึกษาแพทย์ทันที

หากมีการปวดบริเวณท้องในรูปแบบอื่น ยาพาราเซตามอล อาจช่วยบรรเทาอาการปวดได้ แต่ยาไม่ได้รักษาที่ต้นตอของอาการปวดท้อง และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาลดการอักเสบกลุ่ม NSAID เนื่องจากตัวยาสามารถทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหารได้

สาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดอาการปวดท้อง

นอกจากสาเหตุที่พบได้บ่อยข้างต้นแล้ว โรคอื่นที่อาจเป็นสาเหตุของการปวดท้องเฉียบพลัน เช่น การอักเสบของระบบอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ เลือดเป็นกรดจากกรดแลคติก (lactic acidosis) หรือแบบเรื้อรัง เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ แผลในกระเพาะอาหาร โรคกรดไหลย้อน ลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome) ซิสที่รังไข่ เกิดก้อนนิ่ว หรืออาการปวดท้องแบบค่อยดำเนินไปอย่างรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ อาจเกิดจากมะเร็งได้เช่นกัน

เมื่อไรที่ควรไปพบแพทย์

โดยส่วนมากแล้วอาการปวดท้องจะไม่ปวดต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานและไม่ค่อยรุนแรง แต่หากอาการปวดท้องมีอาการรุนแรงมากขึ้นหรือมีอาการต่อไปนี้ร่วมด้วย ควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยต่อไป ไม่ควรซื้อยามารับประทานเพื่อรักษาอาการด้วยตนเอง

  • อาการปวดท้องอย่างรุนแรง
  • มีไข้
  • ท้องเสีย หรือท้องผูกต่อเนื่อง
  • อุจจาระเป็นเลือด
  • คลื่นไส้ อาเจียนต่อเนื่อง
  • อาเจียนเป็นเลือด
  • น้ำหนักลด
  • ผิวเหลืองต่างจากสีผิวปกติ (สัญญาณบ่งบอกของดีซ่าน)
  • มีอาการเจ็บรุนแรงเมื่อเอามือกดที่ช่องท้อง
  • ท้องโตกว่าปกติ

12 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Abdominal Pain: Reasons for Stomach Aches, Cramps & Discomfort. MedicineNet. (https://www.medicinenet.com/abdominal_pain_causes_remedies_treatment/article.htm)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)