เชื้อราในปาก

เชื้อราในปาก ภาวะติดเชื้อที่อย่ามองข้ามกัน
เผยแพร่ครั้งแรก 29 ก.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 23 ก.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
เชื้อราในปาก

ภาวะเชื้อราในปากคืออะไร

ภาวะเชื้อราในปาก (Oral thrush) เป็นภาวะติดเชื้อราในช่องปากที่ไม่ติดต่อ และมักรักษาให้หายได้ด้วยยาต้านเชื้อรา ภาวะนี้มีอีกชื่อเรียกว่า "โอรอล แคนดิไดอาซิส" (Oral candidiasis) เพราะเป็นภาวะที่เกิดมาจากกลุ่มของยีสต์ที่มีชื่อเรียกว่า "แคนดิดา" (Candida) 

นอกจากนี้ ภาวะเชื้อราในปาก ยังสามารถเกิดขึ้นได้จากการเจ็บป่วยของโรคบางชนิด ภูมิคุ้มกันร่างกายที่อ่อนแอ หรือการใช้ยาบางชนิดที่ไปกระตุ้นให้เกิดเชื้อรา หรือทำให้จุลินทรีย์ในช่องปากเสียความสมดุลด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

อาการของภาวะเชื้อราในปาก

อาการของภาวะเชื้อราในปากมีดังนี้

  • เกิดปื้นสีขาวภายในปาก เมื่อหลุดออกจะทิ้งให้บริเวณที่เป็นมีสีแดงและอาจมีเลือดซึมออกมาเล็กน้อย
  • ไม่อยากอาหาร หรือเกิดความรู้สึกไม่สบายในช่องปาก
  • ภายในปากและลำคอมีสีแดง
  • มุมปากแตก
  • มีอาการเจ็บแสบร้อนในช่องปาก

บางกรณี อาการของเชื้อราในปากก็สามารถทำให้การกินหรือดื่มทำได้ยากขึ้น

ควรไปพบแพทย์เมื่อไร

คุณควรไปปรึกษาแพทย์ทันทีที่มีอาการของภาวะเชื้อราในปาก โดยแพทย์จะสามารถวินิจฉัยเชื้อราในปากได้ด้วยการสังเกตภายในช่องปากของคุณ บางกรณีอาจมีการตรวจเลือดด้วย เพื่อมองหาภาวะต้นเหตุอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเชื้อราในปาก เช่น โรคเบาหวาน การได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ 

หากคุณทิ้งภาวะเชื้อราในปากไว้โดยไม่ทำการรักษา ก็จะทำให้เกิดอาการเรื้อรังมากขึ้น เชื้อราในปากก็จะมีการลุกลามที่รุนแรงมากกว่าเดิม และนำไปสู่การติดเชื้อที่อวัยวะส่วนอื่นของร่างกายจนเกิดโรคร้ายแรงกว่าเดิมได้

สาเหตุของภาวะเชื้อราในปาก

ผู้คนส่วนมากจะมีเชื้อราแคนดิดาอยู่ในช่องปากและระบบย่อยอาหาร โดยเชื้อราดังกล่าวจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาอะไรเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ภาวะเชื้อราในปากจะเกิดขึ้นได้ หากเชื้อราชนิดแคนดิดาเพิ่มจำนวนขึ้นจากสาเหตุหลายประการ เช่น

  • การใช้ยาปฏิชีวนะเป็นเวลานานๆ ด้วยขนาดยาสูงๆ
  • การใช้ยาสเตียรอยด์ (Steroid) แบบสูดสำหรับโรคหอบหืด
  • การสวมใส่ฟันปลอมที่ไม่พอดี สวมใส่ฟันปลอมเป็นเวลานาน ไม่ถอดฟันปลอมออกมาล้างทำความสะอาด
  • การดูแลสุขอนามัยในช่องปากที่ไม่ดี
  • ปากแห้ง ทั้งจากภาวะทางการแพทย์หรือการใช้ยา
  • การสูบบุหรี่
  • การทำเคมีบำบัดเพื่อรักษาโรคมะเร็ง

สำหรับกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อราในปากสูงมาก จะได้แก่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  • ทารก เด็กเล็ก
  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • ผู้ป่วยภาวะพร่องวิตามินบี12
  • ผู้ป่วยภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากหรือน้อยเกินไป
  • ผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus: HIV)

เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่จะมีเชื้อราแคนดิดา อยู่ในช่องปากอยู่แล้ว ทำให้ภาวะเชื้อราในปากไม่สามารถติดต่อกันได้ ซึ่งหมายความว่าภาวะนี้จะไม่สามารถส่งต่อให้ผู้อื่นได้ไม่ว่าวิธีไหนก็ตาม

การรักษาภาวะเชื้อราในปาก

เชื้อราในปากมักสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาต้านเชื้อรา ซึ่งทันตแพทย์จะแนะนำในรูปแบบของน้ำยาบ้วนปาก หรือชนิดอมในช่องปาก โดยจะต้องใช้เป็นเวลาหลายครั้งต่อวัน ยาวนาน 7-14 วัน 

กรณีที่มีการติดเชื้อราในส่วนอื่นๆ ของร่ายกายร่วมด้วย ทันตแพทย์อาจจะพิจารณาจ่ายยาชนิดรับประทานร่วมด้วย ยาเหล่านี้มักไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงใดๆ แต่ก็อาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด ปวดท้อง และท้องร่วงได้บ้าง

หากแพทย์วินิจฉัยว่ากลุ่มยาปฏิชีวนะ หรือกลุ่มยาสเตียรอยด์อาจเป็นตัวการที่ทำให้เกิดเชื้อราในปากขึ้น แพทย์อาจจะเปลี่ยนรูปแบบการใช้ยา หรือลดขนาดยาที่ใช้ลงแทน

การป้องกันภาวะเชื้อราในปาก

มีหลายสิ่งที่คุณสามารถทำเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อราในปากได้ดังนี้

  • บ้วนปากหลังอาหารทุกมื้อ
  • แปรงฟันอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวันด้วยยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ และขัดฟันทุกวัน
  • เข้าพบทันตแพทย์เป็นประจำเพื่อตรวจสภาพฟันแม้ว่าคุณจะใส่ฟันปลอม หรือไม่มีฟันตามธรรมชาติแล้วก็ตาม
  • ถอดฟันปลอมเพื่อทำความสะอาดทุกคืนด้วยน้ำสบู่ หรือน้ำยาล้างฟันปลอมก่อนแช่ไว้ในสารละลายทำความสะอาด และไม่สวมใส่ในเวลานอน
  • แปรงเหงือก ลิ้น และภายในช่องปากทุกส่วนด้วยแปรงสีฟันขนนุ่ม 2 ครั้งต่อวัน
  • เข้าพบทันตแพทย์ในกรณีที่ฟันปลอมไม่พอดี
  • เลิกบุหรี่
  • บ้วนปากด้วยน้ำหลังใช้ยาสูดสเตียรอยด์
  • ดูแลควบคุมภาวะสุขภาพที่เป็นอยู่ให้ดี เช่น โรคเบาหวาน

หากคุณมีภาวะทางสุขภาพ หรือกำลังเข้ารับการรักษาที่ทำให้ร่างกายมีความเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อราในปากสูงขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้คุณใช้ยาต้านเชื้อราเป็นคอร์สเพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดเชื้อราขึ้น 

แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ การรักษาความสะอาดในช่องปากอย่างสม่ำเสมอ หรือหากคุณมีโรคหรือภาวะผิดปกติในช่องปากอยู่แล้ว ก็ควรหมั่นไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจเช็กอาการ จะได้ไม่เสี่ยงต่อการเกิดเชื้อราในปากในภายหลังได้  


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Brad Neville Douglas D. Damm Carl Allen Angela Chi, Oral and Maxillofacial Pathology (4th Edition), Saunders, 2015.
กลุ่มนโยบายแห่งชาติด้านยา สำนักยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, คู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ยาที่ใช้ทางทันตกรรม (http://www.dent.chula.ac.th/oral-diseases/medications/NationalListofEssentialMedicines.pdf)
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, โรคติดเชื้อราชนิด Candidas (http://www.cai.md.chula.ac.th/lesson/fungal/contents/candida.htm)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)