ลูกชอบกัดเล็บ เพราะอะไร อันตรายไหม ทำอย่างไรดี?

ลูกชอบกัดเล็บ ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก แต่แท้จริงอาจทำให้เกิดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ติดไปจนถึงตอนโต หรือเกิดการติดเชื้อ รูปฟันหรือเล็บเจริญผิดปกติได้
เผยแพร่ครั้งแรก 17 ก.พ. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ลูกชอบกัดเล็บ เพราะอะไร อันตรายไหม ทำอย่างไรดี?

พฤติกรรมกัดเล็บ เป็นเรื่องที่เจอได้บ่อยในเด็ก และหากไม่สามารถหยุดพฤติกรรมเหล่านี้ เมื่อโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีนิสัยชอบกัดเล็บได้

เด็กบางคนกัดเล็บเพียงบางเล็บ แต่ก็มีเด็กอีกหลายคนที่กัดเล็บทุกเล็บ มีปัจจัยหลายๆ อย่างที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการกัดเล็บ

อย่างไรก็ตาม เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ที่ชอบกัดเล็บ อาจทำให้สูญเสียความมั่นใจ อับอาย และเสียบุคคลิกภาพเมื่อต้องอยู่ต่อหน้าบุคคลอื่นๆ ได้

ลูกกัดเล็บ ลูกชอบกัดเล็บ ส่งผลเสียอะไรไหม?

การกัดเล็บส่งผลเสียหลายด้าน ได้แก่

1. ทำให้เล็บเจริญเติบโตผิดปกติ

หากเนื้อเยื่อรอบๆ เล็บถูกทำลายจากการกัดเล็บ เล็บที่งอกใหม่อาจมีรูปร่างผิดแปลกไปจากเดิม ก่อให้เกิดความไมมั่นใจในตนเอง

2. ส่งผลเสียต่อรูปฟัน

การกัดเล็บเกิดผลเสียต่อรูปฟัน โดยเนื้อฟันอาจกร่อน ผิดรูป และก่อให้เกิดปัญหาบริเวณขากรรไกร

3. เชื่อโรคเข้าสู่ร่างกาย

คนเราใช้มือในการจับสิ่งของต่างๆ รอบตัว และแน่นอนว่านิ้วมือเป็นทางผ่านของเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้

หากมีพฤติกรรมชอบกัดเล็บ เราก็จะเอานิ้วมือเข้าปากบ่อยครั้งในหนึ่งวัน ซึ่งนั่นเพิ่มความเสี่ยงที่เชื้อโรคที่อยู่บริเวณเล็บจะเข้าสู่ร่างกาย

นอกจากนี้ หากมีบาดแผลหรือเนื้อเยื่อบริเวณรอบเล็บที่เกิดจากการกัดเล็บ ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้

ทำไมลูกถึงชอบกัดเล็บ?

พฤติกรรมชอบกัดเล็บ เป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมที่เด็กทำแล้วรู้สึกสงบ สบาย และเป็นการผ่อนคลายความกังวลเมื่อกำลังเผชิญกับความเครียด

บางครั้งพฤติกรรมดังกล่าวก็เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่นเดียวกับพฤติกรรมการดูดนิ้ว โยกตัว หรือแคะแกะผิวตนเอง

สามารถพบพฤติกรรมกัดเล็บได้ในเด็กตั้งแต่อายุ 3-6 ปี และจะดำเนินไปตลอดช่วงวัยเด็กตอนกลาง หลังจากนั้นจะค่อยๆ หายไป

อย่างไรก็ตาม เด็กบางคนก็มีพฤติกรรมเหล่านี้ติดตัวจนเป็นผู้ใหญ่ด้วย

มีการศึกษาในต่างประเทศพบว่า หากพ่อแม่มีพฤติกรรมชอบกัดเล็บ (ทั้งที่เคยกัดเล็บแล้วหยุดเองได้และยังคงชอบกัดเล็บอยู่) จะพบว่าลูกมีแนวโน้วที่จะมีพฤติกรรมชอบกัดเล็บมากขึ้น

ซึ่งอาจแสดงถึงปัจจัยทางพันธุกรรมที่ส่งผลต่อพฤติกรรมดังกล่าวได้

นอกจากนี้ยังพบว่า การกัดเล็บอาจพบร่วมกับโรคทางจิตเวชอื่นๆ เช่น โรคสมาธิสั้น โรควิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ ปัสสาวะรดที่นอน และปัญหาทางอารมณ์อื่นๆ

วิธีการป้องกันและจัดการลูกชอบกัดเล็บ

คุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถหยุดพฤติกรรมได้ทันทีตามที่ต้องการ ทำได้เพียงให้ความความเข้าใจ ให้เวลา และความพยายามจะทำให้พฤติกรรมดังกล่าวค่อยๆ ลดลงจนหายไป

นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูควรพูดคุยกับลูกเกี่ยวกับพฤติกรรมดังกล่าว รวมถึงให้เวลาและทำข้อตกลงกันร่วมกันในการเลิกพฤติกรรมกัดเล็บ

เพราะหากลูกให้ความร่วมมือ เป้าหมายในการเลิกกัดเล็บก็จะประสบความสำเร็จมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีคำแนะนำเพิ่มเติมที่คุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูควรปฏิบัติและเลือกใช้เพื่อปรับพฤติกรรม ดังต่อไปนี้

  1. เพิกเฉยกับพฤติกรรมการกัดเล็บของลูก
  2. หลีกเลี่ยงการดุด่า ว่ากล่าว ลงโทษ
  3. หากลูกไม่กัดเล็บ หรือหยุดได้ตัวเอง ควรให้คำชมเชยหรือรางวัลเพื่อสร้างแรงเสริมทางบวกให้ลูก
  4. หากต้องการใช้น้ำยาป้ายเล็บที่มีรสชาติขมหรือบอระเพ็ดป้ายเล็บเพื่อช่วยให้ลูกกัดเล็บลดลง ควรพูดคุยและทำข้อตกลงกับลูกก่อนเสมอ
  5. ใช้อุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันการกัดเล็บ เช่น ถุงมือ ปลอกหุ้มนิ้วมือ เป็นต้น
  6. หาของเล่นหรืออุปกรณ์ที่ช่วยบรรเทาความเบื่อเวลาลูกไม่มีกิจกรรมทำ หรือช่วยคลายกังวลเวลาลูกมีความเครียดทดแทนการกัดเล็บ

ในรายที่มีพฤติกรรมรุนแรง ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำตัวและการเรียน เช่น ทำให้ขาดความมั่นใจไม่กล้าไปโรงเรียน แยกตัวโดนเพื่อนล้อ หรือเกิดการติดเชื้อซ้ำๆ บริเวณรอบเล็บ

อาจจำเป็นต้องใช้วิธีการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavior therapy) โดยใช้เทคนิค Habit-reversal training เพื่อหาปัจจัยและอารมณ์ที่กระตุ้นให้เกิดอาการ ปรับเปลี่ยนความคิด จับความรู้สึกขณะเกิดอาการ และตอบสนองด้วยพฤติกรรมที่ควบคุมได้แทน เพื่อให้อาการดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม การได้รับความยินยอมจากเด็ก การฝึกฝนร่วมกับพบแพทย์สม่ำเสมอ จะเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้การรักษาประสบความสำเร็จ

เมื่อใดควรพาลูกไปพบแพทย์

หากปัญหาลูกชอบกัดเล็บรุนแรง หรือเข้าเงื่อนไขต่อไปนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรพิจารณาพาเด็กไปพบแพทย์

  1. กัดเล็บจนเนื้อเยื่อรอบเล็บเป็นแผล เกิดการติดเชื้อ
  2. มีพฤติกรรมขี้อาย กังวล แยกตัว ไม่กล้าเข้าสังคม
  3. มีพฤติกรรมซน ไม่มีสมาธิ ต่อต้าน หรือปัญหาพฤติกรรมอื่นๆ ที่คุณพ่อคุณแม่กังวล
  4. มีปัญหาเกี่ยวกับรูปฟันหรือขากรรไกรผิดปกติ
  5. คุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูกังวลและไม่สามารถจัดการกับพฤติกรรมกัดเล็บของลูกได้

3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Psychology Today, Onychophagia (Nail biting) (https://www.psychologytoday.com/intl/conditions/onychophagia-nail-biting), 10 April 2019.
WebMD, Why Do I Bite My Nails and How Do I Stop? (https://www.webmd.com/a-to-z-guides/stop-nail-biting-tips#2), 28 November 2017.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป