กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

น้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere’s Disease)

เผยแพร่ครั้งแรก 6 ก.พ. 2018 อัปเดตล่าสุด 29 มี.ค. 2021 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere’s disease) เป็นความผิดปกติที่ส่งผลกระทบต่อหูชั้นใน ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการได้ยินเสียงและการทรงตัว 

โรคน้ำในหูไม่เท่ากันทำให้ผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน อีกทั้งยังนำไปสู่การเกิดปัญหาเกี่ยวกับการได้ยินเสียงและการมีเสียงดังกังวานภายในหู อย่างไรก็ดี โดยทั่วไปแล้วโรคน้ำในหูไม่เท่ากันมักเกิดขึ้นกับหูเพียงข้างเดียว และมีแนวโน้มที่จะพบในคนที่มีอายุ 40-60 ปี

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ รักษา หู คอ จมูก วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 854 บาท ลดสูงสุด 54%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

แม้ว่าโรคน้ำในหูไม่เท่ากันเป็นโรคเรื้อรัง แต่การเข้ารับการรักษาและการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์สามารถช่วยบรรเทาอาการได้ ซึ่งหลายคนที่ถูกตรวจพบว่าเป็นโรคดังกล่าวจะมีอาการดีขึ้นภายในไม่กี่ปีหลังจากถูกวินิจฉัย

สาเหตุของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

แม้ว่าไม่มีใครรู้สาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามันเกิดจากการมีแรงดันของน้ำในหูชั้นในที่สูงกว่าปกติ สำหรับสาเหตุอื่นๆ ที่เป็นไปได้ หรือตัวการที่อาจทำให้เกิดโรคน้ำในหูไม่เท่ากันมีดังนี้

  • การบาดเจ็บที่ศีรษะ
  • การติดเชื้อภายในหูชั้นในหรือหูชั้นกลาง
  • ภูมิแพ้
  • การดื่มแอลกอฮอล์
  • ความเครียด
  • ผลข้างเคียงของยาบางชนิด
  • การสูบบุหรี่
  • ความเครียดหรือความวิตกกังวล
  • ความอ่อนเพลีย
  • การมีคนในครอบครัวเป็นโรคดังกล่าว
  • การติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ
  • การป่วยด้วยโรคที่เกิดจากไวรัสเมื่อเร็วๆ นี้
  • การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ
  • โรคไมเกรน

อาการของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

ผู้ป่วยแต่ละคนมีอาการแตกต่างกันไป สำหรับอาการที่พบได้ประกอบไปด้วย

  • อาการเวียนศีรษะบ้านหมุน ซึ่งสามารถเกิดขึ้นนานตั้งแต่หลายนาทีไปจนถึง 24 ชั่วโมง
  • สูญเสียการได้ยินในบริเวณที่ได้รับผลกระทบ
  • มีเสียงอื้อในหูหรือเสียงกังวาน
  • มีความรู้สึกว่าหูถูกอุด
  • สูญเสียการทรงตัว
  • ปวดศีรษะ
  • คลื่นไส้ อาเจียน และมีเหงื่อออก ซึ่งเกิดจากการมีอาการเวียนศีรษะระดับรุนแรง

นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายที่เป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากันจะมีอย่างน้อย 2-3 อาการดังนี้ในเวลาเดียวกัน

  • อาการเวียนศีรษะบ้านหมุน
  • ไม่ได้ยินเสียง
  • มีเสียงอื้อในหู
  • รู้สึกแน่นในหู

โดยทั่วไปแล้วอาการจะเริ่มต้นจากการรู้สึกถึงแรงดันภายในหู จากนั้นก็จะเกิดเสียงอื้อ ไม่ได้ยินเสียง และมีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน ซึ่งอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นนานตั้งแต่ 20 นาทีไปจนถึง 4 ชั่วโมง โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์เป็นช่วงๆ ซึ่งใช้เวลานานที่อาการจะทุเลาลง

หากคุณมีอาการของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ให้คุณนอนราบกับพื้นและเพ่งไปที่วัตถุที่ไม่เคลื่อนไหวเพียงอย่างเดียว โดยมากแล้วผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นหลังจากที่ได้งีบหลับ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ รักษา หู คอ จมูก วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 854 บาท ลดสูงสุด 54%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ระยะของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

  • ระยะแรก: ในช่วงเวลานี้คนจะมีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนแบบฉับพลัน ซึ่งสามารถกินเวลานานตั้งแต่ 20 นาทีไปจนถึงตลอดทั้งวัน ผู้ป่วยอาจรู้สึกว่าหูตันหรือแน่น และอาจสูญเสียการได้ยินซึ่งมักจะหายไปเองหลังจากที่อาการดังกล่าวบรรเทาลง นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจรู้สึกว่าตัวเองมีอาการหูอื้อ
  • ระยะกลาง: อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนมีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงน้อยลงในระยะนี้ ในขณะที่อาการสูญเสียการได้ยินและหูอื้อจะมีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้มีผู้ป่วยหลายรายที่มีอาการทุเลาในระยะยาวซึ่งสามารถคงอยู่นานหลายเดือน
  • ระยะสุดท้าย: ในช่วงนี้ผู้ป่วยจะไม่ได้มีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนบ่อยครั้ง และบางคนจะหายจากอาการดังกล่าวตลอดไป แต่อาการหูอื้อและการสูญเสียการได้ยินมีแนวโน้มที่จะแย่ลงอย่างต่อเนื่อง และผู้ป่วยมีโอกาสที่จะทรงตัวลำบาก

นอกจากผู้ป่วยโรคน้ำในหูไม่เท่ากันจะมีอาการดังกล่าวแล้ว ยังมีโอกาสป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวล เพราะอาการป่วยส่งผลต่อการได้ยิน ผู้ป่วยอาจเสียความมั่นใจเมื่อสนทนากับคนอื่นๆ ในที่ทำงาน ซึ่งสามารถนำไปสู่การเกิดโรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวล

การวินิจฉัยโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

หากคุณมีอาการของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน แพทย์จะตรวจสอบการทรงตัว การได้ยิน และตัดความเป็นไปได้ของสาเหตุอื่นๆ

1. การทดสอบการได้ยิน

แพทย์จะทดสอบการได้ยินเพื่อที่จะได้รู้ว่าคุณกำลังสูญเสียการได้ยินหรือไม่ ในการทดสอบนี้คุณจะต้องใส่หูฟัง และฟังเสียงรบกวนที่มีระดับสูงต่ำและระดับความดังของเสียงหลากรูปแบบ คุณจำเป็นต้องบอกว่าคุณได้ยินเสียงหรือไม่ได้ยินเสียงใดเพื่อที่แพทย์จะได้วินิจฉัยได้ถูกต้อง นอกจากนี้การทดสอบการฟังโดยให้ผู้ป่วยบอกความแตกต่างระหว่างเสียงที่คล้ายกัน หรือการฟังคำต่างๆ จากหูฟังและพูดซ้ำสิ่งที่ได้ยินยังช่วยบอกเช่นกันว่าคุณมีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยินที่หูข้างเดียวหรือสองข้าง

หากหูชั้นในหรือเส้นประสาทในหูมีปัญหา มันก็สามารถทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการได้ยิน ซึ่งแพทย์อาจตรวจแรงดันของน้ำในหูชั้นใน (Electrocochleography (ECog)) และอาจตรวจการทำงานของประสาทหูหรือประสาทการได้ยินระดับก้านสมอง (Auditory Brainstem Response (ABR)) ซึ่งการทดสอบเหล่านี้สามารถบอกได้ว่าปัญหาเกิดจากหูชั้นในหรือเส้นประสาทในหู

2. การทดสอบสมดุล

การทดสอบสมดุลถูกนำมาใช้เพื่อทดสอบการทำงานของหูชั้นใน ผู้ป่วยที่เป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากันจะมีการตอบสนองต่อความสมดุลลดลงในหูข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งการทดสอบที่นิยมนำมาใช้ก็คือ Electronystagmography (ENG) แพทย์จะนำขั้วไฟฟ้ามาติดที่รอบๆ ดวงตาเพื่อตรวจสอบการเคลื่อนไหวของดวงตา

ในระหว่างการทดสอบนี้จะมีการใส่น้ำร้อนและน้ำเย็นเข้าไปในหู น้ำจะทำให้คุณสามารถทรงตัวได้ และจะมีการติดตามการเคลื่อนไหวของดวงตาที่เคลื่อนโดยอัตโนมัติ ความผิดปกติใดๆ ที่เกิดขึ้นนั้นสามารถบ่งบอกได้ว่าหูชั้นในของคุณมีปัญหา

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ รักษา หู คอ จมูก วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 854 บาท ลดสูงสุด 54%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

นอกจากนี้แพทย์อาจใช้ Rotary Chair ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้บ่อยเท่ากับวิธีข้างต้น ซึ่งมันสามารถบอกได้ว่าปัญหาเกิดจากหูหรือสมอง และมักนำมาใช้เพิ่มเติมจาก ENG เพราะว่าผลของ ENG สามารถผิดพลาดหากหูของคุณเสียหาย หรือมีขี้หูอุดตันภายในช่องหูฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ในการทดสอบนี้แพทย์จะบันทึกการเคลื่อนไหวของดวงตาอย่างระมัดระวังในขณะที่เก้าอี้หมุน

ในขณะที่ Vestibular Evoked Myogenic Potential (VEMP) เป็นการทดสอบที่วัดค่าความไวเสียงของ Vestibule ของหูชั้นใน ส่วน Posturography นั้นเป็นการทดสอบว่าระบบทรงตัวส่วนใดที่ทำงานผิดปกติ

3. การทดสอบอื่นๆ

การมีปัญหาเกี่ยวกับสมอง เช่น โรคเอ็มเอส หรือการมีเนื้องอกในสมองสามารถทำให้มีอาการคล้ายกับโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ซึ่งแพทย์อาจใช้วิธีตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อประเมินปัญหาที่เป็นไปได้ที่เกิดกับสมอง

การรักษาโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

เนื่องจากโรคน้ำในหูไม่เท่ากันเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่มีทางรักษาให้หายขาด แต่มีการรักษาหลายประเภทที่สามารถช่วยบรรเทาอาการได้ เช่น

  • ยาแพทย์อาจจ่ายยาที่ช่วยบรรเทาอาการของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ซึ่งการทานยาที่ช่วยบรรเทาภาวะป่วยจากการเคลื่อนไหว หรืออาการเมารถสามารถช่วยบรรเทาอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน คลื่นไส้ และอาเจียน หากคุณมีอาการคลื่นไส้และอาเจียนรุนแรง แพทย์อาจจ่ายยาแก้อาเจียน ในกรณีที่น้ำในหูผิดปกติ แพทย์ก็อาจจ่ายยาขับปัสสาวะเพื่อช่วยลดน้ำในร่างกาย นอกจากนี้แพทย์อาจฉีดยาเข้าไปในหูชั้นในผ่านทางหูชั้นกลางเพื่อลดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน
  • กายภาพบำบัดการฟื้นฟูระบบการทรงตัวสามารถช่วยให้อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนบรรเทาลง ซึ่งนักกายภาพบำบัดสามารถช่วยสอนวิธีดังกล่าวได้
  • การใช้อุปกรณ์ช่วยฟังนักโสตสัมผัสวิทยาสามารถช่วยรักษาภาวะสูญเสียการได้ยิน และมักนำเครื่องช่วยฟังมาเป็นอุปกรณ์ในการรักษา
  • การผ่าตัดคนส่วนมากที่ป่วยเป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากันไม่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด แต่วิธีนี้เป็นทางเลือกสำหรับคนที่มีอาการรุนแรงและวิธีรักษาอื่นๆ ไม่ได้ผล ทั้งนี้แพทย์อาจทำการผ่าตัดแบบ Endolymphatic Sac Procedure ซึ่งสามารถช่วยลดการผลิตน้ำและช่วยให้น้ำระบายออกจากหูชั้นใน
  • การปรับอาหาร: การปรับเปลี่ยนอาหารอาจช่วยลดปริมาณน้ำในหูชั้นในและช่วยบรรเทาอาการ อาหารและเครื่องดื่มที่คุณควรจำกัดการทานหรืองดทานประกอบไปด้วยอาหารจำพวกเกลือ คาเฟอีน ช็อกโกแลต แอลกอฮอล์ และผงชูรส นอกจากนี้คุณควรดื่มน้ำให้ได้ 6-8 แก้วต่อวันเพื่อไม่ให้ร่างกายกักเก็บน้ำ
  • การปรับไลฟ์สไตล์: การปรับไลฟ์สไตล์อาจช่วยบรรเทาอาการของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เช่น การนอนพักในระหว่างที่มีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน การทานอาหารอย่างสม่ำเสมอเพื่อช่วยควบคุมน้ำในร่างกาย การจัดการกับความเครียดและความวิตกกังวลผ่านการทำจิตบำบัดหรือทานยา หรือการเลิกสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงสารที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ เพราะทั้งนิโคตินและภูมิแพ้สามารถทำให้อาการของโรคน้ำในหูไม่เท่ากันแย่ลง

แม้ว่าไม่มีวิธีที่ใช้รักษาโรคน้ำในหูไม่เท่ากันได้อย่างถาวร แต่มีหลายวิธีที่สามารถช่วยบรรเทาอาการได้ อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่พบว่าอาการจะทุเลาลงไปเองแต่ก็สามารถใช้เวลาเป็นปี ทั้งนี้แพทย์สามารถช่วยหาวิธีรักษาที่เหมาะกับคุณ


21 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Tim Newman, What you need to know about Ménière's disease (https://www.medicalnewstoday.com/articles/163888.php), December 21, 2017
nhs.uk, Ménière's disease (https://www.nhs.uk/conditions/menieres-disease/)
webmd.com, What Is Meniere's Disease? (https://www.webmd.com/brain/what-is-meniere-disease#1)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

ดูคำถามและคำตอบอื่นๆ ที่เกี่ยวกับอาการนี้
โรคน้ำในหูไม่เท่ากันมีวิธีรักษาอย่างไรคับ
คำถามนี้ได้การตอบจากพยาบาลผู้เชี่ยวชาญ
ค่ารักษาประมาณกี่บาทครับ
คำถามนี้ได้การตอบจากพยาบาลผู้เชี่ยวชาญ