ต้องมีค่าความดันโลหิตเท่าไร จึงจะเรียกว่ามีภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะนี้เป็นอันตรายหรือไม่ และเสี่ยงต่อการเป็นโรคอะไรบ้าง?
ภาวะความดันโลหิตสูง (High Blood Pressure หรือ Hypertension) ใช้เรียกภาวะที่ความดันโลหิตมีค่า 140/90 mmHg หรือมากกว่านั้น
สูตรอาหารเสริม รวมสารสำคัญ 9 ชนิด สำหรับ เบาหวาน น้ำตาลในเลือดสูง ความดัน ไขมัน
ซื้อผ่าน HD ประหยัดกว่า / ราคาพิเศษสำหรับ นศ. / ผ่อน 0% / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
ตัวเลข 2 ชุดที่ใช้แทนค่าความดันโลหิต หมายถึง
- Systolic pressure : ค่าความดันที่เกิดขึ้นขณะที่หัวใจเต้นและฉีดเลือดออกไปเลี้ยงร่างกาย
- Diastolic pressure : ค่าความดันโลหิตขณะที่หัวใจคลายตัวระหว่างการเต้นแต่ละครั้ง
ตัวเลขทั้งสองค่าจะถูกวัดในหน่วย millimetres of mercury (mmHg) และ Systolic pressure มักจะถูกแสดงออกมาก่อน Diastolic pressure เสมอ
เส้นแบ่งระหว่างค่าความดันปกติกับค่าความดันที่สูงนั้นไม่มีการแบ่งไว้ตายตัว แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละบุคคล แต่แพทย์ส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องกันว่าค่าความดันโลหิตที่ดีที่สุดสำหรับคนที่มีสุขภาพดี คือประมาณ 120/80mmHg
อาการของภาวะความดันโลหิตสูง
ภาวะความดันโลหิตสูง มักไม่ทำให้เกิดอาการหรือปัญหาใด ๆ ในทันที เว้นแต่จะเป็นกรณีหายากหรือผู้ที่มีปัญหาความดันโลหิตสูงมาก
อาการที่สามารถพบได้จากภาวะความดันโลหิตสูง มีดังนี้
- ปวดศีรษะ
- การมองเห็นไม่ชัดเจนหรือเห็นภาพซ้อน
- เลือดกำเดาออกบ่อยครั้ง
- หายใจลำบาก
ถ้าหากมีความดันโลหิตสูงมาก แล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Diseases) เช่น
- โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Heart Disease) : ภาวะที่หลอดเลือดแดงหลักที่ส่งเลือดให้หัวใจ เกิดอุดตันด้วยคราบไขมันสะสม
- โรคหลอดเลือดสมอง (Strokes) : ภาวะร้ายแรงที่เกิดการติดขัดของหลอดเลือดที่ส่งเลือดไปเลี้ยงสมอง
- ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย/ภาวะหัวใจวาย (Heart Attacks) : ภาวะร้ายแรงที่เส้นทางส่งเลือดไปยังหัวใจเกิดการอุดตันขึ้น
- ลิ่มเลือด (Thrombosis) : ภาวะร้ายแรงที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดขึ้นภายในหลอดเลือด
- หลอดเลือดโป่งพอง (Aneurysm) : ภาวะร้ายแรงที่ทำให้ผนังหลอดเลือดอ่อนแรงลงจนทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดบวมออก
- โรคไต (Kidney Disease) : ภาวะความดันโลหิตสูงสามารถสร้างความเสียหายให้กับหลอดเลือดขนาดเล็กภายในไตและทำให้ไตทำงานบกพร่องลงได้
สาเหตุของภาวะความดันโลหิตสูง
ภาวะความดันโลหิตสูง มีอยู่ 2 ชนิด คือ
- ภาวะความดันโลหิตสูงชนิดปฐมภูมิ (Primary High Blood Pressure)
- ภาวะความดันโลหิตสูงชนิดทุติยภูมิ (Secondary High Blood Pressure)
ภาวะความดันโลหิตสูงชนิดปฐมภูมิ
สาเหตุของภาวะความดันโลหิตสูงชนิดปฐมภูมิยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงหลายชนิด ที่อาจทำให้เกิดภาวะนี้ได้ เช่น
- อายุที่เพิ่มขึ้น
- ประวัติครอบครัว
- มีเชื้อสายแอฟริกาแคริปเปียนหรือเอเชียใต้
- การรับประทานอาหารไขมันสูง
- การรับประทานอาหารที่มีเกลือสูง
- ขาดการออกกำลังกาย
- มีน้ำหนักร่างกายมากเกิน
- การสูบบุหรี่
- การบริโภคแอลกอฮอล์มากเกินไป
- ความเครียด
ภาวะความดันโลหิตสูงชนิดทุติยภูมิ
ภาวะความดันโลหิตสูงบางกรณี (ประมาณ 5-10% ของทั้งหมด) เป็นผลมาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
- ภาวะของไต เช่น การติดเชื้อที่ไต หรือโรคไต
- การตีบแคบลงของหลอดเลือดแดง
- ภาวะฮอร์โมนต่าง ๆ เช่น โรคคุชชิ่ง (Cushing's Syndrome)
- การใช้ยา เช่น การคุมกำเนิดชนิดรับประทาน หรือยาแก้ปวดกลุ่มต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drugs (NSAIDs)) เช่น ไอบูโพรเฟน
- การบริโภคแอลกอฮอล์มากเกินไป
- การใช้ยาเสพติด เช่น Cocaine, Amphetamines, และ Crystal Meth
การวินิจฉัยภาวะความดันโลหิตสูง
วิธีเดียวที่จะทราบว่าคุณมีความดันโลหิตสูงหรือไม่ คือการวัดความดันเป็นประจำเท่านั้น ก่อนจะวัดความดันโลหิต ควรนั่งเฉยๆ อย่างน้อย 5 นาทีและปัสสาวะให้เรียบร้อย เพื่อให้ได้ผลการวัดที่แม่นยำที่สุด ระหว่างทำการวัดความดันไม่ควรพูดคุยหรือทำกิจกรรมอื่น ๆ
การมีค่าความดันโลหิตสูง ไม่ได้หมายความว่าคุณจะมีภาวะความดันโลหิตสูงเสมอไป เพราะความดันสามารถเปลี่ยนแปลงค่าได้ตลอดทั้งวัน ความรู้สึกตื่นเต้นหรือกังวลที่จะมาพบแพทย์ก็ทำให้ความดันเลือดสูงขึ้นได้ด้วย
หากเป็นเช่นนี้ แพทย์อาจให้อุปกรณ์สำหรับวัดความดันเลือดกลับไปดำเนินการตรวจสอบเองที่บ้านเพื่อป้องกันภาวะ White Coat Syndrome (อาการกลัวแพทย์จนความดันขึ้น)
อุปกรณ์ที่ใช้วัดระดับความดันโลหิตที่นิยมใช้ในปัจจุบัน มีดังนี้
- Sphygmomanometer : เป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กที่ติดด้วยสายรัดแขนพองลมและมีตัววัดปรอทเหมือนกับปรอทวัดไข้ แพทย์จะทำการวัดชีพจรด้วยการใช้ Stethoscope ประกบที่หลอดเลือดแดง
- Digital Sphygmomanometer : เป็นเครื่องวัดกึ่งอัตโนมัติที่ใช้ตัวเซนเซอร์ไฟฟ้าในปลอกแขนวัดชีพจร ซึ่งปลอกแขนจะพองลมเพื่อจำกัดการไหลของเลือดที่แขนของก่อนจะค่อย ๆ คลายตัว
- อุปกรณ์วัดความดันแบบดิจิตัล (Digital Blood Pressure Devices) : คืออุปกรณ์วัดความดันที่หาซื้อได้ทั่วไป
การรักษาภาวะความดันโลหิตสูง
การรักษาภาวะความดันโลหิตสูง จะขึ้นอยู่กับระดับความดันโลหิตและความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดของคุณ (โดยการนำปัจจัยหลาย ๆ อย่างมาพิจารณารวมกัน)
มียามากมายที่ใช้ในการรักษาภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งผู้ป่วยอาจต้องใช้ยามากกว่าหนึ่งประเภทเพื่อให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ยาส่วนมากจะมีผลข้างเคียงอยู่บ้าง โดยอาการที่พบ มีดังนี้
- ง่วงนอน
- เจ็บปวดบริเวณที่อยู่ของไต (ตรงด้านข้างของหลังส่วนล่าง)
- ไอแห้ง
- วิงเวียน, หน้ามืด, หรือหมดสติ
- ผื่นขึ้นผิวหนัง
ยาที่มักนำมาใช้ในการรักษาภาวะความดันโลหิตสูง มีดังนี้
- Angiotensin-Converting Enzyme (ACE) Inhibitors : ออกฤทธิ์ด้วยการเข้ายับยั้งกิจกรรมของฮอร์โมนบางตัวที่ช่วยควบคุมความดันโลหิต ซึ่งจะช่วยลดปริมาณน้ำในเลือดและขยายหลอดเลือดแดงออกซึ่งช่วยลดความดันโลหิตลง หากได้รับผลข้างเคียงรุนแรง แพทย์จะเปลี่ยนไปใช้ยาที่ออกฤทธิ์คล้ายกัน คือ Angiotensin-2 Receptor Antagonist แทน
- Calcium Channel Blockers : ออกฤทธิ์ด้วยการคลายกล้ามเนื้อของผนังหลอดเลือดแดง ทำให้หลอดเลือดขยายและลดความดันโลหิตลง ตัวอย่างยากลุ่มนี้ ได้แก่ Diltiazem, Verapamil, Amolodipine, Nifedipine
- ยาขับปัสสาวะชนิด Thiazide : ออกฤทธิ์ด้วยการลดปริมาณน้ำในเลือดและขยายผนังหลอดเลือดแดงออก นอกจากนี้ยังสามารถลดระดับโพแทสเซียมในเลือดที่รบกวนการทำงานของหัวใจและไตลง ตัวอย่างยากลุ่มนี้ ได้แก่ Bendrofluazide, Furosemide, Torasemide
- Alpha-Blockers : ออกฤทธิ์ด้วยการป้องกันกล้ามเนื้อที่ผนังหลอดเลือด (Alpha Receptors) จากการถูกกระตุ้นและการรัดตัวของกล้ามเนื้อในผนังหลอดเลือด ยาจะช่วยให้หลอดเลือดคลายตัวและเปิดกว้างออกจนทำให้เลือดไหลผ่านได้ง่ายขึ้น ยากลุ่มนี้ก็มักไม่นิยมนำมาใช้ นอกจากใช้ยาอื่นรักษาไปแล้ว แต่ความดันโลหิตยังคงมีค่าสูงอยู่
- Beta-Blockers : ออกฤทธิ์ด้วยการชะลอการเต้นและแรงดันของหัวใจลง การลดลงนี้ทำให้เลือดถูกสูบฉีดออกไปเลี้ยงร่างกายได้ดีขึ้น ตัวอย่างของยากลุ่มนี้ ได้แก่ Atenolol, Bisoprolol, Carvedilol, Sotalol, Propranolol
การป้องกันภาวะความดันโลหิตสูง
ภาวะความดันโลหิตสูงสามารถควบคุมได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิต เช่น
- ออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที/วัน อย่างน้อย 5 ครั้ง/สัปดาห์ (เช่น การเดิน, ปั่นจักรยาน, หรือว่ายน้ำ)
- ลดปริมาณแอลกอฮอล์ให้อยู่ภายใต้ระดับที่แนะนำ (ผู้ชายให้น้อยกว่า 21 หน่วย/สัปดาห์, ผู้หญิงให้น้อยกว่า 14 หน่วย/สัปดาห์)
- รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และจำกัดการบริโภคเกลือให้น้อยกว่า 6 กรัม/วัน
- ลดน้ำหนัก หากคุณมีน้ำหนักร่างกายเกินหรือมีภาวะอ้วน
- จำกัดปริมาณการบริโภคคาเฟอีนให้น้อยลง
- ใช้เทคนิคบำบัดผ่อนคลายต่าง ๆ เช่น การทำสมาธิ หรือโยคะ