กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ภกญ. สุภาดา ฟองอาภา เภสัชกรหญิง
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ภกญ. สุภาดา ฟองอาภา เภสัชกรหญิง

ยาฉีดคุมกำเนิด (Contraceptive Injections)

ยาฉีดคุมกำเนิด หนึ่งในวิธีคุ้มกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถป้องกันได้นาน 1-3 เดือน ขึ้นกับชนิดของยา
เผยแพร่ครั้งแรก 11 ก.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 23 ม.ค. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
ยาฉีดคุมกำเนิด (Contraceptive Injections)

เมื่อตัดสินใจจะมีเพศสัมพันธ์ อย่าลืมคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยและโอกาสในการตั้งครรภ์ ซึ่งปัจจุบันมีวิธีป้องกันหลายแบบ ได้แก่ ถุงยางอนามัย ยาคุมกำเนิด แผ่นแปะคุมกำเนิด และยาฉีดคุมกำเนิด โดยในบทความนี้จะอธิบายเกี่ยวกับยาฉีดคุมกำเนิดว่า มีการทำงานอย่างไร และมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดมากน้อยเพียงใด

ยาฉีดคุมกำเนิด (Contraceptive Injections) คืออะไร?

ยาฉีดคุมกำเนิดเป็นวิธีคุมกำเนิดชั่วคราวที่เหมาะสมสำหรับสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่มีบุตรแล้ว และต้องการเว้นช่วงการมีบุตร แบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ ยาฉีดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ประกอบด้วย ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) และยาฉีดคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนอย่างเดียว

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ยาฉีดคุมกำเนิดเป็นวิธีคุมกำเนิดที่ออกฤทธิ์ได้ยาวนาน โดยแพทย์จะฉีดบริเวณต้นแขน หรือบั้นท้าย ครั้งละ 1 เข็ม ทุกๆ 3 เดือน เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ โดยควรฉีดภายใน 5-7 วันแรกของรอบประจำเดือนเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด

ยาฉีดคุมกำเนิดทำงานอย่างไร

ฮอร์โมนในตัวยาฉีดคุมกำเนิดจะทำงานโดยยับยั้งไม่ให้มีการตกไข่ในแต่ละเดือน ทำให้มูกที่ปากมดลูกข้นขึ้นจนตัวอสุจิไม่สามารถผ่านมาได้ โดยในระยะแรกของการฉีดยาคุมกำเนิดนั้น เยื่อบุโพรงมดลูกจะมีลักษณะเปลี่ยนไป ทำให้อยู่ในภาวะไม่เหมาะสมต่อการฝังตัวของไข่ที่ผสมแล้ว และหลังจากนั้นประมาณ 20 วัน เยื่อบุโพรงมดลูกจะฝ่อลงนั่นเอง

ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด

ยาฉีดคุมกำเนิดถือเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพมากชนิดหนึ่ง พบว่าเพียง 3 จาก 100 คู่รักมีโอกาสตั้งครรภ์จากการฉีดยาคุมกำเนิดในช่วงปีแรก อย่างไรก็ตาม อาจเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการตั้งครรภ์มากขึ้นหากเว้นระยะการฉีดยานานเกินกว่า 3 เดือน

โดยทั่วไปแล้วประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดแต่ละชนิดนั้นจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ปัญหาทางสุขภาพต่างๆ หรือการใช้ยารักษาโรคที่อาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยาคุมกำเนิด นอกจากนี้ประสิทธิภาพของยาฉีดคุมกำเนิดนั้นยังขึ้นอยู่กับระยะเวลาห่างในการฉีดยาแต่ละครั้ง จะต้องไม่เกิน 3 เดือน

ข้อดีของยาฉีดคุมกำเนิด

  • มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูง
  • สามารถคุมกำเนิดได้นานถึง 3 เดือน
  • ไม่ต้องรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดทุกวัน
  • ป้องกันการตั้งครรภ์นอกมดลูก มะเร็งรังไข่ และเนื้องอกในมดลูก
  • สามารถใช้ได้ในหญิงให้นมบุตร ไม่ส่งผลต่อคุณภาพของน้ำนม
  • ราคาถูกเมื่อเทียบกับวิธีอื่นๆ เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด การใส่ห่วงอนามัย

ยาฉีดคุมกำเนิดป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่

ยาฉีดคุมกำเนิดไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ และจากการศึกษาวิจัยพบว่ายาฉีดคุมกำเนิดจะยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงในการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ง่ายขึ้นอีกด้วย อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่อาจตอบได้ว่าเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนี้

ดังนั้นเวลามีเพศสัมพันธ์จึงต้องใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วยทุกครั้ง เพื่อป้องกันโรคติดต่อที่อาจมาพร้อมกับการมีเพศสัมพันธ์ได้ และวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการตั้งครรภ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คือการงดมีเพศสัมพันธ์ (Abstinence) นั่นเอง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ผลข้างเคียงของยาฉีดคุมกำเนิด

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ทั่วไป

  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือมีภาวะประจำเดือนขาด
  • มีเลือดออกกะปริบกะปรอยจากโพรงมดลูก
  • น้ำหนักขึ้น ปวดศีรษะ และปวดคัดเต้านม
  • มีอารมณ์หดหู่ แปรปรวน
  • น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
  • ภาวะกระดูกบาง เนื่องจากฮอร์ไมนโปรเจสตินจะไปยับยั้งการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนจากรังไข่ ทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง มีผลทำให้มวลกระดูกลดลง ความหนาแน่นกระดูกลดลง (Bone mineral density) แต่พบว่าเป็นแบบชั่วคราว เมื่อหยุดฉีดยาคุมความหนาแน่นของมวลกระดูกจะกลับคืนมาปกติ
  • มึนงง เวียนศีรษะ

ผลข้างเคียงเมื่อใช้ยาฉีดคุมกำเนิดในระยะยาว

องค์การอาหารและยาสหรัฐ (United States Food and Drug Administration: FDA) ได้ออกคำเตือนเรื่องความปลอดภัยเกี่ยวกับการใช้ยาฉีดคุมกำเนิดในระยะยาว มีการศึกษาวิจัยพบว่า การใช้ยาฉีดคุมกำเนิดเชื่อมโยงกับโรคกระดูกพรุน และพบว่าอาการดังกล่าวจะหายไปเมื่อเลิกใช้ยาฉีดคุมกำเนิด

ดังนั้นหากจำเป็นต้องได้รับยาฉีดคุมกำเนิดควรขอคำแนะนำจากแพทย์ก่อน และเมื่อฉีดแล้วต้องแน่ใจว่าได้รับแคลเซียมเพียงพอในแต่ละวัน และเนื่องจากการสูบบุหรี่มีความเชื่อมโยงกับการเกิดโรคกระดูกพรุนและเพิ่มโอกาสทำให้เกิดผลข้างเคียงอื่นๆ จากการฉีดยาได้ จึงควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนตัดสินใจฉีดยาคุมด้วย

ผลข้างเคียงหลังจากหยุดใช้ยาฉีดคุมกำเนิด

เมื่อหยุดใช้ยาฉีดคุมกำเนิด ร่างกายอาจตกไข่น้อยลงเป็นระยะเวลานาน บางรายอาจมีอาการเป็นปี ซึ่งเป็นเรื่องปกติ และไม่จำเป็นต้องกังวล เพราะยังสามารถตั้งครรภ์ได้ปกติ

ยาฉีดคุมกำเนิดเหมาะกับใคร

การใช้วิธีคุมกำเนิดในแต่ละชนิดต้องดูที่ความเหมาะสมของแต่ละบุคคล เช่น ถ้าเป็นคนขี้ลืมก็ไม่ควรรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดที่ต้องรับประทานทุกวัน โดยยาฉีดคุมกำเนิดนั้นเหมาะกับผู้ที่ต้องการวิธีคุมกำเนิดที่ให้ประสิทธิภาพสูง นอกจากนี้หญิงให้นมบุตรก็สามารถรับยาฉีดคุมกำเนิดได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าผู้หญิงทุกคนจะสามารถรับยาฉีดคุมกำเนิดได้ สำหรับผู้ที่รับประทานยารักษาโรคอื่นๆ อยู่ หรือมีปัญหาทางสุขภาพก็อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของยาฉีดคุมกำเนิดและเป็นอันตรายได้ โดยแพทย์จะไม่แนะนำยาฉีดคุมกำเนิดให้กับผู้ป่วยที่มีอาการเกล็ดเลือดจับตัวเป็นลิ่ม โรคมะเร็งบางชนิด และผู้ที่มีอาการปวดไมเกรน

จะรับการฉีดยาคุมกำเนิดได้อย่างไร

การฉีดยาคุมกำเนิดนั้นต้องฉีดโดยแพทย์ หรือสูตินรีแพทย์ และจะต้องฉีดเป็นประจำทุกๆ 3 เดือน หรือ 1 เดือน แล้วแต่ชนิดของยา

ราคาของยาฉีดคุมกำเนิด

การฉีดยาคุมกำเนิดมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,500-2,000 บาท สำหรับการฉีดทุกๆ 3 เดือน ซึ่งการฉีดตามโรงพยาบาลรัฐ หรือศูนย์อนามัยของรัฐอาจมีราคาถูกกว่าซื้อตามร้านขายยา นอกจากนี้ การปรึกษาแพทย์เพื่อการคุมกำเนิดและการคุมกำเนิดมักได้รับการครอบคลุมอยู่ในแผนประกันสุขภาพด้วย

ข้อห้ามในการใช้ยาฉีดคุมกำเนิด

  • มะเร็งเต้านม
  • เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • โรคเส้นเลือดอุดตัน
  • โรคหัวใจขาดเลือด
  • ความดันโลหิตสูงกว่า 160/100 มิลลิเมตรปรอท และมีโรคของหลอดเลือด
  • เป็นโรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ หรือมีโรคไต
  • เป็นโรคตับอักเสบ หรือโรคตับแข็ง
  • เนื้องอกหรือมะเร็งตับ
  • มีเลือดออกจากช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีภาวะกระดูกพรุน
  • มีภาวะซึมเศร้าอย่างรุนแรง
  • มีภาวะอ้วน

ยาฉีดคุมกำเนิดนั้นไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้หนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ หากมีอาการเลือดออกทางช่องคลอดในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน หรือสงสัยว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

หากผู้หญิงท่านใดสนใจและต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับการคุมกำเนิด ผลข้างเคียงของวิธีการคุมกำเนิดในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการฉีดยาคุมกำเนิด สามารถปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง หรือสูตินรีแพทย์เพื่อขอรับคำแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสมได้


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
กรมอนามัย-ยาฉีดคุมกำเนิดมีการออกฤทธิ์อย่างไร (http://apps.hpc.go.th/dl/web/upFile/2019/03-10077-20190301100033/531fdd33796351aa2a767535c9acaeb9.pdf), January 2019
Larissa Hirsch, Birth Control Shot (http://kidshealth.org/en/teens/contraception-depo.html), August 2018

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป