ตรีผลา สมุนไพรตำรับเพื่อสุขภาพ

ตรีผลา สมุนไพรที่ผสมระหว่างสมอไทย สมอพิเภก และมะขามป้อม มีหลายรูปแบบ สรรพคุณมากมาย
เผยแพร่ครั้งแรก 13 ต.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
ตรีผลา สมุนไพรตำรับเพื่อสุขภาพ

ตรีผลา เป็นพิกัดยาสมุนไพรไทยที่ใช้กันมายาวนาน ประกอบด้วยสมุนไพร 3 ชนิด ได้แก่ สมอไทย (Terminalia chebula Retz.) สมอพิเภก (Terminalia belerica Roxb.) และมะขามป้อม (Phyllanthus emblica Linn.) ในอัตราส่วน 1:1:1 ในตรีผลามีสารสำคัญกลุ่มฟีนอลิก (Phenolic) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระปริมาณมาก ถือว่าเป็นสมุนไพรตำรับที่มีสรรพคุณหลากหลาย ปัจจุบันจึงเป็นที่นิยม ทั้งในรูปแบบยารักษาโรค เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ รวมถึงใช้เป็นส่วนผสมในอาหารเสริม เครื่องสำอาง ยาสีฟัน 

สรรพคุณของตรีผลา

ตรีผลา มีสรรพคุณดังนี้

  1. รักษาสมดุลของระบบย่อยอาหาร ช่วยลดกรด และเพิ่มความรู้สึกอยากอาหาร
  2. กำจัดของเสียออกจากร่างกาย เป็นยาระบาย
  3. ช่วยขับเสมหะ แก้ไอ แก้เจ็บคอ
  4. มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยต้านการอักเสบ ชะลอความเสื่อมของเซลล์ จึงช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด ปวดเข่า รวมไปถึงมะเร็ง 
  5. ออกฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด
  6. ช่วยลดระดับไขมันในเลือด ทั้งคอเลสเตอรอล (Cholesterol) ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) และไขมันดี (LDL)
  7. ออกฤทธิ์ต้านเชื้อราและแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคผิวหนัง
  8. ตามทฤษฎีแพทย์แผนไทย ตรีผลาเป็นยาประจำฤดูร้อน ช่วยปรับสมดุลร่างกาย ปรับธาตุต่างๆ ให้ทำงานอย่างปกติ ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย บรรเทาและป้องกันโรคหวัด รวมถึงโรคทางเดินหายใจอื่นๆ
  9. เมื่อใช้ภายนอกจะช่วยบำรุงผิวพรรณ ทำให้ผิวกระจ่างใส 

ตรีผลากับการลดน้ำหนัก

เนื่องจากตรีผลามีสรรพคุณช่วยระบาย ช่วยให้การทำงานของระบบขับถ่ายดีขึ้น มีการขับน้ำและของเสียมากขึ้น จึงส่งผลทำให้น้ำหนักลดลง สอดคล้องกับการทดลองในผู้ป่วยโรคอ้วนที่รับประทานตรีผลาผสมกับมหาหิงคุ์เทียบกับยาหลอก พบว่าน้ำหนักลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่เพื่อการลดน้ำหนักอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ออกกำลังกาย และอาจรับประทานตรีผลาเพื่อเป็นส่วนช่วยปรับสมดุลการทำงานของร่างกาย 

วิธีการรับประทานตรีผลา

ตรีผลาสามารถใช้ดื่มหรือรับประทานได้หลายแบบ เช่น

  1. ในรูปแบบน้ำดื่ม ใช้สมอไทย สมอพิเภก และมะขามป้อมสดหรือแห้ง อย่างละ 1 ส่วนเท่าๆ กัน ต้มในน้ำสะอาด ดื่มน้ำต้มครั้งละ 1 แก้ว เวลาเช้าและเย็น จะช่วยให้ระบบขับถ่ายและการระบายของเสียในร่างกายทำงานดีขึ้น
  2. ยาชนิดเม็ด ลูกกลอน และแคปซูล รับประทานครั้งละ 200-300 มิลลิกรัม สำหรับขับเสมหะและเป็นยาระบาย
  3. ตำรับอายุรเวท ใช้ผงสมุนไพรตรีผลาผสมน้ำ เนย หรือน้ำผึ้ง รับประทานครั้งละ 1-2 กรัม วันละ 2 ครั้ง สำหรับบำรุงร่างกาย กระตุ้นภูมิคุ้มกัน และเป็นยาระบายอ่อนๆ

ผลข้างเคียงของการใช้ตรีผลา

ในกลุ่มผู้ที่ท้องเสียง่าย หลังจากดื่มหรือรับประทานตรีผลาเข้าไปอาจเกิดอาการท้องเสีย


7 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล, สมุนไพรและเครื่องยาไทย ในยาสามัญประจำบ้าน (สมอพิเภก), ธันวาคม 2557.
รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล, สมุนไพรและเครื่องยาไทย ในยาสามัญประจำบ้าน (สมอไทย), ธันวาคม 2557.
รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล, สมุนไพรและเครื่องยาไทย ในยาสามัญประจำบ้าน (มะขามป้อม), ธันวาคม 2557.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป