กองบรรณาธิการ HonestDocs
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HonestDocs

HPV (เอชพีวี)

เผยแพร่ครั้งแรก 24 ธ.ค. 2016 อัปเดตล่าสุด 7 ธ.ค. 2022 เวลาอ่านประมาณ 7 นาที

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • เชื้อ HPV เป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อหากันได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ หรือการสัมผัสรอยโรคโดยตรง อีกทั้งสายพันธุ์เชื้อไวรัสของโรคนี้ยังมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ด้วย
  • กลุ่มผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อ HPV คือ ผู้ที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อย อายุน้อยกว่า 25 ปี ผู้ชายที่ได้ขลิบอวัยวะเพศ
  • เชื้อ HPV ป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน และงดมีเพศสัมพันธ์ วัคซีนจะสามารถป้องโรคได้ดีที่สุดเมื่อฉีดก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก
  • โรคมะเร็ง คือ โรคแทรกซ้อนที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ HPV มากที่สุด โดยเฉพาะโรคมะเร็งปากมดลูกที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสตัวนี้มากถึง 70%
  • คุณควรมีพฤติกรรมทางเพศที่ถูกสุขอนามัย สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือหากไม่มั่นใจว่า ตนเองติดเชื้อใดๆ จากคู่นอนมาก่อนหรือไม่ ก็สามารถไปตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์กับแพทย์ได้ (ดูแพ็กเกจตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ที่นี่)

ความหมายของเชื้อ HPV

HPV คือ ชื่อย่อของเชื้อไวรัสชื่อว่า "Human Papilloma Pirus" อยู่ในตระกูลไวรัสพาพิลโลมา (Papilloma virus) ซึ่งมีมากกว่า 150 สายพันธุ์ย่อย เป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อที่เยื่อบุผิว รวมถึงก่อโรคบริเวณอวัยวะเพศ และทวารหนักทั้งในผู้หญิง และผู้ชาย 

โดยปกติแล้วเชื้อไวรัส HPV จะหายไปได้เองภายใน 1-2 ปีหลังจากติดเชื้อ แต่ก็มีผู้ป่วยบางส่วนที่เชื้อที่จะติดฝังแน่นอยู่ในร่างกาย ซึ่งเชื้อเหล่านี้ก็คือ สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก ที่อาจอาศัยในร่างกายนานถึง 10-15 ปี โดยไม่แสดงอาการ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ฉีดวัคซีน HPV วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 2548 บาท ลดสูงสุด 63%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ประเภทของเชื้อ HPV

เชื้อ HPV จะสามารถอาศัยอยู่ในเซลล์เยื่อบุผิวหนัง และในเยื่อมูกที่ปกคลุมหลายส่วนของร่างกาย เช่น

  • ภายในจมูก ปาก และลำคอ
  • ด้านในของเปลือกตา
  • ด้านในของผิวหนังและท่อปัสสาวะที่องคชาติ
  • ช่องคลอด ปากมดลูกและอวัยวะเพศภายนอก
  • ทวารหนัก

เชื้อ HPV ที่พบในปัจจุบันมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ โดยประมาณ 75% ของจำนวนสายพันธุ์ที่พบ สามารถทำให้เกิดหูดที่ผิวหนัง เช่น บริเวณแขน หน้า หน้าอก มือ และเท้า (อ้างอิงจากสมาคมโรคมะเร็งแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา) 

นอกจากนี้ ยังมีเชื้อ HPV อีกประมาณ 40 สายพันธุ์ที่สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศได้ โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 

  • กลุ่มที่มีความเสี่ยงน้อย (Low risk type) คือ เชื้อไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง เช่น สายพันธุ์ 6 และ 11 แต่ก่อให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ได้
  • กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง (High risk type) คือ เชื้อที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้ เช่น สายพันธุ์ 16, 18, 31, 33, 35, 39, 45, 51, 52, 56, 58, 59, 68, 69, 73, 82  โดยเฉพาะสายพันธุ์ 16 และ 18 ที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้มากถึง 70% ทั้งนี้มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 ในหญิงไทย รองจากมะเร็งเต้านม

คุณติดเชื้อ HPV ได้อย่างไร

เชื้อ HPV สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสกับเชื้อโดยตรง ส่วนมากมักได้รับเชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าเป็นทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือปาก 

ส่วนมาก ผู้ชายมักเป็นฝ่ายนำเชื้อ HPV ไปสู่ผู้หญิงโดยที่ไม่รู้ตัว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคู่นอนของคุณนอกใจ เพราะไม่มีใครไม่สามารถตอบได้ว่าได้รับเชื้อมาเมื่อไร

นอกจากนี้ เชื้อ HPV ที่ก่อให้เกิดหูดที่ผิวหนัง ก็สามารถติดต่อหากันได้ด้วยการสัมผัสจากรอยโรคโดยตรง ทั้งยังสามารถแพร่เชื้อนี้ไปยังบุคคลอื่น หรืออวัยวะส่วนอื่นของตัวคุณเองได้ด้วย 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ฉีดวัคซีน HPV วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 2548 บาท ลดสูงสุด 63%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นหูดที่ผิวหนัง ประกอบด้วยเด็กเล็ก กลุ่มวัยรุ่น ผู้ที่ชอบกัดนิ้ว และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง 

อาการของการติดเชื้อ HPV อาจเกิดขึ้นหลายปีหลังจากติดเชื้อ และสามารถแพร่เชื้อไปยังคนอื่นได้ในช่วงที่ไม่มีอาการ จึงทำให้เชื้อนี้แพร่กระจายจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้ง่าย โดยที่ทั้งคู่ไม่รู้เลยว่า ตนเอง หรืออีกฝ่ายมีเชื้อ HPV อยู่

ผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ HPV 

  • ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV
  • มีคู่นอนหลายคน
  • มีคู่นอนที่มีคู่นอนหลายคน
  • มีอายุน้อยกว่า 25 ปี
  • เริ่มมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อยกว่า 16 ปี
  • เป็นผู้ชายที่ไม่ได้ขลิบอวัยวะเพศ
  • เป็นผู้หญิงที่มีคู่นอนเป็นชายที่ไม่ได้ขลิบอวัยวะเพศ

การวินิจฉัยโรคติดเชื้อ HPV

แพทย์สามารถตรวจคัดกรองการติดเชื้อ HPV ได้จากวิธีหลักๆ ดังต่อไปนี้

  1. การตรวจ Papanicolaou Smear หรือ "แปบเสมียร์ (Pap smear)" แพทย์จะใช้แผ่นไม้บางๆ เล็กๆ รูปร่างคล้ายไม้พายป้ายบริเวณรูปากช่องคลอด ก่อนจะนำมาป้ายบนสไลด์แล้วนำไปย้อมสี จากนั้นจึงนำมาส่องดูลักษณะของเซลล์
    หากมีการติดเชื้อจะพบว่า ลักษณะเซลล์มีความผิดปกติไปจากเดิม 
  2. การตรวจด้วยเทคนิคที่เรียกว่า "Liquid-based solution" การตรวจจะคล้ายคลึงกับการตรวจแปบสเมียร์ แต่จะเป็นการเก็บเซลล์ที่จะตรวจในน้ำยาเฉพาะ แทนการป้ายเซลล์บนแผ่นแก้ว (Slide) ซึ่งจะให้ความแม่นยำในการตรวจสูงกว่าการตรวจแปบสเมียร์ 
  3. การตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อ ซึ่งสามารถบอกได้ถึงชนิดของเชื้อ HPV ว่า เป็นกลุ่มที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งสูง หรือต่ำ

การรักษาโรคติดเชื้อ HPV

ภาวะติดเชื้อ HPV ไม่สามารถรักษาให้หายได้ อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อชนิดนี้มักหายไปได้เองเมื่อเวลาผ่านไป โดยหากตรวจพบเชื้อ แพทย์จะนัดมาติดตามอาการเพื่อดูว่า เชื้อยังคงอยู่หรือไม่ และมีสัญญาณที่แสดงว่า เชื้อทำให้เกิดเซลล์มะเร็งขึ้นหรือไม่ 

หากแพทย์พบว่า มีเซลล์มะเร็งเกิดขึ้น แพทย์จะได้ให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที โดยการรักษาที่ใช้ในผู้ป่วยที่มีเซลล์มะเร็งจากเชื้อไวรัส HPV ได้แก่ การทำเคมีบำบัด การฉายรังสี และการผ่าตัด ซึ่งอาจใช้หลายวิธีร่วมกันได้

ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคหูดหงอนไก่จากเชื้อ HPV สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยา การจี้หูดด้วยไฟฟ้า หรือการจี้ด้วยความเย็น แต่การกำจัดหูดออกก็ไม่ได้ช่วยกำจัดไวรัสด้วยแต่อย่างใด และมีโอกาสที่จะเกิดหูดหงอนไก่ขึ้นอีกครั้งได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ฉีดวัคซีน HPV วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 2548 บาท ลดสูงสุด 63%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

การรักษาเพื่อยับยั้งการเกิดโรคมะเร็งจากเชื้อ HPV

ในผู้หญิงบางคนที่ติดเชื้อ HPV บางสายพันธุ์อาจทำให้เกิดการเจริญของเซลล์ระยะก่อนเป็นมะเร็งบริเวณผิวของปากมดลูก ซึ่งในเวลาต่อมา ก็จะสามารถเกิดเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกได้ในภายหลัง 

เพราะโรคมะเร็งปากมดลูกเกือบทั้งหมดนั้น มีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อ HPV อ้างอิงจากศูนย์ป้องและควบคุมโรค 70% ของผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งปากมดลูก จะเกิดจากการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 

ดังนั้นการตัดเซลล์ผิดปกติที่ยังไม่เป็นมะเร็งออกก่อน จึงช่วยยับยั้งการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ การมีเซลล์ผิดปกติระดับรุนแรงสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดหลายวิธี เช่น

  • ไครโอเซอเจอรี่ (Cryosurgery)
  • การทำเลเซอร์
  • โคลด์ ไนฟ์ โคไนเซชั่น (Cold knife conization) หรือ โคลด์ ไนฟ์ โคน ไอออบซี (Cold Knife Cone Biopsy) ซึ่งเป็นการตัดเนื้อเยื่อที่ผิดปกติด้วยมีด หรือเลเซอร์เป็นรูปโคน
  • การผ่าตัดด้วยไฟฟ้า

ในบางกรณีแพทย์อาจต้องตัดมดลูกออกบางส่วน หรือทั้งหมดด้วย แต่พบได้น้อย

การติดเชื้อ HPV สามารถรักษาหายได้หรือไม่

ยังไม่มียาฆ่าเชื้อ HPV ได้โดยเฉพาะ แต่มีวิธีดูแลหลายทางที่สามารถทำได้เพื่อให้คุณมีสุขภาพที่แข็งแรงและปลอดภัย 

ยิ่งไปกว่านั้น HPV ยังสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนที่สามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง รวมถึงสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ได้  

นอกจากนี้ โดยส่วนใหญ่ร่างกายของเราจะสามารถต่อสู้กับไวรัส HPV ได้ ก่อนที่มันจะทำอันตรายต่อร่างกาย และก่อนที่คุณจะรู้ว่า ตนเองติดเชื้อ HPV ด้วยซ้ำ 

เชื้อ HPV สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงสามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้ ดังนั้นการตรวจแป้บ (Pap) เพื่อคัดกรองเซลล์ผิดปกติ และ / หรือการตรวจหาเชื้อ HPV เป็นประจำ คือ วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการเป็นมะเร็งปากมดลูก

การป้องกันเชื้อ HPV

  • วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันคือ การไม่มีเพศสัมพันธ์ แต่หากต้องการมีเพศสัมพันธ์ ให้สวมถุงยางอนามัยป้องกันทุกครั้ง และยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วย
  • ไม่เปลี่ยนคู่นอนหลายคน และลดพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ เช่น การไปสถานบริการทางเพศ การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย 
  • ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV โดยควรฉีดวัคซีนชนิด 4 สายพันธ์ุ ที่สามารถป้องกันได้ทั้งโรคหูดหงอนไก่ มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งอื่นๆ จากการติดเชื้อนี้ ปัจจุบันผู้ชายสามารถฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV ได้ ตั้งแต่อายุ 9-26 ปี ส่วนผู้หญิงฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9-45 ปี 
  • เข้ารับการตรวจภายในเป็นประจำเพื่อลดความเสี่ยงจากมะเร็งปากมดลูก เพราะแม้จะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันแล้วก็ยังคงมีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งชนิดนี้ หรือมะเร็งอื่นๆ ได้

คำถามจากผู้ป่วยเกี่ยวกับเชื้อ HPV

ไวรัส HPV ในผู้ชายเป็นอันตรายมากไหมครับ?

คำตอบ: ไวรัส HPV เป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อนี้จึงพบได้บ่อยในผู้ที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ และการติดเชื้อ HPV บางชนิดยังมีความสัมพันธ์กับมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงด้วยค่ะ

สำหรับผู้ชายการติดเชื้อชนิดนี้อาจทำให้เกิดโรคหูดที่อวัยวะเพศ และที่ทวารหนัก หรือที่เรียกกันว่า "หูดหงอนไก่" รวมถึงมะเร็งบริเวณช่องทวาร มะเร็งอวัยวะเพศ และมะเร็งบริเวณช่องปาก หรือบางรายอาจไม่มีอาการใดๆ หลังได้รับเชื้อ 
ตอบโดย วิภา สุวรรณชีวะศิริ (พญ.)

เด็กสามารถเริ่มฉีดวัคซีน HPV ได้ตั้งแต่กี่ขวบคะ?

คำตอบ: สำหรับอายุของผู้ฉีด งานวิจัยชุดแรกทำในคนอายุ 9-26 ปี จึงเป็นคำแนะนำมาตรฐานว่า วัคซีนนี้เหมาะสำหรับคนอายุ 9-26 ปี แต่ภายหลังก็มีงานวิจัยอื่นๆ ที่ชี้ว่า อายุมากกว่านี้ก็สามารถฉีดได้ครับ
ตอบโดย Dr.Chaiwat J.(หมอเปี๊ยก) (นพ.)

การเลือกฉีดวีคซีนป้องกัน HPV มีความคุ้มค่าเพียงใด?

คำตอบ 1: การฉีดวัคซีน HPV จะได้ประโยชน์สูงสุด ถ้าฉีดก่อนที่จะติดเชื้อ HPV หรือก่อนมีเพศสัมพันธ์ เพราะการติดเชื้อ HPV ส่วนมากเกือบทั้งหมดเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่มีเชื้อ HPV อยู่ ซึ่งผู้ชายจะไม่มีอาการผิดปกติให้สังเกตเห็นก่อนได้เลย

การฉีดวัคซีน HPV สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป โดยในต่างประเทศจะแนะนำให้ฉีดวัคซีนในช่วงอายุ 12-14 ปี ด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ 1. ส่วนมากยังไม่มีเพศสัมพันธ์  2. ยังไม่ติดเชื้อ HPV และ 3. วัคซีนสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้สูงกว่าในผู้ใหญ่ 

แต่หากเคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ก็ยังจะควรฉีดอยู่ดี เพราะเชื้อ HPV ที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกมีหลายสายพันธุ์ ที่พบได้บ่อย คือ สายพันธุ์ 16 และ 18 นอกจากนี้ วัคซีนบางชนิดยังมีการเสริมสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันทำให้สามารถป้องกันเชื้อ HPV สายพันธุ์ก่อมะเร็งอื่นๆได้ 

อย่างไรก็ตาม แม้เราจะมีเพศสัมพันธ์แล้วก็เป็นไปได้ว่า อาจยังไม่เคยติดเชื้อ HPV หรือหากติดเชื้อมาแล้วก็ยังได้ประโยชน์จากวัคซีนอยู่ เนื่องจากยังสามารถป้องกันสายพันธุ์อื่นที่ยังไม่เคยติดได้
ตอบโดย ชยากร พงษ์พยัคเลิศ (นพ.)

คำตอบ 2: วัคซีน HPV จะป้องกันมะเร็งปากมดลูกเฉพาะสายพันธ์ุที่วัคซีนนั้นผลิตเท่านั้น และจะป้องกันโรคหูดหงอนไก่เฉพาะสายพันธ์ุที่ผลิตในวัคซีน ส่วนสายพันธ์อื่นๆ ป้องกันไม่ได้ 

ดังนั้นหลังฉีดวัคซีนแล้ว คุณยังคงต้องตรวจหามะเร็งปากมดลูกอยู่เสมอด้วยการทำแปปสเมียร์ เพราะวัคซีนนี้ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นได้ และแม้ว่าจะฉีดวัคซีนครบ คุณก็ต้องมีความตระหนักในการมีพฤติกรรมทางเพศที่สุขอานามัย เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วยค่ะ
ตอบโดย วลีรักษ์ จันทร (พว.)

คำตอบ 3: วัคซีน HPV สามารถป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ค่ะ แต่เนื่องจากวัคซีนมีราคาค่อนข้างสูง (เมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนชนิดอื่นๆ ที่ใช้ในการป้องกันโรค) ดังนั้นการเลือกใช้จึงขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์ของแต่ละบุคคลค่ะ 

ความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อจะเกิดขึ้นภายใน 1 เดือน หลังจากได้รับวัคซีนครบ 3 เข็ม ส่วนระยะเวลาในการป้องกันโรคของวัคซีนยังคงต้องติดตามผลต่อไป 

เนื่องจากวัคซีนยังไม่มีข้อมูลประสิทธิผลของวัคซีนยาวเกินกว่า 10 ปี และเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการฉีดวัคซีน HPV ควรได้รับวัคซีนตั้งแต่ยังไม่ติดเชื้อ HPV นั่นคือ ก่อนการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ซึ่งวัคซีนนี้สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9–26 ปี
ตอบโดย รัชนี รุ่งราตรี (พญว.)

อายุ 24 สามารถไปฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้เปล่าคะ แล้วเข็มละเท่าไหร่คะ ค่าใช้จ่ายแต่ละโรงพยาบาล เท่ากันเปล่าคะ?

คำตอบ: อายุ 24 ปี ถ้าไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อนสามารถฉีดวัคซีน HPV ได้เลยค่ะ 

แต่หากคุณเคยมีเพศสัมพันธ์มาแล้ว คุณควรตรวจแปปสเมียร์เพื่อหาเชื้อ HPV ก่อน เพราะถ้าได้รับเชื้อไวรัส HPV มาแล้ว วัคซีนนี้จะไม่สามารถช่วยป้องกัน หรือรักษาได้ค่ะ ส่วนราคาของวัคซีน โดยเฉลี่ยเข็มละ 2,000-4,000 บาทค่ะ ขึ้นอยู่กับว่า เป็นวัคซีนชนิดกี่สายพันธุ์

โดยปกติ หากไปรับวัคซีรที่โรงพยาบาลของรัฐ ราคาจะถูกกว่าโรงพยาบาลเอกชนนะคะ ดังนั้นให้คุณลองสอบถามโรงพยาบาลที่สะดวกจะไปรับบริการก่อนได้ค่ะ 
ตอบโดย ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก)

HPV แม้จะมีอันตรายสูง ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้ แต่อย่างน้อยโรคนี้ก็สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันให้ครอบคลุมสายพันธุ์ที่ก่อโรค และอีกวิธีป้องกันโรคนี้ซึ่งทำได้ง่ายๆ ก็คือ มีเพศสัมพันธ์อย่างถูกสุขอนามัยทุกครั้ง

บทความที่เกี่ยวข้อง

วัคซีน HPV 4 สายพันธุ์ ฉีดง่ายใช้เวลาไม่นาน แต่ป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 90% | HDmall
ฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก ไม่เจ็บอย่างที่คิด | HDmall
รีวิวตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ตรวจหาเชื้อ HPV และอัลตราซาวด์หาเนื้องอกมดลูกและรังไข่ ที่โรงพยาบาลพญาไท 3 | HDmall

ดูแพ็กเกจตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


21 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
วัคซีน hpv 2 สายพันธุ์ 4 สายพันธุ์ คืออะไร ต่างกันยังไง? | HDmall (https://hdmall.co.th/c/summary-vaccine-hpv-in-1-page).
วัคซีน HPV ป้องกันโรคอะไร? คืออะไร? | HDmall (https://hdmall.co.th/c/what-disease-hpv-vaccine-can-provent).
วัคซีน HPV ฉีดตอนไหน? อายุเท่าไร? | HDmall (https://hdmall.co.th/c/when-you-should-get-hpv-vaccine).

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

ดูคำถามและคำตอบอื่นๆ ที่เกี่ยวกับอาการนี้
เป็นไข้หวัดใหญ่ชนิดเดียวกันในช่วงๆเวลาใกล้กันได้หรือไม่คะ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
สงสัยคะทำไมคนไข้ส่วนใหญ่จะติดเชื้อในกระแสเลือดคะ
คำถามนี้ได้การตอบจากพยาบาลผู้เชี่ยวชาญ
เชื้อ HPV เกิดขึ้นได้อย่างไร และสามารถติดต่อกันทางเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่ ถ้าได้..สามารถตรวจเช็คได้ทางไหนบ้าง
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
ปัญหาสิวในวัย30+
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
เรื่องความเข้มข้นของเลือดในการบริจาคเลือดค่ะ เคยบริจาคได้ แต่สองสามปีมานี้ ทั้งพักผ่อน อกล ก็ยังไม่สามารถบริจาคเลือดได้ค่ะ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
การใส่เหล้ก จำเป้นไหมไม่ที่ไม่ผ่าออก
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)