โรคหัวใจ นับเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมาก องค์การอนามัยโลกเปิดเผยว่า กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโลก ซึ่งคิดเป็น 31% ของการเสียชีวิตของคนทั้งโลก ขณะที่ในประเทศไทยพบว่าอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 20,855 คนต่อปี ทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย EST คือหนึ่งในวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดลงได้
การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย EST คืออะไร?
การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test: EST) คือการทดสอบหัวใจขณะที่กำลังออกกำลังกายโดยการวิ่งบนสายพานหรือปั่นจักรยาน เพื่อตรวจสอบว่าขณะที่ร่างกายกำลังออกแรงอย่างหนักอยู่นั้น กล้ามเนื้อหัวใจได้รับเลือดและออกซิเจนมาหล่อเลี้ยงเพียงพอหรือไม่ (ซึ่งหากอยู่ในภาวะปกติที่ไม่ได้ออกกำลังกาย ผู้ป่วยอาจไม่แสดงอาการใดๆ เลย)
ตรวจหัวใจและหลอดเลือดวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 294 บาท ลดสูงสุด80%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
ทั้งนี้ เมื่อผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตันต้องออกกำลังกาย จะทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอจนเกิดอาการหายใจลำบาก เจ็บ จุกแน่นหน้าอก การเต้นของหัวใจผิดปกติ หรือคลื่นไฟฟ้าหัวใจมีการเปลี่ยนแปลง
อาการเหล่านี้จะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยในเบื้องต้นได้ว่า ผู้ป่วยอาจมีหลอดเลือดหัวใจเส้นใดเส้นหนึ่งตีบตัน เพื่อวางแผนการตรวจและรักษาต่อไป
ใครควรตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย EST บ้าง?
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้ ควรเข้ารับการตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย EST เป็นประจำทุกปี เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการป่วยจากโรคหัวใจและหลอดเลือด
- ผู้ที่สูบบุหรี่
- ผู้สูงอายุ
- ผู้ที่เคยมีอาการเจ็บหน้าอกโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดของอวัยวะอื่นอยู่แล้ว
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง
- ผู้ป่วยที่เคยได้รับการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ
- ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ หลอดเลือดสมองตีบ
การเตรียมตัวก่อนการตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย EST
ผู้ที่ต้องการตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย EST ควรเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด ดังนี้
- งดรับประทานอาหารและเครื่องดื่มเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมง ก่อนเริ่มทำการทดสอบ
- งดรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนอย่างน้อย 12 ชั่วโมง เนื่องจากคาเฟอีนอาจรบกวนการแปลผลการทดสอบ
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือรับประทานยาใดเป็นประจำควรแจ้งให้แพทย์ทราบล่วงหน้า เพราะยาบางชนิดอาจส่งผลต่อการตรวจ โดยเฉพาะยากลุ่มโรคหัวใจและโรคความดันโลหิตสูง
- สำหรับผู้ที่เป็นโรคหอบหืด ควรนำยาพ่นมาด้วยในวันตรวจ
- ควรสวมเสื้อผ้าหลวมๆ ที่ใส่สบาย และรองเท้าที่เหมาะกับการออกกำลังกาย
ขั้นตอนการตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย EST
การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย EST นับว่าเป็นการตรวจที่ไม่ยุ่งยาก วิธีที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือการเดินบนสายพาน มีขั้นตอนดังนี้
- เจ้าหน้าที่จะซักประวัติเบื้องต้นของผู้เข้ารับการตรวจ โดยเน้นที่อาการปัจจุบันและประวัติคนในครอบครัวที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ
- เจ้าหน้าที่ติดอุปกรณ์แผ่นอิเล็กโทรด (Electrode) ที่บริเวณหน้าอก แขน และขา ทั้งหมด 10 จุด เพื่อบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจและอัตราการเต้นของชีพจร รวมถึงติดเครื่องวัดความดันโลหิตไว้ที่ต้นแขน
- ผู้เข้ารับการตรวจต้องเดินช้าๆ บนสายพาน ระหว่างทำการทดสอบสายพานจะเพิ่มระดับความเร็วและความชันทุกๆ 3 นาที โดยระหว่างเดินสายพานเจ้าหน้าที่จะสังเกตอาการ ตรวจสอบคลื่นไฟฟ้าหัวใจ อัตราการเต้นของชีพจรและความดันโลหิตตลอดเวลา
- เมื่ออัตราชีพจรสูงถึงเป้าหมายที่ต้องการ (อัตราชีพจรเป้าหมายของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน โดยคำนวณจาก 220-อายุ) เจ้าหน้าที่จึงหยุดเครื่อง
- การเดินสายพานจะใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 6-12 นาที และเข้าสู่ระยะพักอีกประมาณ 5-10 นาที โดยรวมจะใช้เวลาในการตรวจประมาณ 20-30 นาที
ข้อควรระวังในการตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย EST
หากระหว่างการเดินสายพานผู้เข้ารับการตรวจมีอาการผิดปกติเหล่านี้เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่จะหยุดการทดสอบทันที เพื่อความปลอดภัยสูงสุด
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
- มีอาการเหนื่อยมากจนไม่สามารถเดินต่อไปได้
- คลื่นไส้ วิงเวียน อ่อนเพลีย คล้ายจะเป็นลม
- มีอาการแสบร้อน ปวด หรือแน่นหน้าอก
- พบลักษณะของกราฟไฟฟ้าหัวใจที่บ่งชี้ถึงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรง
- ความดันโลหิตสูงขั้นรุนแรงขณะที่เดินสายพาน
ผลการตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย EST
หลังเดินสายพานเสร็จสิ้น แพทย์จะแปลผลการทดสอบเพื่อวินิจฉัยว่าผู้เข้ารับการตรวจมีความผิดปกติใดๆ หรือไม่ ซึ่งการรายงานผลการตรวจของแพทย์นั้นจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
- กลุ่มผู้มีสุขภาพหัวใจเป็นปกติ ข้อมูลจะแสดงให้ทราบได้ว่าแม้อัตราชีพจรจะเร็วขึ้น ผู้เข้ารับการตรวจมีอาการเหนื่อยมาก แต่หัวใจก็ไม่ได้แสดงภาวะผิดปกติใดๆ
- กลุ่มผู้มีสุขภาพหัวใจผิดปกติ พบในกลุ่มที่ต้องยุติการตรวจกลางคัน เนื่องจากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น หรือกลุ่มที่ทดสอบเสร็จสิ้นแล้ว แต่พบข้อมูลที่ผิดปกติ เช่น อัตราชีพจรหรือระดับความดันโลหิตสูงขึ้นผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งบ่งชี้ได้ว่ามีความผิดปกติจากโรคหัวใจและหลอดเลือด
- กลุ่มที่ผลการทดสอบไม่ชัดเจน อาจมีสัญญาณผิดปกติ แต่ยังไม่แน่ชัด แพทย์อาจพิจารณาส่งไปตรวจเส้นเลือดที่เลี้ยงหัวใจโดยวิธีคอมพิวเตอร์ (Coronary Computed Tomographic Angiography: CCTA)
EST กับ ECG ตรวจหัวใจแบบไหนแม่นยำกว่ากัน?
การตรวจสมรรถภาพหัวใจที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันมี 2 รูปแบบคือ การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย EST และการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG) ซึ่งทั้งสองรูปแบบสามารถตรวจสมรรถภาพหัวใจและค้นหาความเสี่ยงของโรคได้เช่นเดียวกัน
การตรวจ EST นับว่ามีความแม่นยำและมีประสิทธิภาพในการวินิจฉัยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่า เนื่องจากการตรวจ ECG เป็นเพียงการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะที่ร่างกายเป็นปกติ ไม่มีการใช้ออกซิเจนอย่างหนัก ซึ่งเลือดอาจนำออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงได้เพียงพอ ทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจไม่แสดงสัญญาณความผิดปกติให้เห็น แต่เมื่อใดที่หัวใจทำงานหนักขึ้น เส้นเลือดที่ตีบแคบอาจทำให้เลือดนำออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอจนเกิดอันตรายขึ้นได้
ค่าใช้จ่ายในการตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย EST
ผู้ที่ต้องการตรวจ EST นั้น สามารถเข้ารับการตรวจได้ที่โรงพยาบาลรัฐและเอกชนชั้นนำทั่วไป ค่าใช้จ่ายในการตรวจเริ่มต้นที่ 2,000 บาท โดยผู้เข้ารับการตรวจควรเลือกโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน มีเจ้าหน้าที่และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจคอยให้คำปรึกษา เพราะระหว่างการทดสอบอาจเกิดความเสี่ยงขึ้นได้
การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย EST นับเป็นการทดสอบที่ได้มาตรฐานและสามารถบ่งชี้ความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรเข้ารับการตรวจอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพราะหากตรวจพบได้เร็ว จะได้วางแผนการรักษาได้ทันท่วงที