กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
นพ.วรพันธ์ พุทธศักดา
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
นพ.วรพันธ์ พุทธศักดา

อาการปวดศีรษะและคลื่นไส้

ไมเกรน เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะและคลื่นไส้พร้อมกัน แต่ก็มีปัจจัยอื่นๆ ที่สามารถทำให้เกิดอาการนี้ได้เช่นกัน
เผยแพร่ครั้งแรก 28 ต.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 1 เม.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
อาการปวดศีรษะและคลื่นไส้

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • อาการปวดศีรษะและคลื่นไส้สามารถเกิดขึ้นพร้อมกันได้ มักมีสาเหตุจากอาการปวดไมเกรน แต่ก็มีสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอาการนี้ได้ เช่น ภาวะขาดน้ำ น้ำตาลในเลือดต่ำ ความเครียด อาหารเป็นพิษ 
  • ปกติแล้วอาการปวดศีรษะและคลื่นไส้ที่ไม่รุนแรงสามารถหายได้เอง แต่หากมีอาการรุนแรง หรือมีอาการร่วมกับอาการทางประสาท เช่น แขนขาอ่อนแรง มีไข้ ผื่นขึ้นตามตัว ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
  • การรักษาอาการปวดศีรษะและคลื่นไส้ในเบื้องต้น แพทย์อาจให้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการและรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ
  • การป้องกันอาการปวดศีรษะและคลื่นไส้เในเบื้องต้น ทำได้ด้วยการรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียด ความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่ศีรษะ หรือความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
  • การตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีจะช่วยให้คุณรู้เท่าทันโรค หรือความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพได้ที่นี่)

อาการปวดศีรษะเป็นอาการปวด หรือรู้สึกไม่สบายบริเวณรอบๆ ศีรษะ รวมถึงหนังศีรษะ โพรงจมูก หรือคอ ส่วนอาการคลื่นไส้เป็นอาการมวนท้องแบบหนึ่ง โดยอาการปวดศีรษะและคลื่นไส้เป็นอาการที่พบได้บ่อยมาก และมีได้ตั้งแต่ระดับไม่รุนแรงจนถึงรุนแรง

บางครั้งอาการทั้ง 2 อย่างนี้ก็เกิดขึ้นพร้อมกัน ในบางกรณีอาจหมายถึง ภาวะรุนแรงที่ต้องเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

สาเหตุของอาการปวดศีรษะและคลื่นไส้

  • อาการปวดไมเกรน เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะและคลื่นไส้พร้อมกันได้ ไมเกรนสามารถทำให้เกิดอาการได้หลายอย่าง เช่น คลื่นไส้ เวียนศีรษะ ไวต่อแสง ปวดศีรษะรุนแรง ส่วนมากมักจะเห็นแสง หรือสิ่งต่างๆ ผิดปกติก่อนที่จะมีอาการปวดศีรษะและคลื่นไส้ตามมา

โรคอื่นๆ ที่พบร่วมกับอาการปวดศีรษะและคลื่นไส้ได้ เช่น ภาวะขาดน้ำ น้ำตาลในเลือดต่ำ 

  • อาการขาดน้ำ เกิดจากการดื่มน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย 
  • ภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ ผลข้างเคียงจากการใช้ยา โรคตับ หรือไตที่รุนแรง การอดอาหารเป็นเวลานานๆ หรือการขาดฮอร์โมน หากคุณเป็นโรคเบาหวาน การใช้ยาอินซูลินมากเกินไปก็สามารถทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำได้

โรคอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะและคลื่นไส้ได้ แบ่งเป็น

  • การปวดศีรษะจากมีสิ่งซึ่งกินที่ในสมอง (structural causes) เช่น
    • เนื้องอกในสมองซึ่งพบอาการปวดศีรษะได้ประมาณครึ่งหนึ่ง และยังพบร่วมกับอาการอื่นๆได้ เช่น อ่อนแรง พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง หรืออาการชัก
    • เลือดออกในเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง (Subdural hematoma) มักพบในผู้สูงอายุ มีอาการปวดศีรษะร่วมกับอาการอื่นๆได้ เช่น ซึม เชื่องช้า
    • ฝีในสมอง (Brain abscess) มีอาการปวดศีรษะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ร่วมกับคลื่นไส้อาเจียน ระดับความรู้ตัวลดลง มีไข้ มีอาการชักได้
  • การปวดศีรษะจากมีสิ่งซึ่งไม่กินที่ในสมอง (nonstructural causes) เช่น 
    • โรคหลอดเลือดขมับอักเสบ(Giant cell arteritis) มักพบในผู้ป่วยอายุมากกว่า 50 ปี ขึ้นไป มีอาการปวดเฉียบพลันและรุนแรงขึ้น
    • Menigeal headache หรือการปวดศีรษะซึ่งเกิดจากการติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง
    • Post cerebral concussion headache หรืออาการปวดศีรษะหลังอุบัติเหตุ มักจะเริ่มหลังประสบอุบัติเหตุประมาณ 1-2 สัปดาห์ อาการมักไม่รุนแรง
  • การดื่มคาเฟอีน แอลกอฮอล์ หรือได้รับสารนิโคตินมากเกินไป ก็สามารถทำให้เกิดอาการปวดศีรษะและคลื่นไส้ได้เช่นกัน

เมื่อไรควรไปพบแพทย์

ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ อาการปวดศีรษะและคลื่นไส้ระดับไม่รุนแรงถึงรุนแรงปานกลางสามารถหายได้เอง แต่อาจต้องใช้เวลา เช่น ผู้ป่วยโรคหวัดส่วนใหญ่ก็จะหายได้เองโดยไม่จำเป็นต้องรักษา

ในบางราย อาการปวดศีรษะและคลื่นไส้อาจเป็นอาการที่บ่งบอกถึงโรคร้ายแรง ควรไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการปวดรุนแรงมากๆ หรือมีอาการต่อไปนี้ร่วมกับอาการปวดศีรษะและคลื่นไส้

  • ปวดศีรษะฉับพลันและรุนแรง ไม่เคยเป็นมาก่อน
  • ปวดศีรษะและแย่ลงเรื่อยๆ
  • มีอาการทางระบบประสาทผิดปกติ เช่น แขนขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด มองเห็นภาพซ้อน หรือหมดสติ
  • ปวดศีรษะร่วมกับมีไข้ ผื่นตามตัว
  • ปวดศีรษะร่วมกับมีโรคประจำตัวเดิม เช่น ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • มีประวัติรับยาต้านการแข็งตัวของเลือด
  • มีประวัติศีรษะกระแทกใน 1-2 วัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่มีอาการดังกล่าว แต่หากคุณมีอาการปวดศีรษะและคลื่นไส้เป็นประจำในระดับที่ไม่รุนแรงมาก ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมเช่นกัน

การรักษาอาการปวดศีรษะและคลื่นไส้

แผนการรักษาสำหรับอาการปวดศีรษะและคลื่นไส้ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ หากมีโรคที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว แพทย์จะพยายามรักษา หรือโรคดังกล่าว เช่น แนะนำให้เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การใช้ยา หรือวิธีอื่นๆ ในการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  • หากมีอาการปวดศีรษะไมเกรนและรู้สึกว่า กำลังจะเป็น ให้อยู่ในที่มืด เงียบ และประคบเย็นที่ด้านหลังของลำคอ
  • หากสงสัยว่า อาการปวดศีรษะและคลื่นไส้เกิดจากความเครียด ลองทำกิจกรรมที่คลายเครียด เช่น การออกไปเดิน ฟังเพลงที่ผ่อนคลาย
  • หากสงสัยว่า กำลังขาดน้ำ หรือมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ให้หยุดพักเพื่อดื่มน้ำ หรือน้ำหวาน หรือของหวาน
  • การใช้ยาแก้ปวดโดยทั่วไป เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือพาราเซตามอล สามารถบรรเทาอาการปวดศีรษะได้

    อย่างไรก็ตาม การใช้ยาแอสไพรินอาจจะแรงไปสำหรับกระเพาะอาหาร และทำให้เกิดอาการมวนท้องได้

การป้องกันอาการปวดศีรษะและคลื่นไส้ทั่วไป

ถึงแม้อาการปวดศีรษะและคลื่นไส้จะป้องกันได้ยาก แต่คุณก็สามารถลดโอกาสในการเกิดอาการดังกล่าวได้ ดังนี้

  • พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
  • รับประทานอาหารที่สมดุล หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด หรือรับประทานอาหารอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป เช่น รับประทานของทอดเป็นประจำ
  • หลีกเลี่ยงการดื่มคาเฟอีน หรือแอลกอฮอล์ที่มากเกินไป
  • ลดความเสี่ยงต่อการติดหวัดและไข้หวัดใหญ่ด้วยการล้างมือเป็นประจำ
  • ลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่ศีรษะด้วยการคาดเข็มขัดนิรภัยเวลาที่เดินทางด้วยรถยนต์ และใส่หมวกกันน็อคเวลาที่ขี่จักรยาน มอเตอร์ไซค์ หรือเล่นกีฬาผาดโผน

วิธีป้องกันอาการปวดศีรษะและคลื่นไส้จากไมเกรน

หากคุณเป็นไมเกรน ลองระบุสาเหตุ และหลีกเลี่ยงสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน แนะนำให้ลองจดบันทึกประจำวันเกี่ยวกับกิจกรรมที่ทำและอาการที่เกิดขึ้น 

วิธีนี้อาจจะช่วยให้คุณรู้ว่า อาหาร กิจกรรม หรือปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมใดที่กระตุ้นให้เกิดอาการ ทั้งนี้การหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นนี้จะสามารถป้องกันการเกิดอาการปวดไมเกรนในครั้งถัดไปได้

ถึงแม้อาการปวดศีรษะและคลื่นไส้จะเป็นอาการที่สามารถหายได้เองแต่ก็ไม่ควรวางใจ เพราะการที่คุณมีอาการปวดศีรษะและคลื่นไส้เป็นประจำ อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้าย หรือความผิดปกติในร่างกายได้ 

ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษาให้หายขาด เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ อาการปวดศีรษะและคลื่นไส้อาจรุนแรงขึ้นได้ 

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
NHS (National Health Service), Migraine - Symptoms (https://www.nhs.uk/conditions/migraine/symptoms/), 30 March 2020.
MedicineNet, Headache: Symptoms, Signs, Causes & Treatment (https://www.medicinenet.com/headache/symptoms.htm), 30 March 2020.
Harvard Health, Headache: When to worry, what to do (https://www.health.harvard.edu/pain/headache-when-to-worry-what-to-do), 30 March 2020.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป