ไขมันสำคัญอย่างไร?
รู้หรือไม่ว่าไขมันไม่ได้มีโทษต่อร่างกายเพียงอย่างเดียว หน้าที่อย่างแรกของไขมัน คือเป็นแหล่งพลังงานของร่างกายนอกเหนือจากโปรตีน และคาร์โบไฮเดรต ไขมันให้พลังงาน 9 แคลอรีต่อกรัม ซึ่งถือเป็นประมาณสองเท่าเมื่อเทียบกับพลังงานที่คาร์โบไฮเดรตและโปรตีนให้แก่ร่างกาย (ที่ 4 แคลอรีต่อกรัม) ไขมันจะสะสมอยู่ตามเนื้อเยื่อและปลดปล่อยเป็นกรดไขมันเมื่อร่างกายต้องการพลังงาน โดยปกติลำดับการใช้พลังงานของร่างกายจะเริ่มที่คาร์โบไฮเดรตก่อน แล้วจึงจะค่อยใช้พลังงานจากไขมัน และใช้พลังงานจากโปรตีนเป็นลำดับสุดท้าย นอกจากเป็นแหล่งพลังงานแล้ว ไขมันยังทำหน้าที่เป็นโครงสร้าง ได้แก่โครงสร้างของผนังเซลล์ของเซลล์ทั่วร่างกาย ในสมองมีส่วนประกอบของไขมันมากกว่าร้อยละ 60 โดย DHA เป็นกรดไขมันหลักที่อยู่ในสมอง ไขมันยังทำหน้าที่เป็นตัวพาของวิตามิน ได้แก่ วิตามินที่ละลายในไขมัน คือวิตามิน A D E และ K ช่วยส่งเสริมการดูดซึมของวิตามินเหล่านี้ที่ลำไส้
ประเภทของไขมัน ส่งผลต่อสุขภาพที่ต่างกัน
ตามหน้าที่ของไขมันที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ดังนั้นแล้วร่างกายควรได้รับพลังงานจากไขมันประมาณร้อยละ 20 ถึง 35 ของปริมาณพลังงานที่ได้รับทั้งหมดต่อวัน ไม่ควรรับประทานไขมันต่ำกว่าร้อยละ 15 ถึง 20 ของพลังงานทั้งหมดที่ได้รับต่อวัน เนื่องจากอาจส่งผลต่อการลดลงของ HDL ซึ่งถือเป็นไขมันชนิดดีต่อร่างกาย และส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของไตรกลีเซอไรด์ ในที่นี้ถ้าพิจารณาจากคุณประโยชน์ของไขมัน สามารถแบ่งได้เป็นสามกลุ่มคือ กลุ่มของไขมันดี กลุ่มของไขมันเลว และกลุ่มของไขมันระหว่างกลาง
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ไขมันดี
กลุ่มของไขมันดี ส่วนมากเป็นไขมันที่ได้จากพืช ถั่ว เมล็ดพืช และปลา ไขมันประเภทนี้เป็นกลุ่มของไขมันไม่อิ่มตัว สาเหตุที่เรียกว่าไม่อิ่มตัวเนื่องจากเมื่อพิจารณาโครงสร้างของไขมันชนิดนี้จะมีปริมาณไฮโดรเจนที่เชื่อมพันธะกับโครงสร้างน้อยกว่า ทำให้มีบางตำแหน่งที่ไม่มีการเกิดพันธะของไฮโดรเจนกับโครงสร้างหลักเกิดเป็นพันธะคู่ขึ้น ไขมันชนิดนี้เป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง แช่เย็นไม่เป็นไข ไม่เป็นของแข็ง แบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่คือ
1. กรดไขมันไม่อิ่มตัวที่มีพันธะคู่ 1 ตำแหน่ง (monounsaturated fatty acid; MUFA) แหล่งของ MUFA ได้แก่ น้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกคาโนลา อโวคาโด ถั่ว น้ำมันดอกทานตะวัน การศึกษาพบว่าผู้คนในประเทศกรีซและเมดิเตอเรเนียนมีความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจต่ำกว่าแม้ว่าจะรับประทานไขมันในปริมาณสูง เหตุผลเนื่องมาจากไขมันส่วนใหญ่ที่พวกเขารับประทานนั้นไม่ใช่ไขมันประเภทไขมันอิ่มตัวที่มาจากสัตว์ แต่เป็นไขมันที่มาจากน้ำมันมะกอกเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อแนะนำว่าควรรับประทาน MUFA ในปริมาณเท่าใดต่อวัน แต่ Institute of Medicine สหรัฐอเมริกาแนะนำว่า ปริมาณไขมันที่ร่างกายได้รับควรจะเป็น MUFA ร่วมกันกับ PUFA ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
2. กรดไขมันไม่อิ่มตัวที่มีพันธะคู่มากกว่า 1 ตำแหน่ง (polyunsaturated fatty acid; PUFA) แหล่งของ PUFA ได้แก่ น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันดอกคำฝอย PUFA ถือเป็นไขมันจำเป็นต่อร่างกาย หมายความว่าไขมันเหล่านี้ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ขึ้นเองได้ ต้องได้รับจากการรับประทานอาหารเท่านั้น PUFA ใช้เพื่อเป็นส่วนประกอบในการสร้างเยื่อหุ้มเซลล์ เยื่อไมอิลินห่อหุ้มเซลล์ประสาท และยังเป็นส่วนสำคัญของการแข็งตัวของเลือด การเคลื่อนไหวของร่างกาย และเป็นสารตั้งต้นของสารต้านการอักเสบ การรับประทานไขมันประเภทนี้สามารถช่วยลดระดับ LDL และคอเลสเตอรอลได้ ไขมันประเภทนี้แบ่งได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ
กลุ่มแรก คือกลุ่มของกรดไขมันโอเมก้า-3 สามารถช่วยป้องกันและช่วยรักษาโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง นอกจากนี้ยังช่วยลดความดันโลหิต เพิ่มระดับ HDL และช่วยลดไตรกลีเซอไรด์ มีหลักฐานเชิงประจักษ์สนับสนุนว่ากรดไขมันโอเมก้า-3 สามารถช่วยลดการใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์ในผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ การศึกษาหลายการศึกษาเชื่อมโยงถึงคุณประโยชน์ของโอเมก้า-3 ต่อสุขภาพ ได้แก่ ลดโอกาสสมองเสื่อม แต่ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ แหล่งของกรดไขมันโอเมก้า-3 ได้แก่ แซลมอน แมคเคอเรล ซาร์ดีน เมล็ดแฟลกซ์ วอลนัท น้ำมันดอกคาโนลา
อีกกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มของกรดไขมันโอเมก้า-6 มีการศึกษาว่าเกี่ยวข้องกับการป้องกันการเกิดโรคหัวใจ แหล่งของกรดไขมันโอเมก้า-6 ได้แก่ ในน้ำมันพืช เช่น น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันข้าวโพด
ไขมันเลว
กลุ่มของไขมันเลว กลุ่มของไขมันเลวที่สุดในกลุ่มนี้ คือกลุ่มของไขมันทราน์ ส่วนมากเกิดจากกระบวนการเติมไฮโดรเจนลงในพันธะคู่ของไขมันดีเพื่อป้องกันการเหม็นหืน ไขมันกลุ่มนี้สามารถเป็นของแข็งที่อุณหภูมิห้องได้ ไขมันทรานส์จะส่งผลตรงข้ามกับกลุ่มแรก คือเพิ่มปริมาณของ LDL ในกระแสเลือดและลดระดับ HDL มีส่วนในการสร้างการอักเสบ ที่มีผลเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคหัวใจ และยังส่งผลต่อภาวะต้านทานอินซูลินที่เป็นสาเหตุของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 แหล่งของไขมันกลุ่มนี้ พบได้ในไขมันที่เป็นของแข็ง เช่น มาร์การีน ชอตเทนิ่ง ซึ่งส่วนมากพบในเบเกอรี
ไขมันระหว่างกลาง
กลุ่มของไขมันระหว่างกลาง เป็นไขมันประเภทกรดไขมันอิ่มตัว (saturated fat) โดยปกติจะเป็นของแข็งที่อุณหภูมิห้อง แช่เย็นแล้วเป็นไข แหล่งของไขมันชนิดนี้ เช่น ในเนื้อแดง น้ำนม ผลิตภัณฑ์จากนม ชีส น้ำมันมะพร้าว การรับประทานไขมันอิ่มตัวในปริมาณสูงมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของ LDL คอเลสเตอรอล เพิ่มโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็งจากการอุดกั้นของไขมัน รายงานการศึกษาในปัจจุบันมีปริมาณไม่มากที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างไขมันอิ่มตัวกับการเกิดโรคหัวใจ แต่อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนไปรับประทานไขมันในกลุ่ม PUFA แทนสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ
ควรเลือกรับประทานไขมันพืชหรือไขมันสัตว์?
การเลือกทานไขมันนั้นควรพิจารณาจากชนิดของไขมันเป็นหลัก ซึ่งสามารถพิจารณาได้จากแหล่งของไขมันเช่นกัน แม้ว่าไขมันสัตว์ (ยกเว้นไขมันจากปลา) ที่เป็นกลุ่มของไขมันอิ่มตัวยังไม่มีผลการศึกษาชี้ชัดถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดโรคหัวใจ แต่การรับประทานไขมันในชนิดนี้ส่งผลต่อการเกิดโรคหากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป การเปลี่ยนมาบริโภคไขมันในกลุ่มไขมันจากพืชหรือจากปลา ซึ่งเป็นกลุ่มของไขมันไม่อิ่มตัวจึงเป็นทางเลือกที่ดีสุด แต่อย่างไรก็แล้วแต่ปริมาณในการรับประทานก็ควรรับประทานให้เหมาะสม คือประมาณร้อยละ 20 ถึง 35 ของปริมาณพลังงานที่ได้รับทั้งหมดต่อวัน