“โรคเบาหวานชนิดที่ 2” เป็นโรคที่หลายคนมักเข้าใจว่า สามารถเกิดขึ้นในผู้ใหญ่ หรือผู้สูงวัย เท่านั้น และเข้าใจว่า เด็กเป็นได้แต่โรคเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งเป็นเบาหวานที่เป็นแต่กำเนิด
อย่างไรก็ตาม ความจริงแล้ว โรคเบาหวานชนิดที่ 2 สามารถพบได้ในเด็กเช่นเดียวกัน แม้จะพบในสัดส่วนที่น้อยกว่าชนิดที่ 1 แต่ก็ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพระยะยาวเมื่อเด็กโตขึ้นไม่ต่างกัน
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
รายละเอียดของโรคเบาหวานทั้ง 2 ชนิด
- โรคเบาหวานชนิดที่ 1: เป็นโรคเบาหวานที่พบได้มากอยู่แล้วในเด็กเล็ก โดยสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กเป็นโรคเบาหวานชนิดนี้มาจากพันธุกรรม หากเด็กมีคนในครอบครัวเคยเป็นโรคเบาหวานมาก่อน หรือมารดาเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เด็กจะมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานชนิดนี้สูงถึง 5%
- โรคเบาหวานชนิดที่ 2: ในอดีตโรคเบาหวานชนิดนี้มักพบในผู้ใหญ่ แต่ในปัจจุบันกลับพบว่า เด็กป่วยเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากขึ้นเช่นกัน นอกจากสาเหตุที่เกี่ยวกับเชื้อชาติ หรือพันธุกรรมแล้ว สาเหตุหลักที่ทำให้เด็กเกิดโรคเบาหวานชนิดนี้ได้ก็คือ “โรคอ้วน”
รู้หรือไม่ว่า เด็กไทยเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากขึ้นทุกปี
โรคอ้วนเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารประเภทของหวานและมีไขมันสูงมากเกินไป มีพฤติกรรมติดหวาน หรือติดรสหวานอีกทั้งยังขาดการออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายได้เผาผลาญพลังงานอย่างเหมาะสมเมื่อสัดส่วนปริมาณสารอาหารที่ได้รับมีมากกว่าการเผาผลาญพลังงาน จึงทำให้เกิดไขมันสะสมขึ้นในร่างกายตามมา
หากเด็กมีพฤติกรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะทำให้กลไกการทำงานของร่างกายผิดปกติไป เช่น ไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลิน ตับอ่อนมีความผิดปกติในการสร้างอินซูลิน จนทำให้เด็กกลายเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้
จากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557 พบว่า เด็กไทยมีพฤติกรรมติดหวานมากขึ้น เช่น ชอบดื่มน้ำอัดลม น้ำหวาน ขนมหวาน ปริมาณ 1 ครั้งขึ้นไปต่อวัน พฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยเด็กไทยอายุ 1-5 ปี มีน้ำหนักเกินพุ่งสูงขึ้นจากปีที่ผ่านๆ มา
สรุปรายละเอียดดังนี้
พ.ศ. 2538 ค่าเฉลี่ยเด็กไทยอายุ 1-5 ปี จำนวนผู้มีน้ำหนักเกินอยู่ที่ 5.8% แต่ใน พ.ศ. 2557 ค่าเฉลี่ยกลับเพิ่มขึ้นเป็น 11.3% และมีแนวโน้มว่า จะเพิ่มสูงขึ้นอีกในปีต่อๆ ไป
โปรแกรมตรวจสุขภาพวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 99 บาท ลดสูงสุด 96%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่คุณจะต้องหันกลับไปใส่ใจเด็กๆ ในครอบครัวว่า พวกเขามีพฤติกรรม หรือปัจจัยที่อาจส่งผลให้เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรือไม่
ปัจจัยที่ทำให้เด็กเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2
โรคเบาหวานในเด็กมักเกิดจาก 2 ปัจจัยใหญ่ๆ ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวข้องกับพ่อแม่และผู้ปกครองทั้งสิ้น ได้แก่
1. พันธุกรรม
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า สาเหตุของโรคเบาหวานทั้งชนิดที่ 1 และ 2 ล้วนสามารถถ่ายทอดจากพันธุกรรมในครอบครัวได้ ดังนั้นหากพ่อแม่ของเด็กมีประวัติเป็นโรคเบาหวานมาก่อน โอกาสที่เด็กจะมีกรรมพันธุ์เป็นโรคเบาหวานด้วยจะมีสูงมาก ส่วนโรคที่ทำให้เด็กเสี่ยงจะเป็นโรคเบาหวานรองลงมาก็คือ โรคอ้วน
2. การเลี้ยงดูจากพ่อแม่
เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กเป็นโรคอ้วนและเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากขึ้น เช่น กินก่อนตอนนี้ แล้วไปลดทีหลังได้ เด็กตัวอ้วนกลมจ้ำม่ำย่อมเป็นที่น่าเอ็นดูสำหรับผู้ใหญ่ ทำให้หลายๆ ครอบครัวเลือกจะให้เด็กๆ รับประทานอาหารได้ตามใจปาก โดยไม่คิดว่าจะส่งผลระยะยาวต่อสุขภาพของเด็กในอนาคต
อีกทั้งหลายครอบครัวยังมีความคิดว่า ให้เด็กรับประทานสิ่งที่อยากกินไปตอนนี้แล้วค่อยไปลดน้ำหนักตอนโตก็ได้ หรือเดี๋ยวสักพักตัวก็ยืดสูงขึ้นเอง ความจริงแล้วความคิดนี้จะส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมติดหวาน และเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้มากขึ้น
3. ขาดการออกกำลังกาย
เราจะเห็นได้ว่า ปัจจุบันเด็กๆ มักจะใช้เวลาอยู่กับสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์มากกว่าการออกไปวิ่งเล่น หรือไปออกกำลังกายแบบแต่ก่อน พฤติกรรมนี้ทำให้เด็กไม่ค่อยได้ขยับตัวส่งผลให้ร่างกายมีการเผาผลาญพลังงานจากอาหารที่กินเข้าไปต่ำและเกิดเป็นภาวะอ้วนตามมาได้
โปรแกรมตรวจสุขภาพวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 99 บาท ลดสูงสุด 96%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
4. เวลาในการรับประทานอาหารไม่ถูกต้อง
การไม่ฝึกให้เด็กรับประทานอาหารตรงเวลา หรือปล่อยให้เด็กอดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่งบ่อยๆ แล้วค่อยไปรับประทานรวบทีเดียวในมื้อต่อไป รวมถึงการไม่จำกัดการรับประทานขนมหวานในแต่ละวัน จะทำให้เด็กไม่รู้จักจำกัดปริมาณการรับประทานอาหารที่เหมาะสม และส่งผลให้เด็กเป็นโรคเบาหวานในที่สุด
5. ไม่ปลูกฝังพฤติกรรมการรับประทานที่ถูกต้อง
พ่อแม่หลายรายไม่ได้ปลูกฝังให้ลูกๆ มองเห็นโทษของการรับประทานขนมหวานมากเกินไป จึงทำให้เด็กรู้สึกว่าการรับประทานขนมหวานคือ ความสุข และไม่มีผลเสียใดๆ ต่อร่างกาย พฤติกรรมนี้จะนำไปสู่การเกิดโรคเบาหวานได้ในภายหลัง
จากปัจจัยตามที่กล่าวมาข้างต้น หากใครเป็นพ่อแม่ที่ยังมีลูกเล็ก ให้ลองสำรวจพฤติกรรมการเลี้ยงดูลูกของตนเองดูว่า “คุณได้ดูแลป้องกันลูกให้ห่างไกลจากโรคเบาหวานแล้วหรือยัง” หากว่า “ยัง” แนะนำให้ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลี้ยงดูเด็กๆ ตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขามีปัญหาสุขภาพตามมาเมื่อเติบโตขึ้น
ค่าระดับน้ำตาลในเลือดต้องเท่าไร จึงจะเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน
การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดจะทำให้คุณรู้ว่า เด็กเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ โดยก่อนจะวัดระดับน้ำตาลในเลือด คุณต้องให้เด็กงดอาหารและน้ำอย่างน้อย 8 ชั่วโมงเสียก่อน
ส่วนเกณฑ์ระดับน้ำตาลในเลือดที่บ่งบอกว่า เด็กเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานจะมีดังต่อไปนี้
- ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dL): ถือว่า ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ที่ประมาณ 100-125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dL): ถือว่า ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และอยู่ในเกณฑ์เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2
- ระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dL): ถือว่า น้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 แล้ว
เมื่อเด็กเป็นโรคเบาหวานจะมีอาการอย่างไร
หากคุณต้องการสังเกตว่า เด็กๆ ในบ้านมีความเสี่ยงจะเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ ให้ตรวจว่า เด็กมีอาการและพฤติกรรมดังต่อไปนี้หรือเปล่า
- ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะช่วงกลางคืนและปัสสาวะรดที่นอน
- คลื่นไส้อาเจียน
- หิวบ่อย
- กระหายน้ำมากกว่าปกติ
- มีรอยปื้นสีดำคล้ำหนาที่คอ รักแร้ ข้อพับ ขาหนีบ
- พบการติดเชื้อราที่ช่องคลอด หรือตามผิวหนัง
- บาดแผลหายยาก
- นอนกรน
- ปวดตามข้อต่อ
ส่วนรูปร่างของเด็กที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานจะมีความแตกต่างกันไปตามชนิด โดยในเด็กที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 น้ำหนักตัวจะลด มีรูปร่างผอมทั้งๆ ที่รับประทานอาหารในปริมาณมาก แต่ในเด็กที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ส่วนมากจะมีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์และมีรูปร่างอ้วน
การรักษาโรคเบาหวานในเด็ก
การรักษาโรคเบาหวานในเด็กจะประกอบไปด้วย 2 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่
1. การรักษาด้วยยา
โรคเบาหวานชนิดที่ 1 จะรักษาด้วยการฉีดยาอินซูลินเท่านั้น ในขณะที่เบาหวานชนิดที่ 2 รักษาด้วยยารับประทานเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด หากไม่ได้ผลจึงพิจารณาให้ฉีดยาอินซูลินเพิ่มเติม
แต่ในบางกรณีที่ตรวจพบระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากกว่า 250 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dL) อาจจำเป็นต้องรักษาโดยการให้ยาฉีดอินซูลินก่อน หลังจากระบบเผาผลาญดีขึ้นแล้วจึงให้ยารับประทานรักษาต่อไป
2. ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตใหม่
ถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุดสำหรับการรักษาโรคเบาหวานในเด็ก และต้องอาศัยความร่วมมือจากพ่อแม่ หรือผู้ปกครองด้วย
พฤติกรรมหลักๆ ที่เด็กจะต้องปรับเปลี่ยนนั้นได้แก่ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูงให้น้อยลง ให้เด็กหมั่นออกกำลังกาย เล่นกีฬาบ้าง และขยับตัวเสมอ อย่าอยู่กับที่นานๆ เพื่อปรับให้ร่างกายมีการเผาผลาญที่เป็นปกติ และกำจัดไขมันที่สะสมออกไป
ผลกระทบเมื่อเด็กเป็นโรคเบาหวาน
- การใช้ชีวิตประจำวันลำบากขึ้น หากผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ จะทำให้มีอาการหลายๆ อย่างที่เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น เหนื่อยง่าย หิวน้ำและอาหารบ่อย ปัสสาวะบ่อย อารมณ์แปรปรวน ฉุนเฉียวง่าย
- สภาพจิตใจแย่ลง ระเบียบวินัยที่เพิ่มขึ้นเพื่อควบคุมโรคเบาหวานให้อยู่ในระดับทรงตัวอาจทำให้เด็กรู้สึกอึดอัด วิตกกังวล น้อยใจ ไม่มั่นใจในตนเอง หรืออิจฉาที่เด็กคนอื่นๆ มีอิสระในการใช้ชีวิตมากกว่าได้
- ส่งผลกระทบต่อการเรียน การเป็นโรคเบาหวานในวัยเด็กจำเป็นจะต้องมีการนัดตรวจเพื่อประเมินผลการรักษาเป็นระยะๆ อย่างสม่ำเสมอ เด็กจึงอาจจำเป็นต้องขาดเรียนเพื่อไปพบแพทย์ตามนัด
นอกจากนี้โรคเบาหวานยังอาจทำให้ผู้ป่วยเด็กเกิดโรคและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมาในอนาคตได้ ไม่ต่างจากโรคเบาหวานในผู้ใหญ่ เช่น บาดแผลหายช้า เบาหวานขึ้นตาส่งผลให้มองเห็นภาพไม่ชัด หรือตาบอดได้ในที่สุด โรคหัวใจ โรคไตวาย ปลายประสาทเสื่อม โรคหลอดเลือดสมอง
วิธีป้องกันเด็กๆ ให้ห่างไกลจากโรคเบาหวาน
วิธีป้องกันลูกหลานของคุณจากโรคเบาหวานตั้งแต่อายุยังน้อยนั้นทำได้ไม่ยาก เพียงแค่ต้องอาศัยการดูแลเอาใจใส่ การทำให้เด็กๆ เข้าใจ และตระหนักถึงผลกระทบที่ตามมาจากพฤติกรรมการรับประทานที่ไม่ถูกต้อง
1. ดูแลพฤติกรรมการรับประทานของเด็ก
พ่อแม่และผู้ปกครองไม่ควรปล่อยให้เด็กรับประทานอาหารตามใจปาก แต่ควรจัดเมนูอาหารในแต่ละวันให้เด็กๆ อย่างเหมาะสมครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผักและผลไม้ รวมถึงกำชับไม่ให้เด็กรับประทานไอศกรีม ขนมหวาน น้ำหวานมากเกินไปเวลาอยู่กับเพื่อนๆ
ผู้ใหญ่อาจไม่จำเป็นต้องพูดถึงโรคเบาหวานเลยก็ได้ แต่เปลี่ยนเป็นสอนว่า ขนมหวานจะทำให้ฟันผุหากรับประทานมากเกินไป หรือทำให้ตัวอ้วนขึ้น จากนั้นเมื่อเขาเริ่มซึมซับข้อมูลเกี่ยวกับโทษของการติดหวาน คุณอาจค่อยอธิบายและขยายความถึงโรคเบาหวานต่อไป
2. รับประทานมื้อเช้าอย่าให้ขาด
กลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ มักเข้าใจผิดว่าการรับประทานอาหารน้อยๆ เข้าไว้ เน้นผักและผลไม้ ห้ามรับประทานอาหารประเภทแป้ง หรือมีไขมันเลย จะช่วยให้หายจากโรคเร็วขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่ผิด
หัวใจหลักของการรักษาโรคเบาหวานคือ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่สูงหรือต่ำเกินไป ดังนั้นจึงต้องรับประทานอาหารให้เพียงพอต่อร่างกาย ไม่ใช่น้อยหรือมากเกินไป หรือเลี่ยงอาหารมื้อใดมื้อหนึ่งไป
ทั้งนี้ ควรรับประทานอาหารตามที่นักกำหนดอาหารแนะนำ โดยอาหารที่เหมาะสมในแต่ละมื้อจะขึ้นอยู่กับ อายุ เพศ น้ำหนัก กิจวัตรประจำวัน และยาที่กำลังใช้รักษาอยู่ในขณะนั้น
3. หมั่นให้เด็กๆ ออกกำลังกายบ้าง
คุณไม่จำเป็นต้องให้เด็กออกกำลังกายโดยการเล่นกีฬาเสมอไป แต่อาจสนับสนุนให้เขาได้ออกไปวิ่งเล่นกับเพื่อนๆ ไปเล่นเครื่องเล่นในสวนสาธารณะ ขี่จักรยาน วิ่งเล่นกับสัตว์เลี้ยง
อาจเป็นตัวคุณเองที่เป็นคนชวนเด็กๆ ให้ออกไปวิ่งเล่น ออกกำลังกายกัน และหลีกเลี่ยงอย่าให้เด็กอยู่กับที่เป็นเวลานานๆหรือติดการใช้สมาร์ทโฟนมากเกินไป
4. พาไปตรวจสุขภาพ
หมั่นพาลูกของคุณไปตรวจสุขภาพประจำปี เพราะโรคเบาหวานสามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม ดังนั้น การตรวจสุขภาพตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อดูแนวโน้มว่า เสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนหรือเบาหวานหรือไม่ จะช่วยให้คุณสามารถวางแผนการดูแลและป้องกันได้อย่างถูกต้อง
โรคเบาหวานเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศและทุกวัย ดังนั้นผู้ปกครองทุกคนจึงไม่ควรประมาท และควรดูแลสุขภาพของเด็กๆ ในครอบครัวให้สมบูรณ์แข็งแรงเพื่อป้องกันทั้งโรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจตามมาภายหลัง จนส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของเด็กในระยะยาวได้