ซีสต์มีลักษณะเป็นถุงน้ำที่ภายในบรรจุด้วยของเหลว อากาศ หรือสารอื่นๆ โดยจะเกิดขึ้นบนเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ ของร่างกาย หรือเกิดขึ้นใต้ผิวหนัง ซีสต์มีด้วยกันหลายชนิด แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อเยื่อไม่ร้ายและไม่กลายเป็นเนื้องอกมะเร็ง
ซีสต์สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
- การติดเชื้อ
- โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
- การอักเสบเรื้อรัง
- การอุดตันของท่อต่างๆ ในร่างกาย
ชนิดของซีสต์ และภาวะที่ทำให้เกิดซีสต์
ซีสต์แบ่งออกได้หลายร้อยชนิด สามารถเกิดขึ้นที่ใดก็ได้ของร่างกาย ในบางกรณีอาจพบว่าซีสต์เป็นส่วนหนึ่งของอาการในโรคอื่นๆ เช่น โรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ และถุงน้ำหลายถุงในไต โดยซีสต์ชนิดที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่
- ซีสต์ชนิด Epidermoid (Epidermoid Cyst) : มีขนาดเล็ก โตช้า มักพบมากที่ใบหน้า ศีรษะ คอ หลัง หรือที่อวัยวะเพศ เกิดจากการสะสมเคอราติน (Keratin) ภายใต้ผิวหนัง ลักษณะจะเป็นก้อนสีเดียวกับผิวหนัง ภายในสะสมไปด้วยสารข้นหนืด
- ซีสต์ที่เต้านม (Breast Cyst) : ส่วนใหญ่แล้วก้อนในเต้านมมักไม่ใช่มะเร็ง แต่ถ้าบริเวณเต้านมมีสิ่งผิดปกติ เช่น ก้อนที่เต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้น มีของเหลวไหลจากหัวนม หรือหัวนมบอด (ถ้าปกติแล้วหัวนมไม่ได้บอด) ก็ควรไปพบแพทย์ทันที
- ก้อนถุงน้ำที่มือและข้อมือ (Ganglion) : เป็นก้อนถุงน้ำลักษณะกลม มีของเหลวอยู่ภายใน มักเกิดขึ้นที่บริเวณเส้นเอ็นหรือข้อต่อ โดยเฉพาะที่มือ ข้อมือ ข้อเท้า และเท้า มีสาเหตุมาจากการบาดเจ็บ อุบัติเหตุ หรือการใช้งานมากเกินไป แต่ส่วนใหญ่แล้วมักไม่ทราบสาเหตุ
- ซีสต์ที่บริเวณร่องก้น (Pilonidal Cyst) : เกิดขึ้นที่บริเวณเหนือร่องก้น มีลักษณะเป็นรูขนาดเล็กในผิวหนัง ซึ่งอาจมีการติดเชื้อและภายในบรรจุด้วยของเหลวหรือหนอง เชื่อว่าเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกันคือ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การเจริญเติบโตของขน การเสียดสีจากเสื้อผ้า หรือการนั่งเป็นเวลานาน
- ถุงน้ำหรือซีสต์ที่รังไข่ (Ovarian Cyst) : สามารถเกิดขึ้นที่ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างของรังไข่ อาจมีอาการปวดหรือไม่มีอาการใดๆ
- ก้อนที่เปลือกตา (Chalazion) : เป็นก้อนขนาดเล็ก บวม ไม่เจ็บ เกิดขึ้นที่เปลือกตาบนหรือเปลือกตาล่างสาเหตุเกิดจากต่อมไขมันที่เปลือกตา (Meibomian Gland) มีการอุดตัน ถ้ามีการติดเชื้อร่วมด้วย อาจทำให้มีอาการแดง บวม และปวด
- ถุงน้ำหลังหัวเข่า (Baker’s (Popliteal) Cyst) : ทำให้ผู้ป่วยมีอาการข้อติด มีอาการปวด และการเคลื่อนไหวทำได้จำกัด สัมพันธ์กับปัญหาที่เกิดกับข้อเข่า เช่น ข้ออักเสบ (Arthritis) การอักเสบจากความเครียดที่กระทำกับเข่าซ้ำๆ หรือกระดูกอ่อนได้รับความเสียหาย
- สิวซีสต์ (Cystic Acne) : เป็นสิวชนิดที่รุนแรงที่สุด เป็นซีสต์ที่อยู่ใต้ผิวหนังชั้นลึก เกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน คือ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน จากแบคทีเรีย จากไขมัน และจากเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว ซึ่งมีการอุดตันภายในรูขุมขน
- ซีสต์ขนคุด : เกิดจากการที่ขนเจริญเติบโตลงด้านล่าง หรือออกด้านข้าง แทนที่จะงอกออกมาด้านนอก ทำให้เกิดขนคุดขึ้น พบได้บ่อยในผู้ที่โกนขน แว็กซ์ หรือใช้วิธีอื่นในการกำจัดขน ลักษณะภายนอกคล้ายกับสิวใต้ผิวหนัง อาจมีสีแดง ขาว หรือสีเหลือง ซึ่งอาจมีขนที่มองเห็นอยู่ตรงกลางหรือไม่ก็ได้
- ซีสต์ของปุ่มรากผม (Pilar Cyst) : มีสีเนื้อ ลักษณะกลม เกิดขึ้นใต้ผิวหนัง เกิดจากการสะสมของโปรตีนในปุ่มรากผม (Hair Follicle) ซีสต์ชนิดนี้มักไม่เจ็บ ค่อนข้างแข็ง ผิวเรียบ และเติบโตช้า
- มิวคัสซีสต์ (Mucous Cyst) : เป็นซีสต์ที่ภายในบรรจุด้วยของเหลว เกิดขึ้นที่ริมฝีปากหรือภายในปาก เกิดจากต่อมน้ำลายมีการอุดตัน ทำให้มีการสะสมของเยื่อเมือกเกิดขึ้น ซีสต์ชนิดนี้มีขนาดเล็ก นิ่ม เป็นก้อนสีชมพู หรือสีฟ้า
- ถุงน้ำที่คอ (Branchial Cleft Cyst) : เป็นความผิดปกติแต่กำเนิดชนิดหนึ่ง โดยจะมีก้อนถุงน้ำเกิดขึ้นที่ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างของลำคอเด็กหรืออยู่ด้านล่างกระดูกไหปลาร้า ส่วนใหญ่แล้ว ถุงน้ำชนิดนี้ไม่เป็นอันตราย แต่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนัง หรือมีการติดเชื้อ
เมื่อไรที่ควรไปพบแพทย์เมื่อเป็นซีสต์
โดยทั่วไปซีสต์จะเจริญเติบโตช้าและมีผิวเรียบ มีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่มาก ซีสต์ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการเจ็บปวด และมักไม่ก่อให้เกิดปัญหาใดๆ ยกเว้นถ้ามีอาการต่อไปนี้ ก็ควรไปพบแพทย์
- มีการติดเชื้อ
- มีขนาดใหญ่มาก
- กดทับเส้นประสาทหรือหลอดเลือด
- โตขึ้นบนบริเวณที่มีความไวเป็นพิเศษ
- ซีสต์ส่งผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะในร่างกาย
แพทย์จะทำการตรวจซีสต์ให้ แม้จะไม่มีอาการปวดหรืออาการใดๆ ก็ตาม เพราะก้อนผิดปกติในร่างกายอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งได้ ซึ่งแพทย์อาจเจาะหรือตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อไปตรวจเพิ่มเติมด้วย
การรักษาซีสต์
การรักษาซีสต์ สามารถทำได้สองวิธี ได้แก่
- การดูแลด้วยตนเอง : ในบางกรณี ซีสต์จะสามารถหายไปได้เอง การประคบอุ่นบนซีสต์จะช่วยให้หายเร็วขึ้นเพราะจะช่วยให้เกิดการระบายของเหลวออก แต่ไม่ควรบีบหรือทำให้ซีสต์แตกด้วยตนเอง เพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้
- การดูแลรักษาทางการแพทย์ : วิธีการรักษาทางการแพทย์ที่ใช้ในการรักษาซีสต์ ได้แก่
- แพทย์จะใช้เข็มเจาะระบายของเหลวและสิ่งแปลกปลอมในซีสต์ออก
- แพทย์จะใช้ยาในการรักษา เช่น ยาสเตียรอยด์ชนิดฉีด เพื่อลดอาการอักเสบของซีสต์
- แพทย์จะทำการผ่าตัดเอาซีสต์ออก ซึ่งอาจใช้วิธีนี้หากการเจาะระบายของเหลวออกไม่ประสบความสำเร็จ หรือซีสต์อยู่ลึกมากและจำเป็นต้องรักษา
การป้องกันการเกิดซีสต์
มีซีสต์บางชนิดที่สามารถป้องกันได้ เช่น
- ซีสต์ที่รังไข่ : อาจป้องกันได้ด้วยการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด
- ก้อนที่เปลือกตา : อาจป้องกันได้ด้วยการทำความสะอาดเปลือกตาใกล้กับแนวขนตาด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่อ่อนโยนจะช่วยป้องกันการอุดตันของท่อไขมันบริเวณนั้น
- ซีสต์ที่บริเวณร่องก้น : อาจป้องกันได้ด้วยการทำความสะอาดบริเวณร่องก้นให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง รวมถึงลุกขึ้นยืนบ่อยๆ อย่านั่งนานเกินไป
ที่มาของข้อมูล
Amanda Delgago, What’s Causing This Cyst? (https://www.healthline.com/health/cyst), August 11, 2017.