เจาะเลือด CBC คืออะไร

CBC การเจาะเลือดที่นำทางให้เห็นสภาวะเม็ดเลือดในร่างกายของคุณ
เผยแพร่ครั้งแรก 14 ต.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 11 ก.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 7 นาที
เจาะเลือด CBC คืออะไร

ข้อมูลเกี่ยวกับความสมบูรณ์ของรูปร่าง ขนาด และจำนวนของเซลล์เม็ดเลือด เป็นข้อมูลสำคัญที่แพทย์จะต้องทราบเพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรค ตรวจความแข็งแรงของร่างกายผู้ป่วย 

การเจาะเลือดเพื่อหาข้อมูลชนิดนี้ ในแบบฟอร์มการร้องขอการเจาะเลือดจะเรียกว่า "ซีบีซี" (Complete Blood Count: CBC) หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า "การเจาะเลือดหาซีบีซี" แต่บางแห่งก็เรียกว่า "เอฟบีซี" (Full Blood Count: FBC) หรือ “ฮีโมแกรม" (Hemogram) จึงขอให้เป็นที่เข้าใจว่าเป็น "การเจาะเลือดตรวจเพื่อนับจำนวนความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด" ทั้งเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดประเภทเดียวกันทุกประการนั่นเอง

ความสำคัญของการเจาะเลือดหา CBC

  • ใช้เพื่อประกอบการวินิจฉัยภาวะโลหิตจางแบบต่างๆ หรือตรวจเพิ่มเติมเมื่อมีอาการอ่อนเพลีย มีไข้ จ้ำเลือดตามร่างกาย หรือรู้สึกเหนื่อยผิดปกติ
  • ใช้ตรวจความผิดปกติหรือความบกพร่องใดๆซึ่งเกี่ยวข้องกับรูปร่าง ขนาด และจำนวนของเซลล์เม็ดเลือด ซึ่งความผิดปกติหรือความบกพร่องเพียงชนิดใดชนิดหนึ่งซึ่งติดตัวมาจากกรรมพันธุ์ ก็เพียงพอต่อการก่ออาการของโรคที่ร้ายแรงได้ เช่น โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) การตรวจหา CBC ย่อมทำให้ทราบก่อนวิธีอื่น
  • ใช้ตรวจหาการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เม็ดเลือดในกรณีที่ได้รับสารกัมมันตรังสี หรือสารประกอบปิโตรเลียม ซึ่งส่งผลต่อเซลล์เม็ดเลือด ทั้งเม็ดเลือดแดง และเม็ดเลือดขาว
  • ในกรณีร่างกายได้รับเชื้อโรคจากภายนอกร่างกาย ก็จะมีผลทำให้จำนวนและชนิดของเซลล์เม็ดเลือดมีการเปลี่ยนแปลงผิดไปจากเดิม
  • ใช้ติดตามการรักษาในกรณีร่างกายได้รับยา เช่น เคมีบำบัด (chemotherapy) เพื่อรักษาโรคมะเร็งย่อมมีผลอาจทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (lymphocytes) ลดจำนวนลงต่ำกว่าระดับปกติก็ได้
  • เพื่อสรุปว่าเซลล์เม็ดเลือดอาจใช้เป็นตัวบ่งชี้ถึงความปกติของร่างกายได้ส่วนหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม แม้สภาวะโดยทั่วไปของเซลล์เม็ดเลือดทุกชนิดดี แต่หากมีสารชีวเคมีที่ปะปนมาในเลือดซึ่งไม่อยู่ในระดับที่เหมาะสม ก็อาจบ่งชี้ว่าเจ้าของร่างกายกำลังเริ่มมีสุขภาพย่ำแย่ก็ได้

องค์ประกอบของเลือด

น้ำเลือดที่เห็นเป็นสีแดงจะมีอยู่ในร่างกายประมาณ 7.7% ของน้ำหนักตัว โดยขนาดส่วนเฉลี่ยของคนไทยที่มีน้ำหนัก 70 กิโลกรัมก็จะมีน้ำเลือดทั้งหมดประมาณ 5 ลิตร 

หากหลอดเลือดดำที่แขนถูกดูดด้วยเข็มเจาะแล้วเอาเลือดออกจากร่างกายมนุษย์มาใส่หลอด จากนั้นปั่นด้วยเครื่องปั่นใช้แรงเหวี่ยง ศูนย์กลางก็จะทำให้สามารถแยกองค์ประกอบเห็นสัดส่วนชัดเจนปรากฏในหลอดแก้ว

ส่วนบน 

จะเป็นน้ำสีเหลืองใสเรียกว่า "น้ำเหลือง" หรือ "พลาสมา" (plasma) มีสัดส่วนประมาณ 55% ประกอบด้วย สารโปรตีน ไขมัน น้ำตาล แร่ธาตุฮอร์โมน ฯลฯ

ส่วนกลาง 

เป็นชั้นบางๆ ปรากฏเป็นสีเหลืองซีดและมีปริมาณไม่ถึง 1% ของน้ำเลือดทั้งหมดในหลอด องค์ประกอบส่วนนี้ของเลือดคือ ส่วนที่เป็น "เซลล์เม็ดเลือดขาว" (White Blood Cells: WBC) ศัพท์ทางการแพทย์มักจะเรียกว่า "ลูโคไซต์" (Leukocytes) ซึ่งมาจาก "ลูโค" (Leuko) แปลว่า ขาว กับ "ไซต์" (Cyte) แปลว่า เซลล์

สำหรับหน้าที่ของเซลล์เม็ดเลือดขาวนั้น จะทำหน้าที่ในการต่อสู้กับเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย ค่าปกติของเม็ดเลือดขาวจะอยู่ที่ 4,500-10,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร หากเม็ดเลือดขาวมีค่ามากกว่าปกติ นั่นอาจแปลว่าร่างกายของคุณกำลังต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือเกิดอาการแพ้อยู่ แต่หากเซลล์เม็ดเลือดขาวลดลงก็สามารถบ่งบอกถึงโรคลูคีเมีย ภาวะบกพร่องทางภูมิคุ้มกันได้ ทั้งนี้ควรดูอาการอื่นๆ ประกอบการวินิจฉัย

ส่วนล่าง 

เป็นส่วนของเหลวข้นสีแดงเข้ม เรียกว่า "เซลล์เม็ดเลือดแดง" (Red Blood Cells: RBC) ศัพท์ทางการแพทย์จะเรียกว่า "อีริทโธรไซต์" (Erythrocytes) ซึ่งมาจาก "อีริโทร" (Erythro) แปลว่า แดง กับ "ไซต์" (Cyte) ซึ่งแปลว่า เซลล์ 

เม็ดเลือดแดงจะมีรูปร่างกลมแบนมีลักษณะคล้ายจาน ตรงกลางเว้าเข้าหากัน ไม่มีนิวเคลียส สาเหตุที่มีลักษณะเช่นนี้ก็เพื่อให้พื้นที่ผิวโดยรอบเซลล์มีเนื้อที่มากที่สุด เพื่อเพิ่มโอกาสให้สามารถจับออกซิเจนจากปอดเอาไปส่งให้ทุกเซลล์ทั่วร่างกายได้มากที่สุด และในทางกลับกัน ก็สามารถจับคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาส่งคืนให้ปอด เพื่อทิ้งออกไปนอกร่างกายได้อย่างมากที่สุดและหมดจดด้วยเช่นกัน 

ค่าปกติของเซลล์เม็ดเลือดแดงอยู่ที่ 4.5-5.9 ล้านเซลล์ต่อไมโครลิตรสำหรับผู้ชาย และ 4.1-5.1 ล้านเซลล์ต่อไมโครลิตรสำหรับผู้หญิง หากเม็ดเลือดแดงมีค่าต่ำก็จะทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียเนื่องจากมีเม็ดเลือดลำเลียงออกซิเจนไม่เพียงพอ

และในส่วนล่างยังมีองค์ประกอบสำคัญของเลือดอีกตัวหนึ่งคือ เกล็ดเลือด (Blood Platelets) แต่ถ้าศัพท์ทางการแพทย์จะนับว่าเป็นเซลล์ของเลือดที่เรียกว่า "เซลล์อุดรอยรั่ว" (Thrombocytes) ซึ่งมาจาก thrombo แปลว่า อุดหรือกั้น และ cyte แปลว่า เซลล์ หน้าที่โดยสรุปของเกล็ดเลือดก็คือ การห้ามเลือด เช่น เมื่อร่างกายถูกของมีคมจนเกิดบาดแผลที่ไม่ใหญ่กว้างเกินไปนัก เกล็ดเลือดก็จะแสดงบทบาทโดยการปิดปากแผลเพื่อห้ามเลือด 

ค่าปกติของเกล็ดเลือดจะอยู่ที่ 150,000-450,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร หากต่ำกว่าปกติอาจหมายถึงร่างกายกำลังสูญเสียเลือดปริมาณมาก ในทางกลับกันหากมีค่าสูงกว่าปกติ อาจทำให้ลิ่มเลือดอุดกั้นในเส้นเลือดได้

ข้อสังเกต

  • เซลล์เม็ดเลือดแดงเมื่อโตเต็มที่แล้วจะไม่มีนิวเคลียส ฉะนั้นจึงขาดองค์ประกอบสำคัญที่จะเรียกว่า "เซลล์" ไป ดังนั้น การเรียกว่า "เซลล์เม็ดเลือดแดง" จึงเป็นการเรียกโดยอนุโลม
  • พื้นที่ผิวของเยื่อผนังเซลล์เม็ดเลือดแดงซึ่งอาจสังเกตเห็นด้วยกล้องจุลทรรศน์ว่าคล้ายเป็นผิวเรียบๆ นั้นยังเคลือบด้วย "สารพิเศษแบ่งหมู่เลือด" ซึ่งเรียกตามศัพท์ทางการแพทย์ว่า "group specific antigen" หรือ "blood group antigen" ทำให้เลือดบางชนิดเข้ากันได้ แต่บางชนิดจะเข้ากันไม่ได้

หมู่เลือด

นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ชื่อว่า คาร์ล แลนด์สไตเนอร์ (Karl Landsteiner) ได้ค้นพบในปีค.ศ. 1901 ว่าเลือดมนุษย์โดยทั่วไปนั้นอาจแบ่งหมู่เลือดออกได้เป็น 4 หมู่คือ 

  1. หมู่ A 
  2. หมู่ B 
  3. หมู่ AB 
  4. หมู่ O

การค้นพบครั้งนั้นได้ทำให้วงการแพทย์สามารถช่วยชีวิตมนุษย์ด้วยวิธีการถ่ายเลือด หรือการบริจาคเลือดจากคนคนหนึ่งให้แก่ผู้ที่เสียเลือดหรือต้องการเลือดโดยรีบด่วนได้ โดยมีหลักการพิจารณาหมู่เลือดของผู้บริจาคและผู้รับบริจาคว่าจะต้องมีความสัมพันธ์ต่อกัน โดยตามเกณฑ์โดยทั่วไปดังนี้

หมู่เลือดผู้รับบริจาค

แม้หมู่เลือดที่ให้จะถูกต้องตามแบบแผนข้างต้น แต่ในความเป็นจริงก็ยังอาจเกิดอันตรายต่อร่างกายผู้รับบริจาคได้ หากสารอร์เอช (Rh) เข้ากันไม่ได้ระหว่างเลือดของผู้บริจาคและผู้รับบริจาค

ความหมายของสาร Rh

ในปี 1940 นายแพทย์แลนด์สไตเนอร์ได้ค้นพบเพิ่มเติมอีกว่า ความแตกต่างของเลือดนอกจากโดยหมู่เลือดดังกล่าวแล้ว ยังมีสารอีกตัวหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการถ่ายเลือด หรือให้เลือดจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่ง ซึ่งสารที่ว่านั้นก็คือ "สารอาร์เอช" (Rhesus antigen: Rh) โดยคำว่า "เรซัส" (Rhesus) นั้นได้ชื่อมาจาก "ลิงวอก" ซึ่งเป็นลิงอินเดียพันธุ์หนึ่ง และมีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า "Rhesus monkeys"

ความแตกต่างของสาร Rh มีเพียงว่ามนุษย์พวกหนึ่งมีค่าเป็นบวก (+) และพวกหนึ่งมีค่าเป็นลบ (-) สำหรับเลือดทุกหมู่ที่กล่าวถึงมาแล้วนั้น นั่นคือจะทำให้เกิดการแยกเลือดออกเป็นกลุ่มย่อยได้จำนวน 8 หมู่ เนื่องจากมีค่า Rh เข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกหมู่เลือด ดังนี้

  1. A+
  2. A-
  3. B+
  4. B-
  5. AB+
  6. AB-
  7. O+
  8. O-

การให้เลือดนอกจากจำเป็นต้องให้หมู่เลือดเข้ากันได้ (cross matching) กับผู้รับแล้ว ยังจะต้องระลึกว่า ระบบของสาร Rh ในเลือดจะต้องสอดคล้องกันด้วยโดยมีหลักการทั่วไปว่า

1. ผู้ที่ร่างกายมีเลือดเป็น Rh (+) จะสามารถเลือกรับ Rh (+) ก็ได้หรือ Rh (-) ก็ได้

2. ผู้ที่ร่างกายมีเลือด Rh (-) เป็นจะสามารถรับเลือดได้เฉพาะ Rh (-) เท่านั้น หากมีความผิดพลาดโดยการให้เลือดที่เป็น Rh (+) กับผู้รับก็จะทำให้ร่างกายค่อยๆ สร้างสารภูมิต้านทานที่เรียกว่า "สารภูมิต้านทานอาร์เอช" (anti-Rh) อันเป็นปฏิกิริยาต่อต้าน และอาจรุนแรงถึงขั้นเกิดโรคเม็ดเลือดแดงแตกง่าย (hemolytic disease) ขึ้นได้

3. สตรีที่มีเลือดเป็น Rh (-) และตั้งครรภ์กับสามีที่มีเลือดเป็น Rh (+) ย่อมมีผลทำให้ลูกในครรภ์อาจจะเป็น Rh (+) หรือ Rh (-) ก็ได้ซึ่งอาจมีผลต่อมาดังนี้

  • กรณีลูกในครรภ์ มีเลือดเป็น Rh (-) เหมือนแม่ก็ไม่มีปัญหาความเสี่ยงใดๆ
  • กรณีลูกในครรภ์มีเลือดเป็น Rh (+) ก็ย่อมมีโอกาสทำให้เม็ดเลือดแดงจากลูกวิ่งผ่านสายรกหลุดเข้าสู่กระแสเลือดของแม่ จนมีผลต่อเนื่องทำให้ร่างกายของผู้เป็นแม่จะค่อยค่อยเริ่มสร้างสารสารภูมิต้านทานอาร์เอชขึ้นมา แต่ลูกคนแรกนี้อาจยังไม่เกิดความร้ายแรงต่อการต่อต้านมากนัก
  • แต่หากลูกคนที่ 2 หรือ 3 มี Rh(+) เช่นเดียวกันคราวนี้แม่จะมี anti-Rh ที่รุนแรงมากขึ้น และอาจวิ่งผ่านสายรกเข้าไปทำลายเม็ดเลือดแดงในร่างกายลูกขณะยังอยู่ในครรภ์จนเกิดภาวะเลือดจาง ดีซ่าน และอาจทำให้ทารกตายตั้งแต่อยู่ในครรภ์

4. โดยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า ผู้ที่มีเลือดเป็น Rh (-) นั้นนับว่ามีจุดอ่อนในร่างกายที่จะต้องระมัดระวังตัวเป็นอย่างยิ่งจากการรับบริจาคเลือดจากผู้อื่น หรือการมีครรภ์กับสามีที่มี Rh (+) โดยประการสำคัญที่สุด เจ้าของร่างกายหรือตนเองจะต้องทราบความจริงในข้อนี้เพื่อแจ้งเตือนบุคลากรทางการแพทย์

ในวงการแพทย์ทหารของประเทศตะวันตกบางประเทศจึงแนะนำให้ทหารที่มี Rh (-) สักร่างกายแสดงหมู่เลือดให้เห็นโดยง่ายเนื่องจากในยามสงคราม เจ้าของร่างกายอาจได้รับบาดเจ็บจากการรบในสภาพหมดสติ หรือสลบและไม่อาจบอกความต้องการได้

5. โดยสถิติจำนวนประชากรชาวตะวันตกจะมีเลือดที่เป็น Rh (-) ไม่มากนักกล่าวคือ

  • ชาวอเมริกัน ประมาณ 16%
  • ชาวอังกฤษ  ประมาณ 17%
  • ชาวออสเตรเลีย ประมาณ 9%

ส่วนสติถิของคนไทยนั้นโดยประมาณ 99.7% จะมีเลือดเป็น Rh (+)  มีเพียง 0.1-0.3% เท่านั้นที่เลือดเป็น Rh (-)

6. เพื่อให้สะดวกต่อการจำและพิจารณาเกี่ยวกับการให้และรับเลือดโดยมีประเด็นในด้านหมู่เลือดและ Rh ที่ถูกต้องอาจสรุปเป็นข้อมูลให้เห็นง่าย ๆ ดังนี้

  • หากผู้รับมีหมู่เลือด AB+ สามารถรับได้ทุกหมู่เลือด
  • หากผู้รับมีหมู่เลือด AB- ผู้ให้ต้องมีหมู่เลือด O-, A-, B-, AB-
  • หากผู้รับมีหมู่เลือด A+ ผู้ให้ต้องมีหมู่เลือด O-, O+, A-, A+
  • หากผู้รับมีหมู่เลือด A- ผู้ให้ต้องมีหมู่เลือด O-, A-
  • หากผู้รับมีหมู่เลือด B+ ผู้ให้ต้องมีหมู่เลือด O-, O+, B-, B+
  • หากผู้รับมีหมู่เลือด B- ผู้ให้ต้องมีหมู่เลือด O-, B+
  • หากผู้รับมีหมู่เลือด O+ ผู้ให้ต้องมีหมู่เลือด O-, O+
  • หากผู้รับมีหมู่เลือด O- ผู้ให้ต้องมีหมู่เลือด O-

7. จากข้อมูลในข้อ 6. มีข้อน่าสังเกตที่ควรจดจำดังนี้

  • ผู้มีหมู่เลือด O Rh (-) หรือ O (-) สามารถบริจาคให้แก่ทุกหมู่เลือดได้โดยไร้ข้อจำกัด แต่ตนเองกลับรับได้แต่เฉพาะหมู่เลือด O (-) ด้วยกันเท่านั้น ชาวต่างชาติจะเรียกผู้มีหมู่เลือดชนิด O (-) นี้ว่า "ผู้บริจาคสากล" (universal donors)
  • ผู้มีหมู่เลือดชนิด AB(+) นับว่าเป็นคนโชคดีที่สุด เพราะในยามจำเป็นที่ร่างกายต้องการเลือดก็สามารถรับการบริจาคได้จากทุกคนจากทุกหมู่เลือด Rh และทุกชนิดเลือด ผู้มีหมู่เลือดชนิด AB (+) จึงถูกเรียกว่า "ผู้รับบริจาคสากล" (universal recipients)

8. ในทางปฏิบัติ ก่อนการให้เลือดกับผู้ใดก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเทคนิคทางการแพทย์เกี่ยวกับเลือดจะทดลองผสมเลือดผู้ให้กับผู้รับ (cross matching) เพื่อให้แน่ใจว่าเลือดนั้นสามารถเข้ากันได้ดีโดยไม่เกิดปฏิกิริยาต่อต้านใดๆ แต่ในกรณีฉุกเฉินจริงๆ เช่นในยามที่ผู้รับเลือดบาดเจ็บสาหัสเสียเลือดไปมากจนไม่สามารถคอยเวลาได้อีกมิเช่นนั้นจะถึงแก่ชีวิต ในกรณีเช่นนี้สถานพยาบาลก็จะให้เลือดหมู่ O ชนิด Rh (-) หรือ O (-) แก่ผู้ป่วย

สรุปว่าในใบรายงาน ผลเลือดจะเขียนว่า

Blood Group........................................

หมายถึงว่า ผลแล็บจะระบุหมู่เลือดของท่านชัดเจนว่า A B AB หรือ O ตัวใดตัวหนึ่งเท่านั้น

Rh Grouping....................................

หมายถึงชนิดเลือด Rh เป็น positive (คือ +) หรือ negative (คือ -) อย่างใดอย่างหนึ่งลงในช่องว่างนั้น


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Labtestonline, Complete blood count (https://labtestsonline.org/tests/complete-blood-count-cbc), 14 June 2019
Louise Chang, What Is a Complete Blood Count ? (https://www.webmd.com/a-to-z-guides/complete-blood-count#2), 22 December 2018

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
วิตามิน (Vitamins) คืออะไร?
วิตามิน (Vitamins) คืออะไร?

ร่างกายของคุณต้องการวิตามินที่สำคัญถึง 13 ชนิดในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

อ่านเพิ่ม