กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

ท้องเสียบ่อยหรือเรื้อรัง หนึ่งสัญญาณโรคร้ายที่ไม่ควรมองข้าม

เผยแพร่ครั้งแรก 12 ส.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ท้องเสียบ่อยหรือเรื้อรัง หนึ่งสัญญาณโรคร้ายที่ไม่ควรมองข้าม

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • อาการท้องเสียเรื้อรัง คือ อาการที่ผู้ป่วยจะถ่ายเหลวเกินกว่า 2 ครั้งต่อวัน ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่มักจะเกิดจากการติดเชื้อในลำไส้ โรคเกี่ยวกับระบบขับถ่าย
  • ความผิดปกติเกี่ยวกับลำไส้ที่มักทำให้เกิดอาการท้องเสียเรื้อรัง ได้แก่ ภาวะลำไส้อักเสบเรื้อรัง ภาวะลำไส้แปรปรวน การติดเชื้อพยาธิในลำไส้ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • ความเครียด และความวิตกกังวล เป็นสาเหตุที่ทำให้ลำไส้บีบตัวจนเกิดเป็นอาการท้องเสียเรื้อรังได้
  • อาการท้องเสียเรื้อรังสามารถรักษาได้ตามอาการ ซึ่งส่วนมากมักเป็นการรับประทานยา หรือดื่มเกลือแร่ และรักษาตามสาเหตุ ซึ่งแพทย์อาจต้องให้ส่องกล้อง เพื่อหาความผิดปกติภายในลำไส้ และทวารหนัก
  • อาการแพ้อาหาร เป็นสาเหตุที่ทำให้อาการท้องเสียเกิดขึ้นได้ คุณจึงต้องระมัดระวังไม่รับประทานอาหารที่แพ้ หรือหากสังเกตว่า ตนเองแพ้อาหารชนิดใด ให้หลีกเลี่ยงโดยเด็ดขาด (ดูแพ็กเกจตรวจภูมิแพ้ และภาวะแพ้ได้ที่นี่)

ความหมายของอาการท้องเสียเรื้อรัง

ท้องเสียเรื้อรัง (Chronic diarrhea) คือ ภาวะที่ผู้ป่วยจะถ่ายเหลวเกินกว่า 2 ครั้งต่อวัน และติดต่อกันตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งหลายๆ ครั้งอาการท้องเสียมักเกิดขึ้นโดยที่เราไม่ทราบสาเหตุ ทำให้บางคนอาจชะล่าใจ และไม่ทราบว่านั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายก็ได้

อาการท้องเสียเรื้อรังจะแตกต่างจากท้องเสียแบบเฉียบพลัน ซึ่งมักมีสาเหตุมาจากเชื้อโรคในอาหาร

สาเหตุของอาการท้องเสียเรื้อรัง

ถึงแม้อาหารท้องเสียเรื้อรังจะยังหาสาเหตุไม่ได้แน่ชัด แต่ก็ยังมีโรค และอาการเจ็บป่วยบางอย่างที่มักทำให้เกิดอาการท้องเสียเรื้อรังได้ เช่น

  • ลำไส้อักเสบเรื้อรัง คือ การอักเสบภายในลำไส้ใหญ่โดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ก็สามารถเกิดได้จากบางโรค เช่น โรคโครห์น (Crohn’s disease) ซึ่งทำให้ลำไส้มีแผลลึก บวมอักเสบคล้ายฝี

    ลำไส้อักเสบเรื้อยังยังทำให้เกิดอาการปวดเกร็งท้องบ่อย ถ่ายบ่อยวันละหลายๆ ครั้ง ถ่ายเหลวมีเลือดปน รวมถึงอาจทำให้มีไข้ เบื่ออาหาร และน้ำหนักลดด้วย

  • ภาวะลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome: IBS) เป็นความผิดปกติที่ยังระบุสาเหตุไม่ได้ ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดแน่นท้อง ขับถ่ายผิดปกติ ท้องเสีย หรือท้องผูกบ่อยๆ บางครั้งกลั้นอุจจาระไม่อยู่ อาจมีเมือกใส และเลือดปนออกมากับอุจจาระได้

  • แพ้อาหาร บางคนอาจขาดเอนไซม์บางตัว ทำให้ไม่สามารถย่อยอาหารบางชนิดได้ เช่น ผู้ที่ขาดเอนไซม์แลคเทส (Lactase) จะไม่สามารถย่อยโปรตีนแลคโทสในนมวัวได้ เมื่อดื่มนมวัวจึงมีอาการท้องเสีย

    หรือคนที่แพ้กลูเทน ก็มักมีอาการปวดท้องทุกครั้งที่รับประทานอาหารที่มีกลูเทนเป็นส่วนประกอบ

  • ติดเชื้อพยาธิ ปรสิตหนอนพยาธิ และโปรโตซัวที่อาศัยอยู่ในลำไส้ เช่น พยาธิตัวตืด เชื้ออะมีบา อาจทำให้เกิดอาการท้องเสียเรื้อรังได้

    และบางครั้ง ผู้ป่วยอาจอุจจาระเป็นมูกเลือดด้วย รวมถึงอาจมีอาการซีด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด และคลื่นไส้อาเจียนได้เช่นกัน

  • เป็นผลจากยาบางชนิด การรับประทานยาสมุนไพร หรืออาหารเสริมที่มีฤทธิ์เป็นยาระบาย อาจส่งผลให้เกิดอาการถ่ายท้องบ่อยๆ ได้

    ดังนั้นหากคุณรับประทานยาที่ทำให้เป็นสาเหตุอยู่เป็นประจำ รวมถึงการรับประทานยาปฏิชีวนะบ่อยๆ ก็อาจทำให้แบคทีเรียประจำถิ่นในลำไส้ถูกกำจัด จึงมีโอกาสติดเชื้อก่อโรคในทางเดินอาหารได้สูง

  • มีความเครียด ภาวะเครียด และวิตกกังวลจะทำให้การบีบตัวของลำไส้ผิดปกติ จึงส่งผลให้เกิดอาการปวดแน่นท้อง อาหารไม่ย่อย ท้องผูก หรือท้องเสียเรื้อรังได้

  • ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส HIV มีโอกาสติดเชื้อก่อโรคนานาชนิดได้มากกว่าคนทั่วไป แม้แต่เชื้อฉวยโอกาสอย่างเชื้อรา และโปรโตซัวที่ไม่ก่อโรคในคนปกติ ก็อาจก่อให้เกิดอาการท้องเสียเรื้อรังในผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่องได้

  • มะเร็งลำไส้ใหญ่ การเกิดมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก มักพบในผู้สูงอายุวัย 65 ปีขึ้นไป ซึ่งทำให้เกิดอาการขับถ่ายผิดปกติ ปวดอุจจาระบ่อยครั้ง อุจจาระขนาดเล็กลง หรือเหลวไม่เป็นก้อน รวมถึงมีเลือดปนออกมาด้วย

    นอกจากนี้ ผู้ป่วยมักรู้สึกปวดเกร็งท้องตลอดเวลา ท้องเดินสลับกับท้องผูก มีอาการไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด และโลหิตจางร่วมด้วย

การรักษาอาการท้องเสียเรื้อรัง

การรักษาท้องเสียเรื้อรัง จะต้องทำการรักษาตามอาการควบคู่ไปกับการแก้ไขสาเหตุของโรค

1. การรักษาตามอาการ 

หากคุณถ่ายเหลวหลายครั้งใน 1 วันจนมีอาการอ่อนเพลีย จะต้องดื่มน้ำผสมเกลือแร่ หรือให้สารน้ำชดเชยทางหลอดเลือด เพื่อป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำ นอกจากนี้ อาการท้องร่วงอาจใช้ยารักษาตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น ยาบิสมัท (Bismuth) และยาเพิ่มกากอุจจาระ 

2. การรักษาที่สาเหตุของโรค 

เนื่องจากอาการท้องเสียเรื้อรังเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้นคุณควรต้องไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุก่อน ซึ่งในเบื้องต้น แพทย์จะสั่งให้เก็บอุจจาระ เพื่อตรวจดูลักษณะ และหาการติดเชื้อก่อโรค ร่วมกับประเมินร่วมอาการอื่นๆ ด้วย 

ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องส่องกล้องเพื่อตรวจความผิดปกติของลำไส้ และทวารหนัก ซึ่งหลังวินิจฉัยแล้ว แพทย์จึงจะรักษาตามสาเหตุของโรค เช่น หากพบว่า มีการติดเชื้อปรสิต ก็จะให้ยาถ่ายพยาธิ หรือหากเป็นลำไส้อักเสบเรื้อรัง ก็ต้องรับประทานยาแก้อักเสบ ภายใต้การควบคุมของแพทย์

การป้องกันอาการท้องเสียเรื้อรัง

  • รับประทานอาหาร และดื่มน้ำที่สะอาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และปรสิตที่ก่อให้เกิดอาการท้องร่วง
  • รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย และรับประทานผักผลไม้เป็นประจำ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการท้องผูกซึ่งอาจนำไปสู่โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ หรือทำให้ลำไส้ระคายเคือง เช่น อาหารที่มีส่วนประกอบของกลูเตน

อาการท้องเสียเรื้อรังมักเกิดได้จากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และยาที่ไม่เหมาะสม หรือไม่ปลอดภัย หากคุณเคยมีอาการท้องเสียเรื้อรังมาก่อน ก็จำเป็นต้องระมัดระวังเรื่องการรับประทานอาหาร และยาให้มากยิ่งขึ้น 

หากเคยมีอาการแพ้ หรือระคายเคืองต่อสารอาหาร หรือยาชนิดใด คุณควรหลีกเลี่ยงเพื่อความปลอดภัย หรือเพื่อให้มั่นใจยิ่งขึ้น และรู้เท่าทันว่า ตนเองแพ้สารอะไรบ้าง คุณสามารถไปเข้ารับการทดสอบภูมิแพ้ได้ที่โรงพยาบาลชั้นนำ

ดูแพ็กเกจตรวจภูมิแพ้ และภาวะแพ้ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


8 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Small Bowel Bacterial Overgrowth and Chronic Diarrhea. Medscape. (https://www.medscape.com/viewarticle/483735)
Diarrhea - MedlinePlus (https://medlineplus.gov/diarrhea.html)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)