เมื่ออายุครรภ์เข้าสู่เดือนที่ 3 ทารกในครรภ์จะมีขนาดประมาณ 2.5 - 3 นิ้ว น้ำหนักราวๆ 14-15 กรัม ในเดือนนี้ทารกในครรภ์เริ่มมีพัฒนาการของอวัยวะต่างๆ เช่น ระบบไหลเวียนเลือด ระบบขับถ่ายปัสสาวะเริ่มทำงาน เริ่มมีกระบวนการกลืนน้ำคร่ำของทารก ตับเริ่มสร้างน้ำดี อวัยวะสืบพันธุ์เริ่มเป็นรูปร่างแต่ยังไม่สามารถเห็นได้ชัดว่าเป็นเพศใด เริ่มเห็นนิ้วมือและนิ้วเท้าชัดเจนขึ้น
ในเดือนที่ 3 ของการตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่สามารถรู้สึกได้ดังนี้
- อ่อนเพลียง่าย และรู้สึกง่วงนอนบ่อยกว่าปกติ
- ปัสสาวะบ่อย
- คลื่นไส้ อาเจียน หรือยังมีอาการแพ้
- ท้องผูก
- ท้องอืดท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ปวดแสบบริเวณใต้ลิ้นปี่
- เบื่อและอยากอาหารบางประเภท
- เต้านมตึงคัด เต้านมขยายใหญ่ขึ้น สีผิวบริเวณหัวนมเข้มขึ้น
- ปวดศีรษะเป็นครั้งคราว
- เป็นลมบ่อย เวียนศีรษะ ตาพร่า ต้องระมัดระวังให้มากขึ้น
- อึดอัดบริเวณเอว
- หิวบ่อยและกินจุมากกว่าเดิม
- อารมณ์แปรปรวน อ่อนไหวง่าย ร้องไห้ง่าย เป็นต้น
สิ่งที่แพทย์จะให้คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ทำในเดือนนี้ได้แก่
- การชั่งน้ำหนัก และวัดความดันเลือด
- ตรวจสอบน้ำตาลและสารไข่ขาวในปัสสาวะ
- ฟังเสียงเต้นของหัวใจของทารกในครรภ์
- ตรวจสอบขนาดมดลูกว่าขนาดปกติดีหรือไม่
- ตรวจสอบระดับของมดลูกโดยการคลำจากหน้าท้อง
- ตรวจสอบอาการบวมและเส้นเลือดขอดบริเวณขาและเท้า
- ตรวจสอบอาการผิดปกติอื่นๆ (ถ้ามี)
สิ่งที่ต้องดูแลเป็นพิเศษในเดือนนี้คืออาการท้องผูก คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ควรทานอาหารที่มีกากใยอาหารให้มากขึ้น ดื่มน้ำสะอาดให้มากขึ้น และควรออกกำลังกายในแบบที่เหมาะสมวันละครึ่งชั่วโมง นอกจากอาการท้องผูกแล้ว บางคนมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ซึ่งก็มักจะเป็นผลมาจากอาการท้องผูก เนื่องจากอาการท้องผูกเป็นสาเหตุให้เกิดก๊าซในทางเดินอาหาร จึงต้องรักษาอาการท้องผูกให้หาย ไม่ควรกินอาหารอิ่มเกินไปในแต่ละมื้อ และไม่ควรรีบกิน ควรจะเคี้ยวอาหารช้าๆ และลดหรืองดอาหารที่อาจจะทำให้เกิดก๊าซในการย่อย เช่น กะหล่ำทุกชนิด หัวหอม และถั่วทุกชนิด
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ควรแบ่งการรับประทานอาหารออกเป็นมื้อย่อยๆ แทนที่จะรับประทานแบบ 3 มื้อต่อวัน อาจจะแบ่งเป็น 6-7 มื้อต่อวัน แต่แบ่งเป็นอาหารประจำมื้อ (3 มื้อหลัก) ส่วนช่วงสาย (ระหว่างมื้อเช้าและเที่ยง) อาจจะทานผลไม้ที่ให้กากใยมาก หรือสลัดผักใบเขียว พอช่วงบ่าย (ระหว่างมือเที่ยงและเย็น) อาจจะหาผลไม้ หรืออาหารว่างที่มีแร่ธาตุแคลเซียมมากๆ เข้าช่วย ส่วนช่วงหัวค่ำ (หลังมือเย็นและก่อนนอน) หากรู้สึกหิวอาจหาน้ำผลไม้คั้นสดๆ, ผลไม้บางชนิด เช่น กล้วยน้ำว้า หรือดื่มนมอุ่นๆ สักแก้วก็ได้