รู้จักน้ำมันกัญชา

น้ำมันกัญชาดีจริงหรือ? รู้จักก่อนใช้ เพื่อความปลอดภัยของชีวิต
เผยแพร่ครั้งแรก 3 ก.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
รู้จักน้ำมันกัญชา

คุณเชื่อไหมว่า มีคนใกล้ตัวคุณหลายคนที่ให้ความสนใจใน น้ำมันกัญชา หรือกัญชารักษาโรคเป็นอย่างมาก ส่วนใหญ่มักเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังทำให้ต้องรับประทานยาตลอดชีวิต เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือโรคมะเร็งต่างๆ เป็นต้น  แต่เมื่อมีกระแสกัญชาทางการแพทย์เกิดขึ้น ผู้คนจึงรู้สึกตื่นตัว เข้าใจว่าจะช่วยบรรเทาอาการของโรคที่เป็นอยู่ได้ หรือบางรายก็เข้าใจว่า จะทำให้ "หายขาด" จากโรคที่เป็นอยู่นั้น นั่นทำให้คนกลุ่มนี้ต้องการมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อใช้รักษาโรคด้วยตนเอง

กัญชากับการรักษาโรคในปัจจุบัน

เนื่องจากสารสำคัญในกัญชาบางตัว มีฤทธิ์ช่วยรักษา หรือบรรเทาอาการของบางโรคได้ ซึ่งปัจจุบันมีคนนำกัญชามาสกัดเป็นน้ำมันกัญชาแจกจ่ายให้คนทั่วไปโดยกล่าวอ้างถึงสรรพคุณมากมายเกินความเป็นจริง ทำให้ผู้คนหลงเชื่อและหาซื้อมาใช้กันเองในที่สุด

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

จากข้อมูล การสำรวจคนไทย 12,905 คน ของ Honestdocs เกี่ยวกับการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์  โดยพบว่า มีเพียง 14% เท่านั้น ที่นำกัญชามาใช้กับตัวเองเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์จริงๆ ส่วนใหญ่นำมาบรรเทาอาการเจ็บปวด ใช้รักษาโรคมะเร็ง ช่วยทำให้นอนหลับสนิทขึ้น รักษาโรคซึมเศร้า และอื่นๆ ตามลำดับ

จะเห็นได้ว่า ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีผู้ได้รับอันตรายจากการใช้น้ำมันกัญชามาแล้วหลายราย ด้วยอาการชา หรือกล้ามเนื้อเกร็ง กระตุก จากการใช้น้ำมันกัญชาที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่ถูกวิธี อาการเหล่านี้เป็นผลข้างเคียงจากการที่ร่างกายได้รับปริมาณสารสำคัญบางตัวมากเกินไป ส่งผลให้เกิดโทษมากกว่าประโยชน์นั่งเอง

สารสำคัญในน้ำมันกัญชามีอะไรบ้าง?

ในน้ำมันกัญชา มีสารสำคัญหลักๆ คือ สาร THC และสาร CBD โดยสาร THC เป็นสารประกอบหลัก มีผลกระตุ้นประสาท หากได้รับในปริมาณที่สูงเกินไปจะทำให้เกิดอาการจิตหลอน กล้ามเนื้อเกร็ง กระตุกได้

ส่วนสาร CBD มีปริมาณน้อยกว่าสาร THC และให้ผลตรงข้ามกันคือ ทำให้รู้สึกสบาย ผ่อนคลาย ช่วยลดความเจ็บปวด ลดการอักเสบ หรือคลายความกังวลได้

ด้วยคุณสมบัติของกัญชาที่กล่าวมา ทำให้มีคนเห็นช่องทางแสวงหาผลประโยชน์ หลอกขายน้ำมันกัญชากันมากมาย ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายได้เพราะเราไม่ทราบเลยว่าน้ำมันที่ไม่ได้มาตรฐานนั้น มีสารสำคัญอะไรบ้าง และมีปริมาณสารสำคัญเท่าไร 

นอกจากนั้นใบกัญชาที่นำมาสกัดสารสำคัญ โดยปกติแล้วมักจะมีการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงและแคดเมียม ซึ่งตัวแคดเทียมนั้นมีผลต่อไตและกระดูก และมีผลทำให้เกิดมะเร็งได้  

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ดังนั้นน้ำมันกัญชาที่ขายตามตลาดมืดต่างๆ ยังถือว่า เป็นน้ำมันที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่ผ่านการรับรองความปลอดภัยทางการแพทย์จึงควรระมัดระวัง อย่าหลงเชื่อ และหาซื้อมาใช้กันเองเพราะอาจเกิดผลข้างเคียงที่อันตรายตามมาได้ ซึ่งไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเลย

น้ำมันกัญชารักษามะเร็งได้ไหม?

เชื่อว่า นี่คงเป็นคำถามคาใจของใครหลายๆ คน เกี่ยวกับการรักษามะเร็ง ข้อมูล ณ ปัจจุบันพบว่า น้ำมันกัญชาไม่ได้ช่วยรักษาให้หายขาดจากมะเร็ง เพียงแค่ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดจากยาเคมีบำบัดเท่านั้น

กัญชากับโรคซึมเศร้า

ข้อมูล ณ ปัจจุบัน ยังไม่ปรากฏชัดเจนว่า กัญชาช่วยรักษาโรคซึมเศร้าได้ แต่มีผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet โดยผู้วิจัยเป็นนักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญทางระบบประสาทสมองจาก King's College London สหราชอาณาจักร พบว่า การใช้กัญชาอย่างต่อเนื่อง หรือในปริมาณสูงมีผลก่อให้เกิดโรคทางจิตได้ โดยเฉพาะโรคทางจิตชนิดที่ชื่อว่า"โรคจิตเภท" ซึ่งเป็นโรคจิตชนิดรุนแรง

อีกทั้งการรักษาโรคซึมเศร้าในปัจจุบันก็มียาต้านซึมเศร้าที่ปลอดภัย มีงานวิจัยวิจัยรองรับและใช้ได้ผลจริงอยู่แล้ว ซึ่งอาจไม่คุ้มกันเลยถ้าไปลองใช้กัญชารักษาด้วยตัวเอง

กัญชาช่วยให้นอนหลับสนิทขึ้นจริงไหม?

ปัจจุบันความรู้เรื่องกัญชากับการนอนหลับของคนไทยค่อนข้างมีจำกัด โดยปกติแล้วกัญชามีสาร THC เป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งสารนี้อาจทำให้ตื่นตัวและประสาทหลอนได้มากกว่าการทำให้นอนหลับสนิท 

ส่วนสาร CBD ที่มีฤทธิ์ช่วยคลายกังวลอาจช่วยทำให้นอนหลับได้ กลับมีปริมาณที่น้อยกว่าสาร THC ดังนั้น ณ ปัจจุบันกัญชาจึงอาจจะยังไม่เหมาะกับการใช้รักษาโรคนอนไม่หลับ

น้ำมันกัญชาช่วยบรรเทาอาการปวดได้จริงไหม?

คำตอบ คือ ช่วยได้จริง แต่จะช่วยได้ในเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งจากโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งและผู้ป่วยที่มีอาการปวดเส้นประสาทที่รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่หาย

ด้วยปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวว่า ไม่อยากให้มองว่าน้ำมันกัญชาเป็นยาวิเศษรักษาได้ทุกโรคเพราะปัจจุบันมีเพียง 4 โรคเท่านั้นที่มีคำแนะนำให้ใช้กัญชาในทางการแพทย์ได้ ดังนี้

  1. ภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยได้รับยาเคมีบำบัด
  2. โรคลมชักที่รักษายากในเด็กและลมชักที่ดื้อยา
  3. ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งของโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
  4. ภาวะปวดประสาทที่ใช้วิธีอื่นรักษาแล้วไม่หาย

จากข้อมูลที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า น้ำมันกัญชาไม่ใช่ยาวิเศษรักษาได้ทุกโรคและไม่ใช่ทุกคนที่จำเป็นต้องใช้ แต่หากต้องการใช้น้ำมันกัญชาจริงๆ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อจะได้ใช้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย ที่สำคัญไม่ควรหาน้ำมันกัญชามาใช้ด้วยตนเองอย่างเด็ดขาด


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์, น้ำมันกัญชากับการนอนหลับ(https://www.matichon.co.th/loc...), 28 พฤษภาคม 2562
อ. นพ.กานต์ จำรูญโรจน์, "กัญชา” ในมุมมองของจิตแพทย์ (https://www.youtube.com/watch?v=bnZVFPtf_Mk), 5 มิถุนายน 2562
ดร. ภญ. ผกาทิพย์ รื่นระเริงศักดิ์, กัญชากับการรักษาโรค(https://www.pharmacy.mahidol.a...)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป