การเลี้ยงลูกด้วยขวดนม

เผยแพร่ครั้งแรก 11 พ.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 16 นาที
การเลี้ยงลูกด้วยขวดนม

คำแนะนำของการเลี้ยงลูกด้วยขวดนม

หากคุณกำลังวางแผนให้นมลูกด้วยขวดนมที่บรรจุนมแม่ หรือนมผงสำหรับทารก การทำตามคำแนะนำที่เราจะกล่าวหลังจากนี้จะช่วยให้ลูกของคุณปลอดภัยและมีสุขภาพดี

การซื้ออุปกรณ์สำหรับให้นมลูก

คุณจำเป็นต้องซื้อขวดนม และจุกนมหลายชิ้น รวมถึงซื้ออุปกรณ์สำหรับฆ่าเชื้อโรค อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไม่มีหลักฐานที่บอกว่าจุกนมหรือขวดนมชนิดหนึ่งดีกว่าชนิดอื่นๆ แต่ขวดนมบางประเภทมีรูปทรงที่ยากต่อการทำความสะอาดอย่างหมดจด ด้วยความที่สุขอนามัยเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นการใช้ขวดนมแบบเรียบๆ ที่ง่ายต่อการล้างและฆ่าเชื้อโรคอาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
แนะนำคุณแม่มือใหม่วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 297 บาท ลดสูงสุด 59%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

การเตรียมให้นมลูกจากขวด

ขวดนมและจุกนมจะต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรคก่อนที่คุณจะนำมาใช้ หากคุณเลือกใช้นมผง ให้คุณทำตามคำชี้แนะที่ระบุไว้บนบรรจุภัณฑ์อย่างเคร่งครัด

วิธีให้นมทารกจากขวดนม

  • ในขณะที่ให้นมลูก ให้คุณนั่งในท่าที่ตัวเองรู้สึกสบาย และให้อุ้มทารกพร้อมกับมองดวงตาของเขาขณะป้อนนม ซึ่งช่วงเวลานี้เป็นโอกาสอันดีที่คุณจะได้ใกล้ชิดกับทารกและได้รู้จักเขามากขึ้น
  • อุ้มทารกให้เป็นแนวตั้งอย่างพอเหมาะ และให้ใช้มือช่วยพยุงศีรษะของทารกเพื่อให้เขาสามารถหายใจและกลืนนมได้อย่างสะดวกสบาย
  • ใช้จุกนมถูที่ริมฝีปากของทารก และเมื่อเขาอ้าปากกว้าง คุณก็ปล่อยให้เขางับจุกนม 
  • ให้เวลาลูกกินนมอย่างเต็มที่อยู่เสมอ

ทำให้จุกนมมีนมอยู่ข้างใน

ในขณะที่ให้นมลูกจากขวดนม คุณจำเป็นต้องทำให้นมเต็มจุก มิเช่นนั้นทารกจะดูดอากาศเข้าไปในร่างกาย หากจุกนมมีลักษณะแบนในขณะที่ให้นมลูก ให้คุณใช้นิ้วที่สะอาดแหย่เข้าไปในมุมปากของทารกอย่างอ่อนโยนเพื่อให้เขาคลายการดูด หากจุกนมอุดตัน ให้คุณเปลี่ยนจุกนมเป็นอันใหม่ที่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคแล้ว

วิธีช่วยให้ทารกเรอ

ทารกอาจจำเป็นต้องพักสักครู่ในระหว่างที่กินนม และอาจจำเป็นต้องเรอในบางครั้ง เมื่อทารกไม่ต้องการดูดนมอีกต่อไป ให้คุณอุ้มเขาเป็นแนวตั้ง และถูหรือลูบแผ่นหลังของเขาอย่างอ่อนโยนเพื่อให้ลมออกมาจากร่างกาย ซึ่งมันอาจเป็นลมปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น

ทิ้งนมที่ทารกกินเหลือ

หลังจากที่ทารกกินนมแล้วเสร็จ คุณควรทิ้งนมในขวดจนหมดไม่ว่าจะเป็นนมชงสำหรับทารกหรือนมจากเต้าก็ตาม

ให้นมลูกตามที่เขาต้องการ

ความถี่และปริมาณของนมที่ทารกแต่ละคนต้องการกินนั้นแตกต่างกัน ดังนั้นคุณควรให้นมทารกเมื่อเขาหิว และไม่บังคับให้เขากินนมจนหมดขวด

ไม่ปล่อยให้ทารกอยู่เพียงลำพัง

ในขณะที่คุณให้ลูกดูดนมจากขวด คุณไม่ควรปล่อยให้ทารกดูดนมเพียงลำพังเป็นอันขาด เพราะเขาอาจสำลักนมได้นั่นเอง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
แนะนำคุณแม่มือใหม่วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 297 บาท ลดสูงสุด 59%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

การขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับการให้นมจากขวด

ในกรณีที่คุณมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการให้นมลูกจากขวด คุณอาจปรึกษาแพทย์ สูติแพทย์ หรือคุณแม่ท่านอื่นที่มีประสบการณ์ หรือคุณอาจติดต่อคลินิกนมแม่ที่อยู่ในโรงพยาบาลซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย

คำถามที่พบได้ทั่วไปเกี่ยวกับการให้นมลูกจากขวด

ทำไมทารกยังอารมณ์ไม่ดีหลังจากกินนม?

หากลูกของคุณกลืนอากาศเข้าไปในระหว่างที่ดูดนมจากขวด และคุณให้เขาเข้านอนทันที เขาก็อาจรู้สึกไม่สบายตัวและร้องไห้ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ลูกดูดนมจนอิ่มแล้ว คุณควรทำให้เด็กเรอโดยจับตัวเขาเป็นแนวตั้งพิงกับหัวไหล่ของคุณหรือจับเขายืนบริเวณตัก และให้ใช้มือลูบแผ่นหลังของเขาอย่างอ่อนโยนเพื่อให้อากาศออกมาจากร่างกายได้อย่างง่ายดาย แต่คุณไม่จำเป็นต้องทำเช่นนี้มากเกินไป

ทำไมทารกถึงอาเจียนหลังดูดนมเป็นบางครั้ง?

เด็กบางคนอาจอาเจียนออกมาเป็นนมในระหว่างที่ดูดนมหรือหลังจากที่ดูดนม ในบางครั้งเราเรียกอาการที่ว่านี้ว่า Possetting, Regurgitation หรือ Reflux ในกรณีนี้ให้คุณเตรียมผ้ามัสลินสำหรับเช็ดอาเจียนให้พร้อม อย่างไรก็ตาม คุณสามารถรู้สึกกลัดกลุ้มเมื่อลูกมีอาการดังกล่าว และคุณอาจกังวลว่ามีบางสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับลูก หากเขามีอาการอาเจียนบ่อยครั้ง ป่วยอย่างรุนแรง ดูเจ็บปวด หรือคุณรู้สึกกังวลใจ ให้คุณลองปรึกษาแพทย์

นอกจากนี้ให้คุณตรวจสอบว่ารูในจุกนมมีขนาดใหญ่เกินไปหรือไม่ เพราะการให้นมลูกเร็วเกินไปสามารถทำให้เขาป่วยได้ ทั้งนี้การให้ทารกนั่งตัวตรงบนตักของคุณหลังจากกินนมอาจช่วยได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
แนะนำคุณแม่มือใหม่วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 297 บาท ลดสูงสุด 59%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

อย่างไรก็ตาม หากทารกอาเจียนนมออกมาเป็นจำนวนมาก เขาก็อาจกลับมาหิวอย่างรวดเร็วอีกครั้ง คุณไม่ควรบังคับให้เขากินนมมากกว่าที่เขาต้องการ ซึ่งทารกแต่ละคนแตกต่างกัน บางคนอาจชอบกินนมทีละเล็กน้อยและบ่อยครั้ง

การให้ลูกกินนมผงสำหรับทารกแรกเกิดทำให้เขาท้องผูกได้หรือไม่?

เมื่อคุณให้ลูกกินนมผงสำหรับทารกแรกเกิด ให้คุณชงนมตามปริมาณที่ระบุไว้บนบรรจุภัณฑ์เสมอ เพราะการใช้นมผงมากเกินไปสามารถทำให้ทารกท้องผูก และอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ ถ้าทารกของคุณมีอายุต่ำกว่า 8 สัปดาห์ และไม่ถ่ายอุจจาระเป็นเวลา 2-3 วัน ให้คุณปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลผดุงครรภ์  โดยเฉพาะถ้าทารกมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ

นมผงสำหรับทารกแรกเกิดและปฏิกิริยาแพ้

หากคุณคิดว่าทารกอาจมีปฏิกิริยาแพ้หรือร่างกายขาดเอนไซม์สำหรับย่อยนมผงสำหรับทารก ให้คุณลองปรึกษาแพทย์ ซึ่งเขาสามารถให้นมผงสูตรพิเศษที่เรียกว่า Extensively Hydrolysed Protein

อย่างไรก็ตาม นมผงสำหรับทารกแรกเกิดบางยี่ห้อมีการระบุว่า Hypoallergenic หรือมีโอกาสเกิดการแพ้น้อยกว่าปกติ แต่มันก็ไม่เหมาะสำหรับทารกที่แพ้นมวัว ทั้งนี้ให้คุณปรึกษาแพทย์ก่อนให้ลูกกินนมผงสูตร Hypoallergenic หรือถั่วเหลือง เพราะทารกที่แพ้นมวัวอาจแพ้ถั่วเหลืองเช่นกัน

การฆ่าเชื้อขวดนม

การฆ่าเชื้ออุปกรณ์สำหรับให้นมลูกทุกชิ้นนับว่าเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งประกอบไปด้วยขวดนมและจุกนม โดยให้คุณทำเช่นนี้จนกระทั่งเขามีอายุอย่างน้อย 12 เดือน ซึ่งจะช่วยปกป้องทารกจากการติดเชื้อ โดยเฉพาะการมีอาการท้องเสียและอาเจียน อย่างไรก็ดี ก่อนที่คุณจะนำอุปกรณ์สำหรับให้นมไปฆ่าเชื้อโรค คุณจำเป็นต้องทำตามวิธีดังนี้

  • ทำความสะอาดขวดนม หรืออุปกรณ์อื่นๆ ในน้ำร้อนและน้ำสบู่ให้เร็วที่สุดเท่าที่สามารถทำได้หลังจากให้นมลูก
  • ใช้แปรงสำหรับทำความสะอาดขวดนมขัดให้ทั่ว และใช้แปรงสำหรับทำความสะอาดจุกนมขัดภายในจุกนม นอกจากนี้ให้คุณปลิ้นจุกนมทั้งด้านในและด้านนอกและล้างในน้ำสบู่ร้อนๆ แต่คุณไม่ควรใช้เกลือทำความสะอาดจุกนม เพราะมันสามารถทำให้เกิดอันตรายต่อทารก
  • คุณสามารถนำอุปกรณ์สำหรับให้นมเด็กเข้าไปทำความสะอาดภายในเครื่องล้างจานหากคุณต้องการ ซึ่งการทำเช่นนี้สามารถช่วยทำความสะอาดอุปกรณ์ แต่จะไม่ช่วยฆ่าเชื้อโรค อย่างไรก็ดี คุณควรวางขวดนม ฝาครอบ และจุกนมคว่ำหน้าไปทางด้านล่าง คุณอาจล้างจุกนมแยกต่างหากโดยใช้มือ
  • ล้างอุปกรณ์ทุกอย่างในน้ำที่เย็นและสะอาดก่อนที่จะนำไปฆ่าเชื้อโรค
  • คุณสามารถนำคำแนะนำข้างต้นมาปรับใช้กับอุปกรณ์ให้นมของทารกทุกชิ้นไม่ว่าคุณจะใช้นมลูกที่บีบจากเต้าหรือนมผง

วิธีฆ่าเชื้ออุปกรณ์สำหรับให้นมของทารก

มีหลายวิธีที่คุณสามารถใช้ฆ่าเชื้ออุปกรณ์สำหรับให้นมของทารก ซึ่งประกอบไปด้วยวิธีดังนี้

ฆ่าเชื้อโดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ

  • ทำตามคำแนะนำของผู้ผลิต
  • นำอุปกรณ์สำหรับให้นมของทารกไปแช่ในสารละลายเป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาที
  • เปลี่ยนสารละลายทุก 24 ชั่วโมง
  • คุณต้องมั่นใจว่าไม่มีฟองอากาศติดอยู่ภายในขวดหรือจุกนมเมื่อนำไปแช่ในน้ำยาฆ่าเชื้อ
  • อุปกรณ์สำหรับฆ่าเชื้อควรมีฝาครอบหรือลูกสูบที่ช่วยให้อุปกรณ์ทั้งหมดอยู่ภายใต้สารละลาย

ฆ่าเชื้อโดยใช้อุปกรณ์สำหรับนึ่งขวดนม

  • ทำตามคำแนะนำของผู้ผลิต เพราะอุปกรณ์ที่ใช้ฆ่าเชื้อนั้นมีหลายประเภท
  • คุณจะต้องวางปากขวดและจุกนมคว่ำลงในอุปกรณ์สำหรับฆ่าเชื้อ
  • ผู้ผลิตจะแนะนำว่าคุณสามารถปล่อยอุปกรณ์สำหรับให้นมทิ้งไว้ในเครื่องนานเท่าไรก่อนที่จะต้องนำมาฆ่าเชื้ออีกครั้ง

ฆ่าเชื้อโดยการต้ม

  • คุณต้องมั่นใจว่าอุปกรณ์สำหรับให้นมชิ้นใดๆ ก็ตามที่คุณจะนำมาฆ่าเชื้อนั้นสามารถนำมาต้มได้อย่างปลอดภัย
  • ต้มอุปกรณ์ต่างๆ ในกระทะขนาดใหญ่เป็นเวลาอย่างน้อย 10 นาที ซึ่งอุปกรณ์ทุกชิ้นต้องจมอยู่ใต้น้ำ
  • ตั้งเวลาเพื่อที่คุณจะได้ไม่ลืมปิดไฟ
  • การฆ่าเชื้อโดยใช้วิธีนี้มีแนวโน้มว่าจะทำให้จุกนมเสียหายเร็วขึ้น ดังนั้นให้คุณตรวจสอบจุกนมและขวดนมเป็นประจำเพื่อให้มั่นใจว่าอุปกรณ์เหล่านี้ไม่ฉีกขาด แตก หรือเสียหาย

หลังจากฆ่าเชื้ออุปกรณ์สำหรับให้นม

  • การปล่อยให้ขวดนมและจุกนมอยู่ในอุปกรณ์ฆ่าเชื้อหรือกระทะจนกว่าคุณต้องการใช้เป็นวิธีที่ดีที่สุด
  • หากคุณนำอุปกรณ์สำหรับให้นมออกมาจากอุปกรณ์ฆ่าเชื้อ ให้คุณรีบนำจุกนมและฝาใส่ในขวดนมทันที
  • ล้างมือและเป่ามือให้แห้งก่อนสัมผัสกับอุปกรณ์ที่ผ่านการฆ่าเชื้อมาแล้ว หรืออุปกรณ์สำหรับคีบขวดนมที่ฆ่าเชื้อมาแล้วเช่นกัน
  • นำขวดไปวางรวมกันบริเวณที่สะอาดและปลอดเชื้อ หรือปิดฝาอุปกรณ์ฆ่าเชื้อ

การให้ลูกกินทั้งนมจากเต้าและนมขวด

กว่าที่แม่และทารกจะประสบความสำเร็จในการให้นมจากเต้านั้นก็อาจใช้เวลานานถึง 6 สัปดาห์ เมื่อคุณและลูกคุ้นชินกับการกินนมจากเต้าแล้ว การให้ลูกกินนมจากขวดที่บรรจุนมที่คุณปั๊มเก็บไว้หรือนมผงควบคู่กับการให้นมลูกจากเต้าก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ในบางครั้งเราจะเรียกวิธีนี้ว่าการให้นมลูกแบบผสมผสาน

ทำไมต้องให้ลูกกินทั้งนมจากเต้าและนมขวด?

คุณควรให้นมลูกทั้งแบบนมจากเต้าและนมขวดเมื่อคุณ

  • อยู่ในช่วงให้นมลูกจากเต้าของตัวเอง และต้องการให้ลูกกินนมที่คุณปั๊มเก็บไว้
  • ต้องการให้นมลูกจากเต้าเป็นบางครั้ง
  • อยู่ในช่วงให้นมจากขวด และต้องการเริ่มให้นมจากเต้า
  • จำเป็นต้องอยู่ห่างจากทารก และต้องการมั่นใจว่าเขากินนมอย่างเพียงพอเมื่อคุณไม่อยู่

การให้นมชงแก่ทารกอาจทำให้ปริมาณของน้ำนมที่ร่างกายผลิตลดลง นอกจากนี้ทารกสามารถเรียนรู้วิธีการดูดนมจากขวดด้วยวิธีที่แตกต่างจากการดูดนมจากเต้า ซึ่งสามารถทำให้การให้นมจากเต้าเป็นไปได้ยากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์แรกๆ ที่คุณเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

การให้เด็กกินนมผง

การให้ทารกกินทั้งนมจากเต้าและนมผงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับทารกมากกว่าการเปลี่ยนไปใช้นมผงเพียงอย่างเดียว ซึ่งหมายความว่าทั้งคุณและทารกยังสามารถได้รับประโยชน์จากการให้นมจากเต้า หากคุณเลือกที่จะให้ทารกเริ่มกินนมผง คุณควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้ร่างกายมีเวลาลดการผลิตน้ำนม นอกจากนี้ร่างกายของทารกยังได้มีเวลาปรับตัวหากมีการเปลี่ยนจากนมของมนุษย์มาเป็นนมผง

ในกรณีที่คุณกลับไปทำงาน ให้คุณเริ่มนำนมผงมาใช้ก่อน 2-3 สัปดาห์เพื่อให้ทั้งคุณและลูกได้มีเวลาปรับตัว แต่ถ้าทารกมีอายุ 6 เดือน หรือมากกว่านี้ และสามารถดื่มนมจากแก้ว คุณอาจไม่จำเป็นต้องให้เขากินนมจากขวด

การให้ลูกกินนมจากขวดครั้งแรก

ทารกใช้วิธีการดูดที่แตกต่างกันเมื่อกินนมจากขวด และอาจใช้เวลาสักพักที่ทารกที่กินนมจากเต้าเริ่มคุ้นชินกับการดูดขวดนม อย่างไรก็ดี การให้ทารกกินนมจากขวดที่บรรจุนมเพียงเล็กน้อยเป็นครั้งแรกเมื่อเขากำลังมีความสุขและผ่อนคลายถือเป็นวิธีที่ดี

นอกจากนี้การให้คนอื่นเป็นผู้ป้อนนมขวดแก่ทารกเป็นครั้งแรกก็อาจช่วยได้เช่นกันเพื่อที่ทารกจะได้ไม่อยู่ใกล้คุณและได้กลิ่นนมจากเต้า อย่างไรก็ตาม ให้คุณพยายามให้นมลูกจากขวดแต่ก็อย่าไปบังคับเขา ทารกไม่จำเป็นต้องกินนมในขวดจนหมด แต่ให้คุณปล่อยให้เขาส่งสัญญาณบอกคุณเองว่าเขาอิ่มแล้ว

การกลับมาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อีกครั้ง

หากคุณต้องการให้ลูกกินนมจากเต้ามากขึ้น และให้ทารกกินนมจากขวดน้อยลง การปรึกษาสูติแพทย์ หรือคลินิกนมแม่ก็เป็นทางเลือกที่ดี นอกจากนี้การใช้เคล็ดลับดังนี้ก็อาจช่วยได้เช่นกัน

  • อุ้มและกอดลูกให้แนบลำตัวมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งการทำเช่นนี้จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมและช่วยให้เด็กกินนมได้มากขึ้น
  • การปั๊มนมเป็นประจำช่วยให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนโปรแลคตินออกมา ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นให้หน้าอกผลิตน้ำนมออกมามากขึ้น ทั้งนี้ให้คุณปั๊มนมประมาณ 8 ครั้งต่อวัน โดยรวมตอนกลางคืนด้วย 1 ครั้ง อย่างไรก็ตาม การเริ่มต้นกระตุ้นน้ำนมโดยใช้มืออาจเป็นวิธีที่ง่ายกว่า คุณอาจปรึกษาสูติแพทย์หรือคลินิกนมแม่เกี่ยวกับวิธีการปั๊มนม
  • ลองให้ลูกกินนมจากขวดในขณะที่อุ้มเขาแนบลำตัวและใกล้หน้าอก
  • ให้ลูกกินนมจากเต้าทีละนิดและบ่อยครั้ง คุณอย่าเพิ่งกังวลหากช่วงแรกเด็กกินนมเป็นเวลานาน
  • ให้นมเมื่อทารกผ่อนคลาย กระตือรือร้น และไม่หิวจนเกินไป รวมถึงไม่บังคับให้ทารกกินนมจากเต้าหากเขาไม่ต้องการ
  • ค่อยๆ ลดการให้นมจากขวดเมื่อน้ำนมจากเต้ามากขึ้น
  • ใช้ Lactation Aid ซึ่งเป็นสายพลาสติกเล็กๆ แปะข้างๆ หัวนม และใส่เข้าไปในปากของทารก ซึ่งเขาสามารถกินนมได้จากทางสายและเต้านม การใช้อุปกรณ์เสริมสามารถช่วยให้ทารกกินนมได้ง่ายขึ้น

การขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับการให้นมลูกแบบผสมผสาน

หากคุณมีคำถามหรือเรื่องที่กังวลเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และการเลี้ยงลูกด้วยขวดนมควบคู่กันไป ให้คุณลองปรึกษาสูติแพทย์ หรือคลินิกนมแม่ภายในโรงพยาบาลซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วประเทศ

การชงนมสำหรับทารก

เมื่อเราชงนมให้ทารก สุขอนามัยที่ดีเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ทั้งนี้ด้วยความที่ระบบภูมิคุ้มกันของทารกไม่ได้แข็งแรงเท่ากับผู้ใหญ่ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจำเป็นต้องล้างและฆ่าเชื้อขวดนม จุกนม และอุปกรณ์ให้นมชิ้นอื่นๆ ก่อนให้เขากินนม การทำเช่นนี้จะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อในทารก โดยเฉพาะการมีอาการท้องเสียและอาเจียน

ขั้นตอนการชงนม

  • เติมน้ำ 1 ลิตรในกาหรือหม้อต้มน้ำ แต่อย่าใช้น้ำที่เคยเดือดมาก่อน
  • ต้มน้ำให้เดือด จากนั้นให้ตั้งน้ำทิ้งไว้จนเย็นไม่ให้เกิน 30 นาที เพื่อรักษาอุณหภูมิของน้ำให้ได้อย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส
  • ทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออุปกรณ์ที่คุณต้องใช้
  • ทำความสะอาดมือก่อนชงนม
  • หากคุณใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดอุปกรณ์สำหรับให้นม คุณจำเป็นต้องเทสารละลายที่ตกค้างอยู่ในขวดนมหรือจุกนม หรือล้างโดยใช้น้ำจากกาต้มน้ำที่เย็นแล้ว
  • วางขวดนมบนพื้นที่สะอาดและปลอดเชื้อ
  • ทำตามคำแนะนำของผู้ผลิต และเทน้ำลงในขวดนมพร้อมกับตรวจสอบอีกครั้งว่าระดับน้ำถูกต้อง ทั้งนี้ให้คุณใส่น้ำที่ยังคงร้อนลงในขวดเป็นสิ่งแรกอยู่เสมอ หลังจากนั้นค่อยเติมนมผงตามลงไป
  • ตักนมผงตามคำแนะนำของผู้ผลิต และใช้มีดที่แห้งและสะอาด หรืออุปกรณ์สำหรับวัดระดับในการช่วยปาดนมผงบนช้อน อย่างไรก็ตาม นมผงแต่ละสูตรจะมีช้อนตวงมาให้แตกต่างกัน ดังนั้นคุณต้องใช้ช้อนตวงตามที่เขาให้มา
  • จับที่มุมของจุกนม และนำมาวางไว้บนขวด จากนั้นให้หมุนเพื่อปิดขวด
  • ใช้ฝาปิดจุกนม และเขย่าขวดจนกว่านมผงละลาย
  • นมที่เตรียมไว้ให้ทารกนั้นจะต้องไม่ร้อนจนเกินไป คุณสามารถลดอุณหภูมิของขวดนมโดยเปิดน้ำเย็นไหลผ่านขวดนม
  • ตรวจสอบอุณหภูมิของขวดนมกับข้อมือก่อนให้ทารก ซึ่งนมจะต้องมีอุณหภูมิเท่ากับอุณหภูมิของร่างกาย หรืออุ่นและเย็น แต่ต้องไม่ร้อน
  • หากมีนมเหลือในขวดหลังจากที่ทารกกิน ให้คุณเทนมทิ้งทั้งหมด

สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำเมื่อชงนม

  • คำแนะนำเกี่ยวกับการชงนมผงของผู้ประกอบการแต่ละรายนั้นมีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องของปริมาณน้ำและนมผงที่ต้องใช้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรทำตามคำแนะนำอย่างระมัดระวัง
  • ไม่ใช้นมผงมากกว่าปริมาณที่แนะนำ เพราะการทำเช่นนี้สามารถทำให้ทารกมีอาการท้องผูกหรือตกอยู่ในภาวะขาดน้ำ แต่หากใส่นมผงในน้ำร้อนน้อยเกินไป ทารกก็อาจได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ
  • ไม่ใส่น้ำตาลหรือซีเรียลในขณะที่ชงนม
  • ไม่อุ่นนมในไมโครเวฟเป็นอันขาด เพราะมันอาจทำให้นมร้อนไม่ทั่วถึง และลวกปากของทารก

การลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

  • แม้ว่าบรรจุภัณฑ์ของนมผงปิดสนิทแล้วก็ตาม แต่มันก็สามารถมีแบคทีเรียปนเปื้อน ทั้งนี้แบคทีเรียแบ่งตัวได้อย่างรวดเร็วมาก ณ อุณหภูมิห้อง แม้ว่าคุณเก็บนมผงไว้ในตู้เย็น แต่แบคทีเรียก็สามารถมีชีวิตรอดและแบ่งตัว แต่จะแบ่งตัวได้ช้าลง
  • คุณสามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อโดยไม่ชงนมทิ้งไว้เป็นจำนวนมาก แต่ให้ชงนมเมื่อถึงเวลากินนมของทารก นอกจากนี้ให้คุณใช้น้ำที่ต้มแล้ว ณ ขณะนั้นในการชงนม และไม่ใช้น้ำที่ถูกกรองความกระด้างออกไปแล้ว หรือน้ำที่ต้มทิ้งไว้ก่อนหน้านั้นมาใช้ชงนม
  • ปล่อยให้น้ำอยู่ในกาน้ำไม่นานเกินกว่า 30 นาที เพื่อที่อุณหภูมิของน้ำมีค่าอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส ซึ่งน้ำที่มีอุณหภูมิดังกล่าวจะช่วยฆ่าแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอันตราย
  • ทำให้นมเย็นก่อนที่จะให้ทารกกิน หรือคุณจะนำขวดนมที่ปิดฝาแล้วไปวางไว้ใต้ก๊อกน้ำที่เปิดน้ำเย็นทิ้งไว้

ไม่ใช้น้ำดื่มบรรจุขวดในการชงนม

คุณไม่ควรใช้น้ำดื่มบรรจุขวด หรือน้ำดื่มที่ขายเป็นขวดสำเร็จรูปในการชงนมให้ทารก เพราะมันไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ และอาจมีโซเดียมหรือซัลเฟตมากเกินไป

ชนิดของนมผง

โดยทั่วไปแล้ว นมผงสำหรับทารกนั้นถูกผลิตมาจากนมวัวที่นำไปผ่านกระบวนการเพื่อให้เหมาะสำหรับทารกมากขึ้น ซึ่งคุณสามารถพบนมผงหลายยี่ห้อและหลายชนิดได้ตามร้านค้าทั่วไป แต่ทั้งนี้คุณควรหมั่นตรวจสอบฉลากของบรรจุภัณฑ์อยู่เสมอเพื่อให้มั่นใจว่านมผงที่คุณซื้อนั้นเหมาะสำหรับลูกของคุณ

อย่างไรก็ตาม คุณสามารถพบนมสำหรับทารกได้ 2 รูปแบบ คือ ชนิดผงซึ่งคุณสามารถชงนมโดยนำนมผงไปผสมกับน้ำ และนมที่เป็นสูตรเหลวซึ่งพร้อมสำหรับให้ทารกทานในทันที แม้ว่าเป็นตัวเลือกที่ช่วยให้คุณสะดวกสบายมากขึ้น แต่นมชนิดนี้กลับมีราคาแพง และเมื่อเปิดบรรจุภัณฑ์แล้ว คุณจำเป็นต้องใช้ให้หมดอย่างรวดเร็ว

นมผงช่วยให้ทารกได้รับสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการเติบโตและพัฒนาการต่างๆ แต่นมแม่กลับเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับทารก เพราะนมแม่มีสารอาหารที่มีความพิเศษหลายร้อยชนิด มีเซลล์ที่มีชีวิตที่ช่วยปกป้องทารกจากการติดเชื้อ และมีสารอาหารที่จำเป็นต่อการเติบโตและการพัฒนา

นมผงสูตรสำหรับทารกแรกเกิด

(เหมาะสำหรับทารกตั้งแต่แรกเกิด)

นมผงสูตรนี้ควรเป็นนมผงสูตรแรกที่คุณใช้เลี้ยงทารก นมวัวในนมผงมีโปรตีน 2 ชนิด ได้แก่ เวย์ และเคซีน อย่างไรก็ดี นมผงสำหรับทารกแรกเกิดนั้นมีเวย์โปรตีนเป็นส่วนประกอบหลัก และเชื่อกันว่ามันเป็นนมผงชนิดที่ย่อยง่ายกว่านมผงสูตรอื่นๆ  ลูกของคุณยังสามารถกินนมสูตรนี้เมื่อคุณเริ่มให้ลูกกินอาหารแข็งเมื่อเขามีอายุประมาณ 6 เดือน และยังคงกินได้ตลอดช่วงหนึ่งปีแรก อย่างไรก็ดี ไม่มีหลักฐานที่บ่งบอกว่าการเปลี่ยนไปทานนมผงสูตรอื่นทำให้เกิดผลดีหรือผลเสีย แต่หากคุณคิดว่านมผงยี่ห้อที่ลูกของคุณทานนั้นไม่เหมาะกับเขา ให้คุณลองปรึกษาสูติแพทย์หรือคลินิกนมแม่

เมื่อทารกมีอายุครบ 1 ปี พวกเขาสามารถดื่มนมวัวแบบไขมันเต็มส่วน นมแกะ หรือนมแพะตราบใดที่มันเป็นชนิดพาสเจอไรซ์

นมผงสูตรนมแพะ

(เหมาะสำหรับทารกตั้งแต่แรกเกิด)

มีนมผงสูตรนมแพะหลากชนิดให้คุณเลือกซื้อในร้านขายของ ซึ่งมีการผลิตนมโดยมีสารอาหารที่เป็นมาตรฐานเดียวกับนมผงสูตรนมวัว อย่างไรก็ดี นมผงสูตรนมแพะก็ไม่ได้ทำให้ทารกมีโอกาสเกิดปฏิกิริยาแพ้น้อยไปกว่าการทานนมผงสูตรนมวัว นมผงสูตรนี้ไม่เหมาะสำหรับทารกที่แพ้นมผงสูตรนมวัว เพราะมันมีโปรตีนคล้ายกันมาก

นมผงสูตร Hungry Milk

(เหมาะสำหรับทารกตั้งแต่แรกเกิด แต่ให้คุณขอคำปรึกษาจากสูติแพทย์หรือคลินิกนมแม่ก่อนใช้)

 นมผงสูตรนี้มีเคซีนมากกว่าเวย์ ซึ่งเคซีนเป็นสารอาหารที่ย่อยยากสำหรับทารก แม้ว่ามีนมผงสูตรนี้เป็นนมผงสำหรับทารกที่หิวกระหาย แต่ก็ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าทารกสงบมากขึ้นหรือนอนนานขึ้นเมื่อทานนมผงสูตรนี้

นมผงสูตร Anti-reflux(เหมาะสำหรับทารกตั้งแต่แรกเกิด แต่ให้ปรึกษาสูติแพทย์หรือคลินิกนมแม่ก่อนใช้)

มีการผลิตนมผงสูตรนี้ให้เข้มข้นมากขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปฏิกิริยารีฟลักซ์ในทารก ซึ่งทารกจะอาเจียนออกมาเป็นนมในระหว่างหรือหลังกินนม    อย่างไรก็ตาม คุณควรให้ทารกทานนมสูตรนี้ตามคำแนะนำของสูติแพทย์ และเมื่อทารกอาเจียนออกมาเป็นนมบ่อยครั้งและดูเหมือนไม่สบาย

อย่างไรก็ตาม คุณควรมั่นใจว่าคุณชงนมผงสูตรนี้กับน้ำที่เดือดแล้วและเป็นน้ำที่ถูกปล่อยให้เย็นตัวไม่นานกว่า 30 นาทีเพื่อให้อุณหภูมิของน้ำยังคงมากกว่า 70 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตาม นมผงไม่ได้ถูกทำให้ปลอดเชื้อ และการใช้น้ำที่มีอุณหภูมิดังกล่าว หรือมากกว่านี้จะช่วยฆ่าแบคทีเรียที่ทำอันตรายต่อทารก

นมผงสูตร Comfort

(เหมาะสำหรับทารกตั้งแต่แรกเกิด แต่ให้คุณปรึกษาสูติแพทย์หรือคลินิกนมแม่ก่อนใช้)

นมผงสูตรนี้มีโปรตีนของนมวัวที่ถูกทำให้ย่อยสลายบางส่วนแล้ว ทำให้ง่ายต่อการย่อย และช่วยป้องกันปัญหาที่เกี่ยวกับระบบย่อยอาหารอย่างโคลิกและท้องผูก แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานมายืนยันคุณสมบัติดังกล่าว อย่างไรก็ตาม นมผงชนิดที่มีการทำให้โปรตีนถูกย่อยสลายบางส่วนนั้นไม่เหมาะสำหรับทารกที่แพ้นมวัว

นมผงสูตรปลอดแลคโตส

(เหมาะสำหรับทารกตั้งแต่แรกเกิด แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์)

นมผงสูตรแลคโตสเหมาะสำหรับทารกที่ตกอยู่ในภาวะ Lactose Intolerant ซึ่งหมายความว่า ร่างกายไม่สามารถดูดซึมแลคโตส ซึ่งเป็นน้ำตาลที่พบได้ในนมและผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนม อย่างไรก็ตาม ภาวะ Lactose Intolerant พบได้ไม่บ่อยในทารก สำหรับอาการที่พบได้นั้นประกอบไปด้วยท้องเสีย ปวดท้อง มีก๊าซ และท้องอืด

เราสามารถซื้อนมผงสูตรปลอดแลคโตสได้ที่ร้านขายยา แต่หากคุณสงสัยว่าทารกตกอยู่ในภาวะดังกล่าว คุณก็ควรพาเขาไปพบแพทย์

นมผงสูตร Hypoallergenic

(เหมาะสำหรับทารกตั้งแต่แรกเกิด แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์)

หากลูกของคุณถูกตรวจพบว่าแพ้นมวัว แพทย์ก็จะให้นมผงสูตรที่โปรตีนถูกย่อยสลายอย่างสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามีนมผงสูตรที่โปรตีนถูกย่อยสลายเพียงบางส่วนวางขายอยู่ตามร้านค้าทั่วไป แต่มันก็ไม่เหมาะสำหรับทารกที่แพ้นมวัว

นมผงสูตร Follow-on

(เหมาะสำหรับทารกที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือน แต่ต้องขอคำปรึกษาจากแพทย์ก่อนใช้)

คุณไม่ควรให้นมผงสูตรนี้แก่ทารกที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน อย่างไรก็ดี มีงานวิจัยพบว่าการเปลี่ยนมาใช้นมผงสูตร Follow-on เมื่อทารกมีอายุ 6 เดือนไม่ได้มีประโยชน์สำหรับทารก ลูกของคุณสามารถดื่มนมสูตรสำหรับทารกแรกเกิดเป็นหลักจนกว่าเขาจะมีอายุครบ 1 ปี

อย่างไรก็ตาม ฉลากบนบรรจุภัณฑ์ของนมผงสูตร Follow-on สามารถดูคล้ายคลึงกับนมผงสูตรสำหรับทารกแรกเกิดเป็นอย่างมาก ดังนั้นคุณควรอ่านฉลากอย่างระมัดระวังเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาด

นมผงสูตร Good night 

(เหมาะสำหรับทารกที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือน แต่ต้องขอคำปรึกษาจากแพทย์ก่อนใช้)

นมผงสูตร Follow-on บางยี่ห้อมีการเติมซีเรียลลงไป และมีการนำมาขายเป็นนมผงสูตรพิเศษสำหรับทารกเพื่อดื่มก่อนนอน ความจริงแล้วนมผงสูตรนี้ไม่ได้มีความจำเป็น และไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามันสามารถช่วยให้ทารกสงบลง หรือนอนหลับได้นานขึ้นหลังดื่มนมสูตรนี้ อย่างไรก็ตาม คุณไม่ควรให้นมผงสูตร Good night แก่ทารกที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน

นมผงสูตรถั่วเหลือง

(เหมาะสำหรับทารกที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือน แต่ต้องขอคำปรึกษาจากแพทย์ก่อนใช้)

นมผงสูตรถั่วเหลืองทำมาจากถั่วเหลืองตามชื่อของมัน ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นตัวเลือกนอกเหนือจากนมผงสูตรนมวัวที่ทารกบางคนอาจมีอาการแพ้นมวัว อย่างไรก็ตาม คุณไม่ควรให้นมผงสูตรนี้แก่ทารกที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน เพราะว่ามันสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปฏิกิริยาแพ้ถั่วเหลือง

นอกจากนี้นมผงสูตรถั่วเหลืองยังมีกลูโคส ในขณะที่นมวัวมีน้ำตาลแลคโตส ซึ่งกลูโคสมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อฟันของทารก อย่างไรก็ดี ให้คุณใช้นมผงสูตรนี้เฉพาะเมื่อแพทย์สั่งเท่านั้น

นมผงสูตร Growing-up  หรือนมผงสำหรับเด็กวัยเตาะแตะ

(เหมาะสำหรับทารกที่มีอายุ 1 ปี แต่ต้องขอคำปรึกษาจากแพทย์ก่อนใช้)

นมผงสูตรนี้เป็นนมที่นำมาวางขายเพื่อเป็นตัวเลือกที่นอกเหนือจากนมวัวแบบไขมันเต็มส่วนสำหรับเด็กวัยเตาะแตะ หรือเด็กที่มีอายุมากกว่า 1 ปี อย่างไรก็ดี ไม่มีหลักฐานยืนยันว่านมผงสูตรนี้มอบสารอาหารเพิ่มเติมแก่เด็กเล็ก

นมวัวแบบไขมันเต็มส่วนนั้นเป็นเครื่องดื่มที่เป็นตัวเลือกที่เหมาะสำหรับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ในขณะที่นมชนิดกึ่งพร่องมันเนยนั้นเหมาะสำหรับเป็นเครื่องดื่มหลักสำหรับเด็กที่มีอายุมากกว่า 2 ปีที่กำลังอยู่ในช่วงทานอาหารอย่างสมดุล อย่างไรก็ดี เด็กที่มีอายุ 6 เดือน-5 ปี ควรได้รับวิตามินเอ วิตามินซี และวิตามินดีทุกวัน

ชนิดของนมที่ควรหลีกเลี่ยง

นมทุกชนิดไม่ได้เหมาะสำหรับนำมาใช้เลี้ยงทารก คุณไม่ควรให้ทารกที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปีดื่มนมดังนี้

  • นมข้น
  • นมระเหยหรือนมข้นจืด
  • นมแพะหรือนมแกะ (ถ้าผ่านการพาสเจอไรซ์แล้ว คุณสามารถให้ทารกดื่มได้)
  • นมชนิดอื่นๆ เช่น นมถั่วเหลือง นมข้าว นมข้าวโอ๊ต หรือนมอัลมอนด์
  • นมวัว (หากนำมาใช้ประกอบอาหาร คุณสามารถให้ทารกทานได้)

คำถามทั่วไปเกี่ยวกับนมผง

  • ทารกจำเป็นต้องกินนมผงปริมาณเท่าใด?
  • ฉันจะรู้ได้อย่างไรว่าทารกกินนมผงอย่างเพียงพอ?
  • ฉันจะรู้ได้อย่างไรว่าทารกกำลังหิว?
  • ฉันต้องใช้สิ่งใดบ้างเมื่อต้องให้ลูกกินนมนอกบ้าน?
  • ฉันต้องทำอย่างไรถ้าจำเป็นต้องเปลี่ยนไปให้นมลูก ณ สถานที่อื่น?
  • ฉันสามารถใช้ขวดน้ำเพื่อชงนมให้ลูกได้หรือไม่?

ทารกจำเป็นต้องกินนมผงปริมาณเท่าใด?  

ทารกแรกเกิดจำเป็นต้องกินนมผงเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันสุดท้ายของสัปดาห์แรกที่ทารกออกมาลืมตาดูโลก ทารกส่วนมากจำเป็นต้องกินนมผงประมาณ 150-200 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัวต่อวันจนกว่าเขามีอายุ 6 เดือน ซึ่งเด็กแต่ละคนจะกินนมผงด้วยปริมาณที่แตกต่างกัน

แม้ว่าในท้ายที่สุดทารกส่วนมากกินนมตามรูปแบบที่คุณกำหนด แต่ความถี่และปริมาณของนมที่เด็กต้องการกินกลับแตกต่างกัน ทั้งนี้ให้คุณป้อนนมลูกเมื่อเขาส่งสัญญาณว่าเขาต้องการกินนม ทารกมีแนวโน้มที่จะกินนมทีละน้อยและบ่อยครั้ง ดังนั้นเขาจะกินนมไม่หมดขวด อย่างไรก็ตาม การเตรียมนมปริมาณมากให้ทารกไม่ได้หมายความว่าเขาจะกินนมได้นานขึ้นในระหว่างให้นม

ปริมาณของนมผงอาจมีการเปลี่ยนแปลงถ้าลูกของคุณไม่สบาย กำลังรู้สึกเจ็บปวดเพราะอยู่ในช่วงที่ฟันขึ้น หรืออยู่ในช่วงเติบโตเร็ว

ฉันจะรู้ได้อย่างไรว่าทารกกินนมผงอย่างเพียงพอ?

 การมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นของทารกและจำนวนของผ้าอ้อมที่เปียกและสกปรกจะบอกคุณได้ว่าทารกกินนมผงอย่างเพียงพอหรือไม่ ทารกควรถ่ายใส่ผ้าอ้อมประมาณ 6 แผ่นต่อวันตั้งแต่ 3-4 วันหลังจากเกิด ซึ่งผ้าอ้อมควรเปียกจนทั่วแผ่น โดยมีปัสสาวะสีใสหรือสีเหลืองอ่อน

ในช่วง 3-4 วันแรกหลังคลอด ลูกของคุณจะถ่ายออกมาเป็นสสารสีดำและมีลักษณะเหนียว ซึ่งเรียกว่า Meconium หลังจากผ่านไป 1 สัปดาห์ ทารกควรเริ่มถ่ายอุจจาระเป็นสีเหลืองหรือสีเหลืองปนน้ำตาล

ทารกจะถูกชั่งน้ำหนักตั้งแต่เกิด และมีการชั่งน้ำหนักอีกครั้งเมื่อผ่านไป 5-10 วัน หลังจากนั้นทารกที่มีสุขภาพดีจำเป็นต้องชั่งน้ำหนักไม่เกิน 1 ครั้งต่อเดือนจนมีอายุถึง 6 เดือน ซึ่งมีการบันทึกข้อมูลเหล่านี้ภายในสมุดสีชมพู หากคุณมีคำถามหรือกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มน้ำหนักของทารก ให้คุณลองปรึกษาสูติแพทย์หรือแพทย์

ฉันจะรู้ได้อย่างไรว่าทารกกำลังหิว?

หลังจากผ่านไปสักพัก คุณจะรู้สัญญาณที่บอกว่าทารกพร้อมสำหรับการกินนม ซึ่งทารกมีอาการดังนี้

  • ทารกจะเริ่มกระสับกระส่าย
  • ทารกจะเริ่มหันศีรษะและอ้าปาก เขาจะเริ่มหาบางสิ่งเพื่อดูด โดยมักเป็นกำปั้นหรือนิ้วมือของเขา

อย่างไรก็ดี ให้คุณพยายามป้อนนมให้ทารกก่อนที่เขาจะร้องไห้ เพราะนี่เป็นสัญญาณของความหิว

ฉันต้องใช้สิ่งใดบ้างเมื่อต้องให้ลูกกินนมนอกบ้าน?

สิ่งที่คุณควรพกติดตัวไปด้วยมีดังนี้

  • นมผงที่ผ่านการวัดปริมาณซึ่งถูกบรรจุอยู่ภายในบรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดเล็ก สะอาด และแห้ง
  • กระติกน้ำสูญญากาศที่บรรจุน้ำร้อนที่เพิ่งเดือด
  • ขวดนมเปล่าที่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคที่มาพร้อมกับฝาปิด และขวดนมถูกปิดอย่างมิดชิด

อย่างไรก็ตาม คุณไม่จำเป็นต้องนำกระติกน้ำสูญญากาศไปผ่านการฆ่าเชื้อโรค แต่บรรจุภัณฑ์ดังกล่าวควรสะอาด และใช้สำหรับทารกเท่านั้น ทั้งนี้น้ำเดือดจะช่วยฆ่าแบคทีเรียในกระติกน้ำสูญญากาศ หากกระติกน้ำสูญญากาศเต็มและถูกปิดอย่างมิดชิด อุณหภูมิของน้ำจะยังคงสูงกว่า 70 องศาเซลเซียสเป็นเวลาหลายชั่วโมง

ทั้งนี้ให้คุณชงนมเมื่อทารกต้องการเท่านั้น น้ำที่ใช้จำเป็นต้องร้อนเพื่อฆ่าแบคทีเรียในนมผง และให้คุณทำขวดนมให้เย็นลงก่อนให้ทารกกินโดยนำขวดนมไปวางไว้ใต้ก๊อกน้ำที่เปิดน้ำเย็นทิ้งไว้โดยที่ยังคงปิดฝาขวดนม

ฉันต้องทำอย่างไรถ้าจำเป็นต้องเปลี่ยนไปให้นมลูก ณ สถานที่อื่น?  

หากคุณไม่สามารถทำตามคำแนะนำข้างต้น หรือหากคุณจำเป็นต้องให้ลูกกินนมนอกบ้าน ตัวอย่างเช่น เนิรส์เซอร์รี ให้คุณเตรียมนมให้ลูกตั้งแต่ที่บ้าน และทำให้ขวดนมเย็นลงอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงโดยนำไปแช่ในตู้เย็น

ให้คุณนำขวดนมออกมาจากตู้เย็นก่อนออกจากบ้าน และนำขวดนมใส่ในกระเป๋าเก็บความเย็นที่มี Ice Pack และให้ลูกกินนมภายใน 4 ชั่วโมง หากคุณไม่มี Ice pack หรือไม่สะดวกที่จะใส่ตู้เย็น ณ ขณะนั้น คุณก็ควรให้ทารกกินนมภายใน 2 ชั่วโมง

ในกรณีที่มีการเก็บนมที่ชงแล้วภายในสถานที่ต่างๆ ดังนี้

  • ภายในตู้เย็น – ให้ทารกกินนมภายใน 24 ชั่วโมง
  • กระเป๋าเก็บความเย็นที่มี Ice Pack - ให้กินนมภายใน 4 ชั่วโมง
  • อุณหภูมิห้อง – ให้ทารกกินนมภายใน 2 ชั่วโมง

ฉันสามารถใช้น้ำดื่มบรรจุขวดเพื่อชงนมให้ลูกได้หรือไม่?

เราไม่แนะนำให้คุณใช้น้ำดื่มบรรจุขวดชงนมให้ทารก เพราะโดยปกติแล้วน้ำชนิดนี้ไม่ได้ถูกทำให้ปลอดเชื้อ และอาจมีเกลือ(โซเดียม) หรือซัลเฟตมากเกินไป


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
คำแนะนำ 6 ข้อสำหรับการให้ลูกเลิกทานนมแม่
คำแนะนำ 6 ข้อสำหรับการให้ลูกเลิกทานนมแม่

การที่ฉันตั้งเป้าหมายว่าวันนี้จะเป็นวันที่ฉันให้ลูกเลิกดื่มนนมแม่

อ่านเพิ่ม
ต้องให้นมบ่อยแค่ไหน: ตามที่ลูกร้อง vs. ตามกำหนดเวลา
ต้องให้นมบ่อยแค่ไหน: ตามที่ลูกร้อง vs. ตามกำหนดเวลา

จะช่วยส่งเสริมให้ทารกมีน้ำหนักที่เหมาะสมและมีน้ำนมเพียงพอต่อความต้องการได้อย่างไร

อ่านเพิ่ม